กรมศิลฯตรวจอิฐโบราณ คาดแนวเมืองเก่า สัมพันธ์ตำนานเมือง “เขื่อนขันธ์ กาบแก้วบัวบาน” 

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 นายมนตรี ธนภัทรพรชัย นักโบราณคดี สำนักงานศิลปากรที่ 8 จังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยด้วย น.ส.พัชณี สภา วัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู นายสัมฤทธิ์ ภูพุฒิ ปลัดเทศบาล รักษาการนายกเทศมนตรีเมืองหนองบัวลำภู ตัวแทนจากอำเภอเมืองหนองบัวลำภู พร้อมคณะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านในพื้นที่บ้านที่มีการขุดพบอิฐดินเผาโบราณได้ร่วมกันออกตรวจสอบพื้นที่ บริเวณริมรั้วบ้านของ นางพงษ์เพชร ชาวหา อายุ 51 ปี บ้านเลขที่ 111/1 หมู่ 4 บ้านกลาง ต.ลำภู อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ซึ่งบ้านพักอยู่ห่างจากศาลหลักเมืองจังหวัดหนองบัวลำภู ประมาณ 100 เมตร ในเขตเทศบาลเมืองหนองบัวลำภู จากการที่ได้มีการขุดพื้นริมถนนเพื่อวางท่อระบายน้ำ แล้วพบแนวก้อนอิฐมอญขนาดใหญ่ เป็นลักษณะของอิฐโบราณ

ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ต่างเชื่อว่า แนวอิฐดังกล่าวเป็นแนวของกำแพงเมืองเก่า ที่คนเก่าแก่เคยบอกเล่าให้กับลูกหลานและจากตำนานเมืองนั้น น่าจะเป็นแนวกำแพงเมืองโบราณ ตั้งแต่สมัย พระเจ้าชัยเชษฐาธิราช แห่งอาณาจักรล้านช้าง ได้มาสร้างเมืองอยู่ในพื้นที่นี้ แต่ปัจจุบันพื้นที่ดินเหล่าได้กลายเป็นชุมชนบ้านเรือนของชาวบ้านไปหมดแล้ว จึงเชื่อว่าอิฐที่ชุดพบนั้นเป็นแนวกำแพงเมือง ซึ่งทางจังหวัดหนองบัวลำภู ได้มีการประสานงานไปยัง กรมศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น เข้ามาตรวจสอบ

โดยก่อนหน้านี้ ทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้มาตรวจสอบจากทางวัดศรีคูณเมือง เพื่อหาแนวกำแพงเมืองเก่า ซึ่งคนเฒ่าคนแก่ ได้บอกว่า แต่ก่อนนั้นวัดศรีคูณเมือง นั้นจะเรียกว่า วัดใน ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ในเขตของตัวกำแพงเมือง มีอายุหลายร้อยปี โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช อาณาจักรล้านช้าง ย้อนกลับไปประมาณ 500 ปี เมืองหนองบัวลำภู เจริญรุ่งเรือง มีการก่อสร้างเมือง วัดวาอาราม โดยเฉพาะวัดศรีคูณเมือง ที่อยู่ใกล้ ๆ จุดที่พบกำแพง มีพระพุทธรูป ที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช สร้างถวาย มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ และปรากฏแนวกำแพงโบราณให้เห็น แต่ปัจจุบันกำแพงโบราณถูกได้มีการสร้างบ้านเรือนกันไปหมดแล้ว

ซึ่งหลังจากได้ทำการตรวจสอบพื้นที่แล้วและปรึกษาหารือกับทางตัวแทนของหน่วยงานในพื้นที่แล้ว ทางด้าน นายมนตรี ธนภัทรพรชัย ได้เปิดเผยว่า จากการวัดขนาดของทิศทางที่ตั้ง จะสอดคล้องกับประวัติเมือง ดูอายุอย่างน้อยสมัยล้านช้างเกินกว่า 200 ปี ในเบื้องต้นอาจจะมีการปรับปรุงรูปแบบของการพัฒนา และการเก็บข้อมูล ส่วนผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่คงไม่มีปัญหา สามารถอยู่ร่วมกันได้

Advertisement

ส่วนเรื่องของการพัฒนานั้น อยากให้ท้องถิ่นได้แสดงความคิดเห็น ความต้องการที่จะพัฒนา ส่วนของกรมศิลปากร นั้นจะคอยให้คำแนะนำ ซึ่งจากการที่มีหลายพื้นที่ ที่มีการขุดพบก็จะมีการจัดการแตกต่างกันไปตามพื้นที่ หรือทางจังหวัดอาจทำเป็นแผนแม่บทเพื่อการพัฒนา ซึ่งสิ่งที่พบนี้มีคุณค่าคำว่า เขื่อนขันธ์ จากชื่อเดิม น่าจะหมายถึงตรงกำแพง แต่ว่าในหลายชั่วอายุคนที่ผ่านมา แทบไม่มีใครรู้เลยว่ามีจริง อยู่ตรงไหน ซึ่งการพบครั้งนี้น่าจะเป็นจิกซอตัวหนึ่งที่จะเชื่อมต่อกัน ในอดีตเคยมีการสำรวจมาแล้วหลายครั้ง แต่ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์

ทางด้าน น.ส.พัชณี สภา วัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า เรื่องการขุดพบในครั้งนี้ นายชัยธวัช เนียมศิริ ผวจ.หนองบัวลำภู ได้ติดตามข้อมูลตลอดและกำชับให้เข้ามาหาข้อเท็จจริง และรายงานให้ทราบตลอด ซึ่งจังหวัดก็พร้อมที่จะเข้ามาดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และพร้อมที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายและอยากให้ทุกฝ่ายได้ให้ความร่วมมือช่วยเหลือกัน ถือว่าเป็นโชคดีของชาวหนองบัวลำภูต่อไปจะต้องร่วมมือกับชุมชน กับเทศบาลในการหาข้อมูลให้ร่วมชี้เป้าว่า มีอยู่ตรงจุดไหนบ้างเพื่อเชื่อมต่อกัน

การขุดพบในครั้งนี้เราตื่นเต้นดีใจ ยืนยันได้ว่านี่คือแนวกำแพงเมืองเก่า มาที่นี่ก็อยากเห็นว่า หนองบัวลำภู มีอะไรแสดงความเป็นตัวตนได้ หาอะไรให้ได้ ที่เป็นหนองบัวลำภู วันนี้เราเจอแล้วและจะได้ร่วมกันกับทุกฝ่ายเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ให้โดยเร็ว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image