คอลัมน์อาศรมมิวสิก : เพลงสำคัญของชาติ : โดย สุกรี เจริญสุข

คณะกรรมการสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีมติและมอบหมายให้มีการบันทึกเสียงเพลงสำคัญของชาติเสียใหม่ เนื่องจากสำเนาเสียงเดิมที่ใช้กันอยู่นั้นเก่ามากแล้ว ความจริงการบันทึกเสียงรุ่นเก่าก็มีเงื่อนไขที่จำกัด อาทิ เครื่องดนตรีมีอยู่น้อยชิ้น นักดนตรีมีศักยภาพที่จำกัด เครื่องบันทึกเสียงเป็นแบบโบราณ ห้องที่ใช้ในการบันทึกเสียงก็มีคุณภาพด้อยกว่าปัจจุบัน ซึ่งก็ดีที่สุดแห่งยุคนั้นอยู่แล้ว ประกอบกับปัจจุบัน ประเทศไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพมากกว่าเดิมด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อนำเพลงสำคัญของชาติไปใช้ประกอบภาพกิจกรรมของผู้นำ ทั้งในรายการโทรทัศน์และวิทยุต่อไป

บทเพลงที่สำคัญของชาตินั้น ประกอบด้วย เพลงสรรเสริญพระบารมี ทั้งทางขับร้องและทางบรรเลง ซึ่งเรียบเรียงเสียงประสานโดย พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ประพันธ์ทำนองโดย ปโยตร์ สชูโรฟสกี (Pyotr Schurovsky) เนื้อร้องโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ส่วนเพลงชาตินั้น เป็นทั้งทางขับร้องและทางบรรเลง ประพันธ์ทำนองและเรียบเรียงเสียงประสานโดย พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) เนื้อร้องโดย พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ยังมีเพลงมหาชัย เฉพาะทางบรรเลง ประพันธ์ทำนองโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เรียบเรียงเสียงประสานโดย พันเอก ประทีป สุพรรณโรจน์

เพลงสุดท้ายที่บันทึกก็คือ เพลงมหาฤกษ์ เฉพาะทางบรรเลง ประพันธ์ทำนองโดย จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เรียบเรียงเสียงประสานโดย พันเอก ประทีป สุพรรณโรจน์

Advertisement

คณะกรรมการจากสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ได้มอบหมายให้วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra) บรรเลงในการบันทึกเสียงครั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2561 ซึ่งใช้นักดนตรี 93 คน มีคณะนักร้อง 44 คน จาก 5 ส่วนงาน นำโดย กรมดุริยางค์ทหารบก กองดุริยางค์ทหารเรือ กองดุริยางค์ทหารอากาศ กองดุริยางค์ตำรวจ และกรมศิลปากร ร่วมกับนักร้องจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

วัตถุประสงค์ของการบันทึกเสียงบทเพลงสำคัญของชาติใหม่ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของชาติในงานพระราชพิธี งานพิธี และงานสำคัญของชาติ ซึ่งเป็นงานของสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นต้นแบบ โดยมอบให้แก่ส่วนราชการนำบทเพลงที่สำคัญของชาติไปเผยแพร่ในทุกรูปแบบผ่านส่วนงานราชการ ทั้งสื่อวิทยุและโทรทัศน์ สื่อออนไลน์สู่สาธารณะ ทั้งในและต่างประเทศ

ในการบันทึกเสียงบทเพลงที่สำคัญของชาติฉบับใหม่นี้ ใช้อุปกรณ์ไมโครโฟน เครื่องบันทึกเสียงที่ทันสมัย บันทึกที่ห้องบันทึกเสียงห้องใหญ่ที่อาคารมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งถือว่าเป็นห้องบันทึกเสียงที่ทันสมัย ใหม่ที่สุดในปัจจุบัน หากออกมายังไม่ดีพอ ก็ขึ้นอยู่กับคนทำงาน เพราะเครื่องมือนั้นดีที่สุดแล้วในปัจจุบัน

Advertisement

เพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นบทเพลงเกียรติยศที่ใช้บรรเลงรับและส่งเสด็จพระมหากษัตริย์ เป็นบทเพลงที่แสดงถึงความเป็นชาติที่มีการปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยังใช้บทเพลงเป็นตัวแทนองค์พระมหากษัตริย์ด้วย ดังนั้น เพลงสรรเสริญพระบารมีจึงใช้สำหรับพระมหากษัตริย์หรือผู้แทนพระองค์เท่านั้น

เพลงสรรเสริญพระบารมี ผู้ประพันธ์ทำนองเป็นนักประพันธ์เพลงชาวรัสเซียชื่อ ปโยตร์ สชูโรฟสกี (Pyotr Schurovsky) เกิดที่เมืองเคิสก์ (Kursk) ศึกษาวิชาดนตรีที่สถาบันดนตรีกรุงมอสโก (Moscow State Conservatory) ในการประพันธ์ทำนองบทเพลงสรรเสริญพระบารมีนั้น เป็นการมอบให้เป็นที่ระลึกแก่ประเทศสยาม เนื่องจาก
สชูโรฟสกี มีความประสงค์ที่จะทำหนังสือรวบรวมเพลงชาติของประเทศที่มีเอกราชในยุคนั้น (พ.ศ. 2431) ซึ่งพบว่า ประเทศสยามเป็นประเทศที่มีเอกราช แต่ยังไม่มีเพลงประจำชาติ ซึ่งรัฐบาลในขณะนั้นได้ประกาศให้มีการประกวดการประพันธ์เพลงประจำชาติอยู่

อย่างไรก็ตาม ในเอกสารราชการไทย ยังไม่เคยบันทึกว่า เพลงสรรเสริญพระบารมี ฉบับปัจจุบัน ประพันธ์โดย ปโยตร์ สชูโรฟสกี

ส่วนเพลงชาติไทยนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง วันที่ 24 มิถุนายน 2475 รัฐบาลใหม่ต้องการเพลงชาติที่แสดงถึงความเป็นชาติ (National Anthem) หมายถึงเพลงที่เกี่ยวข้องกับประชาชน โดยมีความหมายที่แยกและแตกต่างออกไปจากเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยคณะรัฐบาลในสมัยนั้นได้มอบให้พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) เป็นผู้ประพันธ์ทำนองเพลงชาติขึ้น
หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ยังไม่มีเพลงชาติใช้ทันที คณะรัฐบาลจึงมอบหมายให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร (คนแรก) นำทำนองเพลงมหาชัย (ทางไทย) มาใส่เนื้อเต็ม เรียกว่า เพลงชาติมหาชัย นำไปใช้เป็นเพลงชาติ “ฉบับชั่วคราว” เนื้อร้องขึ้นต้นว่า “สยามอยู่คู่ฟ้าอย่าสงสัย…”

เมื่อพระเจนดุริยางค์ได้ประพันธ์ทำนองเพลงชาติแล้วเสร็จ รัฐบาลได้มอบหมายให้ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องใส่ลงไป (2 ท่อน) โดยไม่มีการรับรองอย่างเป็นทางการแต่อย่างใดว่าเป็นเพลงชาติ แต่ก็ได้ใช้เป็นเพลงชาติทั้งเนื้อร้องและทำนองอย่างไม่เป็นทางการอยู่ 2 ปี

ต่อมามีคำวิพากษ์วิจารณ์กันมาก รัฐบาลจึงจัดให้มีการประกวดเนื้อร้องเพลงชาติ โดยใช้เนื้อร้องเดิมของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) และได้เพิ่มเนื้อร้องของนายฉันท์ ขำวิไล เข้าไปอีก 2 ท่อน รวมเนื้อร้องเพลงชาติมีความยาวถึง 4 ท่อน ซึ่งยาวกว่าปัจจุบันอีก 3 เท่า รัฐบาลได้ประกาศให้ใช้เป็นเพลงชาติ ทั้งเนื้อร้องเก่าและเนื้อร้องใหม่ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2477

เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่ จากประเทศ “สยาม” เป็นประเทศ “ไทย” จึงต้องเปลี่ยนเนื้อร้องของเพลงชาติเสียใหม่ด้วย เนื่องจากเพลงชาติเดิมที่มีความยาว 4 ท่อน ถูกประชาชนวิจารณ์ว่า “ประเทศที่เจริญแล้ว มีเพลงชาติสั้นๆ ตัวอย่างเพลงชาติของประเทศอังกฤษ ส่วนประเทศที่ด้อยพัฒนา ก็จะมีเพลงชาติยาวๆ ตัวอย่างเพลงชาติของประเทศสยาม” เป็นต้น

สำหรับเนื้อร้องเพลงชาติฉบับใหม่ ยังคงใช้ทำนองเดิมของพระเจนดุริยางค์อยู่ รัฐบาลได้จัดประกวดการแต่งเนื้อร้องเพลงชาติไทยขึ้น ผู้ชนะเป็นเนื้อร้องของ พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ซึ่งมีความยาวเนื้อร้องเพียงท่อนเดียว ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2482 กระทั่งปัจจุบัน

เพลงมหาชัย ซึ่งเป็นเพลงเกียรติยศ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้นำทำนองมาจากเพลงมหาชัย ซึ่งเป็นเพลงไทยอยู่ในเพลงชุดโหมโรงทำขวัญ ได้นำมาแปรทำนองให้เป็นทางฝรั่ง โดยทรงมอบหมายให้ พันตรี พระวาทิตบรเทศ (ม.ร.ว.ชิต เสนีวงศ์) ผู้บังคับการกองแตรวงของทหารบก เรียบเรียงเป็นเพลงบรรเลงในจังหวะสโลว์มาร์ช อย่างฝรั่ง

เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ได้นำเพลงมหาชัย (ทางฝรั่ง) มาใช้บรรเลงเพื่อเชิญธงขึ้นยอดเสา เมื่อเปลี่ยนกองทหารรักษาการณ์

ปัจจุบัน เพลงมหาชัยใช้บรรเลงรับและส่งเสด็จเจ้านายผู้ใหญ่ระดับชั้นเจ้าฟ้า

เพลงมหาฤกษ์ เป็นเพลงในชุดโหมโรงทำขวัญ ทำนองเดิมเป็นเพลงนางนาค โดยจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ขณะทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ได้เรียบเรียงทำนองเพลงมหาฤกษ์ (นางนาค) ให้เป็นทางฝรั่ง สำหรับวงแตรใช้บรรเลง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นเพลงเกียรติยศ บรรเลงในเวลาได้ฤกษ์เปิดงานหรือเปิดสถานที่สำคัญ และใช้บรรเลงสำหรับประธานในพิธี

เมื่อบันทึกเสียงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มอบให้แก่กรมดุริยางค์ทหารบก ซึ่งเป็นแม่งานและมีศักดิ์สูงกว่ากองดุริยางค์อื่น เพราะมีตำแหน่งยศพลตรีเป็นเจ้ากรม ส่วนราชการอื่นมีตำแหน่งเป็นหัวหน้ากองครองยศพันเอก เป็นหัวหน้ากองดุริยางค์ ดังนั้น กรมดุริยางค์ทหารบก จึงมีบทบาทและรับผิดชอบสูงสุด

ที่น่าสนใจมากก็คือ เมื่อวงดนตรีระดับโลกเข้ามาแสดงในเมืองไทย ตัวอย่างในวันที่ 6-7 มิถุนายน พ.ศ.2561 วงลอนดอนซิมโฟนีออเคสตรา (London Symphony Orchestra) จะมาแสดงที่อาคารมหิดลสิทธาคาร ก่อนที่จะแสดงบทเพลงในรายการ วงลอนดอนซิมโฟนีออเคสตราก็ต้องบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี (ฉบับใหม่) ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากสำหรับคนไทย เมื่อวงดนตรีระดับโลกบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย

มิตรรักแฟนเพลงที่ชื่นชอบเพลงคลาสสิก อยากฟังวงดนตรีคลาสสิกระดับต้นๆ ของโลก ให้รีบจับจองหาซื้อบัตรเสีย แค่เพียงได้ฟังเพลงสรรเสริญพระบารมี จากวงลอนดอนซิมโฟนีออเคสตรา ก็คุ้มแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image