ยกน้ำหนักเพิ่มรุ่นผู้หญิงเท่าผู้ชาย เฟ้นจอมพลังสาวลุ้นเหรียญในอนาคต

“เสธ.ยอด” พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย นายกกิตติมศักดิ์สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทยฯ และรองประธานสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ เปิดเผยเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา หลังเดินทางกลับจากการประชุมใหญ่ของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ เมื่อระหว่างวันที่ 24-25 กันยายนที่ผ่านมา ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ว่า สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ ได้มีการปรับรุ่นของฝ่ายหญิง ในการแข่งขันทุกระดับเพิ่มเติม ให้จำนวนเทียบเท่ากับของฝ่ายชาย เป็นทั้งหมด 8 รุ่นเท่ากัน โดยของฝ่ายหญิง จะเพิ่มรุ่น 90 กก. และมากกว่า 90 กก. เข้าไป มีผลบังคบใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปีหน้า ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น ยกน้ำหนักจะถูกปรับเปลี่ยนให้มีการแข่งขันในรุ่น 48 กก., 53 กก., 58 กก., 63 กก., 69 กก., 75 กก., 90 กก. และมากกว่า 90 กก.

“คณะกรรมการฝ่ายยกน้ำหนักหญิง ของสหพันธ์ฯ ได้ผลักดันเรื่องนี้ โดยทำงานร่วมกับฝ่ายแพทย์ และทีมวิจัยมาเป็นเวลานาน จนได้ข้อสรุปดังกล่าว โดยรุ่นน้ำหนักของฝ่ายหญิง จะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการในปี 2017 ซึ่งแน่นอนว่า นอกจากการแข่งขันรายการระดับนานาชาติ การแข่งขันภายในประเทศ ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ทั้งนี้การเพิ่มรุ่นน้ำหนักที่มากกว่าเดิมเข้าไปนั้น ถามว่ามีผลต่อจอมพลังทีมชาติไทยในรายการนานาชาติมากน้อยอย่างไร ก็ต้องบอกว่าเรามีนักกีฬาในรุ่นน้ำหนักนี้อยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งก็มีฝีมืออยู่หลายคน แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อโอกาสให้เปิดกว้างกว่าเดิม ก็จะได้เฟ้นหานักกีฬาในรุ่นที่มีการเพิ่มเข้ามาต่อไป ส่วนในกีฬายูธโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 3 ที่กรุงบูโนส ไอเรส ประเทศอาร์เจนติน่า ในปี 2018 จะแข่งขันเพียง 6 รุ่นน้ำหนัก ชาย 6 รุ่น หญิง 6 รุ่น ” เสธ.ยอด กล่าว

นอกจากนี้ พล.ต.อินทรัตน์ยังกล่าวด้วยว่า ในการประชุมสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ ยังได้มีการหารือถึงแนวทางในการพัฒนากีฬายกน้ำหนักในภาพรวมหลายๆ เรื่อง ซึ่งเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ และมีการหยิบยกมาพูดถึงกัน เป็นกรณีที่เมื่อจอมพลังยกน้ำหนักเหล็กได้เท่ากัน แต่เดิมจะให้นักกีฬาที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า ได้อันดับดีกว่า ทว่าจากนี้หากยกได้เท่ากัน อาจให้อันดับเท่ากันไปเลย เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักกีฬามากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการบริหารสหพันธ์ฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายเทคนิคไปศึกษาความเป็นไปได้ว่าเป็นอย่างไร และให้นำมารายงานในการประชุมครั้งต่อไป

“ในเบื้องต้นรูปแบบการจัดอันดับที่มีการเสนอกันไว้ อาจจะครอบคลุมในส่วนของเหรียญเงินและเหรียญทองแดงเท่านั้น อาจจะยกเว้นแค่เหรียญทองที่อาจต้องใช้น้ำหนักตัววัดกัน กรณีที่ยกได้เท่ากัน แต่สำหรับเหรียญเงิน เหรียญทองแดง หากมีการยกได้เท่ากัน ก็อาจให้เหรียญคู่กันหรือมากกว่าไปเลย เหมือนเช่นกีฬาชนิดอื่น อย่างกระโดดสูงหรือกระโดดค้ำ ในกรีฑาประเภทลาน ซึ่งก็จะได้มีการศึกษาถึงความเป็นไปได้อีกครั้ง” พล.ต.อินทรัตน์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image