เขื่อนป่าสักฯรับน้ำได้อีกแค่ 170 ล้าน ลบ.ม. ต้องระบายวันละ 290 ลบ.ม./วินาที เตือน จว.ท้ายเขื่อนรับมือน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำ ณ อาคารควบคุมการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี โดยนายศักดิ์ศิริเปิดเผยว่า จากกรณีที่ ฝนตกติดต่อกันหลายวันในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน โดยเฉพาะพื้นที่รับน้ำตอนบนของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ตั้งแต่จังหวัดเพชรบูรณ์เรื่อยลงมาจนถึงจังหวัดลพบุรี ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และไหลเข้าสู่เขื่อนป่าสักฯเฉลี่ยมากถึง กว่า 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือกว่า 57 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จึงได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริการจัดการน้ำ ณ อาคารควบคุมการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่า ขณะนี้เขื่อนป่าสักฯเหลือพื้นที่รองรับน้ำได้อีกเพียง 170 ล้านลูกบาศก์เมตร หากไม่มีการระบายน้ำจะทำให้น้ำเต็มเขื่อนภายใน 4 วัน เขื่อนจึงจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำออกจากตัวเขื่อน ในอัตราวันละ 290 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำที่จะไหลลงเขื่อนได้อย่างเหมาะสม และอาจมีแผนการระบายเพิ่มขึ้นเนื่องจากยังคงมีปริมาณน้ำสะสมอยู่ตอนบนในปริมาณมาก

การระบายน้ำดังกล่าวจะไหลลงไปรวมกับปริมาณน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก โดยกรมชลประทานจะควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในอัตราไม่เกิน 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่จังหวัดลพบุรี สระบุรี ต่อเนื่องถึงเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนถึงจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น จากปัจจุบันประมาณ 80 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร 20 เซนติเมตร

ตอนนี้ได้มีหนังสือแจ้งเตือนไปยังจังหวัดในพื้นที่ท้ายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนให้แต่ละจังหวัด จัดเตรียมทรัพยากรเครื่องจักรกลสาธารณภัยของหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมที่มีหน้าที่ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและเสริมความมั่นคงของพนังกั้นน้ำ รวมทั้งเสริมความมั่นคง แนวป้องกันโดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ตลอดจนกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้หากพิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นต้องอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ ให้พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของพวกหน่วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image