ย้อนประวัติศาสตร์ลูกหนังไทย รู้หรือไม่? เคยฟาดแข้งโอลิมปิกมาแล้ว 2 สมัย

ย้อนประวัติศาสตร์ลูกหนังไทย รู้หรือไม่? เคยฟาดแข้งโอลิมปิกมาแล้ว 2 สมัย

เป็นเรื่องน่าทึ่งสำหรับวงการลูกหนังเมืองไทยเมื่อทีมฟุตบอลไทย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี เปิดหัวรายการชิงแชมป์เอเชีย 2024 “เอเอฟซี ยู-23 เอเชี่ยนคัพ 2024” รอบสุดท้าย ที่ประเทศกาตาร์ เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา ด้วยการเก็บชัยชนะเหนือ อิรัก 2-0

ฟุตบอลรายการนี้มีความสำคัญคือ จะคัดโควต้า 3.5 ทีมเป็นตัวแทนจากทวีปเอเชียไปฟาดแข้งฟุตบอลชาย กีฬาโอลิมปิกเกมส์ ฤดูร้อน 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เดือนกรกฎาคมนี้

 

Advertisement

และ 3 แต้มดังกล่าวทำให้แฟนบอลไทยหลายต่อหลายคนมองไปถึงโอกาสที่ทีมชาติไทยจะได้ไปอวดฝีเท้าในศึกฟุตบอลโอลิมปิกเกมส์ ฤดูร้อน 2024

ในศึก “เอเอฟซี ยู-23 เอเชี่ยนคัพ 2024” ทีมชาติไทยอยู่กลุ่มซี ร่วมกับ อิรัก, ซาอุดีอาระเบีย และทาจิกิสถาน โดยรอบแรกจัดคัดเอา 2 ทีมอันดับ 1-2 จาก 4 กลุ่มผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายต่อไป นั่นหมายความว่า หากขุนพลนักเตะ “ช้างศึก” กรุยทางผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายได้นั้น จะได้ลุ้นโควต้าไปโอลิมปิกเกมส์แบบเต็มตัวเพราะเหลืออีกแค่นัดเดียว

Advertisement

 

หากกรณีผ่านรอบ 8 ทีมสุดท้ายได้อีก จะเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ ทีมที่เข้าชิงชนะเลิศ จะได้ไปโอลิมปิก 2024 อัตโนมัติ เช่นเดียวกับทีมอันดับ 3 จากนัดชิงอันดับ 3 ก็ได้ไปลุยเช่นกัน ส่วนทีมอันดับ 4 จะต้องไปเพลย์ออฟกับทีมอันดับ 4 โซนแอฟริกาอย่าง ทีมชาติกินี เพื่อแย่งสิทธิ์โควต้าสุดท้าย

หากพูดถึงฟุตบอลยู 23 ปี ชิงแชมป์เอเชีย รอบสุดท้าย ประเทศไทยมีโอกาสเข้ารอบสุดท้ายรวมครั้งนี้ 5 ครั้ง มีกุนซือทั้งไทย และต่างชาติหมุนเวียนเข้ามาสร้างความหวัง โดยกุนซือที่ผลงานดีสุดคือ อากิระ นิชิโนะ ที่พาไทยเข้ารอบ 8 ทีม สุดท้าย ปี 2020 รอบแรกเก็บได้ถึง 4 คะแนน จากการพบกับทีมชั้นนำของเอเชีย, “โค้ชโย่ง” วรวุธ ศรีมะฆะ เก็บได้ถึง 4 คะแนน ในรอบแรก ปี 2022 แต่ไม่สามารถผ่านเข้ารอบต่อไปได้เนื่องจากแต้มน้อยกว่าเวียดนาม

ขณะที่ปี 2016 ซึ่งเป็นครั้งแรกของทีมชาติไทยที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง คุมทัพ อยู่ในกลุ่มเดียวกับ ญี่ปุ่น,ซาอุดีอาระเบีย และเกาหลีเหนือ ผลการแข่งขันรอบแรกทีมเก็บได้ 2 แต้ม เท่ากับ ซาอุดีอาระเบีย, เกาหลีเหนือ แต่ประตูได้น้อยกว่าทั้งสองทีมจึงจบด้วยอันดับ 4 ของกลุ่ม ขณะที่ญี่ปุ่นที่ยิงไทย 4-0 คว้าแชมป์เอเชีย 2016 ไปครองบนแผ่นดินกาตาร์

ทีมชุดปัจจุบันภายใต้การคุมทีมของ “โค้ชหระ” อิสสระ ศรีทะโร แม้จะใช้ผู้เล่นที่ค่อนข้างโนเนม แต่ไปสู้ด้วยระบบ สู้ด้วยใจ ผลงานนัดแรกจึงออกมาอย่างที่เราทุกคนเห็นกัน เรียกได้ว่า ดีเกินคาด แต่ยังต้องลุ้นกันต่อนัดที่ 2 ที่จะพบกับ ซาอุดีอาระเบีย วันที่ 19 เมษายน เวลา 22.30 น. และนัดสุดท้ายกลุ่มซี พบกับ ทาจิกิสถาน วันที่ 22 เมษายน เวลา 22.30 น.

ย้อนดูประวัติศาสตร์ของทีมฟุตบอลไทยในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติอย่างโอลิมปิกเกมส์ ใครยังไม่รู้ก็บอกให้รู้ไว้เลยว่า ทีมชาติไทยเคยสร้างประวัติศาสตร์ไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก ตั้งแต่ พ.ศ.2499 ในกีฬาโอลิมปิก 1956 ที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ส่วนครั้งที่ 2 ของฟุตบอลไทยในโอลิมปิกเกิดขึ้นในพ.ศ.2511 หรืออีก 20 ปีต่อมาจากครั้งแรกใน โอลิมปิก 1968 ที่เม็กซิโกซิตี ประเทศเม็กซิโก

 

มาดูกันที่ครั้งแรกที่ทีมฟุตบอลไทยได้ปรากฏบนเวทีโอลิมปิก ต้องย้อนไปเมื่อ 68 ปีที่แล้ว ในปี พ.ศ. 2499 ขณะนั้นมี พล.ต. เผชิญ นิมิบุตร ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมของฟุตบอลไทย ซึ่งได้มีการค้นหาผู้เล่นจากหลายสโมสร เพื่อจัดตั้งทีมชาติ เข้าร่วมแข่งขันกีฬาฟุตบอลในโอลิมปิก ครั้งที่ 16 ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

รายชื่อนักเตะไทยชุดแรกที่สร้างประวัติศาสตร์ไปโอลิมปิกเกมส์ 1956 ประกอบด้วย เกษม ใบคำ, ตุ๊ สุวณิชย์ กองหลัง ประทีป เจิมอุทัย, สุรพงษ์ ชุติมาวงศ์, โสภณ หะยาจันทรา กองกลาง ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์, วันชัย สุวารี กองหน้า สุกิจ จิตรานุเคราะห์, บำเพ็ญ ลัทธิมนต์, สำรวย (สำเริง) ไชยยงค์, นิตย์ ศรียาภัย, สุชาติ มุทุกันฑ์ และวิวัฒน์ มิลินทจินดา (หัวหน้าทีม) โดยมีนายกอง วิสุทธารมณ์ เป็นผู้จัดการทีม และนายบุญชู สมุทรโคจร เป็นผู้ควบคุมทีม

การแข่งขันในครั้งนั้น เป็นการแข่งขันแบบแพ้คัดออก ซึ่งทีมชาติไทย จับสลากได้แข่งกับ ทีมชาติสหราชอาณาจักร ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2499 ผลปรากฏว่า ทีมชาติไทย พ่ายไปอย่างยับเยิน 0-9 ซึ่งเป็นสถิติแพ้สูงสุดของทีมชาติไทยจวบจนปัจจุบันนี้อีกด้วย

 

จากนั้นทีมชาติไทยก็มีโอกาสได้ร่วมฟาดแข้งโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 2 ในโอลิมปิกเกมส์ 1968 ที่กรุงเม็กซิโก ซิตี้ ประเทศเม็กซิโก โดยรายชื่อนักเตะชุดนั้น 18 คน ประกอบด้วย สราวุธ ประทีปากรชัย, เชาว์ อ่อนเอี่ยม, ยงยุทธ สังขโกวิท, ประโยค สุทธิสง่า (เสียชีวิต), จีระวัฒน์ พิมพะวาทิน, ณรงค์ ทองเปลว, ไพบูลย์ อัญญะโพธิ์, สนอง ไชยยงค์, ณรงค์ สังขสุวรรณ (เสียชีวิต), สุพจน์ พานิช (เสียชีวิต), ชัชชัย พหลแพทย์, วิชัย แสงธรรมกิจกูล, นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์, ประเดิม ม่วงเกษม, อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค, เกรียงศักดิ์ นุกูลสมปรารถนา (เสียชีวิต), เกรียงศักดิ์ วิมลเศรษฐ์ และบุญเลิศ นิลภิรมย์ (เสียชีวิต) มีมร.กุนเธอร์ กลอป์ม (เยอรมัน) เป็นผู้ฝึกสอน นายประสิทธิ์ นิลายน เป็นผู้จัดการทีม

ผลการแข่งขัน ทีมชาติไทยปราชัยรวด 3 เกม นัดแรกแพ้ให้กับ บัลแกเรีย 0-7 ต่อมานัดที่สอง แพ้ให้กับ กัวเตมาลา 1-4 ซึ่งเกมนี้ได้เกิดประวัติศาสตร์ขึ้นสองอย่าง นั่นคือ ประตูแรกในกีฬาโอลิมปิกของทีมชาติไทย มาจาก อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค ในนาทีที่ 44 ของเกม ก่อนที่จะเกิดประวัติศาสตร์อีกหนึ่งอย่าง นั่นคือการที่ ชัชชัย พหลแพทย์ โดนใบแดงในช่วงครึ่งหลัง และนั่นคือใบแดงแรกเช่นกันในการแข่งขันกีฬา

ฟุตบอลโอลิมปิกเกมส์ของทีมชาติไทย ก่อนที่ทีมชาติไทย จะลงเล่นนัดสุดท้าย พ่าย เช็กโกสโลวาเกีย ย่อยยับ 0-8 และตกรอบไปในที่สุด

นี่คือบันทึกประวัติศาสตร์วงการลูกหนังไทยในเวทีโอลิมปิกเกมส์ที่ทุกคนต้องจดจำ

และปัจจุบันนี้ขุนพลนักเตะไทยลูก-หลานของพวกเขากำลังลุ้นสร้างประวัติศาสตร์นำธงไตรรงค์ไปร่วมฟาดแข้งกีฬาฟุตบอลชายโอลิมปิกสมัยที่ 3 ในศึก “ปารีส 2024”

คอยลุ้นและให้กำลังใจพวกเขากันต่อไป…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image