โอลิมปิกกับ”อาชีพหลัก”นักกีฬา

ไมล์ส แชมลีย์-วัตสัน

ถึงจะได้ชื่อว่า “นักกีฬาโอลิมปิก” แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีอาชีพหลักเป็น “นักกีฬา” แต่อย่างใด เพราะถ้าไม่ใช่มือระดับแนวหน้าของกีฬาชนิดนั้นๆ จนสามารถยึดเป็นอาชีพ และใช้เวลาแต่ละวันไปกับการฝึกซ้อม แข่งขัน หรือพัฒนาศักยภาพของตัวเองแล้ว

…คนที่ไม่เข้าข่ายก็จำเป็นต้องมีอาชีพหลักเพื่อเลี้ยงปากท้องของตัวเองทั้งสิ้น ซึ่งงานหลักของบางคนอาจทำให้แฟนๆ แปลกใจไม่น้อยได้เช่นกัน

ยกตัวอย่าง ราฮีเลห์ อาเซมานี่ อดีตนักกีฬาเทควันโดทีมชาติอิหร่านวัย 27 ปี ซึ่งเพิ่งอพยพไปเบลเยียมเมื่อ 3 ปีก่อน และหางานทำเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ ส่งจดหมายตามบ้าน พอชีวิตเริ่มเข้าที่เข้าทาง ก็ตั้งใจว่าจะเข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ในฐานะสมาชิก ทีมอพยพ ภายใต้ธงของ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) แต่เนื่องจากได้สัญชาติเบลเยียมพอดี เลยเข้าแข่งในนามทีมชาติเบลเยียมแทน

ราฮีเลห์ อาเซมานี่
ราฮีเลห์ อาเซมานี่

ส่วน นาตาลี มาร์คิโน่ นักกีฬารักบี้ทีมชาติโคลอมเบีย ทำงานเป็นเซลส์ของบริษัท ทวิตเตอร์ และต้องยื่นลางานเป็นกรณีพิเศษ 5 เดือน เพื่อร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์

Advertisement

ไม่ได้มีแค่มาร์คิโน่ที่ทำงานขาย อย่าง เจเรมี่ ไทโว นักทศกรีฑาทีมชาติสหรัฐวัย 26 ปี มีงานหลักอยู่ที่ร้านขายอุปกรณ์กีฬา ดิ๊คส์ สปอร์ติ้ง กู๊ดส์ คอยทำหน้าที่เลือกรองเท้าและอุปกรณ์กีฬาที่เหมาะสมให้กับลูกค้าแต่ละคน

ขณะที่ สตีเฟ่น โมเซีย นักกีฬาทุ่มน้ำหนักทีมชาติไนจีเรีย ก็อยู่ฝ่ายสนับสนุนการขาย แต่ในฐานะวิศวกรของบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า อีเมอร์สัน อิเล็กทริก หลังจากจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ในสหรัฐอเมริกา

ด้าน ไมล์ส แชมลีย์-วัตสัน นักฟันดาบหนุ่มชาวอเมริกัน เนื่องด้วยหน้าตา รูปร่าง และบุคลิกลงตัวมากๆ เมื่อเรียนจบจากมหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลวาเนียแล้ว ก็ยึดงานนายแบบแฟชั่นชั้นสูง เคยเดินแคตวอล์กให้กับแบรนด์ชั้นนำของโลกมาแล้วมากมาย อาทิ ราล์ฟ ลอเรน เป็นตัวอย่าง

Advertisement

แต่ถ้าเอ่ยถึงอาชีพเสริมของนักกีฬา หรือพูดให้ถูกคืองานหลักนอกเหนือจากการแข่งขันหรือฝึกซ้อมแล้ว แปลกที่สุดคงต้องยกให้ คาซูกิ ยาซาว่า นักกีฬาแคนูประเภทสลาลอมทีมชาติญี่ปุนวัย 27 ปี ซึ่งเพิ่งบวชเป็นพระที่วัดเซนโคจิ ไดคันจิน ในจังหวัดนากาโนะได้ไม่นานนัก

พระคาซูกิบอกว่า แรกเริ่มนั้นไม่ได้สนใจเรื่องศาสนา แต่พอรู้จักกับ พระเคเนอิ โคยาม่า ประธานสมาคมเรือพายแห่งนากาโนะ ซึ่งเป็นโค้ชสอนเทคนิคสลาลอม ก็ทำให้เริ่มหันเหชีวิตสู่พระพุทธศาสนามากขึ้น โดยแต่ละวันจะซ้อมไม่เกินชั่วโมงครึ่งในช่วงบ่ายหลังจากเสร็จภารกิจทางสงฆ์แล้ว

แม้ดูว่าทั้ง 2 อย่างไม่น่าจะไปด้วยกันได้ แต่พระคาซูกิซึ่งแข่งโอลิมปิกเกมส์เป็นครั้งที่ 3 แล้ว บอกว่าจะพยายามมองข้ามเรื่องบาลานซ์เรื่องต่างๆ ในชีวิต และทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด โดยมองว่าการเป็นพระคืออาชีพหลัก และการเป็นนักกีฬาคืองานอดิเรก

อาจเป็นมุมมองสายกลาง อย่างปล่อยวางที่เขาได้เรียนรู้ผ่านการศึกษาพระธรรมก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image