ปรากฏการณ์ ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ เมื่อรัฐสร้างบาดแผล ทำคนรุ่นใหม่ ไม่อยากทน

ปรากฏการณ์ ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ เมื่อรัฐสร้างบาดแผล คนครึ่งล้าน ทนไม่ไหวก็ต้องไป

จำนวนยอดของผู้เข้าใช้กรุ๊ป “ย้ายประเทศกันเถอะ” ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา จนสมาชิกในกรุ๊ปเฟซบุ๊ก มีมากถึง 4.91 แสนคน (ตัวเลขล่าสุดเวลา 9 โมงของวันที่ 3 พ.ค.) คงเป็นสิ่งที่บอกได้ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องที่จะมองข้ามได้ง่ายๆ

ความเห็นหนึ่ง ในกรุ๊ปเฟซบุ๊กดังกล่าว ระบุว่า “โควิดระลอกแรก ตั้งกรุ๊ปขายของ โควิดระลอก 3 ตั้งกรุ๊ปย้ายประเทศ”

สะท้อนถึงความสิ้นหวัง ที่คนเรือนแสนมีต่อประเทศนี้

ต้นเหตุเพราะ “อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดี”

“อย่ากลัวที่จะเป็นพลเมืองชั้น 2 ของประเทศอื่น เพราะในประเทศไทย หากเป็นคนจนก็เป็นพลเมืองชั้น 2 เหมือนกัน”

Advertisement

ความคิดเห็นหนึ่ง ของ 1 ในสมาชิกเฟซบุ๊กกรุ๊ป “ย้ายประเทศกันเถอะ” สะท้อนความคิดเห็นถึงที่มาที่ไปของการตั้งกรุ๊ป เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้ผู้สนใจได้อย่างดี เมื่อวันหนึ่ง คำพูดที่ผู้ใหญ่หลายคนในสังคม ที่มักยกมาขู่คนรุ่นใหม่ว่า “ถ้าไม่พอใจ ก็ย้ายออกจากประเทศไป” ยิ่งกับความคิดความเห็นของผู้ใหญ่ชาวไทยในต่างแดน ที่มักพูดว่า “ประเทศไทยดีที่สุดแล้ว” แต่คนพูดก็ไม่ได้กลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทย กระทั่งวันนี้ เยาวชนของชาติ “เอาจริง”

“อยากไปอยู่เมืองนอก” ดูจะไม่ใช่ความคิดที่ใหม่สำหรับคนไทยหลายคน แต่ที่ทวีขึ้นมาตอนนี้ คงไม่พ้นปัญหาการบริหารจัดการของภาครัฐในการแก้ปัญหาโควิด 19 โดยเฉพาะกับการนำเข้าวัคซีน ที่ช้า ไม่ป้องกันปัญหาที่ต้นเหตุ หรือ การนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาที่ช้า กระทั่งทำให้หลายครอบครัว ต้องสูญเสียชีวิตของคนที่รัก และยิ่งกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ในสังคม ยังไม่รวมสภาพเศรษฐกิจที่ชะงักงันลงเรื่อยๆ จากการออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ที่ทำให้กิจการต่างๆ ต้องปิดตัวลง

ไม่นับรวมภาพความอึดอัดทางการเมือง อย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ดูเหมือนจะถึงทางตัน กับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่วางแผนไว้อย่างไม่เท่าทันโลก โดยเฉพาะกับการออกมาเรียกร้องสิทธิ และเสรีภาพต่างๆ แต่กลับถูกรัฐใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม ทำให้เขารู้สึกว่า เสียงของเขาอย่างไรก็ไม่มีคนได้ยิน

ในภาพเล็กๆ คนรุ่นใหม่ ทั้งวัยมัธยมและคนทำงาน ยังผิดหวังกับสภาพสังคมอันมีที่มาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เมื่อค่าครองชีพสูงขึ้นสวนทางกับค่าแรงขั้นต่ำ ความเดือดร้อนของแรงงานและเกษตรกร ระบบการศึกษาที่มีปัญหา ไม่เว้นแม้แต่ ฝนตก น้ำท่วม ถนนพังไร้การซ่อมแซม การจราจรที่ติดขัด อันเนื่องมาจากระบบการขนส่งที่ไม่ดี และเรื่องความปลอดภัยในชีวิต รวมอยู่ในความคิดของคนรุ่นใหม่ที่มองว่า หากทุกคนเสียภาษี ทำไมปัญหาของประชาชนทุกคนไม่ได้รับการแก้ไข

ยิ่งเมื่ออินเตอร์เนต ทำให้เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ความเป็นไปของชาวโลก ก็ยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่ ไม่ใช่แค่มีข้อมูลเปรียบเทียบ แต่แสวงหาทางออกให้กับตัวเอง ในวันที่มองไปทางไหนก็ “ไร้อนาคต” ไม่แปลกที่เด็ก อยากจะเห็นคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้

ส่งต่อข้อมูลจริงจัง เมื่อย้ายประเทศ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น

บนโลกโลกาภิวัตน์ ที่ข้อมูลข่าวสารทั้งหมดเชื่อมถึงกัน การไปอยู่ประเทศอื่นๆ ก็ไม่ใช่แค่ความฝัน ที่ต้องรอให้รวย ต้องเรียนเก่งขนาดได้ทุนการศึกษา หรือ ต้องแต่งงานกับชาวต่างชาติ อีกต่อไปแล้ว

ในช่วงแรกของโลกออนไลน์ไม่กี่วันนี้ อาจจะเริ่มต้นเพียงแค่การจัดทริปไปต่างประเทศ เพื่อได้ฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศอื่นๆ มีนโยบายดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยการจัดให้ฉีดวัคซีนฟรี การสอบถามข้อมูลต่างๆ ขยับเข้าไปสู่ข้อมูลพื้นฐานของประเทศต่างๆ ที่คนไทยในต่างแดน หยิบยกมาแชร์

ไล่เรียงมาตั้งแต่ สภาพสังคม ข้อดีข้อเสียของแต่ละประเทศ ปักธงกันเป็นทีมประเทศต่างๆ ที่ให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจของคนได้อย่างดี อาทิ ประเทศสิงคโปร์ ที่ข้อดีคือ คนส่วนใหญ่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ มีระบบการขนส่งที่ดี ปลอดภัย รายได้ดี แต่ขณะเดียวกัน ก็มีค่าครองชีพที่สูง (แต่รายได้สูง) มีที่เที่ยวน้อย หรือจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์ ที่แม้ค่าครองชีพจะสูง แต่ก็มีความปลอดภัย

เมื่อเลือกประเทศได้แล้ว สิ่งที่คนต่างสนใจ ก็คือขั้นตอนและวิธีการในการย้ายประเทศอย่างถูกกฎหมาย อย่างการสมัครไปทำงานในประเทศต่างๆ อาทิ งานวิศวกรรม ที่สายโรงงานในหลายประเทศยังขาดแคลน หรือการไปเรียนต่อ พร้อมแหล่งที่ฝึกภาษาเพื่อจะย้ายไปใช้ชีวิตต่างแดน พร้อมให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์จากผู้อาศัยอยู่ในประเทศนั้นๆ

นับรวมการย้ายประเทศแบบใช้ดวง อย่างการสุ่ม ล็อตโต้ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดให้ได้ลองใช้ดวงรับกรีนการ์ดกันทุกปี

จำนวนสมาชิกที่เพิ่มมากขึ้น ยังทำให้หลายคนมองว่า หากสมาชิก ลงทุนกันหลักร้อย ก็สามารถซื้อเกาะ บริหารประเทศพิสูจน์ให้ผู้ใหญ่หลายคนดูได้แล้ว

ไม่ใช่แค่กระแสกระเพื่อมในกรุ๊ปเฟซบุ๊ก แต่กับในทวิตเตอร์ #ย้ายประเทศกันเถอะ ไต่ระดับ ก่อนจะพุ่งเป็นอันดับ 1 เทรนด์ประเทศไทยในช่วงข้ามคืน นำเอาเนื้อหาข้อมูลในเฟซบุ๊ก มาถ่ายทอดสู่สาธารณะ
นอกจากนี้ ยังได้เห็นเฟซบุ๊กกลุ่มอาชีพต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาเช่นกัน ที่แพร่ให้เห็นมากที่สุด ก็คงไม่พ้น “หมอก็อยากย้ายประเทศ”

น่าเป็นห่วงที่ความคิดของพวกเขา ไม่ใช่แค่อยากจะไปหาประสบการณ์ เพื่อกลับมาพัฒนาประเทศ แต่ต้องการที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศตลอดไป

และแม้ว่าคนเหล่านั้น จะไม่สามารถย้ายประเทศได้จริง แต่ก็มีคนที่มีแนวคิดเดียวกัน ครึ่งล้านคน เลยทีเดียว

หวั่นภาวะสมองไหล

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะยังมองว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเพ้อฝันของคนรุ่นใหม่ แต่ปัญหาเรื่องสมองไหล ดูจะเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ เพราะเรื่องดังกล่าว ได้สร้างปัญหาให้กับหลายประเทศมาแล้ว

ยิ่งกับช่วงเวลาที่สังคมไทย เป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ จากข้อมูลประชากรของไทย ไทยมีประชากรผู้สูงอายุมากถึง 9.6 ล้านคน ในปี 2556 หรือเป็น 15% ของประชากร ตามที่สหประชาชาติได้กำหนดไว้

อนาคตของชาติยิ่งเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้

จากข้อมูลของ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ เฉพาะเดือนมีนาคม 2564 มีประชาชนชาวไทย เดินทางไปทำงานในอาชีพ พนักงานบริการ ประมง เกษตร ผู้บัญญัติกฎหมาย ช่างเทคนิคต่างๆ อยู่ที่ 2,526 คน ขณะที่รายได้ที่คนงานไทยในต่างประเทศส่งกลับโดยผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย เดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ 10,576 ล้านบาท หรือทั้งปีแล้ว รวมที่ 37,279 ล้านบาท แม้เป็นตัวเลขเพียง ถือเป็นตัวเลขที่สำคัญ

1 ในประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีปัญหาสมองไหล อยางเห็นได้ชัดคงไม่พ้น ฟิลิปปินส์ สืบเนื่องจากปัญหาการว่างงานในประเทศ ที่ทำให้รัฐสนับสนุนการเดินทางออกไปทำงานต่างแดน จนมีตัวเลขของผู้ที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ มากกว่า 9% โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอาชีพ พยาบาล ที่เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตพยาบาลของโลก เนื่องจากค่าแรงที่แตกต่างกันอย่างมาก โดย พยาบาลในฟิลิปปินส์ จะได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 4,800 – 8,000 บาท เท่านั้น

ภาวะสมองไหลของเหล่าบุคลากรทางการแพทย์ฟิลิปปินส์ ที่เดินทางไปต่างประเทศถึงปีละ 22,000 คน ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ทำให้ฟิลิปปินส์เกิดปัญหาการจัดการกับผู้ป่วยโควิด 19 ในประเทศ กระทั่งต้องมีแคมเปญเรียกร้องให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอยู่ต่างแดนเดินทางกลับ
นี่อาจเป็นตัวอย่างว่า เรื่องดังกล่าว มองข้ามไม่ได้

น่าห่วง เมื่อรัฐเร่งเร้าปรากฏการณ์

จำนวนของสมาชิกกว่า 5 แสนคน ทำให้เป็นปรากฏการณ์ที่มองข้ามไม่ได้ ดังความเห็นของ สมชัย ศรีสุทธิยากร ที่มองปรากฏการณ์นี้ว่า การถามตอบ แลกเปลี่ยนของสมาชิกในกลุ่ม จริงจัง ไม่ได้ถามเอาเล่น ผู้ตอบก็จริงจัง

“คนเหล่านี้ไม่ได้ไม่รักชาติ แต่ผู้ปกครองประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รู้สึกว่าประเทศไม่น่าอยู่และต้องการหาที่ไป จริงอยู่ ทั้ง 4 แสนกว่าราย ไม่มีโอกาสย้ายตามความฝัน แต่คิดง่ายๆว่า หากไปได้สัก 10% ก็ 40,000 หรือแค่ 1% ก็ 4,000 คนแล้ว”

“น่าเป็นห่วงประเทศ” สมชัย ว่าไว้

เช่นเดียวกับความคิดเห็นของ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่เคยให้สัมภาษณ์มติชนออนไลน์ไว้ว่า โลกของโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ ไม่เพียงผู้เล่นเยอะขึ้น เนื้อหา วิธีการ ก็เปลี่ยนแปลง เนื้อหาเข้มข้นในแง่สาระ การถกเถียง

“พูดง่ายๆ คือเขาอาจจะรู้สึกว่า ก่อนหน้านี้เขาโดนดูถูกมาก่อน ว่าเจเนอเรชั่นนี้เป็นเกรียนคีย์บอร์ด เก่งแต่โลกทวิตเตอร์ ไม่มีน้ำยาพอจะไปเคลื่อนไหว สุดท้ายเขาลงถนนจริง และผ่านไป 4 เดือน เด็กรุ่นนี้เติบโตทางการเมืองเร็วขึ้นมาก ด้วยการที่รัฐไปทำให้เขาเป็นผู้ใหญ่ เร็วกว่าวัยอันควร คุณไปทำให้เขาต้องเผชิญกับประสบการณ์ การถูกฉีดน้ำ ยิงแก๊สน้ำตา ใช้ความรุนแรง มันเหมือน 4 เดือน เขาได้ประสบการณ์ ทางการเมืองไปเยอะมาก บางคนบอกว่า รวมถึงได้ความรู้ทางการเมือง ทางประวัติศาสตร์ มากกว่าที่เรียนรู้มาทั้งชีวิต”

“คุณไปทำให้คนรุ่นนี้ เขากลายเป็นคนที่เติบโตทางการเมืองอย่างก้าวกระโดด โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม รัฐเองทำ เด็กรุ่นนี้เลยเป็นเด็กกร้านโลกไปแล้ว เพิ่งอายุ 20-21 มันได้รับประสบการณ์ตรงแล้ว ว่าราคาของการออกมาต่อสู้ทางการเมืองคืออะไร”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image