ONE รณรงค์ยุติการเหยียดเชื้อชาติ ร่วมต่อสู้ศัตรูโควิด-19

ONE รณรงค์ยุติการเหยียดเชื้อชาติ ร่วมต่อสู้ศัตรูโควิด-19

ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) สร้างความเดือดร้อนไปทั่วโลก และทำให้เราได้เห็น “เหรียญสองด้าน” ของมนุษยชาติ

ด้านหนึ่ง ผู้คนต่างพยายามสุดกำลังความสามารถเพื่อช่วยเหลือผู้ที่กำลังได้รับผลกระทบ ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเปรียบเสมือนกองทัพหน้า ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่กำลังเดือดร้อนในภาวะที่หลายธุรกิจหยุดชะงัก

ขณะที่อีกด้าน เราได้เห็นสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างเรื่องการเหยียดเชื้อชาติ อันเกิดจาก “ความกลัว” และการตั้งแง่ในเรื่อง “ต้นกำเนิด” ของการแพร่กระจายไวรัส กลายเป็นความรังเกียจเดียดฉันท์ ซึ่งกำลังเป็นกระแสอย่างหนักในขณะนี้

“อคติ” เรื่องเชื้อชาติเป็นปัญหาเรื้อรังที่หยั่งรากลึกมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โรคไวรัสระบาดจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน จึงกลายเป็นตัวกระตุ้นให้คนจีน รวมถึงคนเอเชียตกเป็นเป้าของการเหยียดเชื้อชาติอย่างชัดเจนขึ้น

Advertisement

ทั้งการ “ไซเบอร์บูลลี่” รวมถึงกิจการค้าขายที่เป็นของคนจีนไม่มีใครอยากเข้าไปอุดหนุน ตัวคนจีนเองก็ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคม ตีตัวออกห่าง ถูกมองว่าเป็นแหล่งของโรค เป็นที่รังเกียจของสังคม คนเอเชียรวมถึงคนไทย แม้จะไม่ได้มีเชื้อสายจีนก็ถูกเหมารวมไปด้วย เพราะเอาเข้าจริงๆ หน้าตามันไม่อาจบ่งบอกได้ว่าใครมาจากไหน

ในทางกลับกันฝั่งเอเชีย ยกตัวอย่างในประเทศไทยเราก็มีอคติเรื่องนี้ไม่น้อย กับกรณีที่นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกไม่สวมหน้ากากอนามัย ถึงขั้นขับไล่ไสส่งกลับประเทศ กลายเป็นดรามาไปทั่วโลก

ต้นเหตุของเรื่องนี้ส่วนหนึ่งมาจาก “การตีความหมาย” ของการสวมหน้ากากอนามัย โดยคนเอเชียตะวันออกรวมถึงคนไทยจะสวมหน้ากากเพื่ออนามัยส่วนบุคคล เพื่อป้องกันโรค เพื่อความปลอดภัยของตนเอง และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

Advertisement

ในขณะที่ชาวตะวันตก การสวมหน้ากากอนามัยมีความหมายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยจะใส่เมื่อป่วยหรือเป็นโรค เพื่อเป็นสัญญาณบ่งบอกให้ผู้อื่นอยู่ห่างๆ และเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมโดยไม่นำเชื้อโรคไปแพร่กระจายสู่ผู้อื่น

เมื่อการตีความหมายเรื่องหน้ากากอนามัยต่างกัน ดังนั้นการที่ชาวตะวันตกเห็นชาวเอเชียใส่หน้ากากอนามัยจึงมองว่าเป็นคนป่วยและต้องออกห่าง ในขณะที่ชาวเอเชียกลับมองชาวตะวันตกที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัยว่าไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

ต่างคนต่างมุมมอง ต่างความเข้าใจ จึงกลายเป็น “อคติ” เกิดการแบ่งแยก เหยียดชาติพันธุ์ เหยียดวัฒนธรรม รุนแรงขึ้นเป็นลำดับตามจำนวนของผู้ติดเชื้อที่กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก

นักกีฬาของ วัน แชมเปี้ยนชิพ จำนวนไม่น้อยที่เป็นลูกผสม หรือมีหลายสัญชาติ พวกเขาตระหนักถึงเรื่องนี้และต้องการรณรงค์ให้ทุกคนยุติอคติในเรื่องเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ จึงแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ยืนหยัดเพื่อเผชิญหน้ากับการเหยียดเชื้อชาติ ด้วยการรณรงค์ผ่านคลิปวิดีโอในแคมเปญที่มีชื่อว่า #WeAreONE Against Racism อย่างเช่น อเล็น เอ็นกาลานี หนึ่งในนักกีฬา ONE ผู้ร่วมรณรงค์แคมเปญดังกล่าวนี้

เมื่อเราทุกคนต่างกำลังใช้ชีวิตอยู่บนโลกที่หยุดชะงักจากผลกระทบของไวรัสโคโรนา พวกเรากำลังเผชิญกับภาวะที่ไม่ปกติและไม่คุ้นเคยเฉกเช่นเดียวกันทั่วทั้งโลก โดยไม่มีข้อยกเว้นไม่ว่าประเทศไหนหรือเชื้อชาติใด…ถึงเวลาแล้วไหมที่เราควรจะต้องกำจัด “อคติ” เหล่านี้ให้หมดไป

“No country has a face. No virus has a race. End the hate. End racism,”
ใบหน้าไม่อาจบ่งบอกประเทศที่มา ไวรัสไม่เลือกเล่นงานเฉพาะบางเผ่าพันธุ์ หยุดความเกลียดชัง หยุดการเหยียดเชื้อชาติ
ไม่ว่าเรามาจากไหน ทุกคนต่างกำลังมีศัตรูเดียวกัน เราควรร่วมกันเผชิญหน้าและต่อสู้กับไวรัสนี้

เพื่อคืนความปกติสุขกลับสู่โลกของเราให้เร็วที่สุด!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image