กำกับใจ กำกับชีวิต ‘ครูเปิ้ล’ สุดารัตน์ ศรีสุรกานต์ กับหนังสือเพื่อการเปลี่ยนแปลง

“เริ่มต้นกำกับใจให้ชนะทุกสนามของชีวิต เพราะมนุษย์ทุกคนแม้จะมีสภาพชีวิตที่แตกสลายหรือเจียนตายอย่างไร ก็สามารถปั้นใหม่ ลบรอยแผลเป็นแตกร้าว เพื่อก้าวต่อไปได้เสมอ”

โปรย หน้าปกของ “Mind Director กำกับใจให้ชนะทุกด่านของชีวิต” หนังสือเล่มแรกของครูเปิ้ล-สุดารัตน์ ศรีสุรกานต์ ผู้ผสานศาสตร์การละครเข้ากับจิตเวชศาสตร์เข้าด้วยกันอย่างลงตัว

จากเด็กกิจกรรม “ร้อง-เต้น-เล่นละคร” สู่มหาบัณฑิตด้านจิตเวช และนักเขียน

สุดา รัตน์ ศรีสุรกานต์ หรือที่คนทั่วไปรู้จักว่า “ครูเปิ้ล” ผู้กำกับการแสดง ผู้กำกับลีลา ไดเร็กเตอร์สถาบันการศึกษา ครูสอนการแสดงและผู้ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิต

Advertisement

นอกจากเปิดโรงเรียนสอน ศิลปะการแสดงไอดีโอ เพอร์ฟอร์มิ่ง อาร์ต (Ideo Performing Arts School) เป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยต่างๆ แล้ว ยังเป็นแอดมินเพจ Mind Director : กำกับใจ by ครูเปิ้ล เขียนบทความด้านจิตวิทยา หลายคนเข้ามาขอคำปรึกษาปัญหาชีวิตมากมาย ซึ่งครูเปิ้ลได้คัดกรอง และส่งพบแพทย์ต่อไป

ล่าสุดกับหนังสือเล่มแรก Mind Director กำกับใจให้ชนะทุกด่านของชีวิต ที่เจ้าตัวบอกว่า มาจากเล็กเชอร์ สมัยปริญญาโท

“จริงๆ ไม่คิดว่าตัวเองจะมาเป็นนักเขียน รู้สึกว่าตัวเองเขียนไม่เก่ง…พอดีไปเรียนคณะแพทย์ ปรากฏว่าไอเดียต่างๆ ที่อาจารย์สอน แล้วเราจดบันทึกออกมา เป็นเหมือนตำราอีกเล่ม เพื่อนๆ ที่เอาไปอ่านต่างบอกว่าอ่านสนุก ภาษาดี อ่านง่าย เข้าใจ อ่านเเล้ว อ๋อ…เลย”

Advertisement

“วันที่ บก.ไลน์มาบอกว่า “สนใจเป็นนักเขียนไหม” ตกใจมาก หัวใจเต้นปังๆ เลยค่ะ เพราะเรารู้สึกว่าคนจะเป็นนักเขียนได้ต้องเก่งมากๆ ยิ่งรู้ว่าเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่อย่างมติชนก็ยิ่งตื่นเต้นคูณสองเข้าไป อีก…ถึงวันนี้ที่ผลงานออกมาเป็นรูปเล่มจริง ชอบมาก ไม่ต้องการอะไรมากกว่านี้ ลงตัวที่สุดแล้ว”

ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร หรือ อ.โจ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนถึงหนังสือเล่มนี้ว่า

“หนังสือ เล่มนี้ชวนให้เราทำความเข้าใจกับความซับซ้อนของจิตใจตนเอง เปรียบเสมือนการเรียนรู้ที่จะ “กำกับ” ใจให้ดีก่อนออกเดินไปข้างหน้า เพื่อตามหาสิ่งที่ตนเองต้องการในชีวิตต่อไป”

ครูเปิ้ลเป็นลูกสาวคนกลางของพ่อ-พงษ์วิรัตน์ ศรีสุรกานต์ แม่-กรรณิการ์ ศรีสุรกานต์ เกิดเมื่อ  27 มีนาคม พ.ศ.2525

จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนนวมินทรา ชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล จากนั้นเป็นนักแสดงในสังกัดภัทราวดีเธียเตอร์ 1 ปีเต็ม เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านการละคร เรื่องแรกที่ได้เล่นคือ ละครเพลง “รุ้งหลังฝน” เปิดแสดงที่โรงละครแห่งชาติ ก่อนจะเข้าศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เอกนาฏศาสตร์ (ละคร)

“ลึกๆ เป็นเด็กขี้อายนะคะ แต่เป็นเด็กไม่มีกรอบ คิดต่าง และเมื่อกล้าคิดก็กล้ายืนยันในสิ่งที่คิดด้วย เลยดูเหมือนเป็นเด็กกล้าแสดงออก ทั้งที่จริงๆ เเล้ว ทุกครั้งที่ต้องออกไปแสดงต่อหน้าผู้คนมากๆ จะตื่นเต้นมาก ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่”

“คุณแม่เป็นแม่ดันค่ะ พยายามให้เรียนนู่นเรียนนี่ เหมือนเอาสังคมมากล่อมเกลาเรา ทำให้มีโอกาสได้แสดงมากมาย ร้องเพลง ออกอัลบั้ม รำไทย วาดภาพเเข่งขัน พูด พิธีกร เต้นรำร้อยเวที ทั้งที่โดยบุคลิกลึกๆ แล้วไม่ใช่เลย พอทำโรงเรียนเเล้วคุณพ่อคุณแม่จูงน้องๆ ที่ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองมาเรียนการแสดง จะเข้าใจเขามากๆ แต่เราก็เชื่อมั่นมากทุกคนเก่งได้ ถ้าได้รับการฝึกฝนด้วยครูที่เก่งและเข้าใจ”

ระหว่างเรียน ครูเปิ้ลก็ได้รับบทนักแสดงร้องนำเรื่อง (Narator) ของ “บัลลังก์เมฆ เดอะ มิวสิคัล” “ทวิภพ เดอะมิวสิคัล” ผลงานกำกับโดยบอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ

แต่ชีวิตช่วงนั้น “ไม่สวยหรูนัก”

ครูเปิ้ลเล่าว่า ตอนนั้นเป็นนักศึกษาปี 1 เรียนที่วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ (ทับแก้ว) จ.นครปฐม สตูดิโอที่ซ้อมอยู่สุทธิสาร เลิกเรียน 5 โมงแล้วต้องรีบวิ่งมาขึ้นรถตู้หน้ามหาวิทยาลัยเพื่อมาลงย่านปิ่นเกล้า ก่อนจะต่อรถเมล์อีก 2-3 สายไปยังสุทธิสาร บางวันไม่มีที่นั่งก็ต้องยืนกินข้าวเย็นบนรถเมล์

“ซ้อมเสร็จ 5 ทุ่ม เที่ยงคืน กว่าจะถึงบ้านย่านหนองแขมก็ตี 1 ตี 2 ตอนเช้าก็ต้องไปเรียนให้ทันคลาส 8 โมงเช้า ตอนนั้นสู้มาก ไม่รู้เอาพลังงานมาจากไหน รู้เเต่ว่านี่คือสิ่งที่ใช่ ได้โอกาสแล้วต้องลุย” ครูเปิ้ลตอบพร้อมหัวเราะ

ระหว่างที่เรียนอยู่เพียงปี 2 นั้น ครูเปิ้ลก็ได้เป็นผู้กำกับละครเวทีให้กับมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นเรื่อง ซีเมนต์ ที่เป็นความร่วมมือกับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

เมื่อคว้าปริญญาตรีมาครองสำเร็จ ในปี 2550 ก็เปิดโรงเรียนสอนศิลปะการแสดง ไอดีโอ เพอร์ฟอร์มิ่ง

อาร์ต ณ อาคารตรงข้ามมหาวิทยาลัยศิลปากร ในนครปฐม

เมื่อ เปิดได้สักระยะ จำนวนนักเรียนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งวันหนึ่งมีผู้ปกครองมาปรึกษาเรื่องลูกที่มาเรียนการแสดงกับครูเปิ้ล จึงเป็นตัวจุดประกายให้สนใจและสมัครเข้าเรียนในระดับปริญญาโทที่คณะแพทย ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุขภาพจิต จิตเวชศาสตร์ ซึ่งที่แห่งนี้เองเป็นแหล่งเพาะเมล็ดพันธุ์ของ Mind Director หนังสือที่บอกว่า

“ต่อให้เราจะเกิดมาสมบูรณ์แบบหรือไม่ เราก็สามารถเป็นคนใหม่ได้ในวินาทีหน้าทันที”

ก้าวแรกสู่วงการละครเวที

ตอน นั้นอยู่ ม.5 ตอนนั้นเพื่อนมาปรึกษาว่าจะเเข่งเต้น ขอให้ช่วยไปดูซ้อมเต้นประกวดที่ภัทราวดีเธียเตอร์ ตรงวัดระฆังหน่อย ก็ไปช่วยดูให้เขา ระหว่างนั้นออกมาเข้าห้องน้ำแล้วเจอกับพี่คนหนึ่ง เขาถามว่า “น้องมาออดิชั่นหรือเปล่าคะ” ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าออดิชั่นคืออะไร เหมือนโอริโอมั้ย (หัวเราะ) พอพี่เขาอธิบายว่าถ้าออดิชั่นได้ ก็จะได้เป็นนักแสดง รู้ตามนั้นก็วิ่งมาชวนเพื่อน เพื่อนก็ลองเข้าไป

เหมือนเราจับพลัดจับ ผลูมากๆ ตอนเดินเข้าไปในโรงละคร ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน ท่านดูมีพลังมาก นั่งอยู่กับอาจารย์ฝรั่งอีกท่านที่เล่นเปียโนอยู่ มีเพียงกลางเวทีที่สว่าง ครูเล็กถามว่า “หนูถนัดอะไร” เราก็ตอบไปด้วยความมั่นใจว่า “ถนัดซ้ายค่ะ” ท่านเลยทำเสียงเข้มพร้อมบอกว่า ฉันหมายถึงถนัดร้อง หรือเต้น หรือการแสดง ตอนนั้นหน้าเเตกเลย บอกไปว่า “หนูถนัดหมดเลยค่ะ” ท่านบอกให้ร้องเพลง นึกเพลงไม่ออกก็ร้องเพลงช้างๆๆ จากนั้นท่านให้ทำท่วงท่าต่างๆ เต้นไปรอบห้อง เหมือนพยายามดึงพลังเราออกมา แล้วเราก็ผ่านแต่เพื่อนอดเข้ารอบ

เรื่อง แรกที่ได้เล่นคือ รุ้งหลังฝน เป็นการร้อยเรียงเพลงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอนนั้นเป็นนักแสดงในภัทราวดีเธียเตอร์เต็มขั้น ช่วงนั้นก็ตื่นมาวอร์มร่างกาย วอร์มเสียง เรียนร้อง รำ เต้น ตอนเย็นก็เป็นนักแสดง สอน ทำทุกอย่างเหมือนมืออาชีพจริง

จากนักเรียนการละคร สู่นักเรียนจิตเวช

เมื่อ เรียนละคร ได้เรียนรู้ รับรู้ รู้สึกถึงชีวิตมนุษย์ ครูสอนให้ศึกษาจิตใจตัวละครตั้งแต่ยุคกรีก โรมัน จนถึงปัจจุบัน คือละครเปิดโลกให้เรารู้ว่าทำไมบางคนรักง่ายหน่ายเร็ว ขี้โม้ เก็บกด พูดโกหก ดิ้นโวยวาย ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาจนเกิดความขัดแย้งเป็นโศกนาฏกรรมและสุขนาฏกรรม ทำให้เราเข้าใจโลกและชีวิตอย่างลึกซึ้งมากๆ

และเมื่อเรียนจิตเวชเรา เจอคนป่วยมากมายที่สามารถรักษาหายขาดได้ ทำให้อินเลยว่า แม้มนุษย์ทุกคนจะมีสภาพชีวิตที่แตกสลายเจียนตายอย่างไร ก็สามารถปั้นใหม่ และลบรอยแผลเป็นที่แตกร้าว พร้อมก้าวต่อไปได้เสมอ ถ้ามีผู้รู้ เข้าใจ พาข้ามผ่านไปได้

คิดว่าตัวเอง “ช่างกล้า” จากเด็กสายศิลป์ที่อาร์ตสุดๆ แต่มาสอบเข้าคณะแพทย์ ตอนนั้นไม่คิดอะไรมาก ถ้าสอบติดก็สมใจ ถ้าไม่ได้ก็คงไม่ใช่ทาง

ครูเปิ้ล สุดารัตน์

เหตุผลที่สนใจทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “แรงจูงใจในการทำกิจกรรมที่มีจิตสำนึกสาธารณะในผู้มีศักยภาพทางธุรกิจสูง”

เป็น คนชอบทำงานจิตอาสามากนะคะ เวลามีงานเพื่อสังคมเข้ามาทีไรจะกระตือรือร้น ก็เลยอยากรู้ว่าที่เราเป็นอย่างนี้เพราะอะไร ที่เราทำงานใจๆ ฟรีๆ เพราะกลัวตัวเองจะดูเป็นคนไม่ดีหรือเปล่า อ.โจ (ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร) แนะนำให้เลือกกลุ่มเป้าหมายที่เข้าถึงได้ง่าย จึงเลือกผู้มีศักยภาพทางธุรกิจสูง เพราะเวลาของเขาเป็นเงินเป็นทอง เหตุใดจึงเอาเวลาเหล่านั้นไปสร้างสิ่งต่างๆ ให้คนทั่วไป ทำไมยักษ์ใหญ่ถึงใจดี พบว่าการกระทำเหล่านั้น ไม่เพียงตอบสนองความสุขของตัวเองในระดับจิตใจและร่างกายเท่านั้น แต่มันตอบสนองความสุขในระดับจิตวิญญาณ

องค์การอนามัยโลก ให้ความหมายของการมีสุขภาพดี ว่าประกอบด้วย สุขภาพกาย สุขภาพจิต และจิตวิญญาณ (Spiritual) การมีจิตสำนึกสาธารณะทำให้เราตอบตัวเองได้ว่า ลึกๆ แล้วเราเกิดมามีคุณค่าประโยชน์ อย่างเวลาเราทำอะไรที่ชอบ หรือไปเที่ยวกลับมา เรามามองดูรูป มีความสุขแค่ระดับร่างกายและจิตใจ แต่การทำความดี มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น จะเปลี่ยนสถานะใจเราระดับลึกถึงจิตวิญญาณ ทำให้ self-image ภาพที่เรามองตัวเองคมชัดขึ้นว่า “ฉันเป็นคนที่ใช้ได้เลยนะ” เวลามีคนมาว่า ว่าไม่เก่งไม่ดีหรืออะไรก็ตาม ภาพตรงนี้มันจะไม่สั่นคลอนเพราะว่าเราได้เป็นผู้ให้ไปแล้ว ใครอยากมีสุขภาพดีถึงระดับจิตวิญญาณในระดับลึก ควรจะเป็นผู้ให้ตั้งเเต่วันนี้เลย ไม่ต้องคอยไปหาว่าสุขอยู่ที่ใด

การเป็นแอดมินเพจ Mind Director : กำกับใจ by ครูเปิ้ล เป็นช่องทางที่ทำให้ได้ช่วยเหลือคนที่มีปัญหา

ใน เพจมี Counseling เยอะมาก บางคนที่เข้ามาคุย เขารู้สึกว่าชีวิตไม่มีใครแล้วจริงๆ วินาทีนั้นมันสำคัญกว่าเวลาเล่นเฟซฟังเพลงกินขนมของเรามาก พอดีตอนเรียนได้เรียนกระบวนการ Counseling online เลยนำมาใช้เยอะเลยค่ะ

มี รายหนึ่งบอกว่าจะฆ่าตัวตาย อยากตาย ด้วยความที่เขาเป็นโรคซึมเศร้าแต่คนรอบข้างไม่รู้ รอบตัวก็มีแต่คนเก่งๆ ที่ไม่พร้อมจะเข้าใจ บอกว่าทำอย่างนั้นสิ อย่างนี้สิ เรื่องแค่นี้ อย่าไปทุกข์นาน มันยิ่งกดความรู้สึกเขา เคสนี้เขารู้สึกว่า พอทุกคนพูดยิ่งทำให้เขารู้สึกเหงา ยิ่งฟังยิ่งรู้สึกเดียวดายเพราะไม่มีใครเข้าใจ พอเขาทักมา ก็ถามเขาไปว่าอยากฆ่าตัวตายหรือเปล่า ถามไปตรงๆ เขาก็บอกว่าอยากตายเพราะไม่รู้จะอยู่ไปทำไม เลยคุยกับเขาไปเรื่อยๆ ว่า ถ้าฆ่าตัวตายแล้วจะเป็นยังไงบ้าง เขาก็บอกว่าปัญหาก็จะจบๆ มันก็จะมีหลายอย่างที่จบไป ปัญหามีอะไรบ้าง เขาก็เล่าให้ฟัง เช่นเเม่จะได้ไม่มีลูกโง่ๆ อย่างเขา เพราะเขาเลี้ยงดูเเม่ไม่ได้ โตป่านนี้เเล้ว เป็นลูกที่เเย่ อยากตาย เลยถามว่า แล้วถ้าตาย ผลลัพธ์ที่ได้คือ จะได้เลี้ยงดูแม่หรอ คนที่ฆ่าตัวตายจะได้เเสดงความเป็นลูกที่ดีรึเปล่า แล้วถ้าไม่ตายล่ะ จะเป็นยังไง แล้วข้อดีข้อเสียของการฆ่าตัวตายเป็นยังไง ให้เขาตอบเอง คุยไปคุยมาเขาก็บอกว่าไม่ตายแล้ว

ตอนเเรกก็กลัวว่า เกิดคุยเเล้วเขาไป เราจะรู้สึกผิดมั้ย เเต่ตอนเรียน ในเชิงการแพทย์ เขาตัดสินใจอย่างไรก็ต้องแล้วแต่เขา เพียงแต่เรารับฟังด้วยหัวใจไปเรื่อยๆ ให้เขาเล่า เราก็ตั้งคำถาม แล้วเขาจะหาคำตอบเอง เขาจะได้ทางออกของเขาเองว่าอยากไปจริงหรือเปล่า เขาตัดสินใจเลือกทางชีวิตเอง

หนังสือ Mind Director กำกับใจให้ชนะทุกด่านของชีวิต แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก อะไรบ้าง

แบ่ง เป็น 3 ส่วนคล้ายโปรดักชั่นการละคร คือ Pre-production เหมือนการเตรียมตัวเอง อ่านให้รู้ว่าสุขภาพจิตของเราเป็นอย่างไร บางทีเราคิดว่าเราท้อ แต่เปล่า กลายเป็นโรคซึมเศร้า การหงุดหงิดที่ดูธรรมดาแต่กลายเป็นบุคลิกภาพแปรปรวน แต่ยังไม่รู้ตัว ส่วนนี้จึงเป็นการเตรียมตัวเองว่าเราน่าจะเข้าข่ายบุคลิกภาพแบบไหน เป็นส่วนที่ทำให้เรารู้จักเข้าใจตัวเอง เข้าใจคนรอบข้าง ว่าอาการที่เขาแสดงออกมันเป็นธรรมชาติของเขา ในทางจิตวิทยามีคำตอบว่านิสัยนี้ปกตินะ ไม่ปกตินะ เช็กได้เลย

Production เหมือนชีวิตมีปัญหาเข้ามา เราจะใช้ชุดความคิดอย่างไรในการปรับ หรือจะมอง

สถานการณ์ นั้นๆ อย่างไร มองตัวเองอย่างไร หลังจากส่วนแรกของหนังสือบอกว่าเราเป็นคนแบบไหน เมื่อมีปัญหาเข้ามา จะทำให้รู้ว่าต้องจัดการตัวเองอย่างไรให้ครบวงจร

Post-production หลังจากเรารู้วิธีการจัดการปัญหา หากมีบางอย่างที่คาดเดาไม่ได้เข้ามา ส่วนนี้จะทำให้เราสตรองต่อไปในสถานการณ์กระทบใจในอนาคตได้

หากคนที่มีปัญหาในชีวิตได้อ่านหนังสือเล่มนี้ จะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน

ช่วย ได้นะ เหมือนมีเพื่อนมาคอยเตือนคอยคุยอยู่ข้างๆ เลย ขนาดเปิดอ่านเองรอบหลังๆ ยังรู้สึกว่าช่วยได้ วิธีอ่าน อาจจะเริ่มที่สารบัญว่าเราอยากรู้เรื่องไหน เพราะเเต่ละเรื่องเหมือนจิ๊กซอว์หลายๆ ชิ้นมาประกอบกันให้เกิดภาพจิตใจที่สมบูรณ์ จะหยิบตรงไหนมาอ่านก่อนก็ได้ หรือจะอ่านตั้งแต่ต้นจนจบก็ได้ แต่ละบทจะสั้นๆ อ่านง่าย อ่านจบแล้วยังเหลือเวลาขบคิดกับตัวเอง กลับมามองตัวเองว่าฉันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่านะ

เช่น “กำกับใจให้เชื่อถือในตัวเอง” จะมีวิธีอย่างไรในการสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง ใช้ศาสตร์ละครต้องปรับร่างกาย สายตา ลมหายใจอย่างไร ใช้ศาสตร์ทางจิตเวช ปรับความคิด มุมมองที่มีกับตัวเอง

ส่วนตัวชอบมาก เพราะเป็นหนังสือเล่มไม่ใหญ่ เล็กๆ บางๆ น่าจะเหมาะกับคนที่อ่านหนังสือไม่เก่งเหมือนเรา บทหนึ่ง 2-3 หน้าก็อ่านหมดแล้ว สบายๆ

การจัดการกับความเครียดในแบบฉบับครูเปิ้ล

ความ เครียดมันมีหลายมิติ เช่นเรื่องโรงเรียนสอนการแสดง คนอาจจะคิดว่าเครียดเรื่องทำไงให้คนมาเรียน ทำไงให้คุณภาพคงอยู่ตลอดไป เเต่ครูเปิ้ลจะมองในมุมบริหารเเละนักจิตวิทยาด้วย เมื่อต้นปีรับพนักงานใหม่เข้ามา ความเครียดที่เกิดคือ กังวลว่าจะเลี้ยงดูเขาได้ดีหรือเปล่า เขามาฝากชีวิตกับเราแล้ว คิดถึงขั้นว่าเขาจะเติบโตไปได้ขนาดไหนในวัยเขา ความรู้ทางจิตวิทยาจะมารบกวนเราว่าวัย 20-30

ทางจิตสังคมคือเขาควร ตั้งตัวได้เเล้ว เขามีหรือยัง องค์กรเราให้เขาได้หรือเปล่า วันนั้นจะรู้ตัวเลยว่าทั้งวันเราคิดแต่เรื่องนั้น แต่เรากำกับใจคือกำกับชีวิตเราเอง เราเลยเเยกตัวเองออกมาดู ว่าถ้าเรื่องนี้เป็นละคร เราจะเเนะนำตัวเอกว่ายังไง คิดแบบนั้น เรามองออกง่ายกว่าเพราะเรามองจากมุมไกล เห็น 360 องศาเลย

มองแบบนี้ เห็นทางเเก้ปัญหา เห็นทางออกมากมาย เพราะอะไรรู้มั้ยคะ สมองเราเขารักเรา กลัวเราลำบาก เลยระวังอันตรายมากมาย ทำให้เราไม่ค่อยเห็นทางไปเท่าไหร่ เเต่มนุษย์เรามักเก่งในเรื่องคนอื่น ฝึกฝนให้เอาตัวเองออกมาจากปัญหา เเล้วมองหลายมุมได้ ก็เป็นผู้กำกับใจเเล้วกำกับชีวิตตัวเองสำเร็จสบายใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image