‘บัญญัติ บรรทัดฐาน’ อ่านเกมรัฐธรรมนูญ “แก้ยากเกินไปจะถูกฉีก จะมีรัฐประหาร “

“บัญญัติ” อ่านเกมรัฐธรรมนูญ”แก้ยากจะถูกฉีก มีรัฐประหาร ลำบากทุกพรรค”

เหลือเวลาอีกเพียงเดือนเศษรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ที่จะนำไปลงประชามติ จะถูกเปิดเผยต่อคนทั้งประเทศ ขณะที่ปมคะแนนเสียงประชามติใกล้จะถูก “ปลดล็อก” โดยการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้นับเสียงกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ


แต่ปมที่ยังคลุมเครือคือ ร่างรัฐธรรมนูญหากประชามติ รัฐบาลและ คสช.มีทางออกอย่างไร ประชาชาติธุรกิจ สนทนากับ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ตอบทุกคำถาม ชี้จุดอ่อน จุดแข็งร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อ่านเจตนาของรัฐบาล คสช. ที่ยังคลุมเครือเรื่องทางออกถ้ารัฐธรรมนูญถูกคว่ำ รวมถึงสถานะของพรรคประชาธิปัตย์ในอนาคต


– มองเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร

ข้อดีเขาก็มี แต่ผมเห็นใจ กรธ.เพราะมีข้อจำกัดเยอะ กรอบที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 35 คงทำให้ออกนอกกรอบลำบาก และ กรธ.ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย ดูว่าจะใช้วิญญาณนักกฎหมายมือปราบมากไปสักนิด ในหลายส่วนเลยดูเป็นกฎหมายธรรมดา ดูพฤติกรรมความไม่สงบเรียบร้อย ก่อนการรัฐประหาร เอาพฤติกรรมของนักการเมืองเลว ที่พัวพันกับการทุจริตเลือกตั้ง แนวที่ออกมาส่วนใหญ่จึงออกมาไม่อยากให้เกิดซ้ำรอย โดยลืมนึกไปว่ารัฐธรรมนูญมีความหมายมากกว่านั้น สิ่งที่รัฐธรรมนูญจะต้องมีคือ พัฒนาการเมืองไปข้างหน้าสู่ความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น จุดนี้มีน้อยไป

Advertisement


– ในร่างรัฐธรรมนูญมีกลไกใหม่หลายกลไก ไม่ทำให้การเมืองพัฒนาขึ้นเลย

มักมีนวัตกรรมขึ้นมาทำกฎหมาย ซึ่งมันไม่จำเป็น อาจเสี่ยงผิดเสี่ยงถูกได้ในวันข้างหน้า เพราะมันยังขาดบทพิสูจน์ และพอเน้นนวัตกรรมมาก บางเรื่องซึ่งมันดีอยู่แล้วก็ไปเปลี่ยนมัน เช่น ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ที่ใช้มา 15 ปี คิดว่าคนเข้าใจ และมันตรงกับเจตนารมณ์ประชาชนจริงๆ เพราะเวลาไปเลือกตั้ง เอ๊ะ…ส.ส.เขตคนนี้อยู่พรรคไม่ดี แต่เป็นคนดี เลือกเขาสักคน แต่พรรคที่สังกัดอาจไม่เข้าท่าจึงไปเลือกพรรคโน้น ไม่มีความเสียหายอะไรเลย

ส่วนระบบบัตรใบเดียวคนมีประสบการณ์อย่างพวกผม พบความจริงว่าให้ความสำคัญกับตัวผู้สมัครสูงกว่าพรรค ในหลักทฤษฎีถือว่าผิด พรรคถูกลดความสำคัญลง เท่ากับเอาพรรคไปแอบหลังผู้สมัคร แล้วฟันธงไว้เลยว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ประมูลตัวผู้สมัครที่มีฐานเสียงแข็งแรงมาก โดยเฉพาะพรรคที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่อยากให้เกิด ทุกคนเบื่อมากกับระบบเอาเงินไปแย่งตัวผู้สมัคร เพราะถ้าประชาธิปไตยเริ่มต้นด้วยเงิน เงินก็จะตามมา ก็จะก้าวเข้าสู่ธนาธิปไตยกันอีกครั้ง

Advertisement


– จะส่งผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร

เมื่อพรรคใหญ่ลดลง พรรคก็จะมีมากขึ้น การตั้งรัฐบาลก็จะมีมากพรรค พบความจริงว่าเวลาพรรคแกนนำมีพรรคร่วมรัฐบาลเยอะๆ ปวดหัวที่สุด นโยบายหลักๆ ไม่มีทางได้ทำ เพราะพรรคนั้นก็จะทำเรื่องนี้ พรรคนี้ก็จะทำเรื่องนั้น มั่วไปหมด ไม่สนองการต่อรองเดี๋ยวรัฐบาลก็แตกหักอยู่ร่วมกันไม่ได้


– การเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระเป็นจุดแข็งหรือจุดอ่อนของ กรธ.

ต้องยอมรับความจริงเป็นจุดแข็ง ซึ่งอาจสอดคล้องกับสถานการณ์ที่คนเบื่อการทุจริตคอร์รัปชั่นมาก ก็มีมาตรการป้องกันการโกง ไม่ให้คนไม่ดีเข้ามาสู่อำนาจ ถ้าเข้ามาแล้วมีปัญหาก็จะเอาออกในทันทีโดยใช้องค์กรอิสระ ก็ควรจะสนับสนุน แต่ปัญหาที่มีอยู่คือทำอย่างไรให้ที่มาขององค์กรอิสระรัดกุม ควรมีการถ่วงดุลระหว่างองค์กรอิสระด้วยกันเอง


– การเอาจุดแข็งมากลบจุดอ่อนจะช่วยให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับมากขึ้นได้หรือไม่

การดูรัฐธรรมนูญต้องดูโดยรวมถ้าดูเฉพาะจุดแข็งที่ถูกใจแต่ละเลยจุดอ่อนที่จะทำให้เกิดปัญหาก็อันตรายมาก เพราะหลายจุดเป็นจุดอ่อนที่อันตราย อาจไม่คุ้มจุดแข็งที่มีอยู่ก็ได้ เพราะถ้าจุดอ่อนมันให้ผลจริงๆ จุดแข็งก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ และจุดอ่อนที่น่ากลัวมาก ที่มีผลทำให้จุดอ่อนอื่นที่มีอยู่แล้วกลายเป็นจุดอ่อนถาวรไม่สามารถแก้ไขได้คือ การไปกำหนดให้รัฐธรรมนูญเกือบแก้ไม่ได้ ถ้าแก้ยากเกินไปรัฐธรรมนูญจะถูกฉีก จะมีรัฐประหาร

– เรื่องใดจะเป็นจุดขี้ขาดว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านประชามติ

เกือบจะทุกส่วน บัตรใบเดียวคนก็โต้แย้งกันมาก นายกฯไม่มาจากการเลือกตั้ง กลุ่มญาติวีรชนปี35 เขาก็ลุกขึ้นมาร้องแล้วว่าวันนั้นเขาสู้กันจนเสียเลือดเนื้อ กรธ.ลืมไปแล้วหรือ กลุ่มนี้ก็จะไม่ลงคะแนนเรื่องสิทธิชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ก็จะลุกขึ้น ถ้าไม่สนองก็มีปัญหา ทุกจุดจึงมีปัญหา

– บทบาทของพรรคการเมืองควรจะยืนอยู่ตรงไหนในช่วงเวลานี้

คนโวยวายกันมากว่ายังไม่เห็นพรรคแสดงออกอะไรแต่ในทันทีที่รัฐธรรมนูญจะลงสู่เวทีการทำประชามติ ถึงเวลาเข้าด้ายเข้าเข็ม ถึงเวลาที่ความเป็นความตายจะปรากฏขึ้น วันนั้นทุกคนก็ต้องช่วยกันให้ความเข้าใจกับประชาชน แต่จะไปปลุกระดมให้ประชาชนมาคว่ำกันเถอะ คงไม่ถึงขนาดนั้น อาจบอกประชาชนให้รู้ว่าในความรู้สึกของเราซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ยาวนาน เราเห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญดีตรงไหน ไม่ดีตรงไหน แล้วให้ประชาชนตัดสินเอง


– ในจังหวะที่เข้าด้ายเข้าเข็มประชาธิปัตย์จะบอกว่ารัฐธรรมนูญดี ไม่ดีอย่างไร

แน่นอน ถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็จะทรยศต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย ทรยศต่อชาวบ้าน ซึ่งเขาควรจะได้รู้


– ระบบเลือกตั้งใหม่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคอันดับสองได้ประโยชน์

การทำการเมืองจะมาคิดเพียงเราได้ประโยชน์แล้วรับได้ถ้าเสียประโยชน์กับเราแต่สังคมได้ประโยชน์กลับไม่รับ เราก็แย่ ความที่ทำให้พรรคการเมืองนี้ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันการเมืองผมคิดว่ามันก็ไร้ประโยชน์ ไปทำอย่างนั้นไม่ได้ เราต้องดูการพัฒนาการทางการเมืองในวันข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไรมากกว่า ที่คิดว่าพรรคบางพรรคจะแพ้หรือจะได้คะแนนลดลง เอาเข้าจริงไม่แน่ เพราะถ้าเขาสามารถดึงเอาผู้สมัครเลือกตั้งที่เครือข่ายดีๆ มาอยู่ด้วย เพราะคะแนนผู้สมัครพ่วงกับคะแนนพรรค เขาก็ไม่แพ้ แต่การเขียนรัฐธรรมนูญถอยหลังไปสู่การเมืองก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 ความสับสนวุ่นวายในวันนั้นเป็นอย่างไรก็เห็นกันอยู่แล้ว เสถียรภาพของรัฐบาลมีหรือไม่ การต่อรองระหว่างพรรคเล็กพรรคน้อยในสภาอีนุงตุงนังเต็มไปหมด เราต้องการย้อนกลับไปอยู่ในสภาพเช่นนั้นหรือ


– ถ้ากติกาเป็นแบบนี้ประชาธิปัตย์ก็ตกที่นั่งลำบาก ไม่ได้ตกที่นั่งสบาย

มันลำบากด้วยกันทั้งนั้น ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ อันนี้ก็จะตกที่นั่งลำบากด้วยกันเหมือนกัน เพราะมีการพูดถึงคว่ำเพื่อต่ออายุ คสช. วันนี้ถ้ารัฐธรรมนูญมาถึงจุดที่ทำประชามติ แล้วมีการคว่ำ คิดหรือจะไม่มีการพูดว่า อ่า…นี่ต่ออายุกันอยู่แล้ว

ยิ่งในขณะนี้ยังไม่มีทางออกเลยว่าถ้าคว่ำแล้วจะไปอย่างไรต่อไป ก็เท่ากับรอดูก่อนให้มันคว่ำแล้วค่อยคิดหาทางแก้ ดังนั้น ประชาชนควรรู้ต่อว่าถ้าไม่ผ่านประชามติจะมีอะไรตามมา


– เจตนาเรื่องทางออกประชามติที่ยังคลุมเครืออยู่เพราะอะไร

วันนี้ต่างเล่นเกมกัน เพราะฝ่าย กรธ.และที่เกี่ยวข้องคิดว่า เอ๊ะ…ฝ่ายการเมืองมีชั้นเชิงมากเหลือเกิน บางครั้งก็นำสาระของรัฐธรรมนูญไปบิดเบือนให้คนเข้าใจผิด นี่คือการเล่นเกม กลายเป็นว่า กรธ.และที่เกี่ยวข้องจึงต้องการเล่นเกมบ้าง เช่น ถ้าไม่เอาฉบับนี้ก็จะได้ฉบับนั้น ดีไม่ดี คนอาจไม่เอาฉบับนี้เอาเสียเลย ก็เลยให้อึมครึมกันไว้ก่อน


– ยุทธวิธีแบบนี้ใครจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์

สังคมเสียหาย เพราะเท่ากับว่ากำลังสนับสนุนวัฒนธรรมศรีธนญชัยให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา


– รัฐบาลและ คสช. เก็บไพ่ลับทางออกประชามติจะเกิดผลบวกหรือลบอย่างไร

จะเป็นผลลบเพราะขณะนี้เป็นบรรยากาศของการไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ถ้าปล่อยให้อึมครึมต่อไป คนที่มองในทางร้ายก็จะมองในทางร้ายมากขึ้น คนที่ 50-50 ไม่รู้ว่าดีหรือร้ายน่าไว้ใจหรือไม่ วันหนึ่งก็จะเกิดความไม่ไว้วางใจมากขึ้น มีแต่ลบทั้งนั้น

– การปล่อยให้อึมครึมเป็นความตั้งใจหรือไม่

คงไม่ได้ตั้งใจเจตนาเพื่อประสงค์ร้าย แต่เป็นยุทธวิธีว่าอย่าเพิ่งเปิดเผยตอนนี้ดีกว่า เดี๋ยวเปิดตอนนี้คนไม่เอาฉบับนี้ไปเอาฉบับโน้น


– เพราะต้องการให้รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ


เขาต้องการพยายามให้ผ่าน นอกจากพยายามสร้างความเข้าใจ ใช้การตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องพอสมควร มีรายการแกะกล่องรัฐธรรมนูญกันทุกวัน วันละหลายเวลา เราก็เข้าใจ เมื่อสิ่งที่เขาทำขึ้นมามันน่าจะดี เขาก็มีสิทธิใช้ความพยายามเพื่อให้มันผ่าน แต่ภายใต้ความคิดเช่นนั้นต้องเงี่ยหูฟังด้วยว่ากลุ่มนั้นทำไมคิดว่าไม่ดีต้องแก้ไข


– เป็นความพยายามลวงเหมือนกับต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์บวรศักดิ์ผ่าน สปช. แต่สุดท้ายก็ถูกคว่ำหรือไม่

ไม่ได้มองถึงขนาดนั้น เพราะประเทศเดินมาถึงจุดนี้ ความลุ่มๆ ดอนๆ ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในขณะนี้…อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องเริ่มหนักใจแล้วเหมือนกัน(นิ่งคิด) คงเริ่มคิดได้แล้วเหมือนกันว่า การจะอยู่ยาวต่อไปในวันข้างหน้าไม่ใช่เรื่องง่าย เลยมองเพียงว่าก็คงจะด้วยความเชื่อมั่นว่ารัฐธรรมนูญดีแล้วในความรู้สึกของพวกเขา เขาก็อยากให้มันผ่าน

– ถ้ารัฐธรรมนูญถูกคว่ำ แล้วนำฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาใช้ หรือเอาฉบับอาจารย์มีชัยกลับมาใช้ใหม่เป็นไปได้แค่ไหน

ตรงนี้อันตรายมาก เพราะเท่ากับเป็นการท้าทายความรู้สึกของประชาชนโดยตรง (ทุบโต๊ะ) จะกลายเป็นว่า อะไรวะ บอกว่าไม่ผ่านแล้วยังจะเอามาใช้อีกหรือ แต่โอกาสที่จะเป็นไปได้มีประการเดียวคือ ทางที่ดีที่สุด นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 มาใช้ หรือจะนำบทบัญญัติที่ดีของร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์มีชัยเป็นส่วนประกอบได้บ้าง แต่ไม่ใช่เป็นฉบับตั้งต้นหลัก เช่น เรื่องปราบการทุจริต สิทธิเสรีภาพเป็นหน้าที่ของรัฐ

– การเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคประชาธิปัตย์จะอยู่ในบทบาทใดบนกระดานการเมือง

ในฐานะพรรคการเมืองที่ผูกพันกับระบบเลือกตั้ง…ต้องลงเลือกตั้งจึงต้องมีส่วนในการแสดงความคิดความเห็นเพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญที่จะออกมา สังคมรับได้พอสมควร และการเลือกตั้งนี้จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประเทศ หรือการปฏิรูปประเทศให้ดีขึ้นตามที่ทุกฝ่ายต้องการ ก็เท่านั้น

– ในรอบ 10 ปี ปชป.มักได้เป็นรัฐบาลส้มหล่นทุกครั้ง การเลือกตั้งในครั้งต่อไปหวังจะได้ส้มหล่นอีกหรือไม่

ไปคิดถึงเรื่องส้มหล่นคงไม่ได้ มันก็ไม่ใช่พรรคการเมือง พรรคการเมืองต้องเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ เตรียมยืนอยู่บนขาตัวเองอย่างแข็งแรงภายใต้การสนับสนุนของประชาชน นั่นคือจะเป็นทิศทางที่ถูกต้อง ส่วนผลที่เกิดขึ้นตามมาอย่างไรค่อยว่าอีกที


– จุดแข็งหรือจุดขายในการยืนบนขาของตัวเองในการเลือกตั้งครั้งต่อไปคืออะไร

พรรคไม่ได้ละเลยสิ่งนี้พรรคประชาธิปัตย์วิจารณ์ตัวเองและปรับปรุงตัวเองมาตลอด ไม่ได้ละเลย แต่ที่ผ่านมาไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ เพราะติดคำสั่งห้ามของ คสช. แต่ถึงแม้พรรคจะทำอะไรไม่ได้ แต่ก็ต้องคอยเงี่ยหูฟังมาโดยตลอด เพราะกระแสการปฏิรูปค่อนข้างจะสูงมาก

อันดับแรกที่สุดคือ การกอบกู้เศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ไม่แน่ใจว่าเมื่อประเทศเดินไปถึงจุดนั้น เศรษฐกิจภายในประเทศจะเป็นอย่างไร จุดนี้คือเรื่องใหญ่ จุดต่อไปคือเรื่องปฏิรูปประเทศ เช่น การปฏิรูปการศึกษา ตำรวจ ระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ก็ยังนึกเสียดายว่าตั้งแต่ 22 พฤษภาฯ 57 มีการแต่งตั้ง สปช. สปท.ขึ้นมา จนถึงวันนี้ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image