คอลัมน์ อาศรมมิวสิก : การแสดงของวงลอนดอนซิมโฟนี เป็นโอกาสแก้ตัวทั้งสองฝ่าย

ไม่มีใครเชื่อว่าวงลอนดอนซิมโฟนีออเคสตรา (London Symphony Orchestra, LSO) ได้เคยมาแสดงในประเทศไทยแล้ว เป็นครั้งที่ไม่มีใครอยากจะจำนัก เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2526 ได้แสดงที่ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง) เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ (พ.ศ.2525) เป็นศูนย์ประชุมอเนกประสงค์ มีที่นั่ง 200 ที่นั่ง ระหว่างที่วงลอนดอนซิมโฟนีออเคสตราแสดงวันนั้น ฝนตกลงมาอย่างหนัก เสียงฝน เสียงฟ้าคะนอง กลบเสียงดนตรีของวงลอนดอนซิมโฟนีออเคสตรา ฟังแทบไม่ได้ยินเสียงดนตรี เพราะว่าโครงสร้างหลังคาและฝาผนังห้องของศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อรองรับการแสดงดนตรีคลาสสิกเอาเสียเลย

ตอนนั้นวงลอนดอนซิมโฟนีออเคสตรามีโครงการเดินทางไปแสดงทั่วโลก (World Tour, 1983) ในอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ใช้เวลาเดินทาง 32 วัน รวมการแสดงทั้งหมด 23 ครั้ง ซึ่งเป็นการเดินทางของวงดนตรีขนาดใหญ่ที่โหดพอควร ตอนที่มาถึงเมืองไทยนั้นก็เป็นช่วงท้ายๆ ของรายการเดินทางแล้ว นักดนตรีก็เหนื่อยกันเอาการทีเดียว

ความจริงเมืองไทยมีโรงละครแห่งชาติ สร้างเมื่อปี พ.ศ.2508 มีเก้าอี้ 663 ที่นั่ง เป็นพื้นที่แสดงดนตรีคลาสสิกได้ดีที่สุด แต่วันนั้นที่โรงละครแห่งชาติไม่ว่าง เพราะการเดินทางมาแสดงของวงลอนดอนซิมโฟนีออเคสตราจัดขึ้นในเวลากระชั้นชิดมาก มีเวลาแค่ 3 สัปดาห์ ซึ่งการมาเมืองไทยเป็นเพียงแค่ทางผ่าน ไม่ได้เป็นเมืองหลักของการแสดง จัดการแสดงที่เมืองไทยก็เพื่อนับว่าได้ไปแสดงมาแล้วเท่านั้น

ขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2530) และยังไม่มีอาคารมหิดลสิทธาคาร (พ.ศ.2557) แต่ก็มีผู้ฟังดนตรีคลาสสิกและหลงรักดนตรีคลาสสิกพอสมควรแล้ว

Advertisement

ในครั้งนั้น สำนักงานบริติช เคานซิล เป็นเจ้าภาพผู้ดำเนินการจัดแสดง เข้าใจว่ารัฐบาลอังกฤษได้ให้การสนับสนุนทุนเป็นหลัก ทั้งนี้ เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมดนตรี โดยใช้วงลอนดอนซิมโฟนีออเคสตราเป็นตัวขับเคลื่อน แสดงถึงความเป็นมหาอำนาจทางวัฒนธรรม เมื่อเดินทางมาถึงเมืองไทย คอนดักเตอร์หลักของวง คือ คลาวดิโอ อับบาโด (Claudio Abbado) ชาวอิตาเลียนนั้น ได้บินกลับอังกฤษไปก่อนแล้ว ตั้งแต่แสดงที่ญี่ปุ่นจบลง ส่วนการแสดงที่เมืองไทยก็ใช้ผู้ช่วยคอนดักเตอร์ (Ivan Fischer) ชาวฮังการี ทำหน้าที่นำวงแทน

ตอนพักครึ่ง หัวหน้าวงลอนดอนซิมโฟนีออเคสตรา (Michael Davis) นักไวโอลิน เดินเข้าไปหลังเวที พลัดตกบันได ขาฉีกต้องส่งโรงพยาบาล ครึ่งหลังจึงให้นักไวโอลินมือสองนำวงแทน

รายการแสดงในคืนนั้น (26 พฤษภาคม 2526) เริ่มด้วยเพลงโหมโรงของรอสซินี (Rossini) มีเพลงเชลโลคอนแชร์โตของเอลการ์ (Elgar) เดี่ยวโดยหัวหน้ากลุ่มเชลโล (Douglas Cummings) และจบด้วยบทเพลงซิมโฟนีของมาห์เลอร์ (Mahler) หมายเลข 1 ในขณะที่วงดนตรีเล่นอยู่นั้น ฝนตกลงมาอย่างหนัก คนที่นั่งข้างหลังก็ไม่ได้ยินเสียงดนตรี นักดนตรีเองก็งง เพราะไม่คุ้นกับเสียงฝนตก

Advertisement

สำหรับราคาค่าตั๋วในการชมแสดงของวงลอนดอนซิมโฟนีออเคสตราครั้งนั้น มีราคา 150, 200, 300 และ 500 บาท แม้มิตรรักแฟนเพลงที่หลงใหลวงลอนดอนซิมโฟนีจะพยายามปรบมือให้ยาวนาน เจ็บมือแค่ไหน ทางวงลอนดอนซิมโฟนีออเคสตรา ก็ไม่ยอมมีเพลงแถมให้เลย ได้เก็บเครื่องดนตรีแล้วก็กลับโรงแรมทันที

การมาของวงลอนดอนซิมโฟนีออเคสตราครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 วันที่ 6-7 มิถุนายน 2561 ถือว่าเป็นการแก้ตัวของวงดนตรีชั้นนำของอังกฤษ และเป็นการแก้ตัวของประเทศไทยในเวลาเดียวกันด้วย โดยเฉพาะของวงดนตรีนั้น ตั้งใจอย่างยิ่งที่จะมาแสดง แม้จะมีเงื่อนไขเพียบ ส่วนฝ่ายไทยนั้น มีหอแสดงดนตรี ที่มหิดลสิทธาคาร ซึ่งแตกต่างไปจากศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น (ดินแดง) แม้ว่าที่ศาลายาจะอยู่ไกลกรุงเทพฯ เป็นทางฝนผ่าน ทางลม ทางฟ้าร้อง ฟ้าผ่า และทางน้ำก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าเสียงจากภายนอกจะไม่สามารถรบกวนผู้ฟัง หรือเสียงจะเข้าไปรบกวนนักดนตรีได้แต่อย่างใด เพราะมีระบบเสียงอย่างดี ในส่วนของผู้ฟังนั้น ทุกคนตั้งหน้าตั้งตาคอยชม ทั้งๆ ที่บัตรแพงสุดแล้ว

การเชิญวงลอนดอนซิมโฟนีออเคสตรา ซึ่งเป็นวงดนตรีที่ดีที่สุดของอังกฤษมาแสดงในครั้งนี้ เพื่อจะบอกให้ชาวโลกรับรู้ว่า ประเทศไทยก็มีความพร้อมที่จะรองรับสิ่งที่ดีที่สุดของโลกได้ เมื่อ 30 ปีก่อนนั้น ไทยเรายังไม่พร้อม ยังเป็นประเทศด้อยพัฒนาอยู่ วงดนตรีระดับโลกที่มาก็เป็นแค่ทางผ่านเท่านั้น

เงื่อนไขและปัญหาต่างๆ ก็ได้แก้ผ่านไปแล้ว เรื่องเฉพาะหน้า ประเทศไทยปกครองด้วยระบบทหาร ปฏิวัติได้อำนาจมา ในสายตาของประเทศโลกที่หนึ่ง เขามองว่าประเทศเราไม่เป็นประชาธิปไตย เขาไม่ยอมรับการปกครองของทหาร ทั้งๆ ที่ดนตรีก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ได้เกี่ยวกับเชื้อชาติ ไม่ได้เกี่ยวกับศาสนา ไม่ได้เกี่ยวกับเผ่าพันธุ์หรือหน้าตาแต่อย่างใด ดนตรีนั้นเกี่ยวข้องกับความไพเราะสวยงาม รสนิยม แต่ประเทศที่เจริญแล้วจะให้การสนับสนุนประเทศที่มีการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย เงื่อนไขข้อนี้เป็นข้อที่ยากมาก เพียงข้อเดียวก็ต้องอธิบายกันยืดยาวนาน เหนื่อยและเสียพลังไปมาก

เงื่อนไขที่ต้องกัดฟันทำเพื่อชาติก็คือ ค่าตัวและค่าใช้จ่ายสูงมาก สูงจนเกินตัวและเกินกำลัง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเรื่องเหล่านี้ไม่มีใครเปิดเผย เพราะเป็นเรื่องธุรกิจ แต่เนื่องจากฝ่ายจัดการเป็นสถาบันการศึกษา จึงไม่มีอะไรปกปิดกับสาธารณะ เขาคิดค่าตัว 3 แสนปอนด์ พร้อมค่าตั๋วและค่าขนส่งเครื่องดนตรี แบ่งส่วนค่าตั๋วโดยสารกับการไปแสดงที่เมืองอื่น มีโรงแรม 5 ดาว จำนวน 120 ห้อง รถรับส่งภายในประเทศ และค่าอาหาร เมื่อรวมตัวเลขแล้ว ก็ยากที่จะทำให้สำเร็จได้ แปลว่า หืดขึ้นคอ

ยิ่งเศรษฐกิจของประเทศไทยตกอยู่ในช่วงที่ไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร หาผู้สนับสนุนก็ยาก ทำให้การจัดการแสดงยิ่งยากเข้าไปอีก จึงต้องใช้วิธีขายบัตรเข้าชมการแสดง ขายทุกเก้าอี้ ขายทุกที่นั่ง ขายกับคนใกล้ชิด ขายกับพรรคพวกที่รู้จัก ทำทุกวิถีทางที่จะขายบัตรให้ได้

ปัญหาก็คือ คนที่รู้จักส่วนใหญ่เป็นผู้มีรสนิยมชอบฟังเพลงดี แต่ก็ไม่มีเงินที่จะจ่าย เพราะว่า “บัตรแพง” พยายามชี้แจงว่า ท่านไม่ต้องเสียค่าตั๋วเครื่องบินไปลอนดอน ไม่ต้องเสียค่าทำวีซ่า ไม่ต้องเสียค่าโรงแรม ไม่เสียเวลาเดินทางไปต่างประเทศ แถมหอแสดงดนตรียังดีกว่าที่ลอนดอนด้วยซ้ำไป แต่ก็เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นเท่าใดนัก

ในที่สุดก็ต้องขอให้ทุกคนช่วยกันขายและช่วยกันซื้อ อาศัยพรรคพวกเพื่อนพ้องที่หลงรักดนตรีคลาสสิก กัดฟันขายตั๋วเพื่อให้ได้เงินในการจัดการแสดง แบบว่า “ฉิบหายไม่ว่า เอาหน้าไว้ก่อน” หน้า ในที่นี้ หมายถึง โฉมหน้าประเทศไทย

สําหรับคนที่มีเงินนั้น เขาบินไปฟังดนตรีที่สิงคโปร์ บินไปดูที่ฮ่องกง โตเกียว และบินไปดูที่ลอนดอนเลย เนื่องจากพบว่าคนที่มีเงินเขาไม่ดูอะไรในเมืองไทย เพราะเป็นคนที่มีฐานะคนละชั้นกัน ซึ่งเป็นปัญหาทางทัศนคติในสังคมไทย บินไปดูเมืองนอกเท่กว่า คุยได้มากกว่า ไม่เหมือนใครและไม่มีใครทำได้เหมือน

ประโยชน์ของชาตินั้น การที่วงดนตรีระดับโลกเดินทางมาแสดงในประเทศไทย เป็นราคาของความน่าเชื่อถือ เป็นรสนิยมของคนในชาติ รัฐบาลไทยควรทำสิ่งเหล่านี้ด้วยซ้ำไป ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือกระทรวงวัฒนธรรม เพราะการมาแสดงของวงลอนดอนซิมโฟนีออเคสตราเป็นหน้าตาของประเทศไทยเต็มๆ ชาวโลกได้เห็นปรากฏการณ์เหล่านี้ ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่น่าเชื่อถือ เป็นประเทศที่มีรสนิยม แม้ว่าจะเป็นเรื่องของคนส่วนน้อย

ดูตัวอย่างได้จากประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ผู้นำเขาใช้ดนตรีคลาสสิกเป็นการโฆษณาหน้าตาของประเทศ เป็นพลังบวก เป็นรสนิยม และเป็นการเสริมเสน่ห์ของประเทศ ยิ่งมีชนชั้นนำของชาติปรากฏตัวในงานแสดงดนตรีคลาสสิก ยิ่งทำให้หุ้นในประเทศดีดตัวสูงขึ้นได้เลยทีเดียว

สำหรับมิตรรักแฟนเพลงที่อ่านแล้วอยากไปซื้อบัตรฟังวงลอนดอนซิมโฟนีออเคสตรา เข้าใจว่ายังพอมีบัตรราคาแพงเหลืออยู่บ้าง ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เสียใจที่บัตรราคาถูกนั้นขายหมดไปแล้ว เหลือแต่บัตรราคาแพง ที่ต้องขายแพงก็เพื่อจะเอาตัวให้รอดเท่านั้นครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image