สมาคมบอลร้อน  ค่าลิขสิทธิ์ฮวบ ไทยลีกแยกวง

สมาคมบอลร้อน  ค่าลิขสิทธิ์ฮวบ ไทยลีกแยกวง

ไม่น่าเชื่อเลยว่าวงการฟุตบอลไทยจะเดินมาถึงจุดตกต่ำขั้นสุด เมื่อมีผู้ยื่นประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดด้วยจำนวนเงินเพียง50 ล้านบาทเท่านั้น…!!!

จำนวนเงินนี้น้อยจนถึงขั้นว่ายังไม่เท่ากับที่ “เดอะ แรบบิท” บีจี ปทุม ยูไนเต็ด จ่ายให้กับ คาวาซากิ ฟรอนตาเล่ เพื่อดึงตัว “เมสซี่เจ” ชนาธิป สรงกระสินธ์ กลับมาโลดแล่นในไทยลีกอีกครั้งเลย

มันน่าใจหายมากๆ เมื่อฟุตบอลไทยลีกที่เคยมีมูลค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดสูงสุดถึงปีละ 1,200 ล้านบาท กลับหดลงมาเหลือเพียงแค่เงินหลักสิบล้านบาทเท่านั้น

Advertisement

จากเดิมที่ลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยลีก มีแต่เพิ่มมูลค่ามากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ที่ บังยี วรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลฯ ในสมัยนั้น ตั้ง บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ขึ้นมา และเริ่มขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดให้กับ ทรูวิชั่นส์

จากช่วงแรกได้ปีละ 200 ล้านบาท ขยับมาเป็นปีละ 600 ล้านบาท จนมาเฟื่องฟูที่สุดสัญญาวงรอบ 4 ปี ช่วง พ.ศ.2560-2563 ที่ค่าลิขสิทธิ์ได้ปรับเพิ่มขึ้นทุกปี 900-1,000-1,100 และ 1,200 รวมในวงรอบนั้นต้องได้รับถึง 4,200 ล้านบาทด้วยกัน

แต่จากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 บวกการบริหารงานที่ผิดพลาด เปลี่ยนปฏิทินการแข่งขันแบบคร่อมปีโดยไม่แจ้งให้เจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในเวลานั้นอย่างทรูวิชั่นส์ทราบ นำไปสู่การได้รับเงินค่าลิขสิทธิ์ปีสุดท้ายไม่เต็มจำนวน

Advertisement

อีกทั้งการเปิดประมูลครั้งใหม่วงรอบ 8 ปี ซึ่งผู้ชนะตอนนั้นคือ บริษัท เซนส์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ชนะไปด้วยวงเงิน 12,000 ล้านบาท ก็ไปยกเลิกสัญญาโดยอ้างว่าไม่มีแบงก์การันตี ทำให้เม็ดเงินมันลดลงเรื่อยๆ

โดยใน 2 ปีหลังสุดที่ เอไอเอส กระโดดเข้ามาเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ มีรายงานว่าค่าลิขสิทธิ์นั้นอยู่ที่ 400 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น

จากจำนวนเงินที่ลดลงมาแบบฮวบฮาบ ทำให้เกิดปัญหาการบริหารวงการฟุตบอลไทยทั้งระบบ แต่คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ สโมสร เพราะถูกลดเงินสนับสนุนทีมถึง 50% ในปีที่ผ่านมา และยังได้ไม่ครบตามจำนวนด้วย

ขณะที่การเปิดประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดวงรอบ 4 ปี 2566-2570 มีผู้ยื่นประมูลมาแต่ปรากฏว่าจำนวนเงินไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ นำมาสู่การเรียกสโมสร ไทยลีก 1 เข้ามาประชุม เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา พร้อมย้ำว่าให้ส่งประธานสโมสร หรือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจมาร่วมประชุม

การประชุมครั้งนี้ สามารถมองภาพได้ว่ามันน่าจะต้องมีประเด็นใหญ่โตมโหฬาร ตั้งแต่ผู้ร่วมประชุมเดินทางมา เพราะ 3 ประธานสโมสรยักษ์ใหญ่ของไทยลีก ทั้ง “บิ๊กเน” เนวิน ชิดชอบ จากบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, “บอสปิ๊ป” ปวิณ ภิรมย์ภักดี นายใหญ่แห่งค่ายบีจี ปทุม และ “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ แห่งการท่าเรือ เอฟซี มากันด้วยตัวเอง ราวกับมีการนัดหมายมาก่อน

แต่ที่น่าสงสัยมากๆ คือเมื่อสโมสรส่งตัวเป้งมาร่วมประชุมขนาดนี้ หัวโต๊ะกลับไม่ใช่ “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคม มานั่งหัวโต๊ะแต่อย่างใด

จากนั้นมีรายงานข่าวจากในห้องประชุมออกมาว่า ทางไทยลีกแจ้งสโมสรว่าบริษัทที่ยื่นประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดยื่นมาในราคาเพียงแค่ 50 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น ในขณะที่ “บิ๊กฮั่น” มิติ ติยะไพรัช ประธานสโมสรลีโอ เชียงราย บอกว่า คุณเนวินเป็นผู้เสนอโมเดลของการแยก 16 สโมสรไทยลีก 1 ออกมาตั้งบริษัทเองเพื่อจะดูแลเรื่องของสิทธิประโยชน์ด้วยตัวเอง

ด้าน กรวีร์ ปริศนานันทกุล รักษาการประธานบริหาร บริษัท ไทยลีก จำกัด กล่าวว่า ข้อเสนอแนะจากเสียงส่วนใหญ่ของ 16 ทีม (ตามรายงานคือ เห็นด้วย 11 ทีม และไม่ออกเสียง 5 ทีม) คือ การให้แต่ละสโมสรได้เข้ามาจัดแข่งขันและหาสิทธิประโยชน์สำหรับฤดูกาลที่จะมาถึงเอง ทั้ง 16 ทีม จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรวมกับสมาคม เพื่อบริหารสิทธิประโยชน์ การจัดแข่งขัน ซึ่งประเด็นนี้จะนำไปเสนอในที่ประชุมสภากรรมการ วันที่ 3 กรกฎาคมนี้

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตกันว่าการดำเนินการครั้งนี้เหมือนมีการวางแผนบีบสโมสรให้ต้องเลือกทางออกนี้ เพราะรายงานเรื่องการประมูลลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยนั้น มีการรายงานออกมาไม่ตรงกัน แหล่งข่าวที่นั่งอยู่ในห้องประชุมเผยว่า ยื่นมาแค่เจ้าเดียว 50 ล้านบาท แต่พอออกมาให้สัมภาษณ์ด้านนอก พาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ บอกว่าไม่ได้มีแค่เจ้าเดียว

ข้อสังเกตอีกข้อคือ หลังจากหมดยุคโควิดมาฟุตบอลลีกดูมีความนิยมที่เพิ่มมากขึ้น ในปีที่ผ่านมามีการเปิดเผยเรตติ้งผู้ชมฟุตบอลไทยลีกสูงถึง 11.66 ล้านคน มากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทย แต่ทำไมผู้ยื่นซื้อลิขสิทธิ์กลับให้เงินน้อยกว่าเดิม มันดูไม่สมเหตุสมผล

ในส่วนโมเดลการแยกตัวออกมาตั้งบริษัทใหม่ บริหารสิทธิประโยชน์กันเอง มีรายงานว่า เริ่มหาสิทธิประโยชน์ได้แล้วราวๆ 500-800 ล้านบาท แต่แล้วผู้บริหารสิทธิประโยชน์ของสมาคม กลับไร้ประสิทธิภาพถึงไม่สามารถหาเงินจำนวนเดียวกันมาทำให้ลีกมันเดินหน้าต่อไปได้ตั้งแต่แรก ต้องรอให้แยกออกมาก่อนจึงจะหาเงินได้อย่างนั้นหรือ?

ซึ่งหลังจากมีมติในที่ประชุมเรื่องการแยกตัวของไทยลีก 1 ออกมา พล.ต.อ.สมยศ ที่ไม่เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าว ออกแถลงการณ์ โดยมีใจความสำคัญท่อนหนึ่งว่า

“เมื่อฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยม เป็นกีฬามหาชนอันดับหนึ่งของคนไทย วงการฟุตบอลไทยจึงมีผู้ที่มาจากหลากหลายที่มาที่ไป และไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแทรกแซงทั้งทางตรง และทางอ้อมจากระบบราชการ จากทุกขั้วอำนาจ โดยการใช้วงการฟุตบอลไทยเป็นสนามต่อสู้ ต่อรองเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ไม่ว่าจะเรื่องการเมือง ธุรกิจ หรือแม้แต่เรื่องส่วนตัว”

หมายความว่าตอนนี้กำลังมีใครตั้งใจแทรกแซงวงการฟุตบอลไทยอย่างนั้นหรือ?

วงการฟุตบอลไทย กำลังจะเข้าสู่ช่วงสำคัญ เพราะเดือนเมษายน 2567 จะมีการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ คนใหม่หลังจาก บิ๊กอ๊อด อยู่มาครบ 2 วาระ 8 ปี ซึ่งว่ากันว่า เก้าอี้ของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เริ่มสั่นคลอนอย่างมาก ประกอบกับขั้วอำนาจเก่าอย่าง บังยี-วรวีร์ มะกูดี ก็ประกาศตัวชัดเจนว่าจะทวงบัลลังก์คืน

นี่อาจก่อให้เกิดการดำเนินการเรื่องแยกตัวไทยลีก 1 ออกมา เพราะว่ากันว่า วงการฟุตบอลไทย ส่วนที่สามารถทำรายได้ได้มากที่สุดคือ ฟุตบอลไทยลีก 1 ฉะนั้นถ้าตัดการบริหารงานออกจากสมาคมฟุตบอลฯ ให้เหลือสิทธิเหลือเสียงน้อยที่สุด พร้อมกับรับเงินแบบเต็มๆ ก็ไม่มีใครจำเป็นจะต้องไปสนใจตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลอีกแล้ว

การกระทำแบบนี้อาจจะทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการที่วงการลูกหนังไทยจะโดน สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) แบนเอาได้ เพราะถ้ายึดจากคำพูดของ บิ๊กอ๊อด ที่ว่ามีการแทรกแซงนั้น อาจจะทำให้ฟีฟ่าต้องลงมาสอบสวนประเด็นนี้ เนื่องจากฟีฟ่าค่อนข้างเอาจริงกับการห้ามมีการเมืองแทรกแซงวงการลูกหนังของแต่ละประเทศ

ประเด็นร้อนฉ่าที่เกิดขึ้นคงต้องรอติดตามกันต่ออย่างใกล้ชิดว่า การแยกตัวของไทยลีก 1 จะสามารถทำได้สำเร็จจริงหรือไม่ แล้วทำออกมาแล้วจะช่วยฟื้นฟูวงการลูกหนังไทยให้มีเม็ดเงินกลับมาอู้ฟู่หรือไม่…อย่ากะพริบตา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image