จัดวิ่ง’อะเมซิ่งไทยแลนด์’หน3 มั่นใจเงินสะพัดเกือบพันล้านบาท

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานแถลงข่าวการจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลกรายการ “อะเมซิ่งไทยแลนด์ มาราธอน แบงค็อก 2020 พรีเซนเต็ด บาย โตโยต้า” ที่โรงภาพยนต์เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ทางกระทรวงนั้นมีนโยบายชัดเจนในเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่มีโอกาสดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติอย่างวิ่งมาราธอน, วิ่งเทรล หรือไตรกีฬา ให้เป็นกิจกรรมหลักในระยะยาว คาดหวังว่าจะต้องจัดต่อเนื่องทุกปี และทำให้ติด 1 ใน 10 รายการมาราธอนที่นักกีฬาทั่วโลกอย่างเดินทางมาร่วมแข่งขันมากที่สุด และยังเตรียมเสนอจัดเป็นซีรีส์มาราธอนของประเทศไทย ต่อเนื่องตลอดปี พ.ศ.2563 ขั้นต้นมี 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่กรุงเทพมหานคร (อะเมซิ่งไทยแลนด์มาราธอน), จังหวัดบุรีรัมย์, จังหวัดชลบุรี, จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดราชบุรี ตั้งเป้ามีผู้ร่วมแข่งขันทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเกิน 100,000 คน เป็นคนต่างชาติ มากกว่า 15,000 คน

“การแข่งขันที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 มั่นใจว่ามันจะต้องดีกว่า 2 ครั้งแรกอย่างแน่นอน และก็หวังว่าปีนี้จะไม่เจอกับปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 เหมือนเมื่อปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามปีนี้มีการเตรียมการอย่างดี ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสภากรุงเทพฯ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น”

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะประธานอำนวยการคณะกรรมการจัดการแข่งขัน กล่าวว่า การแข่งขันในปีนี้จะมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 เป้าหมายหลักเพื่อยกระดับให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวและการกีฬา (Sport Tourism Destination) อย่างยั่งยืน คาดว่าจะมีผู้ร่วมแข่งขัน 30,000 คน เป็นชาวต่างชาติไม่น้อยกว่า 5,000 คน ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่ต่ำกว่า 900 ล้านบาท นอกจากนี้ยังตั้งเป้าไว้ว่า ภายใน 3 ปี อะเมซิ่งไทยแลนด์ มาราธอน จะเป็นหนึ่งในรายการที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมมาร่วมมากที่สุดในทวีปเอเชีย

Advertisement

“ททท. ได้จัดทำแผนการจัดการแข่งขันอะเมซิ่งไทยแลนด์มาราธอนซีรีส์ จำนวน 5 รายการ เสนอเข้าครม.เศรษฐกิจและได้รับความเห็นชอบในขั้นต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเร่งทำเอกสารเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้อนุมัติในโครงการดังกล่าว” นายยุทธศักดิ์กล่าว

ผู้ว่าการการท่องเที่ยวฯ กล่าวเสริมว่า เรื่องของการป้องกันฝุ่นควัน PM2.5 นั้น ได้เตรียมทั้งก่อนแข่ง ระหว่างแข่ง และหลังการแข่งขัน ไม่ว่าจะงดการก่อสร้างทั้งหมดในช่วงแข่งขัน หรือติดป้ายบอกปริมาณฝุ่นควันตลอดเส้นทางให้นักกีฬา และเพิ่มจุดดื่มน้ำ เพิ่มออกซิเจนให้กับนักกีฬาให้มากขึ้น รวมถึงทีมแพทย์ที่จะคอยดูแลตลอดเส้นทาง

สำหรับการแข่งขัน “อะเมซิ่งไทยแลนด์ มาราธอน แบงค็อก 2020 พรีเซนเต็ด บาย โตโยต้า” แบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย มาราธอน 42.195 กม. จำนวน 6,000 คน, ฮาล์ฟมาราธอน ระยะ 21.1 กม. จำนวน 9,000 คน, มินิมาราธอน ระยะ 10 กม. จำนวน 12,000 คน และเดินการกุศล 3.5 กม. จำนวน 3,000 คน

Advertisement

เส้นทางการวิ่ง มาราธอน เริ่มจากราชมังคลากีฬาสถาน ออกประตู 4 ผ่านซอยรามคำแหง 24, ถนนถาวรถวัช 1 (ซอยรามคำแหง 24 แยก 2) ถนนพระรามเก้า (ใช้สะพานต่างระดับ) ถนนดินแดง (ใช้สะพานต่างระดับ/อุโมงค์ลอดใต้สะพาน) ถนนราชวิถี (ใช้สะพานต่างระดับ) ข้ามทางรถไฟ ถนนราชวิถี (พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน) ถนนพระรามที่ 5 (สุดถนนวกกลับ) ถนนราชวิถี (พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน) ถนนสวรรคโลก ถนนศรีอยุธยา (ฝั่งพระตำหนักจิตรลดาฯ) ถนนราชดำเนินนอก เลี้ยวขวาแยกจปร. ถนนวิสุทธิกษัตริย์ สะพานพระรามแปด ถนนคู่ขนานบรมราชชนนี (ขาเข้าเมือง) กลับตัวบนถนนบรมราชชนนี ช่วงก่อนถึงจุดตัดพุทธมณฑลสาย 4 ถนนคู่ขนานบรมราชนนี (ขาออกเมือง) สะพานพระรามแปด ลงสะพานเลี้ยวขวา มาที่ถนนราชดำเนินนอก ผ่านสะพานผ่านฟ้าฯ​เลี้ยวขวาเข้าเส้นชัยหน้าถนนพระสุเมรุ

ส่วนจุดปล่อยตัวของ ฮาล์ฟมาราธอน อยู่ที่ราชมังคลากีฬาสถาน หัวหมาก เข้าเส้นชัยที่ถนนพระยาสุเมรุ (สะพานผ่านฟ้าฯ), มินิมาราธอน ปล่อยตัวที่ถนนราชดำเนินกลาง (หน้าโลหะสถาน) เข้าเส้นชัยที่ ถนนราชดำเนินกลาง (อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย) และเดินการกุศล ปล่อยตัวที่ถนนราชดำเนินกลาง (หน้าโลหะสถาน) เข้าเส้นชัยที่ถนนราชดำเนินนอก (หน้าสน.นางเลิ้ง)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image