กรมศิลปากร เผยวิศวกรเข้าพื้นที่ ตรวจสอบความปลอดภัยเจดีย์วัดศรีสุพรรณ ก่อนให้นักโบราณคดีเข้าทำงาน

กรมศิลปากร เผยวิศวกรเข้าพื้นที่ ตรวจสอบความปลอดภัยเจดีย์วัดศรีสุพรรณ ก่อนให้นักโบราณคดีเข้าทำงาน และสร้างใหม่

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 4 ตุลาคม 2565 ที่ห้องประชุมโรงเรียนเทศบาลวัดศรีสุพรรณ ภายในวัดศรีสุพรรณ ตำบลหายยา อ.เมืองเชียงใหม่ นายบพิตร วิทยาวิโรจน์ รองอธิบดีกรมศิลปากร และพระครูพิทักษ์สุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุพรรณ ร่วมแถลงข่าว ‘แนวทางอนุรักษ์​และฟื้นฟู​เจดีย์วัดศรีสุพรรณ’ หลังเจดีย์พังทลายลงมาเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา โดยมี น.ส.นาตยา ภูศรี รักษาการผู้อำนวยการสำนัก​ศิลปากร​ที่​ 7​ เชียงใหม่​ นายเทอดศักดิ์ เย็นจุระ ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์โบราณสถาน สำนัก​ศิลปากร​ที่​ 7​ เชียงใหม่ พร้อมคณะกรรมการวัดศรีสุพรรณ ประธานชุมชนวัดศรีสุพรรณ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมรับฟัง

พระครูพิทักษ์สุทธิคุณ กล่าวว่า การพังทลายขององค์เจดีย์ถือเป็นโอกาสและประสบการณ์ในการเรียนรู้ร่วมกันกับทุกภาคส่วน ซึ่งทางวัดยินดีให้ความร่วมมือและเข้าใจการทำงานในทุกมิติ เพราะเราไม่มีประสบการณ์ตรง แต่พร้อมร่วมมือทำงานทั้งการออกแบบและต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในแบบพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสเพื่อเกิดสิ่งที่ดีตามมา ทั้งมิติของการศึกษา การสืบทอดพระพุทธศาสนา รวมทั้งการรักษาความปลอดภัยโบราณสถาน ซึ่งต้องทำสิ่งที่ดีที่สุดตามกระบวนการ ซึ่งการพังทลายของเจดีย์ครั้งนี้เราทำเต็มที่ในการที่จะรักษาไว้แล้วและโชคดีที่ไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน และโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันเลย

“แนวทางนับจากนี้ในการจะสร้างองค์เจดีย์ขึ้นมาใหม่ ก็มีหลายกระแสและต้องฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมศิลปากรเป็นหลักด้วย ซึ่งเป็นไปตามหลักและวิธีปฏิบัติ โดยเฉพาะการพบวัตถุโบราณทั้งเก่าและใหม่ ก็จะต้องมีการลงทะเบียนให้ชัดเจนก่อนที่จะส่งกลับให้ทางวัดและชุมชนได้ช่วยกันรักษาต่อไป ล่าสุดมีความเห็นของประชาชนในพื้นที่ว่า ชุมชนของเรามีวัฒนธรรมงานช่าง 10 หมู่ ช่างหล่อ รวมทั้งภูมิปัญญาหัตถกรรมเครื่องเงินที่มีชื่อ ก็น่าจะทำเจดีย์เงินครอบฐานเจดีย์เดิมเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาของท้องถิ่นก็น่าจะดี แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้คงยังตอบไม่ได้ ต้องอาศัยผู้รู้ สถาปนิก มาร่วมหารือกันอย่างจริงจังต่อไป”

Advertisement

นายบพิตร กล่าวว่า การที่องค์เจดีย์ล้มเป็นเรื่องที่เกิดมาจากภัยธรรมชาติและมีความพยายามป้องกันและรักษาเต็มที่แล้ว แต่ต้องบอกว่า เอาไม่อยู่จริงๆ เพราะโดยสภาพและถูกฝนสะสมมาต่อเนื่อง จึงต้องเน้นความปลอดภัยสูงสุดก่อนที่จะพังทลายลงมาโดยไม่กระทบต่อสิ่งใด จากนี้ก็จะเป็นขั้นตอนต่อไปแม้ว่าจะสร้างใหม่ภายหลังเพื่อครอบองค์เจดีย์เก่าที่มีอยู่เดิมซึ่งเป็นโบราณสถานที่เป็นหน้าที่ของกรมศิลปากรดูแล ล่าสุดเราพบโบราณวัตถุจำนวนมาก ทั้งพระพุทธรูป พระธาตุ ที่มีประชาชนบรรจุไว้อย่างหลากหลาย จึงบอกไม่ได้ว่ายุคไหนบ้างอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพราะในขณะก่อสร้างมีการใส่ไว้นานแล้วและใส่ใหม่ในช่วงที่มีการบูรณะ

“เรื่องเร่งด่วนขณะนี้คือ การกันพื้นที่และยังไม่สามารถทำอะไรได้ ต้องรอวิศวกร เข้าตรวจสอบสภาพพื้นที่ว่า จะให้นักโบราณคดีเข้าพื้นที่ได้อย่างปลอดภัยวันเวลาใด เพราะการทำงานต้องแยกออกเป็นสองส่วน คือ ใหม่ ที่อาจจะต้องย่อยสลายและจัดทำมวลสารต่อไป ส่วนเก่าซึ่งคือ ตัวเจดีย์ ต้องตรวจสอบ จารึก ลวดลาย ปูนปั้น สันฐานว่ามีอะไรบ้าง เราต้องเก็บข้อมูล จัดทำเอกสาร ภาพถ่ายเก่ามาเปรียบเทียบประกอบกัน ซึ่งรวมทั้งการขุดค้นจากร่องรอย และต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง เพราะต้องรื้อถอนจำนวนมากเพื่อศึกษาอย่างละเอียด ตามหลักของนักโบราณคดี คือ เราต้องใช้นักวิทยาศาสตร์จากส่วนกลางตรวจสอบ บางชิ้นอาจใช้น้ำเป่า น้ำยา หรือสาร ตรวจสอบความเป็นตะกั่ว สัมฤทธิ์ ทุกชิ้นที่พบ เพื่อทำความสะอาด และลงทะเบียน ก่อนส่งมอบให้ทางวัดซึ่งเป็นเจ้าของได้ดูแลรักษาต่อไป สิ่งสำคัญ คือ จะเก็บที่ไหนอย่างไร และควรมีการตั้งคณะกรรมการกลางดูแลไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เช่น เจ้าหน้าที่วัด ตำรวจ เทศบาล เพื่อความสบายใจ โดยมีนักจดหมายเหตุเข้ามาบันทึกเหตุการณ์ ถอดบทเรียน การบูรณะเจดีย์ โดยผ่านการพิจารณาร่วมกันในการ้สนอแนะปรับรูปแบบไปในทางเดียวกัน”

Advertisement

นายบพิตร กล่าวอีกว่า เรื่องเร่งด่วนในขณะนี้ คือ ตรวจสอบพื้นที่ ขุดค้น โดยใช้งบกรมศิลปากรมาดำเนินการ ส่วนการบูรณะขึ้นใหม่ หรือจะสร้างองค์ใหม่ครอบที่เดิม หรือที่ใหม่ รูปแบบไหน ก็อยู่ที่การหารือ ซึ่งขณะนี้นักวิทยาศาสตร์เข้าพื้นที่และลงมือทำงานแล้ว โดยเน้นความปลอดภัยสูงสุด ส่วนระยะเวลานานแค่ไหนตอบไม่ได้ เพราะขณะนี้มีโบราณสถานหลายแห่งอยู่ในสภาพใกล้เคียงกันที่ต้องดูแลป้องกัน ฝากประชาชนที่พบเห็นให้ประสานเจ้าหน้าที่เข้าดูแล เพราะโบราณสถานเป็นสมบัติของทุกคน ส่วนเจดีย์วัดศรสุพรรณเบื้องต้นไม่ควรให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าพื้นที่บริเวณเจดีย์ที่พังทลาย เพื่อรักษาความปลอดภัย

นายปรีชา ขันทนันท์ ประธานกรรมการวัดศรีสุพรรณ กล่าวว่า ทรัพย์สินที่พบหลังจากเจดีย์พังทลายลงมา ไม่ต้องเป็นห่วงเพราะทางวัดมีห้องมั่นคงในที่เร้นลับเก็บรักษาอยู่แล้ว และได้มีบุคคลประมาณ 10 กว่าคนติดต่อขออิฐขององค์เจดีย์เพื่อนำไปทำมวลสาร ซึ่งได้ตอบไปว่าทุกอย่างต้องรอกรมศิลปากรดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อน เพราะอิฐที่พบมีสามส่วน คือ อิฐ 3 รุ่น คือ อิฐดี อิฐแตกหัก และเศษหินดินทราย ทุกอย่างมีค่า และกลัวว่าจะถูกกล่าวหาว่าหากินกับวัด ปัจจุบันไม่มีคำยืนยันจากที่ใดว่าพระพุทธรูปที่พบมีมูลค่าเท่าใด เพราะยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ก่อนหน้าเจดีย์พังทลายมีโจรเข้ามาขโมยโทรศัพท์มือถือนักเรียนและพระในวัด เราจึงเตรียมเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพิ่มขึ้นเพื่อความปลอดภัยของบุคคลที่เข้ามาทำงานและทรัพย์สินมีค่าด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้นายสรรินทร์ จรัลนภา นักวิทยาศาสตร์ (ชำนาญการ) หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์อนินทรีย์วัตถุ กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สำนักพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พร้อมคณะเริ่มลงมือตรวจสอบวัตถุโบราณที่พบ ที่เป็นพระพุทธรูปสำคัญ จำนวนทั้งสิ้น 65 รายการ และพระธาตุที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พบในผอบ จำนวน 83 เม็ด โดยใช้เครื่องตรวจโลหะ XRF เพื่อตรวจส่วนประกอบพระพุทธรูปว่า เป็นเนื้อสัมฤทธิ์ ทองเหลือง ทองแแดง ดีบุก กี่เปอร์เซนต์ ซึ่ง 3-4 องค์ บ่งชี้ว่าเป็นพระพุทธรูปรุนเก่ามีความงดงามตามแบบล้านนาประเมินอายุประมาณ 400-500 ปี แสดงถึงจุดที่ตั้งในองค์เจดีย์มีความเหมาะสมมาก เพราะมีพื้นผิวที่สมบูรณ์มากคือ เนื้อสัมฤทธิ์ แทบไม่มีร่องรอยชำรุดใดๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image