1 ปี บังคับสูญหาย ‘วันเฉลิม’ การตื่นตัว ตั้งคำถามและความเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พร้อมด้วยนักกิจกรรมแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย จัดกิจกรรม #หนึ่งปีต้องมีความยุติธรรมให้วันเฉลิม โดยสวมเสื้อฮาวายซึ่งวันเฉลิมใส่เป็นประจำ พร้อมถือป้ายข้อความ 12 นาที เพื่อรำลึกถึง 12 เดือนที่วันเฉลิมหายตัวไป บริเวณสกายวอล์ก หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน เมื่อ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา

4 มิถุนายนที่ผ่านมา คือวันครบรอบ 1 ปีการอุ้มหาย วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองไปยังประเทศกัมพูชา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน,แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จัดเสวนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ ถอดบทเรียนสังคมไทย 1 ปีอุ้มหายวันเฉลิม โดยมีผู้ร่วมเสวนาในประเด็นของคนรุ่นใหม่กับการตั้งคำถาม การตื่นตัว และความต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงของผู้คน ได้แก่ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Re-solution และ รักชนก ศรีนอก หรือไอซ์ ตัวแทนกลุ่ม Clubhouse for Democracy

1 ปี อุ้มหาย ร่องรอยระหว่างทางกับความคืบหน้าที่ไม่อาจได้รับ

สิตานัน ในฐานะญาติของผู้สูญหาย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี ยากลำบากมาก แม้เกิดมาอายุจะ 50 ปีแล้ว แต่ก็ไม่เคยสาหัสเท่านี้มาก่อน ขอขอบคุณน้องๆ ประชาชนทั่วไป ที่ร่วมกันออกมาเคียงข้าง สนับสนุนทุกด้าน กว่าพี่จะมีวันนี้ได้หนักหนามาก เพราะทางหน่วยงานรัฐไทยและกัมพูชา ปฏิเสธมาตลอด แม้ไปยื่นหนังสือที่กรมสอบสวนคดีพิเศษก็บอกว่า กำลังสอบสวนอยู่ ซึ่งไม่ได้มีความคืบหน้า

“เรารอมาขนาดนี้ คงให้เวลาเขาอีกสักนิด ให้ทำงานให้เต็มที่ 1 ปีที่ผ่านมา กระบวนการยุติธรรมในไทยยังมีความยุติธรรมให้ประชาชนอยู่หรือ วันเฉลิมเป็นพลเมืองชาวไทย เขาไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แค่ไม่ได้ไปรายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้วก็โดนตามล่าโดยตำรวจและทหาร ถามว่าเขาเป็นอาชญากรหรือ ครอบครัวเราควรได้รับความเป็นธรรมบ้าง ไม่ใช่ให้ประชาชนทำเอง ออกมาเรียกร้องเอง

Advertisement

ทางการไทยไม่มีใครออกมาพูดเรื่องนี้เลย จนไปยื่นหนังสือตามหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ไม่มีใครให้ความร่วมมือ ที่ผ่านมาเดินทางไปทุกหน่วยงานเอง ไปยื่นหนังสือเอง ไม่เคยมีหน่วยงานของรัฐโทรมาถามว่า เกิดอะไรขึ้น ทั้งที่ทั่วโลกรู้เห็นหมด”

สิตานัน ในฐานะผู้ที่พบเจอกับความสูญเสียในบริบทครอบครัว กล่าวว่า ทุกวันนี้ยังนอนไม่หลับเหมือนเดิม เวลาจะหลับก็เกิดจากการใช้ยา สมองยังคิดตลอดเวลาว่า พรุ่งนี้จะทำอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมา นักกิจกรรมหลายคนถูกดำเนินคดี มันทำให้เกิดผลกระทบไปอีก มีทั้งติดโควิดในเรือนจำ ลักพาตัวในเรือนจำ นำไปสู่การไปคุกคามต่างๆ ทำให้เรารู้สึกว่า ประเทศไทยไม่ปลอดภัยหรือเปล่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าคุณเป็นใคร ทำอะไร มันเข้ามาใกล้ตัวคุณแล้ว เราจะต่อสู้กับกระบวนการนี้อย่างไร

“ไม่มีครอบครัวไหนมีความสุขกับสิ่งที่หายไปในหนึ่งปี ทั้งที่ยังไม่มีคำตอบใดๆ ของรัฐที่ชี้แจงให้เราทราบ อย่างที่บอก เรามานั่งคิดนอนคิดว่า เราจะทำอะไรเพื่อให้มีแรงกระเพื่อมต่อไปเรื่อยๆ การกระทำของรัฐกับผู้สูญหายคนอื่นๆ นอกราชอาณาจักรไทย พวกเขากินฟรีมาตลอด แต่พอมาเป็นวันเฉลิม เขาคงทำแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว เราไม่อยากให้เกิดรายต่อๆ ไป เราจึงยืนหยัดมาต่อสู้กระบวนการที่ไม่ยุติธรรม” พี่สาววันเฉลิมกล่าว

Advertisement

 

‘วันเฉลิม’จุดพลังคนรุ่นใหม่ เลิกเชื่อว่าตัวเองเป็นแค่‘เสียงเล็กๆ’

ด้าน ไอซ์ รักชนก ตัวแทนกลุ่ม Clubhouse for Democracy เล่าว่า การอุ้มหายวันเฉลิม ประจวบเหมาะกับการที่คนทั้งสังคมให้ความสนใจเรื่องออกมาชุมนุมพอดี จึงทำให้ทุกคนที่ออกไปม็อบที่เชื่อในข้อเรียกร้อง รู้สึกว่า มันเชื่อมโยงกับตัวเขา รู้สึกว่า ถ้าวันหนึ่งฉันออกมาพูดอะไรที่เหมือนกับวันเฉลิม ฉันจะพบจุดจบ หรือได้รับการตอบรับจากรัฐแบบที่วันเฉลิมโดนหรือเปล่า

“ที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการชุมนุม เราไม่เคยรู้จัก บิลลี่ คุณชูชีพ คุณสยาม หรือผู้สูญหายคนใดเลย แต่หลังจากที่เราไปร่วมชุมนุม มันมีตอนที่คนในที่ชุมนุมเอาโปสเตอร์สีเหลืองที่ปรากฏภาพผู้สูญหาย และสาเหตุที่สูญหายมาเรียงเกือบ 20 คน เราก็ได้แต่คิดว่า มันมากขนาดนี้เลยหรือ แล้วคนในสังคมทำอะไรกันอยู่ เรื่องนี้มันไม่ธรรมดา

นอกจากนี้คนรุ่นใหม่เขายังตั้งคำถามว่า วันหนึ่งเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นกับเขาไหม ถ้าพวกเขาออกมาพูดอะไรสักอย่าง พอมีม็อบ สื่อเริ่มนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับม็อบมากขึ้น ทำให้กลุ่มคนที่สูญหายถูกกระพือในสังคมอีกครั้งหนึ่ง เพราะมีแกนนำพูดถึงเขา คนในม็อบรู้แล้วว่าเขาหายไป
คนเหล่านี้จึงได้กลับมามีชื่อในสังคมอีกครั้ง”

ไอซ์ รักชนก กล่าวต่อไปว่า คนรุ่นใหม่ หรือคนทุกรุ่นที่ทนมาก่อนหน้านี้รู้สึกว่า ทำไมต้องทนต่อไป ถ้าเราทนต่อไป มันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เราจะใช้ชีวิตในสังคมแบบนี้หรือ แม้ทุกคนสู้มาตั้งแต่ปี 2516 หรือ 2519 แต่ก็ไม่ชนะ จึงเห็นประโยคที่บอกว่า อยากให้มันจบที่รุ่นเรา

“คุณอาจจะไม่ต้องทำเท่าแกนนำ แต่คุณแค่แชร์ข่าวให้เพื่อนๆ คนรอบตัวรับรู้ เราว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งเล็กน้อยในสังคมที่ทำได้ คุณไม่ต้องออกมาเรียกร้องอะไรมากมาย แต่คุณช่วยสนับสนุนคนที่เขาออกมาพูดแทน

ถ้าก่อนหน้านี้ทุกคนที่ทำให้สูญหาย มีแสงส่องถึงเขา เราเชื่อว่ามันจะไม่มีรายต่อๆ ไป เพราะสังคมเราก่อนหน้านี้มันเงียบงัน มันเลยมีกรณีต่อมาเรื่อยๆ คนทั้งสังคมช่วยได้ แม้โดยส่วนตัวจะกล้าได้กล้าเสีย เพราะรู้สึกว่า เอาวะ! มันมีคนเปิดแล้ว งั้นเราเป็นคนตาม เพื่อไม่ให้เขาเดือดร้อนคนเดียว อย่างน้อยก็หารๆ กันไป แล้วเราเชื่อว่า คนที่ออกไปชุมนุม เขาก็เชื่อว่า เขาก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่นำพาสังคมให้ไปในจุดที่ดีกว่าได้

เลิกเชื่อว่าตัวเองเป็นแค่เสียงเล็กๆ มันไม่จริง เราทุกคนทุกเสียง ไม่ว่าเราจะโนเนม เสียงของคุณมีค่า พูดออกมา ร่วมออกมาพูดกับคนอื่น ตะโกนคนเดียวมันเหนื่อย แล้วสักวันหนึ่งผู้มีอำนาจหรือรัฐ วันหนึ่งเขาก็ต้องได้ยิน เสียงของคุณมีความหมาย”

รักชนก ศรีนอก ในเสวนาออนไลน์ ถอดบทเรียนสังคมไทย 1 ปีอุ้มหายวันเฉลิม

‘รัฐธรรมนูญ’ยิ่งห่างประชาธิปไตย บังคับสูญหายก็ยิ่งง่ายขึ้น

มาถึงประเด็นการเมืองที่เป็นบทกฎหมายอย่างรัฐธรรมนูญ ไอติม พริษฐ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาผู้สูญหาย สะท้อนกระแสการเมืองภาพกว้างได้อย่างดี เราเห็นประชาชนตื่นตัวมากขึ้นคนรุ่นใหม่เข้าถึงข้อมูลที่ไม่ได้ถูกผูกขาด ประชาชนเลยออกมาเรียกร้องมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน กลไกของกฎหมายล้าหลังมากขึ้น กฎหมายในไทยที่เกี่ยวกับบุคคลสููญหายล่าช้าไป 10 ปี ทั้งที่ไทยเคยมีการลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศ มาตั้งแต่ปี 2555 ผ่านมาตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายใดคลอดออกมาเลย

“ผมเห็นด้วยว่า วาระเร่งด่วน อาจจะไม่ใช่รัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย จึงอยากให้ทุกคนช่วยจับตามอง เพราะในปัจจุบันมันมี 4 ร่าง ซึ่งรายละเอียดต่างกัน เราจะเห็นร่างของคณะกรรมาธิการ ที่ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นประธาน มันสอดคล้องกับหลักสากล มากกว่าร่างของคณะรัฐมนตรี นอกเหนือจากเรื่องร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานฯ แล้ว รัฐธรรรมนูญก็มีความเกี่ยวข้องกับการบังคับให้สูญหาย ซึ่งสรุปได้เป็นประเด็นปัญหา 4 ข้อคือ ในประเด็นแรกคำสั่งของ คสช.ที่ 13/2559 ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมคนได้ 7 วัน แต่เมื่อรัฐบาล คสช.หายไป คำสั่งนี้มันยังไม่หายไป เพราะในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 ระบุว่า ทุกคำสั่งของ คสช. เห็นชอบในกฎหมาย ซึ่งคำสั่งนี้ถือว่ามีสภาพเทียบเท่า หรือสูงกว่ารัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ”

ส่วนประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญ และการป้องกันรัฐประหาร พริษฐ์ มองว่า สิ่งที่ยั่งยืนคือ การทำให้ประชาชนทุกคนเชื่อมั่นในหลักประชาธิปไตย เมื่อมีปัญหา สามารถหาทางออกผ่านกลไกประชาธิปไตยได้ ยิ่งรัฐบาลมีความห่างจากประชาธิปไตยเท่าไหร่ ปัญหาการบังคับสูญหายก็ทำได้ง่ายมากขึ้น ขณะที่ความโปร่งใสน้อยลง นอกจากนี้ คือเราต้องทำให้การรัฐประหารมันมีราคา เพราะก่อนหน้านี้ทุกครั้งที่มีการทำรัฐประหาร คณะรัฐประหารก็จะนิรโทษกรรมตนเอง ซึ่งในความเป็นจริงประชาชนต้องมีสิทธิในการดำเนินคดีกับคนเหล่านั้นด้วย

“นอกจากนี้ สิ่งที่น่ากลัวของรัฐธรรมนูญ 2560 คือมาตรา 25 นอกจากการระบุสิทธิเสรีภาพประชาชนแล้ว ทุกรัฐธรรมนูญต้องกำหนดว่า มีเหตุอะไรบ้างไหมให้รัฐไปจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนได้ ซึ่งหลักสากลคือ รัฐสามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพใครได้ ถ้าคนนั้นไปจำกัดสิทธิเสรีภาพคนอื่น แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ไปกำหนดเงื่อนไขว่า หากประชาชนคนไหนไปทำอะไรที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รัฐมีความชอบธรรมที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งเราเห็นว่าความมั่นคง มันถูกผูกขาดโดยผู้มีอำนาจในปัจจุบัน มันไปเพิ่มความชอบธรรม หรือตีเช็คเปล่าให้รัฐไปทำแบบนี้”

ในประเด็นสุดท้าย พริษฐ์ กล่าวว่า นิยามอย่างหนึ่งของบุคคลสูญหาย คู่กรณีมักจะเป็นรัฐ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนให้คณะ คสช.มีอำนาจสามารถควบคุม 3 ขาของอำนาจอธิปไตยได้ คสช.สามารถควบคุมฝ่ายบริหารได้ ให้วุฒิสภา 250 คนเลือกนายกรัฐมนตรี ควบคุมอำนาจนิติบัญญัติ ให้วุฒิสภาโหวตผ่านร่างกฎหมาย และยังให้ คสช.ควบคุมตุลาการ

ประชาชนร่วมกันจุดเทียนที่เรียงเป็นข้อความ “stop enforced disappearance” และสัญลักษณ์ของแอมเนสตี้ เป็นเทียนไขที่มีลวดหนามล้อมรอบ หน้าหอศิลป์ กทม.

ลอยนวลพ้นผิด ในรัฐไทยที่‘ไม่สากล’

ปิดท้ายด้วยประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2560 ในแง่มุมที่ว่านี่ไม่ได้เป็นปัญหาเดียวซึ่งทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องวันเฉลิม แต่เพราะไปแตะปัญหาทางการเมืองที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็น ความไม่สากลของรัฐบาลไทย

“กรณีวันเฉลิม แสดงให้เห็นความไม่สากลของรัฐบาลไทย อย่างกรณีบังคับสูญหาย ไปลงนามอนุสัญญามา แต่ก็ยังไม่มีการออกกฎหมาย หรือการรับมือกับการชุมนุม ที่รัฐใช้วิธีไม่สากล เช่น การฉีดน้ำ การใช้กระสุนยาง การไล่จับ สารละลายต่างๆ ประเด็นที่สามคือ การขาดความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐบาลชุดนี้ เวลามีการตั้งคำถาม รัฐไม่พร้อมที่จะตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา มันไม่น่าแปลกใจที่เรามีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบนี้ เราจะเห็นคำพูดที่พูดโดยไม่เห็นอกเห็นใจ เพราะผู้นำไม่มี Political View ที่จะแก้ไขปัญหาเพื่อประชาชน

ส่วนประเด็นต่อมาคือเรื่องวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เวลามีการกระทำผิดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐนิ่งเฉยมากที่มีการสะสางการกระทำผิดในอดีต ไม่ว่าจะการเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีตที่ผ่านมา รัฐไม่มีการพิสูจน์ว่าใครทำผิดอย่างชัดเจน หรือนำคนที่พิสูจน์ว่าผิดกลับมาดำเนินคดี ประเด็นสุดท้าย สำคัญที่สุดเลย คือ การเข้าใจเรื่องหลักพื้นฐานสิทธิมนุษยชน หลังจากที่มีกระแสวันเฉลิม จะมีบางคนที่มีความคิดเห็นที่ต่างจากคุณวันเฉลิมไม่ออกมาเรียกร้อง หรือสนับสนุนสิทธิของเขา มันเป็นความเข้าใจผิดของสังคม เวลาเราพูดเรื่องสิทธิของทุกคน ไม่ว่าคุณจะชอบ หรือไม่ชอบ ความจริงเรามีหน้าที่ออกมายืนยันสิทธิคนที่เห็นต่างกับเราไม่น้อยกว่าคนของเรา

ใครที่รู้สึกว่าเป็นกลางอยู่ สิ่งที่เราเรียกร้องอยู่ มันไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องที่ขอให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มันคือการเรียกร้องเพื่อสร้างระบอบที่เป็นกลางและเป็นธรรมของทุกคน คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนจริงๆ และร่วมออกมาเรียกร้องร่วมกับเรา” พริษฐ์กล่าว

นี่คือภาพสะท้อนของคนรุ่นใหม่ในมุมมองปัญหาการบังคับสูญหายซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นอาชญากรรมร้ายแรง ในวันที่คนรุ่นใหม่ตระหนักรู้ เมื่อสายลมแปรเปลี่ยนไปโดยไม่อาจกลับไปสู่จุดเดิมได้อีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image