ก้าวต่อไปของ ‘ประชารัฐ’ พลิกโฉมประเทศไทยสู่ยุค 4.0

ทุกสิ้นปี หลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนต่างจับเข่าคุยทบทวนความสำเร็จ-บทเรียนจากการทำงาน

เพราะแม้ศักราชจะโบกมืออำลาไปตามวาระ แต่นโยบายและโครงการเพื่อพัฒนาองค์กรและประเทศชาติยังต้องปรับปรุง-พัฒนาข้ามขวบปีต่อไป

ทั้งนี้ ในบรรดานโยบายตลอดปี 2560 “ประชารัฐ” คือส่วนที่ถูกขับเน้นอย่างโดดเด่นให้เป็น “กุญแจการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” ด้วยขุมกำลังทีมงานจากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม วางเป้าหมายระยะยาว “เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตคน”

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา ที่ห้องสานพลังประชารัฐ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มี การแถลงผลงาน ความคืบหน้า ทิศทางในอนาคต รวมถึงจุดเน้นและเป้าหมายในปี 2561 ของ “คณะทำงานสานพลังประชารัฐ” ทั้ง 12 คณะ

Advertisement

มี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้แถลงข่าวในนามหัวหน้าคณะทำงานภาครัฐ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ หัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชน นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมแถลง

“ท่านรองนายกฯสมคิดบอกว่า ขณะนี้โครงการประชารัฐจบเฟสที่ 1 แล้ว งานที่ผ่านมาเป็นไปได้ด้วยดี ได้รับการยอมรับจากหลายฝ่าย วันนี้จึงเป็นโอกาสในการทบทวนว่าเรามีความคืบหน้ามากน้อยแค่ไหนใน 23 เดือนที่ผ่านมา และคิดไปข้างหน้าว่าคณะทำงานสานพลังประชารัฐจะทำโครงการหลักๆ ด้านใดบ้างในปีสุดท้ายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพื่อช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตของพี่น้องประชาชน” นายกอบศักดิ์กล่าวนำ

กอบศักดิ์ ภูตระกูล

ในที่ประชุมได้ย้ำคำว่า “ไทยแลนด์ 4.0” หลายต่อหลายครั้ง ในฐานะเป้าหมายที่ประเทศไทยต้องไปให้ถึง โดยความเห็นของภาคเอกชนมองว่าการจะพาไทยไปยังฝั่งฝันนั้น จำเป็นต้องขยายเครือข่ายประชารัฐให้กว้างขวางยิ่งขึ้น พร้อมเสริมว่าไทยไม่ควรให้น้ำหนักกับการแข่งขันด้านราคามากกว่าการเพิ่มผลิตภาพ และพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการ

Advertisement

“โจทย์ต่อไปต้องคิดว่าทำอย่างไรให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs เข้ามาร่วมมากขึ้น การเพิ่มผลผลิตก็เป็นปัจจัยสำคัญ มิใช่เรื่องราคา เพราะราคาเป็นสิ่งที่ไทยต้องแข่งขันกับตลาดโลกด้วย แต่การเพิ่มผลผลิตจะทำให้ต้นทุนของไทยต่ำลง นอกจากนี้ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้องค์ความรู้ไปสู่ชุมชนและ SMEs ซึ่งองค์ความรู้ที่ว่าจะไม่ใช่เชิงวิชาการ แต่คือภาคปฏิบัติ โดยอาศัยปราชญ์ชาวบ้านที่มีอยู่จำนวนมาก” นายอิสระกล่าว

อิสระ ว่องกุศลกิจ

คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 มีการออกแบบคณะทำงานที่ดูแลครอบคลุมทุกมิติของการพัฒนาประเทศถึง 12 คณะ รับผิดชอบ 6 ตัวขับเคลื่อน หรือ 6D (Value Driver) และ 6 ปัจจัยสนับสนุน หรือ 6E (Enable Driver) เช่น D1 การยกระดับนวัตกรรม และการทำให้เป็นดิจิทัล D3 การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ E1 การดึงดูดการลงทุน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ E6 ประชารัฐเพื่อสังคม เป็นต้น

กระนั้น ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของประชารัฐ จะมีการจัดกลุ่มโครงการใหม่อีกครั้ง (Re-grouping) เพื่อรองรับโปรเจ็กต์จำนวนมากที่กำลังจะเกิดขึ้นให้เข้ากับแนวคิด “ไทยแลนด์ 4.0”

“เราจะ re-grouping เป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือ การเพิ่มขีดความสามารถ ดูว่าเทคโนโลยีหรือดิจิทัลต่างๆ ควรอยู่กลุ่มไหน สองคือ ลดความเหลื่อมล้ำ ส่วนนี้จะเป็นท้องถิ่นและภาคการเกษตร และสามคือ เตรียมความพร้อมให้คนไทยมีศักยภาพสูง เหมาะสมกับยุค 4.0” นายอิสระกล่าว

นายอิสระย้ำว่า การพัฒนาประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยเวลาเป็นสิบๆ ปี และต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทุกอย่างจะลงตัวยิ่งกว่าเดิมในปีต่อไป พร้อมชูความสำเร็จของ “ประชารัฐเพื่อสังคม” ในช่วงที่ผ่านมาว่า ได้ทำให้ผู้ประกอบการมีการจ้างงานผู้พิการเพิ่มขึ้น อันเป็นสิ่งยืนยันว่าโครงการบรรลุผลและจะเดินหน้าต่อไป

ส่วนภาคเศรษฐกิจที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำอย่างต่อเนื่อง เช่น ภาคการท่องเที่ยว จะถือแนวทางการพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area-based) เพื่อสะท้อนความโดดเด่นของแต่ละท้องถิ่น ดึงอัตลักษณ์ วัฒนธรรมเป็นจุดขายเพิ่มมูลค่า โดยนายกลินท์กล่าวว่า จะมีการปรับปรุงมาตรฐานของแรงงานภาคบริการ ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งภาคเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมากในอนาคต อีกทั้งจะให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเมืองรองให้สามารถไปมาหาสู่กันได้สะดวกยิ่งขึ้น

ด้านนายเจนได้กล่าวถึงการยกระดับ SMEs ในอนาคตว่า ประชารัฐจะไม่เพียงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เท่านั้น หากยังช่วยเหลือในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและผลักดันให้ธุรกิจของคนไทยยึดการทำงานตามองค์การมาตรฐานสากล (ISO) เพื่อเติมเต็มศักยภาพเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ

และนายกอบศักดิ์ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า เมื่อนำโครงการทั้งหมดที่ภาคเอกชนเสนอมาร้อยเรียงกัน จะสามารถตอบโจทย์เรื่องไทยแลนด์ 4.0 ทำให้ประชาชนเห็นว่าเขาจะได้อะไร จะช่วยพัฒนาชีวิตและพื้นที่ชุมชนอย่างไร และจะพลิกโฉมประเทศไทยในที่สุด

“ผมคิดว่าการร่วมทำงานกับเอกชนถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างมีศักยภาพ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เมื่อมารวมกันจะกลายกัน 1+1+1 ที่มากกว่า 3”

“นี่คือสิ่งที่เป็นความหวังสำหรับทุกคน และปีนี้จะเป็นปีที่เราเร่งทำสิ่งดีๆ ให้สำเร็จลุล่วงไป” นายกอบศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

 

การแถลงผลงานของคณะทำงานสานพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2560
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image