ศีลธรรม Vs สื่อโป๊ แรงปะทะทางความคิด ลิเบอรัล-อนุรักษ์นิยม

ความท้าทายต่ออำนาจผ่าน ‘สื่อโป๊’ แรงปะทะทางความคิด ลิเบอรัล-อนุรักษ์นิยม

ผ่านมา 1 เดือนแล้ว หลังจากประเด็นดังที่หลายคนจับตามอง และกลายเป็นที่ถกเถียงของสังคม เมื่อ ตำรวจ ได้บุกเข้าจับกุม ‘น้องไข่เน่า’ พร้อมแฟนหนุ่ม ผู้ผลิตคอนเทนต์ลงแอพพลิเคชั่น OnlyFans เงินล้าน ฐานร่วมกันทำ ผลิต มีไว้หรือนำเข้า หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือทำให้แพร่หลาย โดยประการใดๆ อันลามก เพื่อความประสงค์แห่งการค้า เพื่อแจกจ่าย หรือเพื่อการแสดงแก่ประชาชน มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยการจำกุมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า เพื่อ “จรรโลงความถูกต้องในศีลธรรมอันดีของประเทศไทย” และเป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู”

น้องไข่เน่า หรือ ตะวัน ได้ออกมาขอโทษสังคม กระทั่งทุกวันนี้ได้ผันตัวเข้าสู่วงการบันเทิง แสดงในมิวสิควิดีโอครั้งแรกของเธอ

และย้อนไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ตำรวจภูธรภาค 5 ก็ได้จับกุมผู้ถ่ายคลิปใต้ต้นยางนา ริมถนนสายเชียงใหม่-ลำพูนสายเก่า เผยแพร่ลงใน OnlyFans

Advertisement

พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ยังได้ใช้กรณีนี้ ทำหนังสือไปถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ( ดีอีเอส) ให้ปิด 4 เว็บไซต์ คือ โอนลี่แฟน, เอ็กซ์วิดีโอ, พอร์นมันเดย์ และเฟรนลี่ซ์ อีกด้วย

ข้ามไปอีกฟากหนึ่งของโลก คณะกรรมการการท่องเที่ยวของออสเตรีย เพิ่งมีมติเปิดแอคเคาท์ใน Onlyfans เพื่อนำเสนอผลงานศิลปะที่มีภาพเปลือย หลังจากบัญชีในโซเชียลมีเดียของพวกเขา ได้ถูกระงับ หลังแสดงผลงานของศิลปินที่มีหน้าอกบางส่วน

การกระทำดังกล่าว เป็นการต่อสู้กับการเซนเซอร์ของโซเชียลมีเดีย ซึ่งคณะกรรมการการท่องเที่ยวของเวียนนา มองว่า ศิลปินที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกบางคนได้ก้าวข้ามขีดของสิ่งที่เป็นที่ยอมรับในงานศิลป์และสังคมในช่วงเวลานั้น จึงไม่แปลกใจที่ผลงานของเขา ละเมิดการเซนเซอร์มากว่า 100 ปีแล้ว

Advertisement

แต่แม้ข่าวของ ไข่เน่า หรือ เหตุต้นยางนา จะเป็นข่าวที่โด่งดัง และก่อนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงหนึ่ง แต่แรงกระเพื่อมก็ไม่ถูกส่งให้เกิดเป็นความเปลี่ยนแปลง หรือ ถกเถียงกันไปมากกว่าเส้นของศีลธรรม ทั้งที่หากมองอีกมุมหนึ่ง อาจเป็นช่วงเวลาที่ได้ยกแผงกฎหมายใหม่ ดูแลคุณภาพชีวิตของ sex worker ก็เป็นได้ แต่อย่างน้อยสังคมก็ได้เปิดช่องให้เรื่องดังกล่าว ถูกนำมาพูดถึงในอีกแง่วิชาการมากขึ้น

 

‘หนังโป๊’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ สังคมไทย

ดร.ปิยะพงษ์ อิงไธสง อาจารย์คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ศึกษา วิจัย ในเรื่องของ “สื่อโป๊” ได้เปิดอีกมุมมองของสื่อโป๊ที่ไม่ไร้สาระ ที่อาจต่างจากภาพจำของคนไทย โดยว่า ถ้าตามประวัติศาสตร์แล้ว เมื่อใดที่มีสื่อ สื่อเหล่านี้ก็มาพร้อมกัน เริ่มจากการเป็นสิ่งพิมพ์ ที่มีนิตยสาร หนังสือเล่ม มีภาพและเนื้อหา บางเล่มบอกเล่าประสบการณ์โดยผ่านการคุยกับ บก. มีสอบถามสภาวะทางเพศของตัวเอง ก่อนจะพัฒนาไปเป็นภาพและเสียง และดิจิตัลในปัจจุบัน

“สิ่งนี้ไม่ใช่เพิ่งเริ่มมี เพราะมันสะท้อนความต้องการของมนุษย์ขั้นพื้นฐานโดยปกติอยู่แล้ว เหมือนอากาศ ที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ตัว content ไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม ยังวนเวียนกับความต้องการของมนุษย์ ที่เปลี่ยนไปคือตัวสื่อ”

แต่การมีอยู่จริงนี้ กลับถูกพยายามเก็บซ่อน ห้ามพูดในที่สาธารณะ ที่ ดร.ปิยะพงษ์ บอกว่า เนื่องจากสังคมไทยมีการขีดเส้นอย่างชัดเจน พอมีคำว่า “ศีลธรรม” อะไรที่ผิดจากศีล 5 ก็ผิดบรรทัดฐานของสังคม เรื่องที่ขัดกับศีลธรรม จึงถูกกดทับไป ทั้งที่ทุกคนเคยผ่านการใช้สื่อโป๊มาหมด เพียงแต่มากหรือน้อยเท่านั้นเอง

ซึ่งหากได้เปิดดูการเผยแพร่สถิติการเข้าชมของเว็บไซต์ pornhub ในปี 2019 แล้ว ก็พบว่าไทยติด Top 10 ของผู้เสพสื่อของเว็บไซต์ โดยรับชมเฉลี่ย 11.52 นาทีในแต่ละครั้ง มากกว่าเวลาเฉลี่ยในการชมของทั่วโลกที่อยู่ราว 10.13 น.

ศีลธรรมปิดกั้น ทำ ‘สื่อโป๊’ ถูกลืม

ดร.ปิยะพงษ์ เผยว่า ตามทฤษฎีสื่อแล้ว สื่อโป๊ ก็มีหน้าที่ของมัน แต่ถูกบรรทัดฐานของสังคมมาให้ความหมาย กรอบไว้ ทำให้สื่อโป๊ กลายเป็นสื่อที่ถูกลืม และให้ความหมายว่า ไม่ได้ มันผิดมากๆ ไม่ควรมีอยู่ คนก็เลยมองว่ามันเป็นสื่อไม่มีหน้าที่ ทั้งๆที่ มันชัดเจนมาก คือตอบสนองความต้องการทางเพศ

และว่า พูดตามทฤษฎี สื่อนี้ถูกใช้ประโยชน์จาก user reciever ว่า สื่อโป๊ เป็นสื่อที่เป็นครู เราอยากรู้เรื่องสุขภาพทางเพศ ภาวะทางเพศ ที่โรงเรียนบอกไม่หมด และเขาอยากรู้ด้วยตัวเอง วัยรุ่นฮอร์โมนมันเยอะ เขาก็ต้องเอาออก พูดให้ชัดคือ สื่อโป๊มีประโยชน์คือ 1.เป็นบทเรียนให้กับหลายวัย 2.ก่อสร้างสุขภาวะทางเพศ ให้รู้ว่าเราทำให้คู่ของเรามีความพึงพอใจได้อย่างไร มันตอบโจทย์ชีวิตคู่ และ 3.สำคัญมาก และอาจไม่ค่อยมีคนมองเห็น คือ มันนำคนดู หลีกหนีจากชีวิตความเป็นจริงได้ เป็นการลดแรงกดดันจากสังคม

 

ถอดรหัสอุตสาหกรรมสื่อจากญี่ปุ่น

ก่อนจะนำประโยชน์ข้างต้น มาอธิบายพร้อมยกตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีอิทธิพลต่อผู้เสพสื่อชาวไทย โดยว่า ญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับสื่อโป๊ มันสร้างรายได้ให้กับประเทศ อุตสาหกรรมหนังโป๊ญี่ปุ่น เพิ่ม GDP ให้ญี่ปุ่นได้ 10% เป็นซอฟท์พาวเวอร์ที่เขาส่งออก คนดูแล้วอาจจะคิดว่า อยากมีแฟนแบบนี้ มีกิจกรรมแบบนี้ นำไปประกอบการสร้างความพึงพอใจทางเพศ Soft Power นี้ก็เหมือนกับซีรีส์เกาหลี คนดูก็อยากไปเที่ยว ไปกินอาหารเกาหลี เขาปรับวิธีคิดว่ามันจะนำพาอะไรแบบนี้ได้ และสร้างมูลค่าให้ประเทศ

นอกเหนือจากนั้น ดร.ปิยะพงษ์ กล่าวว่า สื่อโป๊ นำคนดูหลีกหนีจากความเป็นจริง เหมือนเวลาเล่นเกม ดูหนัง ได้ทำในสิ่งที่ชีวิตจริงทำไม่ได้ สังคมญี่ปุ่นนั้นเข้มงวดมาก เก็บกด คนไม่มีทางออก ทางออกก็คือการใช้สื่อพวกนี้ อนิเมะ เกม เอวี ที่เราเห็นได้เล่นว่า มันเต็มไปด้วยการต่อต้านสังคม ขบถ อย่างการมี sex ในที่สาธารณะ  รถไฟ รถเมล์ เพราะคนญี่ปุ่นมีขีดเส้นแบ่งชัดระหว่างที่สาธารณะและส่วนตัว อยู่ในบ้านคุณทำอะไรก็ได้ แต่เมื่อออกนอกบ้าน คุณต้องเป็นแบบที่สังคมคาดหวัง เขาเลยให้หนังโป๊ ลดแรงกดดันจากภาวะสังคม เราจึงได้เห็นการแหกขนบ อย่าง เซ็กซ์หมู่ กับอาชีพที่สงวนอย่างครู นักเรียน คนแก่ ที่ในความจริง เขาทำไม่ได้และโทษแรงมาก

“สังคมญี่ปุ่น เป็นสังคมชายเป็นใหญ่ เราได้เห็นฉากที่แสดงออกว่า ยังเป็นใหญ่ เช่นการสำเร็จความใคร่บนตัวผู้หญิง เพื่อแสดงเครื่องหมายว่าเป็นของฉัน แต่ขณะเดียวกัน มันก็มีฉากที่ผู้หญิงแสดงอำนาจเหนือ เช่นการล้อเลียน ให้ชายเสียหน้า มีการปูเรื่องราว เห็นได้ว่ามันมีการต่อต้านชายเป็นใหญ่ในสื่อนี้ นี่คือการลดแรงกดดัน ของระเบียบสังคมญี่ปุ่น”

ซึ่ง ดร.ปิยะพงษ์ ก็ได้ยกตัวอย่างกรณีต้นยางนาว่า จริงๆ แล้ว ก็เปรียบเหมือนการส่งตัวแทน ไปทำอะไรที่เราเองก็ไม่กล้า ลงใน OnlyFans ซึ่ง เป็นการตอบสนองความต้องการ แต่สังคมไทยถูกศีลธรรมกำหนดชัดเจน ขยับนิดนึงก็ถึงทางตัน

ประโยชน์ที่ซ่อนไว้ ลดอาชญากรรมทางเพศ

ในบทความเรื่อง หนังโป๊ : สื่อไร้สาระที่มีสาระ ของ ปิยะพงษ์ อิงไธสง ได้กล่าวถึงพัฒนาการของการศึกษาหนังโป๊ โดยในช่วง 1990 ได้มีชุดคำอธิบายว่า หนังโป๊ เป็นผู้ร้ายของสังคม และมีนักเคลื่อนไหว ออกมาต่อต้านหนังโป๊ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความรุนแรงในสตรี

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน องค์ความรู้ก็เปลี่ยนไป

ดร.ปิยะพงษ์ กล่าวว่า ในการศึกษาของตะวันตก มองว่าสื่อโป๊ ช่วยลดอัตราการข่มขืนได้ เทียบเคียงกับผู้ชายและหญิงขายบริการ ที่ทำให้คนมีที่ลง เพราะที่จริงแล้ว เขาเกิดความต้องการทางเพศมาก่อน แล้วจึงไปเปิดดู จึงได้ถูกบำบัดแล้วหายไป แต่ไทยเมื่อใดมีอาชญากรรมทางเพศเกิดขึ้น ก็มักไปไฮไลท์ว่า ดูหนังโป๊มากไป จริงๆแล้วจิตใจเขาหมกมุ่นอยู่แล้วหรือเปล่า และโยนให้สื่อกลายเป็นแพะรับบาป

ข้อมูลใน บทความยังระบุด้วยว่า ศาสตราจารย์ด้านอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน พบว่า การทำให้หนังโป๊ถูกกฎหมายช่วงปี 1970 ของเดนมาร์ก เยอรมนี และสวีเดน ส่งผลให้อาชญากรรมทางเพศลดลง ทั้งการข่มขืน กระทำชำเรา และล่วงละเมิดทางเพศ

 

Sex creator รู้ว่าอยากแต่ก็ห้ามดู

“กฎหมายไทย บอกว่าคนดูไม่ผิด มีครอบครองได้ แต่ห้ามผลิตเนื้อหาที่เป็นสื่อโป๊ ฉะนั้น จึงบอกว่า ยอมรับว่าความอยากมีจริง แต่ยอมรับไม่ได้ว่ามีสื่อพวกนี้ในสังคม ก็คือห้ามดู ซึ่งปัจจุบัน เราอยู่ในยุคดิจิตัล อะไรที่เคยอยู่ใต้ดิน ทำได้ยาก ก็หลุดออกมาหมด”

“ภาพและเสียงในยุคปัจจุบัน ไม่ต้องมีทีมผลิตที่มีหน้าที่ชัดแล้ว แค่มีกล้องอย่างไข่เน่า ไม่ต้องตัดต่อแล้ว คนสมัครเล่นเป็นมืออาชีพได้ แต่ญี่ปุ่นเอง มือสมัครเล่นมี แต่ไม่แพร่หลาย เพราะเขามีลักษณะเป็นอาชีพอยู่ มีช่องทาง มีค่าย ที่ดูแล”

ทั้งยังกล่าวว่า ในไทย เรื่องเหล่านี้คือเรื่องใต้ดิน ผลิตได้หรือไม่อยู่ที่เป็นคนของใคร จากการศึกษาที่ผ่านมา กลายเป็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของผลประโยชน์ ของเค้กก้อนนี้ เหมือนหวย เหมือนพนัน พอโดนจับก็ทำให้เห็นว่ามีการจับ ชาวบ้านก็อาจจะมองว่า เพราะเขาไม่ได้จ่ายส่วย

“กรณีไข่เน่า ตอนโดนจับ ตำรวจก็บอกว่า ผิดศีลธรรม เราเชือดไก่ให้ลิงดู ความหมายอีกอย่างก็คือ การเป็น sex creator หากบารมีไม่พอ ไม่มีคนคุ้มครอง ก็อย่าทำ คนโดนจับเป็นรายย่อย เป็นมือสมัครเล่นที่เริ่มมีชื่อ พอประกาศตัวก็ถูกจับ หากอยู่เงียบๆ ไม่งัดข้อกับคนมีอำนาจ ก็ไม่ถูกเพ่งเล็ง” ดร.ปิยะพงษ์ กล่าว

กฎหมายไทย บีบให้ต้องอยู่ใต้ดิน

ดร.ปิยะพงษ์ กล่าวว่า ความพิเศษของสื่อโป๊ คือการนำเสนอเรื่องส่วนตัว บนพื้นที่สาธารณะ เราห้ามพูดเรื่องเพศ เพราะมันมีเรื่องอำนาจอยู่ จะพูดได้ต้องเป็นรัฐ เป็นทางการ หรือ ต้องเป็นครู เป็นหมอ เพราะมีอำนาจในด้านความรู้ เรามีรายการที่ให้ความรู้เรื่องนี้โดยหมอ ซึ่งถ้าทำให้อุตสาหกรรมนี้เป็นเรื่องถูก มาอยู่บนดิน รายได้ตรงนี้จะเป็นเงินภาษี ไม่ใช่ส่วย

“กฎหมายไทย มีส่วนมากๆที่เป็นแรงอัดทำให้คนไทยผลิตสื่อพวกนี้เยอะ เพื่อหารู หาทางออก เหมือนกับอากาศ เพราะเราไม่มีทางออกให้ แต่กับญี่ปุ่น เขามีทางออก แน่นอน แบบผิดกฎหมายก็มี เพราะเขามีกฎหมายว่าต้องเซ็นเซอร์ เนื่องจากมองว่าการให้เห็นทั้งหมดคืออนาจาร จะไปเพิ่มความกำหนัดและอาชญากรรมทางเพศ  กฎหมายญี่ปุ่นแรงมาก เพราะเขามองว่าเขาหาทางออกให้กับอุตสาหกรรมนี้แล้ว หากทำผิด จะโดนแรง”

นอกจากนี้ การนำขึ้นมาอยู่บนดิน ยังช่วยป้องกันการค้ามนุษย์ รวมถึงสวัสดิภาพของผู้ประกอบอาชีพนี้ ที่ต้องได้รับการดูแลเช่นอาชีพอื่น เนื่องจากเคยมีนักแสดงที่เสียชีวิตขณะถ่ายทำ

 

วัยรุ่นไทย ถูกปิดกั้นจนน่าสงสาร

จากวาทกรรมที่เยาวชนผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมือง กล่าว่า “ถ้าการเมืองดี….” หากนำมาปรับคิดกับเรื่องนี้ ก็อาจจะปรับวิธีคิด อย่าไปคิดแค่มันเป็นอาชญากรรมทางเพศ หลายประเทศที่อนุรักษ์นิยมมาก เช่นญี่ปุ่น ก็มีช่องตรงกลางเพื่อลดแรงเสียดทาน เกิดเป็นวัยรุ่นไทย น่าสงสาร ทุกอย่างถูกปิดกั้น ถามว่าคนมีอำนาจ ในวัยเด็กเขามีทางออกอย่างไร ต้องยอมรับว่ายุคนี้ ต่อให้ปิดอย่างไร มันก็ไม่หมด ขนาดคนจีนยังใช้ VPN ออกมาได้เลย

“สื่อต่างๆอย่าง Onlyfans ต้องอายุถึง มีบัตรเครดิต ถึงเข้าใจงานได้ หรืออย่าง Pornhub ก็มีการตรวจจับว่า ถูกแอบถ่ายไหม เต็มใจหรือเปล่า ซึ่งเราฟ้องได้”

“ไข่เน่า ได้พูดแทนคนรุ่นใหม่ ที่ว่านี่คือความต้องการของคน มันเปิดเผยได้ หากกลัวเลียนแบบ งานนี้ไม่ใช่ว่าแค่กล้าก็ทำได้ แต่ต้องมีต้นทุนทางร่างกายเหมือนดารา มีทักษะ เพราะมันคือการแสดง มันไม่ใช่เรียลลิตี้ แต่คือการประกอบสร้าง มีมุมกล้อง เขาต้องมีทักษะต่างๆ ซึ่งในแวดวงวิชาการ เขาศึกษาทั้งการจัดไฟ สัญญะต่างๆ เหมือนหนังทั่วไปได้”

 

สู่โลกตรงกลาง ที่อยากเห็น

เมื่อถามถึง จุดตรงกลาง ที่จะทำให้สองฟากฝั่งของความคิด มาเจอกันเพื่อแก้ไขเรื่องดังกล่าวได้นั้น ดร.ปิยะพงษ์ มองว่า จุดตรงกลางที่ชัดที่สุด ต้องเริ่มจากการแก้กฎหมาย วางศีลธรรมแล้วดูบริบทของสังคมว่าเป็นอย่างไรบ้างแล้ว คนอาจบอกว่าเราเมืองพุทธ 100% แต่เราตีความเคร่งเกินไป คาทอลิกยังมีได้เลย เราต้องเริ่มปลดบรรทัดฐานให้ไม่ตึงมากและจะเห็นทิศทางว่าสื่อโป๊ จะมีทิศทางอย่างใด ซึ่งการไปแก้กฎหมาย จะทำให้เราจัดเรทมันได้ ไปจำกัดการเข้าถึง ไปดูแล sex worker ต่างๆ

“ไทยมีพัฒนาการเรื่องนี้ ก็เหมือนความหลากหลายทางเพศ ที่เรารู้ว่ามี แต่กฎหมายเราก็เชย คนมีอำนาจยังพิทักษ์อนุรักษ์นิยม ไม่อยากให้ฝั่งลิเบอรัลมีอำนาจมากขนาดนั้น เพราะจะเกิดความวุ่นวายในสังคม เกิดการลุกฮือ รอลูกโป่งแตก แต่ปัจจุบัน เราได้เห็นสิ่งต่างๆในโลกอื่น มีสังคมอุดมคติที่เราอยากมี หากคนที่ไม่อยากได้ เลือกจะไม่เปลี่ยนแปลง แทนที่จะได้เป็นเรื่องดีๆ ก็กลายเป็นปิดกั้นการพัฒนาประเทศไป” ดร.ปิยะพงษ์ ทิ้งท้าย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image