“2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว” บันทึกปรากฏการณ์ 55 วัน “ตูน-บอดี้สแลม”

จากปรากฏการณ์การวิ่งครั้งประวัติศาสตร์ระยะทางกว่า 2,215 กม. บนเส้นทางจาก “เบตง” ถึง “แม่สาย”

ที่ได้รับการตอบรับจากผู้คนนับล้าน ร่วมส่งแรงใจให้ทุกย่างก้าวของโครงการ “ก้าวคนละก้าว” เพื่อหารายได้ซื้อเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ให้กับโรงพยาบาลศูนย์ 11 แห่งทั่วประเทศ ประสบความสำเร็จ

ตลอดระยะเวลา 55 วัน นับจากวันแรกของโครงการเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ความหวัง และพลังของมวลชนตลอดเส้นทาง ทำให้ยอดบริจาคที่ตั้งเป้าไว้จากคนไทยทั่วประเทศเกือบ 70 ล้านคน คนละ 10 บาท เป็นเงิน 700 ล้าน พุ่งทะยานมากกว่า 1,400 ล้านบาท ยังเป็นการกระตุ้นให้สังคมหันมาเห็นความสำคัญของการดูแลโรงพยาบาลในพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น

ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากร็อกสตาร์ที่ชื่อว่า อาทิวราห์ คงมาลัย หรือ ตูน บอดี้สแลม

Advertisement
ตูน บอดี้สแลม

ซึ่งเขาได้เปิดใจอีกครั้งบนเวที “พลิกเกมธุรกิจ พลิกอนาคต The Reinvention” ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ ซึ่งจัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจในเครือมติชน ถึงเบื้องหลังความสำเร็จทั้งหมดของโครงการ “ก้าวคนละก้าว”

ตูนเล่าว่า การวิ่งจากเบตงถึงเเม่สาย เป็นการคิดถึงระยะทางบนพื้นฐานที่จะช่วยโรงพยาบาลให้ได้มากกว่า 1 แห่ง อยากได้เงินบริจาคมากที่สุดเพื่อกระจายให้โรงพยาบาลศูนย์อย่างเป็นรูปธรรม และตั้งโจทย์กับตัวเองด้วยว่าอยากท้าทายขีดความสามารถให้มากยิ่งขึ้น คือระยะทางจากใต้สุดไปเหนือสุด เป็นที่มาของเรื่องระยะทางที่ต้องตอบโจทย์ตรงนี้ ไม่ได้คิดถึงเรื่อง เชื่อ บ้า หรือกล้าเลย แต่คิดถึงแต่ปลายทางที่จะช่วยเหลือโรงพยาบาลด้วยวิธีการของเรา

Advertisement

การวิ่งครั้งนี้ยังทำให้เขาได้ค้นพบกับบางสิ่งที่ซ่อนอยู่ในตัวเองคือ “การยอมแพ้” และ “ความเสียดาย”

ตูนเล่าย้อนว่า วันนั้นเป็นการวิ่ง 100 กม.ติดต่อกันโดยที่ไม่ได้พักเป็นครั้งแรก ซึ่งการวิ่งบางครั้งเราอาจเจอตัวขี้เกียจเวลาซ้อม แต่ตัวยอมแพ้เป็นตัวใหม่ที่เพิ่งเจอครั้งแรกใน กม.ที่ 80 ตอนนั้นเกิดฝนตกค่อนข้างหนัก อากาศหนาวมาก ขาเริ่มไม่ไปกับใจ ทำให้ก้าวต่อก้าวมันทรมานมากจนมีวูบหนึ่งที่คิดว่าไม่ไหวแล้วจะยอมแพ้ แต่มาเจออีกตัวหนึ่งก่อนคือความเสียดาย

“เพราะวิ่งมาตั้ง 80 กม.แล้วอีก 20 กม.จะได้ชื่อว่าเป็น 100 กม.แรกของเรา ระหว่างที่ตัวยอมแพ้กับตัวเสียดายกำลังต่อสู้กันอยู่ ก็เริ่มวิ่งช้าลงแล้วเริ่มเดินดูก่อนว่าจะไปได้สักกี่ก้าว จนทุกอย่างมันคลี่คลายได้ด้วยตัวของมันเอง ผมกลับมามองว่ามันเป็นความรู้สึกแค่เสี้ยววินาทีเท่านั้นกับการตัดสินใจว่าเราจะไม่เอาแล้ว ซึ่งมันเป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำสำหรับผมมากที่ได้เรียนรู้ว่ามันมีเส้นที่นอกจากวิ่งต่อกับหยุดวิ่งนั่นคือการเดิน”


ตูน-บอดี้สแลม

ขณะเดียวกัน ตูนก็มีแนวคิดที่จะบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการวิ่งครั้งนี้ไว้ด้วย

“ผมอยากทำให้เหมือนบันทึกเรื่องราวเก็บเป็นภาพ เป็นความทรงจำ เพราะคิดว่าคงไม่ได้ทำอะไรแบบนี้บ่อยๆ ในหัวผมเป็นเหมือนไดอารี่ วันนี้เราเจออะไร ประทับใจอะไร และพบกับใคร เป็นภาพในมุมภายนอก”

ซึ่งภาพบันทึกดังกล่าวกำลังจะนำมาถ่ายทอดให้คนไทยเห็นในรูปแบบของภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว”

“แต่วันแรกที่ได้ไปดูหนังมันไม่ใช่อย่างที่ผมคิดไว้ มันมีภาพของบรรยากาศมีเรื่องราวการวิ่งครบถ้วน แต่มวลของหนังส่วนใหญ่จะฉายภาพมาที่ตัวผม ซึ่งคิดว่าคนอื่นอาจจะเห็นผมเยอะแล้วอยากให้ได้เห็นในมิติอื่นบ้าง เราเขินที่มีหนังออกมาก็เป็นหนังเกี่ยวกับตัวเองไม่อยากให้ออกมาเป็นแบบนี้ แต่สุดท้ายลองเปิดหน้าต่างบานใหม่ ลองคิดว่าถ้าหนังเรื่องนี้จะให้ประโยชน์ ให้แรงบันดาลใจอะไรกับคนดูได้ออกมาทำอะไรแบบนี้บ้าง ก็กลับมาสู่ประโยคที่พี่เก้ง-จิระ บอกกับเราว่า เป็นหนังที่ดีมาก” ตูนกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับภาพยนตร์ “2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว” เป็นสารคดีที่มี จิระ มะลิกุล หรือ เก้ง แห่งค่ายจีดีเอช (GDH) เป็นโปรดิวเซอร์

จิระนับเป็นอีกผู้หนึ่งที่อยู่ในวงการหนังมานาน มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกคือ “15 ค่ำ เดือน 11” นอกจากนี้ยังผลิตผลงานอีกมากมายต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

แต่กว่าจะสร้างผลงานออกมาได้อย่างที่เห็นไม่ใช่เรื่องง่าย เขาต้องเจอกับอุปสรรคมากมาย เพราะการทำหนังมีทั้งอุปสรรคและความเสี่ยงดังประโยคที่ว่า “ถ้าเกลียดใครหรืออยากเห็นใคร(ฉิ)บหายให้ชวนเขาไปทำหนัง”

ซึ่งจิระบอกว่า เป็นประโยคที่จริงมาก ธุรกิจหนังมันคาดหมายอะไรไม่ได้ ลงทุนสูงแต่กู้เงินธนาคารยาก เพราะเราไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่เรากำลังทำจะได้ผลเป็นอย่างไร

“สำหรับคนทำหนังทุกครั้งที่จะหนังจะเข้าฉายเรายังใจเต้นตุ๊มๆ ต่อมๆ เลย ทั้งที่เรามั่นใจมาก เราชอบสุดๆ แต่ว่าจะมีคนดูหรือเปล่าจะได้เงินหรือเปล่าอันนี้เราไม่รู้เลย ถึงแม้หลายคนมองว่าค่ายของผมมีหนังร้อยล้านหลายเรื่องแต่ที่เจ๊งก็เยอะที่คนไม่ค่อยพูดถึง”

เก้ง-จิระ มะลิกุล

จิระบอกอีกว่า การทำหนังเรื่องหนึ่งต้องอาศัยความกล้าที่เกิดจากแพชชั่นว่าเราอยากจะดูหนังเรื่องนี้ เพราะการทำหนังมันยิ่งกว่าการปั้นน้ำเป็นตัวอีก ก่อนที่หนังจะฉายเราไม่รู้เลยว่าจะเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันมันก็มีอุปสรรค มีคำพูดในด้านลบตลอดเวลา อย่างเรื่องแฟนฉัน พอบทหนังออกมาคนก็บอกว่าเฉยๆ เพราะเป็นเรื่องความรักของเด็กกลุ่มหนึ่ง พอถ่ายทำเสร็จก็มีคนบอกว่า หนังเด็ก หนังกีฬา เป็นหนังต้องห้าม ทำแล้วเจ๊งแน่นอน

“ดังนั้นการทำหนังจึงต้องอาศัยความกล้า แต่ไม่ใช่ใช้ความบ้าบิ่นนะ มันเป็นความกล้าที่มากับความเชื่อในบางอย่าง เราเชื่อว่าความรู้สึกของวัยเด็ก และบรรยากาศยุค 80 ในเมืองไทยที่มีเพลงสาวสาวสาว น่าจะทำให้คนอินและรู้สึกโดน ซึ่งมันมีโอกาสที่จะสำเร็จและไม่สำเร็จ แต่ถ้าไม่ทำจะไม่มีโอกาสสำเร็จเลย”

นอกจากความกล้าที่มาจากความเชื่อในบางอย่างแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ “การไม่ท้อ”

“เราจะต้องไม่ท้อ เพราะมันจะมีคำพูดอัปมงคลเข้ามาตลอดเวลา ก่อนหนังฉายบางคนก็วิจารณ์ว่าตั้งชื่อหนังมาได้ยังไง แฟนฉัน ฟังไม่ดีเลยมันขัดปากจัง หนังเจ๊งแน่กลับไปไถนาดีกว่า พอตัวอย่างมาก็มีคนวิจารณ์ว่า ใครจะดูหนังเรื่องนี้มีแต่เด็กวิ่งไปวิ่งมา แต่พอหนังฉายไม่น่าเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ”

แต่ถึงจะมีหนังเรื่อง “แฟนฉัน” เป็นบทเรียนแล้ว แต่ทุกครั้งที่ทำหนังเรื่องใหม่ก็หนีไม้พ้นเสียงวิจารณ์อยู่ดี แม้จะมีพระเอกชื่อดังอย่าง “เคน-ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์” นำแสดงก็ตาม

“รถไฟฟ้ามาหานะเธอ เรื่องนี้ยิ่งไปกันใหญ่เลย บทหนังก่อนจะถ่ายก็มีคนพูดว่าใครจะดูหนังผู้หญิงอายุ 30 ปีที่ยังไม่มีแฟน (หัวเราะ) แค่คิดก็น่าเบื่อแล้ว ยังมีผู้หญิงที่จะมาดูอาจจะรู้สึกว่าทำไมต้องมาดู มาซ้ำเติมตัวเองด้วย แล้วเราเลือกคุณคริส หอวัง เป็นนางเอกอีก ก่อนหนังฉายคนดูงงเลยนะว่าเอาใครมาเป็นนางเอก จนกระทั่งวันฉายหนังเปลี่ยนชีวิตคุณคริสไปเป็นอีกคน และไม่น่าเชื่อว่า รถไฟฟ้ามาหานะเธอ จะเป็นหนังที่ครองใจสาวอายุ 30 ปีที่ยังไม่มีแฟน” จิระอธิบาย

แม้จะหักล้างคำพูดด้านลบ ด้วยผลงานภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จ ทำรายได้หลักร้อยล้านหลายต่อหลายเรื่อง แต่ทันทีที่หันมาหยิบงานสารคดี คำวิจารณ์ก็ถาโถมเข้ามาแทบจะทันที

จิระเล่าว่า อะไรก็ตามที่ยังไม่เคยทำมันจะมีคำพูดด้านลบ มีสิ่งที่ทำให้เราเปลี่ยนใจได้ตลอดเวลา ตอนทำหนังสารคดีเรื่องแรกคือ “Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์” ตอนนั้นตามติดชีวิตของเปอร์-สุวิกรม อัมระนันทน์ ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีใครรู้จัก เป็นเด็กสวนกุหลาบเดินอยู่ที่สยามฯ เราตามไปถ่ายสารคดีทุกวันอยู่ 1 ปี มันเป็นการลงทุนทั้งเวลาและเงินที่เยอะมาก โดยยังไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร แต่เรามีความเชื่อว่า ชีวิตของเด็กคนหนึ่งที่กำลังจะเอ็นทรานซ์มันน่าตื่นเต้นมาก

“ตอนทำออกมาแล้วทีมงานรู้สึกชอบ แต่ตอนกำลังจะฉายก็มีเสียงพูดว่า ใครจะดูหนังสารคดีในโรง เดี๋ยวคนดูจะต้องเอารองเท้ามาเขวี้ยงใส่จอแน่นอน เพราะขึ้นชื่อว่าสารคดีมันเครียดและน่าเบื่อ ซึ่งหลังจากทำเรื่องนี้ออกมาส่วนตัวผมก็ยังคาใจและอยากจะทำสารคดีอีก เพราะผมคิดว่าสารคดีมันมีอิมแพคมาก พอพี่ตูนมาชวนทำสารคดีเรื่องวิ่ง ผมตอบรับทันที”

นอกจากความอยากจะทำสารคดีอีกครั้งแล้ว ยังมีอีกหนึ่งเหตุผลหนึ่งที่เขาตอบรับคำชวนทำสารคดีเรื่องนี้

จิระเปิดเผยว่า เกิดจากการมีโอกาสได้วิ่งกับพี่ตูนที่บางสะพานแล้วเห็นอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจ ทั้งการที่ร็อกสตาร์คนหนึ่งออกมาวิ่งกลางถนนแล้วคนเข้ามาบริจาค มีเเม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวกำแบงก์ 20 มากำมือหนึ่งยืนรออยากมาให้กับมือพี่ตูน จนน้ำก๋วยเตี๋ยวเกือบจะไหม้ รู้สึกแปลกใจมากและคิดว่าคำตอบของเรื่องนี้ควรจะต้องทำเป็นหนังเรื่องหนึ่ง

ซึ่งหากใครอยากรู้คำตอบ สามารถค้นหาได้ในภาพยนตร์สารคดี “2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว” ที่บันทึกทุกย่างก้าวจาก “เบตง” ถึง “แม่สาย”

พร้อมฉายในโรงภาพยนตร์ โดยเปิดให้ชมฟรีจำนวน 720,000 ที่นั่งในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และเอส เอฟ ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายนเป็นต้นไป วันจันทร์-ศุกร์วันละ 1 รอบ และวันเสาร์-อาทิตย์วันละ 2 รอบ นอกจากนี้ ก้าวคนละก้าว ร่วมกับจีดีเอช และคิง เพาเวอร์ เนรมิตอาคารนิมิบุตรสนามกีฬาแห่งชาติเป็นโรงหนังเฉพาะกิจครั้งแรก ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน วันละ 4 รอบ รอบละ 2,500 ที่นั่งฟรี

ยังเปิดโอกาสให้ผู้สนใจร่วมบริจาคเพื่อหารายได้ซื้ออุปกรณ์การแพทย์เพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาสและผลิตบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่เฟซบุ๊ก “ก้าว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image