ปธ.ชมรมโรงสีข้าวโคราช ติงนโยบายประกันรายได้ แนะ รบ.ควรแก้ปัญหาแบบยั่งยืน

ประธานชมรมโรงสีข้าวโคราช ติงนโยบายประกันรายได้เกษตรกร เป็นแค่การแก้ปัญหาแบบตั้งรับ แนะรัฐบาลควรมีนโยบายแก้ปัญหาเชิงรุก ให้ข้าวขายได้ราคาดีแบบยั่งยืนควบคู่กันไปด้วย

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานชมรมโรงสีข้าวนครราชสีมา กล่าวถึง นโยบายประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาลว่า สำหรับนโยบายนี้รัฐบาลใช้เงินไปเป็นจำนวนมากถึง 185,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการใช้เงินงบประมาณกับโครงการนี้ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 แล้ว แสดงให้เห็นว่าเป็นการใช้เงินมหาศาลเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่ได้แก้ปัญหาราคาข้าวอย่างยั่งยืน เพราะไม่สามารถที่จะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นได้

ซึ่งการใช้เงินประกันรายได้เกษตรกร ตนก็เห็นด้วย เพราะถ้าไม่มีนโยบายนี้เกษตรกรก็จะไม่มีรายได้ที่เพียงพอในการใช้จ่ายหลังฤดูเก็บเกี่ยว แต่การประกันรายได้เป็นเพียงนโยบายในการตั้งรับกับปัญหาเท่านั้น โดยที่ไม่มีนโยบายเชิงรุกที่จะทำคู่ขนานกันไปเลย ทั้งที่วัฏจักรของชาวนาก็เป็นอย่างนี้ทุกปีอยู่แล้ว ก็ควรที่จะมีการวางแผนนโยบายแก้ไขปัญหาระยะยาวได้ก่อนล่วงหน้าด้วยซ้ำไป ซึ่งการประกันรายได้เกษตรกรครั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า ข้าวเหนียว ประกันราคาไว้ที่ตันละ 12,000 บาท ให้ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน, ข้าวหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ให้ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน และข้าวจ้าว ตันละ 11,000 บาท ให้ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน

ขณะเดียวกันในพื้นที่ จ.นครราชสีมานั้น ก็มีพื้นที่เพาะปลูกข้าว ทั้ง 3 ชนิด รวมกันประมาณ 3,540,000 ไร่ โดยแบ่งเป็น ข้าวหอมมะลิ มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด อยู่ประมาณ 3,100,000 ไร่ ข้าวจ้าว ประมาณ 360,000 ไร่ และข้าวเหนียว ประมาณ 80,000 ไร่ แต่เนื่องจากช่วงหน้าฝนที่ผ่านมา ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งมี 32 อำเภอ ได้ประสบปัญหาอุทกภัยรวม 30 อำเภอ 234 ตำบล มีพื้นที่นาข้าวได้รับความเสียหายไปกว่า 600,000 ไร่ ดังนั้นจึงเหลือพื้นที่เก็บเกี่ยวอยู่ประมาณ 2,940,000 ไร่ โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวข้าวพร้อมกันประมาณ 90% เดือนธันวาคม 2564 ประมาณ 8% และเดือนมกราคม 2564 ประมาณ 2% ซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาข้าวล้นตลาด ราคาตกต่ำ การที่รัฐบาลออกนโยบายประกันรายได้เกษตรกรในช่วงนี้ ก็ถือว่าดี ตนเห็นด้วย แต่การใช้เงินจำนวนมาก็ควรที่จะมีนโยบายแก้ไขปัญหาระยะยาวควบคู่กันไปด้วย เพราะครั้งนี้จ่ายเงินมาก โดยเป็นการจ่ายเงินขาดไปเลยกว่า 150,000 ล้านบาท และไม่จ่ายขาดอีก 35,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นภาระของงบประมาณแผ่นดินสูงมาก

ดังนั้นรัฐบาลต้องมีนโยบายเชิงรุก โดยอาจจะหาตลาดในการช่วยให้เกษตรกรขายข้าวได้ราคาสูงขึ้น อาทิ หาตลาดอาหารสัตว์ หรือตลาดแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้น เพราะปัจจุบันนี้เรายังต้องนำเข้าวัตถุดิบประเภทข้าวฟ่าง และข้าวโพด จากต่างประเทศเพื่อผลิตอาหารสัตว์อยู่เลย ในขณะที่มาตรการของรัฐบาลทั้ง 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือส่วนต่างราคาข้าว มาตรการช่วยต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,000 บาท และมาตรการจำนำยุ้งฉางเพื่อชะลอการขายข้าว ล้วนแต่เป็นมาตรการเชิงรับทั้งนั้น เพราะถ้ามีมาตรการเชิงรุก ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น เกษตรกรได้เงินเท่าเดิมแต่รัฐบาลจ่ายเงินน้อยลง ก็จะสามารถช่วยลดการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินได้มหาศาล อีกทั้งยังเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาวอีกด้วย

Advertisement

แต่ที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลไม่เคยคิดที่จะแก้ไขปัญหาราคาข้าวกันอย่างจริงจัง เพราะถ้าจะทำเป็นนโยบายเชิงรุก ก็กลัวว่าต้องใช้เวลาหลายปี กว่าจะเห็นผลก็หมดยุครัฐบาลปัจจุบันไปแล้ว จึงต้องมาใช้นโยบายแบบตั้งรับ ซึ่งใช้เวลาน้อยมาก และไม่ต้องคิดอะไรมาก แค่นำเงินงบประมาณไปจ่ายส่วนต่างราคาก็เสร็จแล้ว ปีหน้าค่อยว่ากันใหม่ อย่างนี้ก็ไม่มีทางที่จะแก้ไขปัญหาได้แบบยั่งยืนแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image