ดุลยภาพ ดุลยพินิจ : สงครามระหว่างธรรมและอธรรม

ชาวโลกฝ่ายต่างๆ มักประหัตประหารกันเพราะความอยากความหวงแหนและมิได้จำกัดอยู่เฉพาะชาววัตถุนิยมที่ไม่สนใจบุญบาปเท่านั้น

กุศลธรรมและอกุศลธรรมปกติมีการแย่งชิงพื้นที่ต่อกัน เมื่ออกุศลธรรมเข้มแข็งกุศลธรรมก็จะถูกรุกรานจนยากลำบากในการดำรงอยู่

สมัยก่อนพุทธกาลมีความศรัทธาในบุญและมีความหลงในบาป การต่อสู้ครั้งใหญ่ระหว่างฝ่ายบุญและฝ่ายบาปหรือระหว่างฝ่ายเทพและฝ่ายมารมีปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาและฮินดูหลายครั้ง

ตัวอย่างสองครั้งแรกที่เก่าแก่ที่สุดคือ “เทวาสุรสงคราม” และ “มหาภารตยุทธ”

Advertisement

“เทวาสุรสงคราม” เป็นมหาสงครามเทพ-อสูรหรือระหว่างเทวดา 2 พวกและมีปรากฏในพระสูตร คนรุ่นหลังมักตีความว่าเทพคือชาวอารยันและอสูรคือชาวอารยันที่ไม่ได้อพยพเข้ามาในอินเดียหากยังคงตั้งหลักแหล่งอยู่ในบริเวณแถบอิหร่านปัจจุบัน

“มหาภารตยุทธ” เป็นสงครามระหว่างฝ่ายธรรมและอธรรมสมัยอาณาจักรกุรุ มหาภารตะเป็นมหากาพย์ยิ่งใหญ่หนึ่งในสองของคัมภีร์ประวัติศาสตร์ของฮินดู มหากาพย์ฉบับต่อมาคือรามายณะหรือรามเกียรติ์ซึ่งว่าด้วยมหาสงครามระหว่างมนุษย์และยักษ์ มหาภารตยุทธเต็มไปด้วยสงครามอันโหดเหี้ยมและไม่ได้รับความนิยมมากนักในสยามแม้ในช่วงที่ลัทธิพราหมณ์รุ่งเรืองในราชสำนักซึ่งนับว่าแตกต่างจากรามเกียรติ์อย่างมาก

มหาสงครามเทพอสูรมีการประหัตประหารกันในหมู่เทพเพื่อแย่งชิงภพสวรรค์ มหาภารตยุทธมีการประหัตประหารกันในหมู่เครือญาติเพื่อแย่งชิงอาณาจักร

Advertisement

ในเทวาสุรสงครามมีฝ่ายเทพและฝ่ายอสูรซึ่งเดิมก็เป็นเทพสู้รบกันโดยมีการผลัดกันแพ้ชนะ

ในมหาภารตยุทธมีฝ่ายธรรมคือฝ่ายปาณฑพ (ผู้สืบสายจากท้าวบัณฑุราช) และฝ่ายอธรรมคือฝ่ายเการพ (กุรุราชวงศ์) ทั้งสองฝ่ายต่างสืบเชื้อสายมาจากท้าวภรต การต่อสู้ระหว่างธรรมและอธรรมเป็นไปอย่างรุนแรงและมีการล้างโคตรเหง้า ชัยชนะของฝ่ายธรรมอาศัยผู้ทรงอำนาจจึงสามารถเอาชนะฝ่ายอธรรมผู้โหดเหี้ยมและมีพลังอำนาจเหนือกว่าได้

ผู้ทรงอำนาจครั้งนั้นคือพระกฤษณะซึ่งเป็นอวตารของพระนารายณ์นั่นเอง

ในมหาภารตะหรือภควัทคีตาของฮินดูการสะสมบุญและการเพ่งจิตด้วยการสาปแช่งเป็นฤทธิ์อำนาจได้แต่ทุกฝ่ายต่างไม่พ้น “กรรมเก่า” ที่เคยกระทำไว้แม้แต่พระกฤษณะผู้ทรงอำนาจก็พบจุดจบ

คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามีการกล่าวถึงเทวาสุรสงครามแต่มิได้กล่าวถึงมหาสงครามภารตยุทธ กุณาลชาดกของพระพุทธศาสนากล่าวถึงเหตุการณ์ตอนหนึ่งที่ตรงกันกับเหตุการณ์ในมหาภารตะ เหตุการณ์นั้นเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายปาณฑพ (อรชุน นกุล ภีมเสน ยุธิษฐิละและสหเทพ) และนางกฤษณาหรือพระนางเทราปตีแต่แย้งกัน

กุณาลชาดกมิได้กล่าวถึงสงครามทุ่งกุรุเกษตรระหว่างกรุงหัสตินาปุระและนครอินทปัตถ์ มีเพียงการที่แคว้นกาสียึดครองแคว้นโกศลได้สำเร็จ

สงครามระหว่างเทพกับมารหรือระหว่างธรรมและอธรรมชี้ว่าการมองของลัทธินอกพุทธศาสนาแตกต่างจากพระพุทธศาสนาอย่างมาก พระพุทธศาสนามองเทพและมารมีภพที่เปลี่ยนแปลงขึ้นสูงลงต่ำได้ ฝ่ายธรรมก็ไม่ต้องพึ่งผู้ทรงอำนาจในการทำลายล้างฝ่ายอธรรม มนุษย์ต้องใช้ปัญญาตัดสินให้ถูกต้องด้วยตนเอง สามารถสร้างความเข้มแข็งและเผยแผ่ความถูกต้องออกไป

ภายหลังพระพุทธองค์ทรงประกาศแนวทางการเผยแผ่พระธรรมในวันจาตุรงคสันนิบาตได้มีการจัดตั้งสำนักขึ้นเป็นลำดับ มีพระวินัยในการปกครองหมู่คณะและมีวิหารอารามในการฝึกฝนอบรม นี้จึงเป็นการเพิ่มพลังของกุศลธรรมและโลกุตรธรรมซึ่งย่อมลดพลังอำนาจของฝ่ายอกุศลธรรมได้อย่างมากมายและรวดเร็วในสมัยนั้น

การเคลื่อนไปของธรรมจักรเป็นเช่นเดียวกับการเคลื่อนไปของฝ่ายวัฏจักร กล่าวคือต้องมีกำลังพลที่ทำหน้าที่ในการปกป้องและขยายอาณาเขตแห่งการเคลื่อนไหวด้วย กำลังพลนี้น่าจะเรียกว่า “พลกาย” ซึ่งหมายถึงองคาพยพที่มีพละกำลังและความรู้ความสามารถ

กำลังพลของพุทธสาวกหรือกองทัพธรรมคือพระภิกษุสาวก อัครมหาเสนาบดีคือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ เสนาบดีอื่นๆ ได้แก่ พระมหากัสสปะ พระมหากัจจายนะ พระอานนท์ และพระอุบาลี เป็นต้น

ฝ่ายมิจฉาทิฏฐิมีกำลังพลเช่นกัน มีนักบวช มีสาวกและมีองค์อุปถัมภ์ พระราชาสมัยนั้นนับถือนิครนถ์และเดียรถีย์อื่นมากทีเดียว บางส่วนวิพากษ์วิจารณ์คำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างผิดๆ ซึ่งพระภิกษุก็มีการทูลถวายพระพุทธองค์ การรบกวนและรุกรานของฝ่ายมิจฉาทิฏฐิย่อมมีผลบ่อนทำลายต่อความเข้มแข็งของพุทธบริษัทด้วย

ในพระสูตรมีปรากฏหลายครั้งที่พระพุทธองค์ทรงไต่ถามความเป็นไปของคำสอนที่ชาวโลกกำลังให้ความสนใจและทรงให้ความกระจ่างเกี่ยวกับความเชื่อผิดๆ เหล่านั้น บางพระสูตรปรากฏเหตุการณ์ที่พุทธสาวกต้องติดตามความเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ ว่าเป็นไปอย่างไรซึ่งก็คงเป็นไปเพื่อติดตามสภาพการณ์ที่เป็นจริงและดำเนินการให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นไปนั้นๆ

ในสัตตชฎิลสูตรพระพุทธองค์ครั้งประทับที่ปราสาทบุพพารามของนางวิสาขาทรงตอบข้อสงสัยของพระเจ้าปเสนทิโกศลที่เห็นชฎิล ปริพาชก นิครนถ์ อเจลกและเอกสาฎกอย่างละ 7 คน ซึ่งดูรกรุงรังแต่กลับเดินผ่านที่ประทับของพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลว่าลักษณะของนักบวชเหล่านั้นเป็นเพียงภาพภายนอกจากการเดินทางไปสอดแนมในชนบทต่างๆ

พุทธสาวกในสมัยนั้นจึงมิได้ทิ้งชาวโลกให้อยู่กับอธรรม มีการติดตามความเป็นไปของชาวโลกและชี้นำให้เดินไปในทางที่เป็นกุศล นี้นับว่าเป็นความกรุณาที่พุทธสาวกผู้อริยะสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ชาวโลกได้

การต่อสู้ระหว่างธรรมและอธรรมจึงคล้ายคลึงกับการต่อสู้ในสงครามระหว่างอาณาจักรกับอาณาจักร ฝ่ายกุศลธรรมและฝ่ายอกุศลธรรมต่างมีฝ่ายนำที่บัญชาการอาณาจักร มีเสนาบดี กำลังพลและมวลชนพสกนิกร

ฝ่ายอธรรมมีพญามาร มีเสนามารและมีเหล่ามารทั้งหลายประกอบเป็นทัพจนถึงแผนกงานมวลชนและโฆษณาชวนเชื่อ เมื่อเข้มแข็งก็รุกรานฝ่ายธรรม มีมารที่เป็นกำลังพลขยายปริมณฑลออกไป มีเสนามารสร้างความเข้มแข็งและช่วยบัญชาการให้พญามาร

ถ้าฝ่ายธรรมมีการจัดตั้งเช่นมีพระวินัยที่เข้มแข็งหรือมีภูมิต้านทานที่ดีก็อาจสามารถรักษาปริมณฑลได้มาก ถ้าต้านการรุกเข้ามาของเสนามารไม่ได้ก็เข้าสู่ความเสื่อมถอยและกระจัดกระจายไปตามยถากรรม

ฝ่ายธรรมมักอ่อนด้อยกว่าเพราะมักขาดการนำ ขาดทัพและขาดการจัดตั้งอันเป็นปกติวิสัยของปุถุชนทั่วไปที่หาเช้ากินค่ำและมิได้มุ่งหวังเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน

หลายศาสนามีการจัดตั้งที่ยกระดับพลังขึ้นมาแต่อาศัยพระผู้เป็นเจ้าหรือผู้ทรงอำนาจเป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธา ศาสนามีวิหาร มีโบสถ์ มีสุเหร่า มีนักบวช มีสาวกกึ่งนักบวช มีมวลชนและมีฝ่ายเผยแพร่ เหล่านี้เปรียบเสมือนอินทรีย์ ถ้าเป็นชาวพุทธอินทรีย์ต้องมีปัญญาเพื่อให้ครบถึงอินทรีย์ทั้งห้า

ความว่องไวในการรับรู้คืออินทรีย์ กำลังของอินทรีย์คือพละ

ภารกิจในการสอดแนมอาจเปรียบได้กับอินทรีย์ที่ต้องอาศัยความศรัทธา อาศัยความเพียร มีสติที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มีสมาธิที่ตั้งใจจริงและมีปัญญาที่เข้าใจสภาพการณ์ต่างๆ

ในการปะทะกันฝ่ายอธรรมย่อมเลือกโจมตีที่อินทรีย์ก่อน ถ้าอินทรีย์อ่อนแอฐานที่มั่นก็แตกโดยง่าย อินทรีย์ส่วนที่เปราะบางจึงมักถูกโจมตีก่อน

พระพุทธศาสนาส่งเสริมความสมัครใจ ไม่อาศัยผู้ทรงอำนาจเป็นปัจจัยชี้ขาดจากภายนอก จึงต้องอาศัยความศรัทธาในปัญญาด้วย การที่พระราชาหรือผู้ปกครองเข้าใกล้ศีล สมาธิและปัญญามีส่วนทำให้พระพุทธศาสนาในอดีตมีจัดตั้งอย่างเป็นทางการและได้รับการทำนุบำรุง

พระพุทธศาสนาของไทย มอญและพม่าเคยมีพระราชาเป็นองค์อุปถัมภ์และมีฝ่ายปกครองสงฆ์ดูแลส่งเสริมคันถธุระและวิปัสสนาธุระรวมทั้งรักษาพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ฝ่ายปกครองสงฆ์มีพระสังฆราชเป็นผู้นำซึ่งก็ต้องอนุวัตรการปกครองให้เป็นไปตามอำนาจของฝ่ายปกครองบ้านเมืองด้วย

พระพุทธศาสนาส่งเสริมกุศลธรรมและรักษาโลกุตรธรรมให้ดำรงตั้งมั่น มีการนำ มีกำลังพล มีวัด มีโบสถ์ มีวิหาร มีสำนักสงฆ์ มีสำนักปฏิบัติธรรมและมีองค์กรที่รับผิดชอบการเผยแผ่เช่นมหาวิทยาลัยสงฆ์และวัดที่ศูนย์ศึกษาและโครงการปฏิบัติธรรม ไม่เร่ร่อนหรือถูกทำร้ายโดยง่าย

ฝ่ายธรรมทั้งหมดนับว่ายังอ่อนด้อยมากเมื่อเทียบกับฝ่ายวัตถุนิยมที่พยายามก้าวไปตามกระแสของโลก ฝ่ายวัตถุนิยมไม่แยกแยะธรรมและอธรรมจึงมักถูกอธรรมครอบงำ

สงครามระหว่างธรรมและอธรรมมีฝ่ายใดเป็นผู้ชนะนั้นอยู่ที่ใจของตนว่าจะตีความอย่างไรหรือมีสังขารอย่างไร ถ้าวัดจากวัตถุหรือรูปภายนอกฝ่ายอธรรมซึ่งมีกำลังทางวัตถุมากและไม่ต้องคำนึงถึงกลวิธีจึงได้เปรียบและมักได้รับชัยชนะ ในขณะที่สาธุชนมักต้องหลีกเร้นสู่ความสงบ

สงครามมีมูลเหตุจากจิตวิญญาณ สมรภูมิเริ่มต้น ท่ามกลางและบั้นปลายจึงอยู่ที่ใจ

เมื่อธรรมเกิดในใจของผู้มีอำนาจทางการปกครอง ฐานมวลชนและประชาสังคมก็ย่อมเดินตาม การปกครองมีการตัดสินใจที่คำนึงถึงศีลและมีความสุขุมรอบคอบ สังคมไม่แตกแยกก้าวร้าว มีองครักษ์และมีความปลอดภัย

การเคลื่อนไปของธรรมจักรก็จะคล่องตัว มีพลานุภาพและเป็นที่พึ่งของชาวโลกได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image