อาเซียนผนึกกำลัง…แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตั้งรับภัยพิบัติโลก

ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์, ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง, สัญญา แสงพุ่มพงษ์, ศ.อลัน มิลาโน และ ดร.โมฮัด ซากี้

ปัญหาของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Climate Change) ไม่ใช่เรื่องที่จะจัดการได้ด้วยตัวคนเดียวหรือประเทศเดียว แต่ต้องมีความร่วมมือกัน ไม่เพียงเพื่อสร้างความตระหนักในปัญหาเดียวกัน แต่ยังเป็นโอกาสที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของกันและกัน จับมือพร้อมก้าวออกไปแก้ปัญหาร่วมกัน

เป็นที่มาของการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติประจำปี 2019 ว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในมิติความสัมพันธ์ระหว่างน้ำ-พลังงาน-อาหาร สร้างความร่วมมือในการทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่สังคมที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นประธานเปิดงาน

ทั้งนี้ ในส่วนสถานการณ์ด้านน้ำที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติในอาเซียน ผ่านการให้ข้อมูลของตัวแทนจากภาคนโยบาย ภาคปฏิบัติ และทางด้านวิชาการของไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เพื่อหารือและค้นหาทางออกด้านการบริหารจัดการน้ำ พลังงาน อาหาร ต่อการพัฒนาภูมิภาคอาเซียนนั้น สัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) กรมชลประทาน ในฐานะตัวแทนประเทศไทย บอกว่า ปัจจุบันไทยมีแนวทางการบริหารจัดการด้านน้ำที่ชัดเจนภายใต้แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2558-2569 ที่ล้อไปกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ตอนนี้กรมชลประทานได้มอนิเตอร์สถานการณ์ และมีการปรับเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำที่รูลเคิร์ฟอย่างในเขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ ให้สอดคล้องกับสถิติปริมาณน้ำฝนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยภาพรวมการบริหารจัดการด้านน้ำของประเทศไทยต้องมีการออกแบบใหม่และปรับโครงสร้างใหม่ จากที่สังเกตข้อมูลทางสถิติทุกๆ หลายสิบปี ต้องปรับขึ้นมาดูสถิติให้มีความถี่ขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับโจทย์ที่เปลี่ยนแปลงไป

Advertisement

ด้าน ศ.อลัน มิลาโน นักวิชาการจาก Mindanao State University Iligan Institute of Technology (MSUIIT) ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า สำหรับฟิลิปปินส์เน้นการแก้ปัญหาด้านภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและด้วยการมีประชากรมาก ก็จะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ พลังงาน จึงเกิดโมเดลการแก้ปัญหา อาทิ การวางแผนการจัดเก็บน้ำหน้าฝนไปใช้ในหน้าแล้งให้เพียงพอกับภาคครัวเรือน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาดูแลในพื้นที่ เช่นการเป็นหน่วยงานส่งน้ำไปให้พื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการจัดการปัญหาในประเทศไทย

Advertisement

ในขณะที่ ดร.โมฮัด ซากี้ ผอ.สถาบันวิจัยอุทกวิทยา ประเทศมาเลเซีย ให้ข้อมูลว่า ประเทศมาเลเซียมีการบริหารจัดการด้านน้ำคล้ายคลึงไทยเช่นเดียวกัน คือมีการจัดทำแอ๊กชั่นแพลน โดยมุ่งประเด็นน้ำที่มีความเชื่อมโยงกับภาคเกษตร อุตสาหกรรม ครัวเรือน สิ่งแวดล้อม อย่างการสร้างเขื่อนจะคำนึงถึงประโยชน์ที่หลากหลาย ทั้งทำหน้าที่จ่ายน้ำ ปั่นไฟ และเป็นพื้นที่ปลูกสร้างป้องกันน้ำท่วม นอกจากนี้ในกรณีเกิดสถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะมีการปฏิบัติการยากขึ้น ต้องใช้งานวิจัยและพัฒนาเข้ามาช่วยทั้งในระดับปฏิบัติการและการวางแผนการทำงานใหม่

นอกจากนี้ ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง รอง ผอ.ด้านการวิจัยพื้นฐานและพัฒนานักวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวเสริมว่า ในส่วนของ สกว.เป็นเสมือนหน่วยงานสารเร่งปฏิกิริยา มีหน้าที่เติมเต็มสนับสนุนข้อมูลจากงานวิจัยให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบายที่ต้องการข้อมูลจากงานวิจัยและพัฒนาตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยส่งเสริมและพัฒนาด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยยุทธศาสตร์การสนับสนุนงานวิจัย สกว.ปัจจุบันมุ่งเน้นการหนุนเสริมงานวิจัยที่สร้างผลกระทบกับสังคมและเป็นงานวิจัยที่ใช้ประโยชน์ได้โดยตรงกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ มองว่าบทเรียนการแก้ปัญหาด้านน้ำที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ ตลอดจนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ของประเทศอาเซียน ที่ผ่านมามีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันบ้างแล้ว แต่ยังต้องถอดบทเรียนความสำเร็จจากประเทศหนึ่งไปยังประเทศที่ยังคงประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรม โดยงานวิจัยเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนการทำงานนี้

เพราะงานวิจัยสามารถตอบได้ทุกโจทย์ว่า เราควรจะปรับอย่างไร จะใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาดอย่างไร ความรู้จากงานวิจัยสามารถตอบได้หมด หมดยุคแล้วที่จะเก็บงานวิจัยไว้แค่บนหิ้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image