เผด็จการดิจิทัลกับวิกฤตสื่อโซเชียล : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

หลายปีที่ผ่านมา คำว่า ประชาธิปไตยดิจิทัล และพลเมืองดิจิทัล ดูจะเป็นคำที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง และดูเหมือนจะมีความหวังกันอยู่มากว่าเทคโนโลยีทางการสื่อสารและการประมวลผลใหม่ๆ จะมีส่วนในการขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบการเมือง

แต่สิ่งที่ควรสังเกตเอาไว้ในการศึกษาเรื่องของเทคโนโลยีกับสังคมก็คือ การศึกษาเรื่องเทคโนโลยีกับผลกระทบกับสังคมนั้นมีสองแนวทางใหญ่ๆ เป็นพื้นฐาน (ปัจจุบันมีคำอธิบายที่สลับซับซ้อนกว่านี้อีกมาก)

หนึ่ง เราเชื่อว่าเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดสังคม (การเมืองและเศรษฐกิจ วัฒนธรรม) เช่น เราแบ่งยุคสมัยตามเทคโนโลยี จากยุคหินสู่ยุคไอน้ำ น้ำมัน หรืออื่นๆ หรือ ยุค 1.0 ไล่เรียงมาถึงยุค 4.0 หรือการพูดถึงยุคอนาล็อกและยุคดิจิทัล

สอง เราพยายามเข้าใจว่าสังคมต่างหากมีส่วนในการก่อรูปและกำหนดการใช้เทคโนโลยี อาทิ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่มีอยู่ไม่ได้ทำให้เทคโนโลยีที่ถูกนำเข้าในสังคม หรือแม้กระทั่งถูกคิดค้นในสังคมนั้นจะถูกนำมาใช้อย่างปราศจากอคติและผลประโยชน์ หากแต่เทคโนโลยีถูกใช้โดยผู้คนในสังคมนั้นท่ามกลางบริบททางสังคมการเมืองเศรษฐกิจ อาทิ ประชาชนก็พยายามนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อขยายอำนาจของตน แต่รัฐที่กดขี่ประชาชนหรือมีอำนาจเหนือประชาชนและมีทรัพยากรที่เข้มข้น กว่าก็สามารถนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ประโยชน์ต่อการรักษาและขยายอำนาจของตนเองได้เช่นกัน

Advertisement

ผมยังจำได้ว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อนที่ผมเริ่มสนใจเรื่องของบทบาทของอินเตอร์เน็ตหรือเทคโนโลยีดิจิทัลกับการเมือง ประเด็นที่ถกเถียงกันในสังคมของเราเป็นเรื่องที่เริ่มจากความเชื่อว่าเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตและดิจิทัลจะปลดปล่อยเราออกไปจากพันธนาการเดิมๆ เราจะใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารและร่วมกันตัดสินใจได้มากขึ้น สังคมจะเกิดการปรึกษาหารือและเกิดพื้นที่สาธารณะใหม่ที่เต็มไปด้วยเหตุผล และเชื่อว่าเทคโนโลยีการเชื่อมต่อใหม่ๆ นี้มันมีความเป็นประชาธิปไตยโดยตัวของมันเอง

ยังจำได้ว่าข้อถกเถียงสมัยนั้นต่อความฝันใฝ่ถึงโลกประชาธิปไตยอุดมคติมักจะเป็นเรื่องว่าการเข้าถึงโลกใหม่ผ่านเทคโนโลยีใหม่นี้ยังไม่ได้เปิดกว้างต่อผู้คนจำนวนมาก จำนวนผู้คนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตยังไม่ถึงล้านคนในประเทศ ขณะที่ในปัจจุบันจำนวนเข้าหลักห้าสิบล้านไปแล้ว และหลายเรื่องก็มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เปิดกว้างขึ้น

แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐก็ไม่ได้ยินยอมให้เทคโนโลยีใหม่ลดทอนอำนาจของตน เราจะพบว่าการเกิดขึ้นของกฎหมายใหม่ๆ ที่ลดทอนสิทธิเสรีภาพ รวมไปถึงความริเริ่มและขยายอำนาจการควบคุมสอดส่องผู้คนในโลกใหม่ก็ทวีความสำคัญในฐานะภารกิจรัฐมากขึ้นไปอีกด้วยการนำเข้าระบบการสอดส่องด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังที่ได้ปรากฏขึ้น

Advertisement

สิ่งที่ได้นำมาบอกเล่านี้จะบอกว่าประเทศของเราเป็นประเทศที่เสรีภาพในโลกอินเตอร์เน็ตลดลงอยู่ประเทศเดียวก็คงจะไม่ใช่ แถมยังสอดคล้องกับความเป็นไปของโลกเข้าไปอีกหากพิจารณาจากรายงานฉบับล่าสุดขององค์กร Freedom House ที่นำเสนอรายงานเรื่องของเสรีภาพสื่อในปี 2019 (Freedom on the Net 2019) โดยใช้ชื่อรายงานที่สรุปสถานการณ์ของโลกว่า “วิกฤตสื่อโซเชียล” (The Crisis of Social Media)

รายงานฉบับดังกล่าวนี้สำรวจเสรีภาพในอินเตอร์เน็ตของประเทศ 65 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 87 ของจำนวนประชากรที่ใช้อินเตอร์เน็ตในโลก

คําสำคัญที่ชี้รายงานฉบับนี้นำเสนอก็คือเผด็จการดิจิทัล (digital authoritarianism) ที่รวมตั้งแต่รัฐบาลที่ปกครองด้วยระบอบที่กดขี่ รัฐบาลเลือกตั้งที่อยู่ในอำนาจแต่มีความมุ่งหมายที่จะรวบอำนาจเอาไว้ และฝักฝ่ายทางการเมืองที่ไม่ได้ยึดมั่นหลักการประชาธิปไตย ได้พยายามที่จะเข้ามาจัดระบบระเบียบและหาประโยชน์จากโลกอินเตอร์เน็ตรวมทั้งยังพยายามใช้สิ่งเหล่านี้ในการเป็นเครื่องมือในการควบคุมทางสังคม และบิดเบือนประเด็นทางการเมือง

จากสถิติในภาพรวมแล้ว ประชากรในโลกในวันนี้ประมาณเกือบสี่พันล้านคนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต แต่ร้อยละ 71 อาศัยในประเทศที่ประชาชนนั้นสามารถถูกจับกุมและเข้าคุกจากการโพสต์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง สังคม หรือศาสนา และร้อยละ 65 อยู่ในประเทศที่อาจจะถูกทำร้ายหรือฆ่าจากกิจกรรมออนไลน์

ยังมีคนถึงร้อยละ 59 เราอยู่ในประเทศที่รัฐบาลยังสามารถใช้บรรดานักวิจารณ์การเมืองที่มีจุดยืนสนับสนุนรัฐบาลในการเข้ามีบทบาทในการครอบงำและบิดเบือนการถกเถียงสนทนาในโลกออนไลน์ และร้อยละ 56 ยังอยู่ในประเทศที่มีการปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาทางด้านการเมือง สังคม หรือศาสนา

รวมไปถึงร้อยละ 46 ของผู้คนที่ยังอยู่ในประเทศที่รัฐบาลสามารถปิดกั้นเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและการสื่อสารเคลื่อนที่ด้วยเงื่อนไขทางด้านการเมืองเสียเป็นส่วนมาก และจำนวนสัดส่วนเดียวกันนี้ยังเป็นของผู้คนที่อยู่ในประเทศที่การเข้าถึงสื่อโซเชียลอาจจะถูกจำกัดได้

วิธีการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ของรายงานเรื่องเสรีภาพออนไลน์นี้ ใช้การสอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญจำนวน 70 คน และมุ่งประเด็นไปที่เรื่องหลัก 3 เรื่องคือ การเข้าถึงอินเตอร์เน็ต เสรีภาพในการแสดงออก และประเด็นความเป็นส่วนตัว และยังจัดลำดับเสรีภาพในโลกอินเตอร์เน็ตรวมทั้งบ่งชี้ถึงทิศทางในที่กำลังสถานะจะเกิดขึ้น

จากข้อมูลของ 65 ประเทศ งานวิจัยพบว่าในปีนี้เสรีภาพอินเตอร์เน็ตของประเทศถึง 33 ประเทศลดลง มีเพียง 16 ประเทศเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น ประเทศในโลกที่มีเสรีภาพอินเตอร์เน็ตนั้นมีเพียงร้อยละ 20 ขณะที่ประเทศถึงร้อยละ 32 อยู่ในสถานะที่มีเสรีภาพบางส่วน และร้อยละ 35 นั้นอยู่ในสถานะที่ไม่มีเสรีภาพ

ประเทศไทยอยู่ในสถานะที่ไม่มีเสรีภาพในอินเตอร์เน็ต โดยตัวชี้วัดสำคัญที่ถูกระบุในแผนที่โลกคือเรื่องของการที่มีการออกกฎในการกำกับดูแลการหาเสียงออนไลน์ที่เข้มงวดและมีการฟ้องร้องคดีกับพรรคฝ่ายค้านในเรื่องของการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างของปรากฏการณ์โลกในเรื่องของการแทรกแซงทางดิจิทัลในกระบวนการเลือกตั้ง

ข้อค้นพบในระดับโลกที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือ การทำให้โลกดิจิทัลหรือโลกอินเตอร์เน็ต/โลกออนไลน์กลายเป็นสนามการต่อสู้ทางการเมือง โดยเฉพาะการแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งทางดิจิทัล ซึ่งมีด้วยกันสามรูปลักษณะ

1.การใช้มาตรการทางข้อมูลข่าวสาร (informational measures) อาทิ การโฆษณาชวนเชื่อ การสร้างข่าวปลอม การจ่ายเงินให้กับนักวิเคราะห์ การใช้ระบบจักรกลในการส่งข้อมูล (bot) และการเข้าไปยึดครองโจมตีบัญชีโซเชียล นอกจากนี้ผลการค้นพบในปีนี้ยังมีเรื่องการระบุถึงเครือข่ายการทำงานร่วมกันของรัฐบาล สำนักข่าวที่สนับสนุนรัฐบาลและกลุ่มบริษัทที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลในการสร้างบรรยากาศการเคลื่อนไหวและการชุมนุมออนไลน์ รวมทั้งการที่การเมืองออนไลน์มีเรื่องของการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของกลุ่มประชานิยมและขวาจัดมากขึ้นด้วย และพรรคการเมืองเองก็มีส่วนในการสร้างเครือข่ายออนไลน์ดังกล่าวเช่นกัน

2.มาตรการทางเทคโนโลยี (technical tactics) หมายถึงการเชื่อมต่อ การปิดกั้นสื่อโซเชียล และการโจมตีออนไลน์จากผู้กระทำการภายในประเทศต่อบัญชีออนไลน์ หรือเว็บหรือสื่อออนไลน์ที่มีเนื้อหาทางการเมือง ทั้งนี้ รวมไปถึงการนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและสอดส่องเนื้อหาและความเป็นส่วนตัวของประชาชน

แต่ในประเด็นเรื่องของการใช้อำนาจทางเทคโนโลยีในการสอดส่องประชาชนนี้ ทางฝ่ายผู้ชุมนุมเองก็พยายามต่อสู้เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของเขา อาทิ การใช้ที่ปิดจมูกและการส่องไฟกลับเพื่อไม่ให้ระบบการจดจำใบหน้าของรัฐนั้นติดตามสอดส่องได้ดังกรณีของผู้ประท้วงของฮ่องกง

3.มาตรการทางกฎหมาย (legal tactics) อาทิ การจับกุมประชาชนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง และการออกกฎระเบียบใหม่ๆ ที่ใช้ลงโทษกิจกรรมออนไลน์

ในรายงานฉบับนี้ยังชี้ให้เห็นว่าการจับตาสอดส่องสื่อโซเชียลในโลกนี้มีด้วยกันหลายมิติ ตั้งแต่การละเมิดความเป็นส่วนตัว การส่งเสริมให้เกิดการดูถูก เลือกปฏิบัติหรือมีอคติต่อกัน การข่มขู่ต่อสิทธิของผู้อพยพ การจำกัดการแสดงความคิดเห็น การไม่สนับสนุนให้เกิดการรวมตัว การสกัดขัดขวางการรวมตัว และการทำลายกระบวนการยุติธรรม

ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจในรายงานฉบับนี้ แต่ผมเองก็อยากจะจับตาดูว่าในกรณีของบ้านเรานั้น แม้ว่าจะถูดมองว่าไม่มีเสรีภาพในโลกออนไลน์ แต่ท่ามกลางขีดจำกัดเหล่านี้ ประชาชนจะใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่เขามีในการต่อสู้ต่อรองกับระบอบเผด็จการดิจิทัลได้มากน้อยแค่ไหน

และประเด็นท้าทายสำคัญก็คือทั้งการเชื่อมต่อโลกออนไลน์กับโลกออฟไลน์เข้าด้วยกัน อีกทั้งการสื่อสารกับฝ่ายที่สนับสนุนโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ให้มีความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้นได้เพิ่มขึ้นอย่างไร เพื่อเปลี่ยนผ่านสังคมไปด้วยกันท่ามกลางข้อจำกัดมากมายมหาศาลที่เราเห็นๆ กันอยู่

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

ยิ่งไม่ทำความผิดอะไร ยิ่งต้องกลัวกฎหมายความมั่นคงโลกดิจิทัล โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

มากกว่าการเจาะระบบและกดเอฟห้า การเคลื่อนไหวทางสังคมในยุคดิจิทัล // โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image