คนเลี้ยงนกกรงหัวจุกหวังปลดล็อกสัตว์ป่าคุ้มครอง ดันเป็นซอฟต์เพาเวอร์

คนเลี้ยงนกกรงหัวจุกหวังปลดล็อกสัตว์ป่าคุ้มครอง ดันเป็นซอฟต์เพาเวอร์

หลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้เลี้ยงนกปรอดหัวโขนหรือนกกรงหัวจุกจากทั่วประเทศ ภายใต้การนำของชมรมผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกในจังหวัดสงขลา ที่ได้ร่วมขับเคลื่อนเพื่อให้ปลดนกปรอดหัวโขนหรือนกกรงหัวจุกออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ห้ามมิให้ผู้ใดล่า ครอบครอง จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การเคลื่อนไหวครั้งนี้เริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ตั้งแต่การยื่นหนังสือถึง สส.สงขลา จนกระทั่ง พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.เขต 8 สงขลาพรรคประชาธิปัตย์ได้นำปัญหานี้อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร และมีการขับเคลื่อนต่อเนื่องจนมาถึงวันที่ 20 ธันวาคม2566 ได้มีการนำส่งรายชื่อผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกและผู้สนับสนุน มากกว่า 1 แสนรายชื่อเพื่อยืนยันข้อเรียกร้องให้ปลดล๊อคนกกรงหัวจุก ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนไหวที่ผู้เลี้ยงนกเชื่อมั่นว่า มีพลังและจะสามารถปลดล๊อค เพื่อให้สามารถเลี้ยงนกกรงหัวจุก เพาะขยายพันธุ์ ลงสนามแข่งได้อย่างเสรี ซึ่งจะสามารถพัฒนาสายพันธุ์ รวมถึงสร้างรายได้ในวงกว้าง ให้นกกรงหัวจุกเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

นายวิชัย มาเด็น ประธานชมรมผู้เลี้ยงนกกรุงหัวจุกจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกต่อสู้ในเรื่องของการปลดล็อค มานานกว่า 20 ปี ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 ก็ได้เข้ายื่นหนังสือกับ คสช. แต่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้ามากนัก ในครั้งนี้มีฝ่ายการเมือง ทั้ง สส.สว.ให้การสนับสนุน รวมถึงผู้เลี้ยงนกเองต่างก็ร่วมมือร่วมใจกันล่ารายชื่อผู้เลี้ยงและอาชีพที่เกี่ยวเนื่องจนได้รายชื่อกว่า 1 แสนชื่อ แสดงตัวตนที่ชัดเจน ครั้งนี้จึงเป็นความหวังของเรา ในขณะเดียว ศอ.บต.ก็ให้ความสนใจ ชูนกกรงหัวจุกเป็นหนึ่งในซอฟต์เพาเวอร์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ควบคู่ไปกับ วัวชน ไก่ชน

Advertisement

“เหตุที่ศอ.บต.ผลักดันให้ นกกรงหัวจุกเป็นซอฟต์เพาเวอร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเมื่อปี 2553 ได้มีการบันทึกสถิติครั้งแรกในสนามแข่งนกกรงหัวจุกอาเซียน ในจังหวัดยะลา ที่มีนกกรงหัวจุกร่วมแข่งในสนามนี้ถึง 6044 นก ในขณะที่มีนกที่ไม่ได้ลงสนามแข่งอีกประมาณ 3,000 นก และในปี 2554 ก็มีการทำลายสถิติในครั้งนั้น ด้วยจำนวนนกที่ลงสนามแข่งมากถึง ประมาณ 8 พันกว่านก นี่เป็นจำนวนนกเพียง 1 สนาม และวันนี้มีนกกรงหัวจุกเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้ข้อกังวลที่ว่านกกรงหัวจุกอาจจะสูญพันธุ์ไปนั้นจะไม่เกิดขึ้น” นายวิชัยกล่าว

ในส่วนของกลุ่มอนุรักษ์นก โดยเฉพาะนกกรงหัวจุกนั้นมีความเห็นที่แตกต่าง และมีข้อกังวล ในเรื่องความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของนกป่า การลอบจับนกป่ามาเลี้ยง และอีกหลายประเด็น โดยมองว่าขั้นตอนการพิจารณาจะปลดสัตว์ชนิดไหนออกจากบัญชีสัตว์คุ้มครอง ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งกว่าจะถึงขั้นตอนนี้ต้องมีการศึกษาประชากรในธรรมชาติ พิจารณาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความเสี่ยงสูญพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และยืนยันด้วยการกระทำว่าไม่มีการล่านกธรรมชาติ ไม่มีการซื้อขายนกในธรรมชาติ

วันนี้การปลดล็อคนกกรงหัวจุก แม้จะถูกมองว่า มีความคืบหน้า มีผู้เลี้ยงจำนวนมาก รวมถึงสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนในบางพื้นที่ แต่การปลดล๊อคนั้น ควรให้ความสำคัญกับความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ภายใต้ข้อมูลที่เป็นจริง ข้อมูลเชิงวิชาการ ที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาเป็นหลัก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image