ยายวัย 86 ปี ร้องทนายดัง ถูกนายทุนยึดที่ดิน กู้ 5 แสน ผ่านไป 10 ปี หนี้พุ่ง 1.7 ล้าน

ยายวัย 86 ปี สุดช้ำ ถูกนายทุนยึดที่ดินมรดก ซ้ำโดนทนายเก๊หลอกสูญเงินกว่า 1.3 แสน วอนหน่วยงานช่วยเหลือ

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 9 มี.ค. ที่ชมรมทนายความจิตอาสา ต.เสาธงหิน อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางเคน ปุริทัศน์ อายุ 86 ปี พร้อมด้วย นางบุญโลม ปุริทัศน์ อายุ 60 ปี สองแม่ลูกชาว จ.กาฬสินธุ์ เดินทางเข้าพบนายเกียรติคุณ ต้นยาง หรือทนายโป้ง ประธานชมรมทนายความจิตอาสา โดยนางบุญโลม (ลูกสาว) กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 ตนจะเปิดร้านขายอาหาร และขายของชำ แต่ไม่มีเงินทุน จึงนำโฉนดที่ดินจำนวน 36 ไร่ 1 งาน ซึ่งเป็นที่ดินของแม่ ไปจำนองไว้ที่ร้านทองแห่งหนึ่งใน อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 300,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 15,000 บาท (หรือร้อยละ 5) หลังจากส่งดอกเบี้ยได้ประมาณ 4 เดือน เห็นป้ายโฆษณารับจำนองที่ดินของสถาบันการงานแห่งหนึ่ง คิดดอกเบี้ยร้อยละแค่ 1.25 บาทต่อเดือน ซึ่งถูกกว่าร้านทองที่ตนเอาที่ดินไปจำนองไว้ก่อนหน้านี้

ดังนั้น วันที่ 23 มกราคม 2555 ตนกับคุณแม่จึงไปยื่นเรื่องกู้เงินกับสถาบันการเงินดังกล่าว จำนวน 500,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.25 ต่อเดือน หรือ 6,250 บาท (เป็นราคาดอกเบี้ยที่ป้ายโฆษณาระบุเอาไว้) หลังจากทำสัญญาเสร็จ ปรากฏว่าดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามที่โฆษณาระบุเอาไว้ โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 บาทต่อเดือน ซึ่งราคาเท่ากับที่เก่า

ทั้งนี้ เนื่องจากทำสัญญาไปแล้วสุดท้ายก็ต้องจำใจยอมรับสภาพแต่โดยดี ซึ่งตนต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยที่กู้มา 5 แสน เดือนละ 35,000 บาท หรือร้อยละ 5 ต่อเดือน หลังจากนั้นตนจึงนำเงินจำนวนดังกล่าวไปปิดยอดเงินกู้จากเจ้าแรก จำนวน 370,000 บาท เหลือเงินส่วนต่างหลังปิดยอดเก่าจำนวน 130,000 บาท จนกระทั่งเดือน มกราคม ปี 2557 เศรษฐกิจไม่ดี ของก็ขายไม่ค่อยได้ จึงทำให้ขาดส่งค่าดอกเบี้ยจำนวน 6 เดือน คิดเป็นเงิน 150,000 บาท ดังนั้นนายทุนจึงให้มาเปลี่ยนสัญญาการกู้เงินใหม่อีกครั้งจากยอดเดิม 5 แสนบาท เพิ่มวงเงินเป็น 7 แสนบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 บาทต่อเดือนเท่าเดิม ซึ่งวงเงินที่เพิ่มมา 2 แสนบาทนั้น นายทุนได้นำไปหักกับดอกเบี้ยที่ค้างเอาไว้ก่อนหน้านี้ส่วนเงินที่เหลือนายทุนได้เอาไปหักกับดอกเบี้ยล่วงหน้าที่ยังไม่ครบกำหนดจ่าย ซึ่งยอดเงินที่เพิ่มมาทั้งหมดตนไม่ได้รับแม้เเต่บาทเดียว หลังจากเพิ่มวงเงินตนต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มเป็นเดือนละ 35,000 บาท บางเดือนมีก็จ่าย บางเดือนไม่มีก็ค้างไว้ก่อน กระทั่งต้นปี 2556 มีหมายศาลมาที่บ้านเกี่ยวกับการกู้เงินดังกล่าว โดยระบุว่าตนเป็นหนี้ทั้งหมดจำนวน 1.7 ล้านบาท ตอนนั้นตนกับแม่รู้สึกตกใจอย่างมากจึงรีบไปพบนายทุนที่บริษัท ซึ่งทางพนักงานแจ้งว่าไม่ต้องไปศาล ให้นำเงินมาชำระตามปกติ ตนจึงพยายามหายืมเงินมาชำระให้ตรงตามกำหนด แต่ก็มีบ้างบางเดือนที่ค้างชำระ แต่ก็จ่ายมาตลอด

Advertisement

กระทั่งวันหนึ่งมีหนังสือจากกรมบังคับคดี จ.กาฬสินธุ์ มาที่บ้านโดยระบุข้อความว่าให้ไปพบเจ้าหน้าที่ภายในวันที่ 2 กันยายน ปี 2559 เนื่องจากที่ดินดังกล่าวจะทำการขายทอดตลาด พอถึงกำหนดวันที่ 2 ก.ย.ตนกับแม่จึงเดินทางไปที่กรมบังคับคดีทันที เมื่อไปถึงปรากฏว่ามีคนมาซื้อที่ดินของตนเป็นที่เรียบร้อยแล้วซึ่งคนที่ซื้อก็คือบริษัทที่รับจำนองที่ดินของตนนั่นเองและในวันเดียวกันนายทุนได้ทำการขายต่อที่ดินให้กับบุคคลที่สามทันที จากนั้นจึงไปปรึกษากับนักกฎหมาย และแต่งตั้งทนายความให้ระงับการซื้อ-ขายที่ดินดังกล่าวโดยเสียค่าใช้จ่ายให้ทนายความทั้งหมดจำนวน 1.3 แสนบาท แต่สุดท้ายทนายความที่แต่งตั้งกลับไม่ได้ดำเนินการยื่นเรื่องคัดค้านแต่อย่างใด และมาทราบภายหลังว่าทนายคนดังกล่าวถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปก่อนหน้านี้แล้ว และไม่สามารถรับว่าความได้อีก จึงทำให้ที่ดินของตนเปลี่ยนผู้ครองครองโดยชอบด้วยกฎหมายไปโดยปริยาย หลังจากนั้นตนจึงต่อสู้ยื่นเรื่องร้องเรียน ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ และแต่งตั้งทนายความคนใหม่เพื่อต่อสู้คดี เกี่ยวกับที่ดินปรปักษ์ ต่อมาปี 2560 ศาลชั้นต้นตัดสินให้ตนแพ้คดี ปี 2562 ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ตนชนะคดี ล่าสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ปี 2566 ศาลฎีกาตัดสินให้ตนแพ้คดี

นางบุญโลมกล่าวต่ออีกว่า ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมาครอบครัวของตนพยามยามต่อสู้ทุกช่องทางเพื่อทวงคืนที่ดินของคุณแม่ที่ได้รับมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษให้กลับคืนมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน แต่เนื่องจากครอบครัวของตนไม่ได้มีฐานะร่ำรวย เป็นแค่ชาวบ้านธรรมดา หาเช้ากินค่ำ จบแค่ชั้น ป.4 ไม่มีความรู้ และไม่มีอะไรที่จะไปสู้รบกับกลุ่มของนายทุนได้ จึงทำให้ที่ดิน 36 ไร่ 1 งาน ตกไปเป็นของคนอื่น ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ตนเชื่อว่าครอบครัวของตนไม่ได้รับความเป็นธรรม ที่ผ่านมาไปยื่นเรื่องร้องเรียนและร้องทุกข์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกที่ แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ วันนี้จึงตัดสินใจเดินทางจากจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้ามาพบทนายโป้งซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายของตน ขอให้ทนายโป้งช่วยเรียกร้องความเป็นธรรมก่อนที่จะถูกขับไล่ออกจากที่ดินซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ

Advertisement

ขณะที่ยายเคน อายุ 86 ปี (เจ้าของที่) กล่าวด้วยน้ำตานองหน้าพร้อมกับยกสองมือขึ้นมาพนมขอร้องให้ทนายโป้งช่วยเรียกร้องความเป็นธรรมและขอให้เอาที่ดินของยายกลับคืนมา พร้อมทั้งฝากไปถึงคนที่เอาที่ดินของยายไปว่า ยายอยู่ที่ดินตรงนี้มาตั้งแต่เกิด เป็นที่ดินที่ยายได้รับมรดกมาจาก ปู่ย่า ตายาย ซึ่งยายตั้งใจจะเก็บเอาไว้ให้ลูกให้หลาน จะให้ยายซื้อคืนก็ได้ อย่าทำกับยายแบบนี้เลย เห็นใจยายเถอะ ตอนนี้ยายไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ให้ลูกหลานทำมาหากินแล้วต้องเร่ร่อนไปอาศัยหลานอยู่ ขอให้ช่วยยายด้วยเถอะ หลังจากพูดจบยายเคนยกมือไหว้ท่วมหัวและอยู่ในอาการซึมเศร้าอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นภาพที่เห็นแล้วหดหู่ยิ่งนัก

ทนายโป้งกล่าวว่า หลังจากที่ได้พูดคุยกับคุณยายและตรวจสอบเอกสารหลักฐานเบื้องต้นทราบว่าคุณยายได้ไปทำสัญญาจำนองที่ดินไว้จริง แต่สัญญาที่ทำ กับจำนวนเงินที่ได้ มันไม่ตรงกัน โดยสัญญาระบุว่าจำนวนเงินเกินกว่าที่คุณยายได้รับมา แต่คุณยายก็จ่ายดอกเบี้ยถูกต้องครบถ้วนมาตลอด จนกระทั่งวันที่ถูกฟ้องคุณยายกับลูกก็ได้ไปหาโจทก์ ซึ่งทางโจทก์บอกกับคุณยายว่าถ้าจ่ายดอกเบี้ยตลอด ทางเขาก็จะไม่ฟ้องและคุณยายก็ไม่ต้องไปศาล สุดท้ายมีการบังคับคดีขายที่ดินทอดตลาด ตนก็ไปติดต่อที่กรมบังคับคดี โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าทางโจทย์ได้ทำการซื้อที่ดินของคุณยายและขายทอดตลาดไปแล้ว คุณยายถึงรู้ตัวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาถูกหลอก ตนจึงแนะนำไปว่าถ้าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ เข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง เพราะเรื่องของการกู้ยืมการจำนองมันมีอยู่จริง ซึ่งเวลาที่คุณไปฟ้องเขา คุณไปบอกกับเขาว่าถ้าจ่ายดอกเบี้ยแล้วจะไปถอนฟ้องเเละจะไม่ฟ้องแล้ว คุณยายและลูกหลานเขาก็จ่ายดอกครบถ้วนมีหลักฐานการโอนทุกอย่าง การกระทำแบบนี้ถือว่าเป็นการหลอกลวง กล่าวข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้บุคคลอื่นหลงเชื่อ เสียทรัพย์สิน เงินทอง ก็เป็นเรื่องของการฉ้อโกง

ทนายโป้งกล่าวต่อ เบื้องต้นแนะนำให้คุณยายไปแจ้งความดำเนินคดีกับโจทก์ของคุณยาย ส่วนเรื่องของการเจรจาขอซื้อที่ดินคืน เนื่องจากทรัพย์นั้นถูกซื้อโดยบุคคลที่สามไปแล้ว และมีการขายทอดตลาด ซึ่งมีการคุ้มครองตั้งแต่คนเเรก นอกจากนี้บุคคลที่สามได้มีการซื้อขายโดยสุจริต เปิดเผย เสียค่าตอบแทน ได้รับกฎหมายคุ้มครอง คุณยายต้องลองติดต่อเจรจาขอซื้อคืนในราคาที่เหมาะสม ซึ่งก็ต้องแล้วแต่ว่าเขาจะยอมหรือไม่ สุดท้ายนี้อยากจะฝากไปถึงพี่น้องประชาชนทุกท่านที่คิดจะแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน ควรจะนำทรัพย์สินของท่านไปฝากไว้กับสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงหรือบริษัทห้างร้านที่มีความน่าเชื่อถือ และมีหลักประกันที่แน่นอน อย่าได้หลงเชื่อโดยที่มิได้มีการตรวจสอบ มิฉะนั้นท่านอาจจะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพทำให้เกิดความเสียหายตามมาภายหลังได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image