เริ่มแล้ว! จนท.ขนเครื่องมือก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เร่งทำความเข้าใจชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ

หลังจากเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปทำพิธีปักหมุดการก่อสร้างทางรถไฟไทย – จีนหรือรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง กรุงเทพฯ – หนองคาย ในช่วงที่ 1 จากกรุงเทพฯ – นครราชสีมา รวม 6 สถานี ได้แก่สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และสถานีนครราชสีมา ระยะทาง 252.3 กม.เป็นทางยกระดับ 181.9 กม.ทางระดับพื้น 64.0 กม.เป็นอุโมงค์ 6.4 กม.

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 22 ธันวาคม พบว่าได้มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับบริษัทก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูง ของประเทศจีน เตรียมความพร้อม โดยได้ทยอยนำรถบรรทุก รถแม็กโฮ รถขุดเจาะ และอุปกรณ์เครื่องมือ มาจอดไว้ บริเวณตรงข้าม มอหลักหิน จำนวนมาก เพื่อจะเคลื่อนย้ายลงมือทำการก่อสร้าง แต่ยังไม่พบว่ามีการก่อสร้างแค๊มป์คนงานที่พัก บริเวณจุดใดในช่วงนี้ คาดว่าในช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มจะเข้าเทศการเฉลิมฉลองปีใหม่จึงยังไม่ลงมือทำการก่อสร้างใดๆ คาดว่าน่าจะมีการก่อสร้างช่วงหลังเทศการปีใหม่ 2561

การก่อสร้างมีเงินลงทุน 179,412 ล้านบาท ซึ่ง มอบหมายให้กรมทางหลวงเนรมิตให้รถไฟไทย-จีนเฟสแรก ถมคันดินสูง 4 เมตร กว้าง 12 เมตร หรือเท่ากับถนนขนาด 3 ช่องจราจร 3.5 กม. ก่อสร้างเฟสแรก จุดที่ 1.จากสถานีกลางดง-ปางอโศก ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ตลอดระยะทาง 3.5 กม. เป็นพื้นที่ของการรถไฟ ไม่ต้องเวนคืนที่ดิน เนื่องจากเป็นโครงการที่รัฐบาลต้องการเร่งให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว จึงปรับแผนใหม่โดยทำสัญญาว่าจ้างกรมทางหลวงเป็นผู้ก่อสร้างช่วงแรก 3.5 กม. จากสถานีกลางดง-ปางอโศก เป็นการยกระดับถมคันดินขึ้นให้สูง เพื่อให้โครงการได้เริ่มต้นในเชิงสัญลักษณ์ภายในปีนี้ ถ้าหากให้การรถไฟฯดำเนินการเปิดประมูล อาจจะต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 2-3 เดือน อาจจะไม่ทันที่ทั้ง 2 ประเทศตั้งเป้าหมายร่วมกันไว้ ภายในเดือน ต.ค. 2560 นี้ โดยไม่ต้องเปิดประมูล วงเงิน 425 ล้านบาท ค่าก่อสร้างเฉลี่ย 121.42 ล้านบาทต่อกิโลเมตร

Advertisement

นายสฤษดิ์ ศรีสังข์ กำนันตำบลกลางดง อ.ปากช่อง กล่าวว่า การอนุมัติและไฟเขียวของรัฐบาลให้ก่อสร้างรถไฟไทย – จีน หรือรถไฟความเร็วสูง เส้นทางพื้นที่ของการรถไฟ โดยเริ่มจากสถานีกลางดง -หมู่บ้านปางอโศก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นการสร้างความเจริญและความรวดเร็วในการเดินทางแก่ประชาชน แต่ที่ผ่านมาตนและผู้นำชุมชนรวมถึงราษฎร ในพื้นที่ยังไม่ทราบรายละเอียด รวมทั้งยังไม่มีหน่วยงานเช่น กรมทางหลวง การรถไฟ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการก่อสร้าง ลงพื้นที่มาทำประชาพิจารณ์กับประชาชนที่อาศัยอยู่ 2 ตำบล คือ ตำบลพญาเย็น – ตำบลกลางดง และมีประชาชนอาศัยตามหมู่บ้าน 2 ฟากฝั่งของทางรถไฟ ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 12 หมู่บ้าน กระทบต่อการสัญจรไปมา รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนข้ามไปมาหากันตามถนนตัดผ่านตามจุดต่าง ๆ แต่เมื่อมีการก่อสร้างรถไฟไทย – จีน ความเร็วสูง มีการยกระดับขึ้น และมีการล้อมลูกกรงเหล็กปิดกั้นเส้นทางสัญจร ประชาชนก็มีความกังวลมาก ผ่านพื้นที่ทำกิน และถนนเชื่อมต่อหมู่บ้านถูกปิดกั้นตัดขาดจากกัน ก็มีปัญหา ตนเองก็พยายามอธิบายให้ชาวบ้านได้เข้าใจแต่ชาวบ้านอยากให้หน่วยงาน หรือหน่วยงานของรัฐ ลงพบปะชาวบ้านและแจ้งรายละเอียดการก่อสร้างเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ถึงแม้พื้นที่ก่อสร้างจะเป็นพื้นที่ของการรถไฟก็ตาม แต่ทางข้ามถูกตัดขาดจากกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image