สภาอุตฯ เชียงใหม่ ค้านขึ้นค่าจ้าง 400 บ. บอกมากไป ทำต้นทุนพุ่ง 10% เอสเอ็มอีไปต่อไม่ได้ แนะทยอยปรับตามทักษะฝีมือ

สภาอุตฯ เชียงใหม่ ค้านขึ้นค่าจ้าง 400 บ. บอกมากไป ทำต้นทุนพุ่ง 10% เอสเอ็มอีไปต่อไม่ได้ แนะทยอยปรับตามทักษะฝีมือ วอนหามาตรการชดเชยเยียวยา ขอเจรจา ต่อรองไตรภาคี ก่อนประกาศเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม นายจักริน วังวิวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ เผยกระทรวงแรงงาน เลื่อนปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ทั่วประเทศ จากวันที่ 1 พ.ค. เป็น 1 ต.ค.67 ว่า ไม่เห็นด้วย เพราะไม่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่มีมูลค่าลงทุนไม่สูงมากนัก โดยปัจจุบันเชียงใหม่ มีค่าแรงขั้นต่ำ 352 บาท/วัน ถ้าปรับค่าแรง เป็นวันละ 400 บาท ส่งผลให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น 10% และต้องจ่ายค่าประกันสังคมสมทบมากขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต ทำให้ค่าครองชีพของพนักงาน หรือลูกจ้างสูงตามไปด้วย

ปัจจุบันผู้ประกอบการ ได้ปรับค่าจ้าง สำหรับแรงงานทักษะฝีมือ มากกว่า 400 บาท/วันอยู่แล้ว อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบสื่อสาร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่เพิ่มมูลค่าส่งออก ถ้าปรับ
ค่าจ้างแรงงานทั่วไป เป็นวันละ 400 บาท เชื่อว่าธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบมากที่สุด อาจถึงขั้นหยุดกิจการชั่วคราว หรือปิดกิจการ เนื่องจากแบกรับต้นทุนไม่ไหวเพราะขาดสภาพคล่อง

นายจักรินกล่าวว่า หากรัฐบาลต้องการปรับค่าจ้าง ควรทยอยปรับเป็นรอบๆ เช่น เชียงใหม่ ค่าจ้างวันละ
352 บาท ปรับเป็น 355-360 บาท พร้อมหามาตรการชดเชยหรือเยียวยาผู้ประกอบการ อาทิ ลดค่าสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ลดภาษีนิติบุคคล และจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องดังกล่าว เพื่อทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีขับเคลื่อนไปได้ ที่สำคัญรัฐต้องควบคุมค่าจ้างแรงงานในระบบ กับนอกระบบ หรือแรงงานต่างด้าว ที่ไม่มีทักษะฝีมืออย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่ได้ค่าจ้างเท่ากับแรงงานที่อยู่ในระบบ และเสียภาษีให้ประเทศด้วย

Advertisement

“รัฐบาลต้องควบคุมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนจีน ที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วน
อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบสื่อสารในประเทศ ที่มีราคาถูก เพราะต้นทุนต่ำกว่า แต่ไม่มีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือ มอก.รับรอง ทำให้ผู้บริโภคหรือลูกค้ารับความเสี่ยงใช้ผลิตภัณฑ์ไม่มีคุณภาพและมาตรฐานมากขึ้น ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ต้องส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้าน ทั้งคุณภาพมาตรฐาน และราคาที่จับต้องได้”

นายจักรินกล่าวว่า สุดท้าย การปรับค่าจ้าง ต้องดูความพร้อมเศรษฐกิจ และศักยภาพแข่งขันกับต่างชาติ
ในเวทีโลก ว่ามีความแข็งแกร่ง หรือยืดหยุ่นได้มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญต้องพูดคุยและเจรจาในไตรภาคี ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ก่อนประกาศเป็นทางการว่าค่าจ้างขั้นต่ำควรอยู่ในระดับใดที่เหมาะสม ไม่กระทบเศรษฐกิจในวงกว้างมากเกินไป เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไปข้างหน้าพร้อมกัน และเติบโตอย่างมั่นคงด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image