ผลักดัน ‘เกาะลิบง’ สู่เกาะต้นแบบ ศึกษาเรียนรู้พะยูน-สิ่งแวดล้อมทางทะเล ยิ่งใหญ่ในอาเซียน

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง กล่าวว่า ทางเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเกาะลิบง ร่วมกับตัวแทนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ผู้นำชุมชนเกาะลิบง ประชุมปรึกษาหารือเพื่อเตรียมผลักดันโครงการเกาะลิบงให้เป็นเกาะต้นแบบในการศึกษาเรียนรู้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับพะยูน หญ้าทะเล ปะการัง สัตว์ทะเล สิ่งแวดล้อมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง วิถีชุมชน โดยจะใช้พื้นที่กว่า 200 ไร่ บริเวณอ่าวทุ่งจีน บนเกาะลิบง ซึ่งอยู่ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง เป็นสถานที่ก่อสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเทียบเท่ากับระดับสากล สร้างแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ โรงพยาบาลสัตว์ทะเลหายาก สร้างแหล่งอนุบาล และบริบาลสัตว์ทะเลที่ครบวงจร เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลเชิงนิเวศที่ยิ่งใหญ่ในอาเซียน (ASEAN Sea Word)

นายชัยพฤกษ์กล่าวว่า ภายหลังการตายของพะยูนน้อย “มาเรียม” ทำให้สังคมเกิดการตื่นตัว รู้จักพะยูน รักและหวงแหนพะยูน หนึ่งในสัตว์ทะเลหายากประจำทะเลไทยมากยิ่งขึ้น และตระหนักถึงปัญหาของการจัดการขยะสาเหตุการตายของมาเรียม และสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม อันส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทางทะเล ประกอบกับรัฐได้บรรจุเรื่องพะยูนไว้ในแผนแม่บทแห่งชาติแล้ว เตรียมผลักดันให้เกิดการศึกษาและอนุรักษ์พะยูน และจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างความมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง โดยที่เกาะลิบงเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดตรัง มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ในประเทศไทยที่สำรวจล่าสุดมีประมาณ 180 ตัว และแหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่เนื้อที่กว่า 18,000 ไร่ เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล และแหล่งอนุบาลสัตว์วัยอ่อนที่มีอย่างชุกชุม ประกอบกับวิถีชีวิตของประชาชนและชุมชนที่เข้มแข็ง

ย้อนอ่าน : หมอแถลงข่าวทั้งน้ำตา อำลา มาเรียม ผูกพันเหมือนลูกหลานตัวเอง

“เป็นเหตุผลให้เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง เตรียมเสนอรัฐบาลผลักดันให้เกาะลิบงเป็นเกาะต้นแบบในการจัดการสิ่งแวดล้อม และวิถีชุมชนอย่างเป็นระบบดังกล่าว ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ผ่านแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ยิ่งใหญ่ในอาเซียน (ASEAN Sea Word) นำรายได้ให้กับจังหวัดตรัง และชุมชนใน 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามัน นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสให้ประเทศไทยสร้างความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องกับประเทศอื่นที่เป็นแหล่งพะยูน เช่น เมือง Moreton Island รัฐ Brisbane ประเทศออสเตรเลีย หรือเมืองออร์แลนโด (ORANDO) เมืองซาราโซตา (SARASOTA) รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ได้มีโอกาสเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างเครือข่าย และนำมาพัฒนาทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของ ASEAN Sea Word ที่สำคัญ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงรับ 2 พะยูนน้อย มาเรียม-ยามีล ไว้ในโครงการโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ประกอบกับที่ผ่านมา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงและเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ซึ่งมีพื้นที่เชื่อมต่อกัน ยังได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) โดยเป็น 1 ใน 14 แห่งทั่วประเทศ ลำดับที่ 1,182 มีเนื้อที่รวม 414,456.25 ไร่ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2545 และกำลังได้รับการผลักดันให้เป็นแหล่งมรดกแห่งอาเซียนด้วย เพราะมีความหลากหลายของระบบนิเวศสูง” นายชัยพฤกษ์กล่าว

Advertisement

ย้อนอ่าน : ด่วน! ยามีลตายแล้ว หัวใจหยุดเต้น ทำซีพีอาร์แล้วแต่ไม่สำเร็จ จากไปอย่างสงบ

นายชัยพฤกษ์กล่าวอีกว่า จากการหารือร่วมกันเห็นว่าขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีเกาะต้นแบบ จึงอยากนำเสนอรัฐบาลทำโครงการที่เกาะลิบง เพื่อทำให้ชาวโลกได้รู้จัก ซึ่งเชื่อว่างบประมาณที่จะทุ่มเทลงไปตรงนี้ จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากอย่างพะยูนอย่างยั่งยืน เกิดการดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ และประชาชนอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืน โดยที่เม็ดเงินที่ได้กลับมาคุ้มค่ามากกว่างบประมาณที่ลงทุนไปแน่นนอน จึงเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องสนับสนุนแนวคิดนี้ เพื่อทำให้เป็นเกาะลิบงแนวใหม่ในมิติที่สูงขึ้นกว่าเดิม โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือเศรษฐกิจและสังคมที่ดีของชาวเกาะลิบง หรือชาวตรัง

ด้านนายสิทธิพร จิเหลา นายก อบต.เกาะลิบง กล่าวว่า จากการฟังดูแล้วเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมาก และชุมชนน่าจะให้การสนับสนุน เพราะไม่เคยมีมาก่อนบนเกาะลิบง อีกทั้งยังสอดรับกับกระแสเรื่องของมาเรียม นอกจากนั้นยังช่วยส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว เพิ่มงาน เพิ่มรายได้ และทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนเกาะลิบงดีขึ้น ซึ่งหากโครงการนี้เกิดขึ้นก็จะยิ่งทำให้การอนุรักษ์มีความเข้มแข็งมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำไป ส่วนชาวบ้านส่วนน้อยที่ยังไม่เข้าใจก็คงต้องไปพูดคุยกันต่อไป เพราะโครงการนี้ไม่ได้สร้างผลกระทบอะไร หรือตัดสิทธิอะไรของชุมชนทั้งสิ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image