ปส. มุ่งทำงานเชิงรุก หนุนความปลอดภัยให้ประชาชน-สิ่งแวดล้อม

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เดินหน้าผลักดัน “แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ” สู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งทำงานเชิงรุก เฝ้าระวังความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี เพื่อความปลอดภัยของประชาชน-สิ่งแวดล้อม พร้อมพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ เลขาธิการ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เผยถึงจุดเริ่มต้นว่า ปส. ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลการใช้ประโยชน์ด้านพลังงานนิวเคลียร์และรังสีของประเทศไทย ให้เป็นไปตามหลักการและมาตรฐานสากล รวมถึงเป็นไปตามกฎหมายด้านนิวเคลียร์ของไทย ซึ่งปัจจุบันคือ พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562

ปส. เป็นหน่วยงานหลัก ในการเสนอแนะนโยบาย แนวทาง รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ กำกับดูแลการใช้พลังงานนิวเคลียร์และรังสีให้เป็นไปตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ด้านความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัย และการพิทักษ์ความปลอดภัย พร้อมเฝ้าระวังภัย เตรียมความพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยทางนิวเคลียร์และรังสี นอกจากนี้ยังพัฒนากฎหมายเพื่อสนับสนุนการกำกับดูแลความปลอดภัย รวมถึงเสริมสร้างเครือข่าย พันธกรณี ความตกลงระหว่างประเทศด้านพลังงานนิวเคลียร์และรังสี

ที่สำคัญมุ่งเผยแพร่ความรู้ สร้างการมีส่วนร่วมด้านความปลอดภัยจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์และรังสีให้แก่ประชาชน ตลอดจนบริหารจัดการด้านพลังงานนิวเคลียร์และรังสี กำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี รวมทั้งดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามพันธกรณีหรือความตกลงระหว่างประเทศ-มาตรฐานสากล เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ ประชาชน และสิ่งแวดล้อม

Advertisement

“เป็นที่ทราบกันดีว่าพลังงานนิวเคลียร์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ขณะเดียวกันหากดูแลไม่ดีอาจเกิดเป็นโทษมหันต์เช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานมาทำหน้าที่กำกับดูแล ให้การใช้ประโยชน์เป็นไปในทางสันติ ในอดีตใช้คำว่า Peace ปัจจุบันคำนี้ได้ขยายความเป็น Prosperity คือความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์ เพื่อนำไปใช้พัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงมิติของประเทศด้านต่างๆ”

เลขาธิการ ปส. เผยว่า ประเทศไทยมี ‘นโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ พ.ศ. 2560-2569’ ซึ่งเป็นกรอบในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านพลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ โดยแบ่งเป็น 4 ยุทธศาสตร์ใหญ่ ได้แก่ ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านพลังงานนิวเคลียร์ การกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานนิวเคลียร์ การผลิตและพัฒนากำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานนิวเคลียร์ และการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อการพัฒนาประเทศ

Advertisement

ทั้งนี้ ปส. ทำงานร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งราชการและเอกชน อาทิ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งหน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศ เพื่อขับเคลื่อน ‘แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาด้านพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ ระยะที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570’ สู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

“เทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสี นับว่ามีวิวัฒนาการรวดเร็ว ดังนั้น ประเทศไทยควรศึกษาและตามเทคโนโลยีนี้ให้ทัน เพื่อนำเทคโนโลยีมาพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน ก็ต้องพัฒนาด้าน Security, Safety และ Safeguards ให้ดี”

เลขาธิการ ปส. กล่าวเพิ่มเติมว่า นิวเคลียร์และรังสีนับเป็นพลังงานที่มีประโยชน์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านพลังงาน ในการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยได้พลังงานไฟฟ้าปริมาณมาก ช่วยลดมลพิษทางอากาศ และไม่ต้องรอธรรมชาติ รวมถึง ด้านการแพทย์ มีการใช้รังสีเพื่อเอกซเรย์ (X-ray) สำหรับตรวจวินิจฉัยโรค รวมถึงการใช้รังสีเพื่อรักษาโรคมะเร็ง การใช้นิวเคลียร์เพื่อผลิตไอโซโทปรังสีสำหรับใช้ในการรักษา ตลอดจนใช้รังสีในการฆ่าเชื้อโรคในอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาหารและยา

นอกจากนี้ ด้านอุตสาหกรรม มีการใช้รังสีในการตรวจสอบรอยเชื่อม รอยร้าว และรอยพรุนในโลหะ รวมถึงการวัดระดับและควบคุมการไหลของน้ำมันในท่อส่ง ตลอดจนอุตสาหกรรมเครื่องแก้ว กระเบื้อง อัญมณีและเครื่องประดับ อีกทั้ง ด้านการเกษตร ใช้รังสีในการควบคุมแมลงศัตรูพืช ชะลอการสุกของผลิตผลการเกษตร รวมทั้งพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชให้ดีขึ้น และนอกจากนี้ที่สำคัญยังมี การวิจัยและพัฒนา เช่น การใช้รังสีเพื่อศึกษาโครงสร้างของโมเลกุลในการพัฒนายาใหม่ หรือใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการสร้างวัสดุที่มีคุณสมบัติพิเศษ เป็นต้น

รศ.ดร.พาสิทธิ์ ยังเผยอีกว่า ปส. ร่วมผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายของ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในระดับกระทรวง-ประเทศ ที่มุ่งขับเคลื่อนกระทรวง อว. ไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน ยังมุ่งจัดหาทรัพยากรต่างๆ ให้เพียงพอกับภารกิจ พัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ สามารถเรียนรู้ตลอดเวลา รวมถึงมีทัศนคติเชิงพัฒนา (Growth Mindset) และมีมาตรฐานการทำงานเป็นสากล

อีกทั้งให้ความสำคัญกับการทำงานเชิงรุกและการทำงานเป็นทีม โดยมีการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ มองไปข้างหน้า เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความยั่งยืนในระยะยาว พร้อมปรับภาพลักษณ์องค์กรเป็น ‘Professional and Visionary Regulator’ ที่มีความเป็นมืออาชีพ มีความเป็นสากล ก้าวทันเทคโนโลยี เป็นองค์กรนำทางนิวเคลียร์และรังสีในภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังมีการกำกับดูแลทางนิวเคลียร์และรังสี โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 Portfolios ได้แก่ ความปลอดภัย (Safety) มุ่งดำเนินการที่เหมาะสมและได้มาตรฐานเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้งป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ หลีกเลี่ยงผลกระทบร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อปกป้องผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน ตลอดจนสิ่งแวดล้อม จากการได้รับรังสีมากเกินควร

และ ความมั่นคงปลอดภัย (Security) มีมาตรการป้องกัน-ตรวจจับ ต่อการกระทำผิด รวมทั้งการกระทำอันไม่พึงประสงค์อื่นใดที่เกี่ยวข้องกับวัสดุนิวเคลียร์วัสดุกัมมันตรังสี หรือสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ รวมถึง การพิทักษ์ความปลอดภัย (Safeguards) มุ่งป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ขยายการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ ด้วยการควบคุมการใช้งานวัสดุนิวเคลียร์และอุปกรณ์เทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งการดำเนินการหลักในปัจจุบันคือการทำข้อตกลงระหว่าง IAEA และประเทศสมาชิก

ขณะเดียวกัน ด้านการบริหารจัดการ (Management) มุ่งให้ทุกหน่วยงานภายใต้ ปส. พัฒนาทั้ง 3 มิติไปพร้อมกัน คือ Product/Process Innovation สร้างนวัตกรรม พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการทำงานใหม่ ให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคม พร้อมสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ และ Service Excellence คำนึงถึงความคาดหวังของผู้รับบริการทั้งภายใน-ภายนอก สุดท้ายคือ Operational Excellence โดยนำเอาเทคโนโลยีร่วมสมัยมาพัฒนาการดำเนินงาน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ ทั้งนี้การพัฒนานี้จะต้องพิจารณาตาม 3 Portfolios ของหน่วยงานรับผิดชอบ

“เทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสีมีทั้งคุณและโทษ ปส. มีหน้าที่สร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน โดยเปรียบเสมือนระบบนิเวศเล็กๆ ประกอบไปด้วยชุดฟันเฟืองที่จะต้องทำงานไปด้วยกันอย่างมีเอกภาพ ไร้รอยต่อ พร้อมเปิดรับต่อสิ่งใหม่ และมีความภาคภูมิใจที่มีโอกาสได้รับผิดชอบภารกิจที่มีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตของประเทศ” เลขาธิการ ปส. ทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image