‘เซินเจิ้น’ เกินจินตนาการ เมื่อหมู่บ้านชาวประมง กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแนวหน้าของเอเชีย

เซินเจิ้น พัฒนาจากหมู่บ้านชาวประมงที่มีคนอาศัยเพียง 30,000 คน สู่ศูนย์กลางเศรษฐกิจแนวหน้าของเอเชีย โดดเด่นด้านอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี ที่ตั้งของ "หัวเว่ย" มีประชากรในวันนี้ถึง 8.5 ล้านคนเป็นอย่างน้อย

“ไม่อยู่ปักกิ่งไม่รู้ว่าตัวเองต้อยต่ำขนาดไหน ไม่อยู่เซินเจิ้นก็ไม่รู้ว่าตัวเองจนขนาดไหน”

คือคำกล่าวของชาวจีนซึ่งสะกิดให้ผู้ที่เคยมีภาพจำในคำว่า ‘เซินเจิ้น’ เป็นแหล่งของก๊อบปี้เกรดเอ บี ซี ในวันนี้ต้องจินตนาการเสียใหม่ เพราะในปัจจุบันเมืองดังกล่าวคือพื้นที่แห่งการลงทุนที่ผู้คนทั่วโลกหันมาจับตานับแต่การพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษใน พ.ศ.2523 โดยเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศจีนสู่ตลาดโลกในห้วงเวลานั้น

ตัดฉากมาในวินาทีนี้ หมู่บ้านชาวประมงที่เคยมีคนอยู่อาศัยเพียง 30,000 คน บนพื้นที่ราวๆ 2,000 ตารางกิโลเมตร ได้พลิกโฉมเป็นเมืองทันสมัยในระดับต้นๆ ของเอเชีย สร้างรายได้ให้รัฐบาลกลางมากกว่า 2 แสนล้านหยวนต่อปี ตีเป็นเงินไทยก็ใช้วิธีคูณ 5 ให้ได้เลขกลมๆ มาชื่นชมบนเครื่องคิดเลข โดยมีการเจริญเติบโตของจีดีพี เฉลี่ย 28% ต่อปี ต่อเนื่องยาวนานถึง 28 ปีรวด มีประชากรพุ่งพรวดจากหลักหมื่นเป็น 8.5 ล้านคน

กล่าวกันว่าที่นี่คือเมืองแห่งโอกาส มีวัยรุ่น วัยทำงานจากทั่วแผ่นดินจีนเดินทางมาแสวงหาเส้นทางชีวิตใหม่ๆ นอกจากตำแหน่งงานปีละกว่า 6 ล้านคน ยังมีโรงเรียนและสถานศึกษากว่า 1,400 แห่งไขว่คว้าหาความรู้สู่อนาคต

ปัจจุบันเป็นเขตเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จที่สุดของจีน โดยเป็นที่ตั้งของบริษัทยักษ์ใหญ่มากมายนับไม่ถ้วนรวมถึง ‘หัวเว่ย’ ซึ่งล่าสุดถูกสหรัฐจัดเข้า ‘บัญชีดำ’ ทางการค้า ส่งผลให้บรรดาธุรกิจเทคโนโลยีขนาดใหญ่อย่าง ‘กูเกิล’ ต้องยุติความร่วมมือเป็นการชั่วคราว เป็นการเปิดศึก สร้างสงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจที่โลกกำลังจ้องมองชนิดไม่กล้ากะพริบตา

Advertisement
สถานีฟูเทียน เมืองเซินเจิ้น ใช้เวลาเดินทางเพียง 14 นาทีจากเกาะฮ่องกงด้วยไฮสปีดเทรนที่เชื่อมต่อฮ่องกงกับระบบเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงของจีนแผ่นดินใหญ่

ย้อนกลับไปในอดีตที่ไม่ไกลโพ้นแต่อย่างใด เซินเจิ้นเมื่อราว 40 ปีก่อน ประกอบด้วย 6 เขต ถ้าให้เทียบกับจังหวัดในไทยเพื่อให้นึกภาพตามง่ายๆ ก็คือ เมืองแห่งนี้มีพื้นที่เล็กกว่าระยองเล็กน้อย ตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีน ริมฝั่งแม่น้ำจูเจียง ทางทิศตะวันตก ใกล้กับเกาะฮ่องกง โดยสามารถเดินทางไปมาหาสู่อย่างง่ายดายด้วยไฮสปีดเทรน หรือรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ทางฮ่องกงเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2561 เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างฮ่องกงกับเมืองต่างๆ ของจีนให้สะดวกและฉับไวยิ่งขึ้น โดยใช้เวลาเพียง 14 นาทีก็ถึงสถานี ‘ฟูเทียน’ ในเมืองเซินเจิ้นที่รายล้อมด้วยตึกระฟ้าที่ต้องหมุนตัวมองแบบ 180 องศา

OCT Loft ย่อมาจาก Overseas Chinese Town มุมอาร์ตๆ ที่ถูกปรับเปลี่ยนจากโรงงานเป็นชุมชนศิลปะ มีร้านกาแฟ แกลอรี่ และนิทรรศการหมุนเวียนให้ชมหลากหลายบนพื้นที่ 55,365 ตร.ม. ด้วยงบรีโนเวต 30 ล้านหยวน หรือราว 150 ล้านบาท ในเวลา 2 ปี

สถาปัตยกรรมหน้าตาล้ำสมัยและเม็ดเงินอภิมหาศาล ไม่อาจถูกเนรมิตขึ้นได้ด้วยเวทมนตร์หรือแรงอธิษฐานใดๆ หากแต่เกิดขึ้นด้วยนโยบายตามระบบกลไกตลาดในยุคแรกที่จีนเริ่มเปิดประเทศ หากมองพัฒนาการอาจแบ่งได้ 4 ช่วงเวลาสำคัญ ตั้งแต่การสร้างเมืองแห่งนี้ให้เป็นเขตการแปรรูปเพื่อการส่งออก จนถึงการก้าวเข้าสู่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นในด้านอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี โดยระหว่างปี 2523-2528 จีนก่อร่างสร้างเซินเจิ้นให้พัฒนาจากหมู่บ้านเล็กๆ ให้เป็นพื้นที่สำหรับการแปรรูปสินค้าเพื่อส่งออกขายนอกประเทศ นักลงทุนส่วนใหญ่ในตอนนั้นมาจากฮ่องกง ไต้หวัน และประเทศในเอเชีย กระทั่งปี 2528-2530 นับเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่พัฒนาจากเมืองอุตสาหกรรมการแปรรูปเข้าสู่การบริการและการออกแบบ โดยใน 2 ช่วงที่กล่าวมานี้เอง อาจยังเป็นภาพจำในใจคนไทยถึงสถานที่ผลิตสินค้าขนาดใหญ่ ทว่าเมื่อเข้าสู่ปี 2530-2535 มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น และนับแต่ปี 2535 เป็นต้นมา เซินเจิ้น ก้าวสู่เขตเศรษฐกิจแถวหน้าด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยราวครึ่งหนึ่งของอุตสาหกรรมทั้งหมดในเมือง คืออุตสาหกรรมด้านการโทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่ได้มีเพียงแบรนด์ดังอย่างหัวเว่ย แต่ยังมีอีกหลายแบรนด์ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองเช่นกัน อาทิ ZTE หรือ Zhongxing Telecomunication Equipment ธุรกิจอุปกรณ์สื่อสารที่อาจไม่ค่อยคุ้นหูคนไทย แต่ถือครองส่วนแบ่งตลาดโลกมากกว่า 30% โดยเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนระดับท็อป 5 ของจีน และท็อป 10 ของโลก และร่วมมือกับค่ายสัญญาณมือถือดังในไทยพัฒนาสมาร์ทโฟนออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายปี 2556

เส้นแบ่งระหว่าง “ฮ่องกง” และจีนแผ่นดินใหญ่ กลายเป็นจุดถ่ายภาพที่ฮิตมาก

มาถึงตรงนี้ คำถามสำคัญคือ ปัจจัยอะไรที่นำพาให้หมู่บ้านชาวประมงกลายเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ประสบความสำเร็จมาไกลอย่างที่เป็นอยู่ ประเด็นนี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ให้ข้อมูลไว้ว่า ปัจจัยแรกที่สำคัญที่สุดคือ รัฐบาลกลางของจีนให้สิทธิในการออกนโยบายพิเศษสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ช่วยให้เริ่มสร้างสภาพแวดล้อมซึ่งเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของเมือง โดยเฉพาะการดึงดูดเงินลงทุนสำหรับการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ เซินเจิ้นยังเป็นเมืองแรกในการนำร่องการปฏิรูปในรูปแบบต่างๆ สร้างความมั่นใจให้นักลงทุน การบริหารงานของรัฐมีประสิทธิภาพ โดยพัฒนาและปฏิรูปการดำเนินงานอยู่ตลอด ไม่มีแช่แข็ง กระบวนการทำธุรกิจในเซินเจิ้นไม่ซับซ้อน และปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา มีความเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษกับเศรษฐกิจในประเทศ

Advertisement
ผลงาน “My Spiritual House of ink” ของศิลปิน Yue Minjun ได้รับความสนใจอย่างมากในเทศกาลศิลปะนานาชาติ ‘อิงค์ อาร์ต เบียนน่าเล่ ออฟ เซินเจิ้น’ ครั้งที่ 10 โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานในเมืองยังรองรับการพัฒนา โดยท่าเรือของเซินเจิ้นจัดเป็นท่าเรือสำคัญอันดับ 4 ของโลก มีความพร้อมในระบบสาธารณูปโภค เหมาะสมกับการขนส่งด้วยรูปแบบต่างๆ อีกทั้งกฎหมายแรงงานยังยืดหยุ่นอีกด้วย โดยกล่าวกันว่า เมื่อมองไปตามท้องถนน หากเห็นผู้คนที่กำลังเดินอยู่บนทางเท้า นั่นไม่ใช่ชาวเซินเจิ้นโดยกำเนิด เพราะ 80 ใน 100 คนเป็นชาวจีนจากมณฑลอื่นๆ ที่เดินทางเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมือง       

แม้ปัจจุบัน เซินเจิ้นจะเป็นเมืองเศรษฐกิจเต็มขั้น กวาดสายตาไปทางไหนก็มากมายด้วยตึกสูงสถาปัตย์รูปร่างแปลกตา และอาคารล้ำยุค ทว่าในอีกมุมยังมีพื้นที่สำหรับความสุนทรีย์ทางด้านศิลปะและไลฟ์สไตล์ หาใช่เมืองแห้งแล้งปราศจากสีสัน โดยมีการใช้พื้นที่โรงงานเก่ามารีโนเวตใหม่ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเก๋ๆ ที่มีทั้งห้องสมุด ร้านกาแฟ ร้านอาหาร และนิทรรศการศิลปะหมุนเวียนให้เข้าเยี่ยมชมอย่างเพลินใจไม่รู้เบื่อ รวมถึงร้านรวงขายสินค้าแนวอาร์ตๆ แกลอรี่ แบรนด์เสื้อผ้าท้องถิ่นที่ผ่านการออกแบบตัดเย็บอย่างดี ร้านดอกไม้ส่งกลิ่นหอมตลบอบอวล หรือแม้แต่กราฟิตี้ในมุมลับตา ก็ยังเป็นเสน่ห์ที่น่าค้นหาสำหรับเมืองแห่งนี้

ภาพวาดด้วยหมึกบนกระดาษ โดยศิลปิน Zhou Yang
โรงงานเก่าในยุคที่เซินเจิ้นยังมุ่งเน้นอุตสาหกรรมแปรรูปและผลิตสินค้าได้รับการรีโนเวตเป็นพื้นที่ศิลปะ ไลฟ์สไตล์ มีร้านกาแฟ ห้องสมุด มุมหย่อนใจให้พักผ่อนได้ทั้งวัน
ไม่เพียงตึกระฟ้า อาคารโมเดิร์น เซินเจิ้นยังมีพื้นที่แสดงออกด้านแนวคิดสร้างสรรค์ ซึ่งไม่เพียงกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้นที่นิยมมาใช้เวลาขลุกอยู่ในย่านนี้ แต่ผู้สูงวัยที่มีราว 6% ของประชากรทั้งหมดก็เป็นส่วนหนึ่งของผู้ใช้พื้นที่ดังกล่าว
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image