สุขภาวะแรงงานสตรีไทย ฐานรากที่สำคัญของครอบครัวและสังคมไทย

“แรงงานสตรี” เป็นฐานรากอันสำคัญของครอบครัว และการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจสังคมของประเทศ ผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือนมกราคม พ.ศ.2567 พบว่า มีสตรีไทยมากกว่าครึ่ง คือร้อยละ 58.6 ของสตรีทั้งหมด หรือ 17.82 ล้านคนมีส่วนร่วมในแรงงานของประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจากข้อมูลที่ผ่านมาแรงงานในภาคอุตสาหกรรมกว่าร้อยละ 80-90 เป็นแรงงานสตรีในภาคการผลิตสินค้าส่งออกกลุ่มสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง และเครื่องใช้ไฟฟ้า อีกทั้งพบว่า การทำงานของสตรีมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือรายได้และสุขภาวะ (well-being) ของครอบครัว ส่งผลให้แรงงานสตรีส่วนใหญ่ต้องรับภาระสองด้านทั้งการดูแลครอบครัวและการทำงาน ต้องขวนขวายทำงานเพื่อให้มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว ทำให้สตรีละเลยต่อสุขภาพตนเอง มีภาวะเครียด ไม่สามารถรักษาสมดุลของชีวิตครอบครัวและการทำงาน ประกอบกับคนรุ่นใหม่มีค่านิยมการอยู่เป็นโสด แต่งงานช้าลง ชะลอการมีบุตร ทำให้มีบุตรจำนวนน้อยลง สอดคล้องกับผลสำรวจตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 เป็นต้นมาที่พบว่า อัตราเกิดน้อยกว่าอัตราตาย โดยในปี พ.ศ.2565 พบอัตราเจริญพันธุ์ลดลงเหลือเพียง 1.08 และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2626 จำนวนประชากรของประเทศไทยจะลดลงครึ่งหนึ่งคือ เหลือเพียง 33 ล้านคน ส่งผลกระทบด้านโครงสร้างและภาระทางสังคม เกิดปัญหาด้านการลงทุนและการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เพราะขาดแคลนแรงงานได้

“ในยุคเกิดน้อยกว่าตาย” สุขภาพของมารดามีความสัมพันธ์กับสุขภาพของทารกในครรภ์ ดังนั้นการดูแลให้สตรีมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมทั้งในระยะก่อนตั้งครรภ์และระยะตั้งครรภ์จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ “เด็กเกิดน้อยแต่ไม่ด้อยคุณภาพ” ผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า สตรีทำงานอาจมีพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านอนามัยเจริญพันธุ์ในระยะก่อนตั้งครรภ์ ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย การคุมกำเนิดที่ไม่มีประสิทธิภาพ การขาดการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผน การมีภาวะโภชนาการที่ไม่เหมาะสม การสูบบุหรี่ หรือการดื่มแอลกอฮอล์ ที่อาจรบกวนรอบประจำเดือน กระบวนการปฏิสนธิและการฝังตัว การเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ การทำงานที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์ในระยะก่อนตั้งครรภ์ ได้แก่ ความต้องการทางเพศลดลง ความผิดปกติของประจำเดือน หรือภาวะมีบุตรยาก การแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักแรกเกิดน้อย ทารกมีความพิการแต่กำเนิดหรือมีปัญหาพัฒนาการ ในสตรีวัยเจริญพันธุ์บางรายเมื่อตั้งครรภ์อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะเบาหวานและภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ การปวดหลัง อาการบวม เป็นต้น นอกจากนี้ สตรีทำงานยังเผชิญความเครียดและความกดดันในขณะทำงานและการดูแลครอบครัว การขาดแคลนสวัสดิการที่ช่วยคุ้มครองความเป็นมารดาและการเลี้ยงดูเด็ก การขาดความรู้และทักษะในการจัดการความไม่สุขสบายในระหว่างการตั้งครรภ์ การฟื้นฟูสภาพร่างกายของตนเองในระยะหลังคลอด การผสมผสานการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับการทำงาน และการเลี้ยงดูบุตร ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพตนเองและบุตร มีภาวะเครียด มีอารมณ์เศร้า และภาวะซึมเศร้าได้

ประเทศไทยยังคงเผชิญกับประเด็นท้าทายเกี่ยวกับสุขภาพสตรีและเด็ก ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2562 พบว่าสตรีวัยเจริญพันธุ์มีภาวะเลือดจางร้อยละ 22.7 มีค่าเฉลี่ยไอโอดีนในปัสสาวะ 145 ไมโครกรัมต่อลิตรซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐาน ได้รับวิตามินเสริมไอโอดีน ธาตุเหล็ก และโฟลิกร้อยละ 73.65 (เป้าหมายร้อยละ 100) ในส่วนของเด็กนั้น มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเป้าประสงค์ที่ 2.2 คือ ลดการเกิดภาวะเตี้ยแคระแกร็น (stunting) ภาวะผอมแห้ง (wasting) และภาวะน้ำหนักเกิน และมีเป้าหมายการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สอดคล้องกับองค์การยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลกคือ ให้เด็กกินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ร้อยละ 50 ในปี พ.ศ.2568 และร้อยละ 70 ในปี พ.ศ.2573 ตลอดจนให้เด็กกินนมแม่ต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี และอย่างไรก็ตามผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2565 พบว่า ทารกแรกเกิดมีภาวะน้ำหนักน้อย เตี้ยแคระแกร็น ผอมแห้ง และน้ำหนักเกิน ร้อยละ 10.3, 12.5, 7.2 และ 10.9 ตามลำดับ ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่สามารถลดลงได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ อีกทั้งเด็กไทยได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงอายุ 6 เดือนแรก เพียงร้อยละ 28.6 สะท้อนให้เห็นว่า เด็กไทยส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเต็มที่ ในการช่วยป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อ โรคภูมิแพ้ โรคอ้วน และการมีพัฒนาการด้านสติปัญญาที่สูงขึ้น

Advertisement

การขับเคลื่อนนโยบายเพื่อส่งเสริมสุขภาพหญิงวัยเจริญพันธุ์ในกลุ่มทำงานจึงน่าจะเป็นทางออกที่สำคัญในการช่วยตอบโจทย์ปัญหา “คุณภาพของประชากรไทย ในยุคเกิดน้อยกว่าตาย” ตามที่ยุทธศาสตร์ของประเทศมุ่งสร้างคนไทยให้เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ และการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างครอบครัวอบอุ่นเข้มแข็ง และ “คุณภาพของสถานประกอบการ ในยุคพัฒนาคน พัฒนาชาติ” ด้วยการคำนึงถึง ผลประโยชน์อันจะเกิดขึ้นกับสถานประกอบการ ในการปฏิบัติตามหลักปฏิบัติ ESG (Environment, Social, Government) ขององค์การสหประชาชาติ ที่ให้ความสำคัญในประเด็นของการมีสวัสดิการดูแลพนักงานและสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงาน ทำให้บริษัทลดความเสี่ยงด้านการฉ้อโกง ลดอัตราการลาออก ลดต้นทุนการฝึกพนักงานใหม่ ตลอดจนเพิ่มคุณภาพและผลผลิตของสินค้าต่อพนักงานได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลกำไรและเพิ่มมูลค่าของบริษัท เพื่อใช้เป็นแนวทางให้ผู้ลงทุนใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจก่อนลงทุนกับผู้ประกอบธุรกิจ และมีส่วนช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน

การขับเคลื่อนด้านสุขภาวะเชิงนโยบายเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งหวังจะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการสร้างองค์ความรู้ที่ช่วยในการขับเคลื่อนด้านสุขภาวะเชิงนโยบายที่นำไปสู่การชี้นำสังคมและขับเคลื่อน 17 เป้าหมาย Sustainable Development Goals (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยมหิดล “ความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ” มหาวิทยาลัยมหิดล จึงร่วมกับ กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นส่วนงานหลักในการส่งเสริมสุขภาพชีวิตที่ดีของแรงงานสตรีและเด็กตามมาตรฐานสากล ผลักดัน “โครงการสถานประกอบการต้นแบบสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพหญิงวัยเจริญพันธุ์และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” (Healthy Women and Breastfeeding Friendly Workplace Project: WBFW) ที่มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่ บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัทแกมม่าอินดัสตรี้ส์ จำกัด โดยมุ่งหวังพัฒนาสถานประกอบการต้นแบบส่งเสริมสุขภาพสตรีและการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เริ่มต้นด้วยการศึกษาสถานการณ์เก็บข้อมูลเชิงลึกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบด้าน (stakeholders) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สะท้อนความต้องการและบริบทความเป็นจริง และนำมาพัฒนาเครื่องมือที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และไม่เกิดภาระมากเกินไปกับการแบกรับของสถานประกอบการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายสูงสุดร่วมกันคือ เกิดสถานประกอบการต้นแบบที่ช่วยส่งเสริมสุขภาวะของแรงงานสตรีไทย ในยุคเกิดน้อยกว่าตาย ทำให้แรงงานสตรีคงอยู่อย่างมีคุณภาพเป็นฐานรากที่สำคัญของครอบครัวและสังคมไทย ที่เป็นภาพความร่วมมือกันในการ พัฒนาคน พัฒนาชาติ

Advertisement

เอกสารอ้างอิง

ศศิธารา น่วมภา, พรนภา ตั้งสุขสันต์, ฉันทิกา จันทร์เปีย, และวชิรา วรรณสถิตย์ (2563). ประสบการณ์การ

รับบริการฝากครรภ์และการแสวงหาข้อมูลสุขภาพของสตรีตั้งครรภ์ที่ทํางานในโรงงานอุตสาหกรรม

ขนาดใหญ่ : การศึกษาเชิงคุณภาพแบบบรรยาย. วารสารพยาบาลศาสตร์, 38(4), 44-61.

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2565). การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2565: รายงานผลฉบับ

สมบูรณ์. กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย: สำนักงานสถิติแห่งชาติ ประเทศไทย.

Liao, L., & Paweenawat, S. (2018). Labour Supply of Married Women in Thailand: 1985-2016.

PIER Discussion Papers, 88, Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.

Singh, S., & Pandey, M. (2019). Women-friendly policies disclosure by companies in India.

Equality, Diversity and Inclusion: An International Journal, 38(8), 857–869.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image