สาวเครียดหนัก รถกระบะพังเพราะเติมดีเซลแต่มีน้ำปน ค่าซ่อม 1.2 แสน ปั๊มไล่ให้ไปฟ้องศาล

เจ้าของปั๊มส่อจ่อคุก หลังเติมน้ำมันปนน้ำให้ลูกค้าจนเครื่องน็อก

เมื่อวันที่ 30 เมษายน นางสมนึก สิทธิการณา พลังงานจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน สำนักงานพลังงานจังหวัดกาญจนบุรีได้รับเรื่องร้องเรียน พบน้ำปนในน้ำมันดีเซล B7 ทำให้รถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด ของ ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้ร้องแจ้งว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน นำรถไปเติมน้ำมันดีเซล B7 ที่สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงม่วงเฒ่าบริการ ต.สมเด็จเจริญ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี จำนวน 1,000 บาท หลังจากเติมพบความขัดข้องทำให้เครื่องยนต์น็อก และระบบแจ้ง Water in Fuel Drain Filter จึงถามหาความรับผิดชอบจากเจ้าของปั๊มในวันเดียวกัน

โดยเจ้าของปั๊มยินยอมชดใช้ค่าเสียหาย โดยให้ผู้ร้องนำรถไปประเมินความเสียหาย และในวันต่อมาผู้ร้องแจ้งค่าเสียหาย จำนวน 120,000 บาท แต่เจ้าของปั๊มกลับไม่ยินยอมตามที่ผู้ร้องแจ้ง และให้ผู้ร้องไปเรียกร้องค่าเสียหายในชั้นศาล ผู้ร้องจึงดำเนินการแจ้งความกับพนักงานตำรวจในท้องที่ และสำนักงานพลังงานจังหวัดกาญจนบุรี พร้อมกับร้องเรียนไปยังสื่อมวลชน เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม

Advertisement

ต่อมาวันที่ 26 เม.ย. สำนักงานพลังงานจังหวัดกาญจนบุรีส่งเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและจัดเก็บตัวอย่างน้ำมันเชื้อเพลิงส่งให้กองคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงวิเคราะห์คุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมาย จำนวน 1 ตัวอย่าง โดยสำนักงานพลังงานจะดำเนินการจัดส่งตัวอย่างให้ห้องแล็บศรีราชา ในวันที่ 29 เมษายน

พร้อมกันนี้ได้ทำการตรวจสอบน้ำในถังเก็บน้ำมันดีเซลของปั๊มเบื้องต้นด้วยน้ำยาตรวจสอบน้ำป้ายที่ปลายไม้วัดระดับน้ำมันของปั๊ม หากพบน้ำ น้ำยาที่ป้ายไว้จะเปลี่ยนสี แต่จากการตรวจสอบไม่พบการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ได้ประสาน ผอ.กองคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงทราบเบื้องต้นแล้ว

ต่อมาวันที่ 29 เม.ย. มีการรายงานข่าว พร้อมเผยแพร่คลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นว่ามีน้ำปนออกมาตามหัวจ่ายน้ำมัน จึงได้ส่งให้ ผอ.กองคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงพิจารณา เมื่อได้รับคำแนะนำจากกองนิติกรของกรมธุรกิจพลังงานว่าคลิปดังกล่าวสามารถใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีตามมาตรา 25 วรรคสอง ภายใต้ พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้แล้ว แต่ขอให้สำนักงานพลังงานจังหวัดกาญจนบุรีลงพื้นที่เพื่อให้ได้รับคำยืนยันจากปั๊มน้ำมันว่าเป็นคลิปที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุ และในวันนั้นพบน้ำปนออกมาจริง พร้อมให้ตรวจสอบให้ได้ว่าวันนั้นมีปริมาณคงเหลือเท่าใด เพื่อนำมาพิจารณาต่อว่ามีความผิดตามมาตรา 50 ด้วยหรือไม่

Advertisement

หากพบว่าเกิน 200 ลิตร จะต้องมีความผิดฐานปลอมปนน้ำมันด้วย ซึ่งจะมีโทษตามมาตรา 49 คือปรับ 3 แสนบาท หรือจำคุก 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะต้องส่งฟ้องดำเนินคดีในชั้นศาลต่อไป แต่หากว่ามีไม่เกิน 200 ลิตร พลังงานจังหวัดสามารถใช้อำนาจในการเปรียบเทียบปรับได้ โดยสำนักงานพลังงานจังหวัดกาญจนบุรีจะประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ลงไปร่วมตรวจสอบพร้อมกันอีกครั้งหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หญิงผู้เสียหายได้ระบุทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 22 เม.ย. ดังนี้

“ภัยเงียบใกล้ตัว เติมน้ำมันได้น้ำเปล่า ปั๊มปัดความรับผิดชอบ เขาบอกคดีแพ่งไม่ใช่คดีอาญา จะแจ้งความจะร้องไหนก็ไปร้อง มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ ตอนนี้เครียดมากกับค่าซ่อมรถ หนูควรทำยังไงดีคะพี่ๆ เรื่องมันยาวมากๆ เลยค่ะกับพฤติกรรมกลับไปกลับมาของเจ้าของปั๊ม หนูก็คนทำงาน มีพ่อแม่ต้องดูแล ทำไมเขาไม่เห็นใจหรือช่วยเหลืออะไรเราบ้าง ฟ้องร้องแจ้งความไปเรื่องก็นาน แล้วค่าใช้จ่ายส่วนต่างหนูจะหามาจากไหน ไหนจะค่าเช่ารถต่อวัน ไหนจะค่าผ่อนรถอีก มืดแปดด้านเลยค่ะ #ปั๊มแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี”

และยังว่า

“จากเหตุการณ์วันที่ 22 เมษายน 2567 จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับการตอบกลับจากทางเจ้าของปั๊มคู่กรณีเลย เรื่องผ่านมาจะครบ 1 อาทิตย์แล้ว ยังเงียบหาย ไม่มีทีท่าที่จะพยายามจะไกล่เกลี่ยเรื่องค่าเสียหายทั้งหมดที่รถของเราได้ไปเติมน้ำมันกับทางปั๊มคู่กรณี แล้วปั๊มได้เติมน้ำที่ไม่ใช่น้ำมันใส่รถเรา จนรถเราเกิดความเสียหายและไม่สามารถใช้งานได้ ราคาการประเมินรถค่าซ่อมความเสียหาย 122,525.70 บาท และไม่มีท่าทีว่าจะเซ็นยินยอมกับทางประกัน บอกว่าเราเรียกค่าเสียหายเกินความจริง

ซึ่งค่าเสียหายนี้เป็นการประเมินจากทางศูนย์จริงๆ หากยืดเยื้อไปทางศูนย์ฟอร์ดได้แจ้งมา รถของเราจะมีการเสียหายเพิ่มเติม จากการที่มีน้ำอยู่ในตัวเครื่องรถ เสื้อลูกสูบ วาล์ว แหวนและชิ้นส่วนภายในที่เป็นเหล็ก จะเกิดการเป็นสนิม หากไม่รีบดำเนินการ อยากให้เจ้าของปั๊มรีบออกมารับมาไกล่เกลี่ยรับผิดชอบในส่วนเซ็นยินยอม ค่าเสียหายในการซ่อม และเราต้องเสียค่าเช่ารถมาใช้ในการทำงานในแต่ละวัน อยากให้ทางปั๊มชดเชยในส่วนที่เราต้องเสียไปโดยที่ทางเราไม่ใช่คนผิด

เพราะค่าเช่ารถไปใช้งานเราต้องเช่าวันละพันกว่าบาท และทุกวันจนกว่ารถของเราจะมีการซ่อม ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยังไม่สามารถซ่อมได้ เพราะทางคู่กรณีไม่มาไกล่เกลี่ย บ่ายเบี่ยงที่จะคุยและที่จะเซ็นใบเคลมประกันอีกครั้ง รถเราก็ไม่สามารถเอาน้ำออกจากตัวรถได้ เพราะอยากเก็บไว้เป็นหลักฐานเช่นกัน หากยังไม่รีบมาเจรจาไกล่เกลี่ย ทางเราจะเอาเรื่องให้ถึงที่สุด จะเอากระเช้ามาให้ หรือจะชดใช้ในเวลานั้นเราจะไม่ยอมเด็ดขาด”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image