สงครามที่ไม่จบในยูเครน! : สุรชาติ บำรุงสุข

หลังจากรัฐบาลรัสเซียตัดสินใจเปิดสงคราม เพื่อรุกเข้าสู่เป้าหมายในยูเครนในวันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาแล้ว สถานการณ์สงครามทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อันส่งผลให้เกิดการประเมินจากหลายฝ่ายในช่วงก่อนสุดสัปดาห์ว่า กรุงเคียฟซึ่งเป็นเมืองหลวงนั้น น่าจะไม่สามารถอยู่รอดได้เกิน 24 ชั่วโมง หรืออย่างน้อยในช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา (26-27 กุมภาพันธ์) น่าจะเป็นการปิดฉากสงครามด้วยการที่กองทัพรัสเซียเข้าควบคุมยูเครนได้ทั้งประเทศ พร้อมกับนำไปสู่การจัดตั้ง “รัฐบาลหุ่น” ที่เป็น “รัฐบาลนิยมรัสเซีย” เหมือนเช่นที่เราเห็นในเบลารุสในปัจจุบัน

แต่ความคาดหวังเช่นนั้นสำหรับประธานาธิบดีปูติน ดูจะไม่จบลงง่ายนัก แม้ศักยภาพทางทหารของรัสเซียจะเหนือกว่าอย่างมาก จนหากเปรียบเทียบทำเนียบกำลังรบแล้ว แทบจะมองไม่เหมือนโอกาสอยู่รอดของรัฐบาลยูเครนแต่อย่างใด หากย้อนเวลากลับไปเมื่อเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมาจะพบว่า รัฐบาลยูเครนตัดสินใจสู้เต็มที่ และขณะเดียวกัน แรงต่อต้านของประชาชนยูเครนเข้มแข็งมากกว่าที่ผู้นำรัสเซียประเมิน

อย่างไรก็ตาม ผู้นำรัสเซียอาจจะอยู่ใน “จินตนาการเก่า” ที่เชื่อว่า เมื่อกองทัพรัสเซียเปิดการรุกเข้าไปในดินแดนของยูเครนแล้ว ประชาชนยูเครนจะออกมาต้อนรับพร้อมช่อดอกไม้ และส่งเสียงสรรเสริญรัฐบาลมอสโคว์ ดังเช่นในอดีตของช่วงปลายยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพของสหภาพโซเวียตเข้าไปปลดปล่อยประเทศในยุโรปตะวันออกให้พ้นจากการยึดครองนาซี อีกทั้ง จินตนาการเช่นนี้ยังสะท้อนให้เห็นได้จากทัศนะที่ประธานาธิบดีปูตินออกมากล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องส่งกำลังทหารเข้าสู่ดินแดนของยูเครนเป็นเพราะว่า ยูเครนกำลังถูกทำให้เป็น “รัฐนาซี” รัสเซียจึงต้องเข้ามา “ปลดปล่อย”

ทัศนะเช่นนี้ อาจจะไม่สามารถ “สื่อสารทางการเมือง” เพื่อขาย “วาทกรรมต่อต้านนาซี” ให้แก่สังคมระหว่างประเทศได้จริง เพราะสถานการณ์ในยูเครนไม่มีทิศทางเป็นเช่นนั้น เว้นแต่การนำเสนอการต่อต้านนาซีเป็น “วาทกรรมลวง” เพราะสิ่งที่รัสเซียกำลังเผชิญคือ การมาของ “กระแสประชาธิปไตย” ในยูเครนต่างหาก โดยเฉพาะหลังจากการโค่นล้มรัฐบาลที่นิยมรัสเซียของยูเครนในปี 2014 ด้วยการเปิดการชุมนุมใหญ่ของประชาชนที่จัตุรัสใจกลางกรุงเคียฟแล้ว ผู้คนในสังคมยูเครนมีความรู้สึกในทางการเมืองว่า พวกเขาอยากเข้าไป “ใกล้ชิด” กับฝ่ายตะวันตก มากกว่าการต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซีย เช่นที่ยูเครนเคยต้องสูญเสียสถานะของความเป็น “รัฐเอกราช” ไปตั้งแต่หลังการปฎิวัติรัสเซียแล้ว

Advertisement

แน่นอนว่า ทัศนะที่เอนเอียงไปทางตะวันตกของยูเครนนั้น มีนัยสำคัญทางด้านความมั่นคง เพราะด้านหนึ่ง ทัศนะเช่นนี้จะเปิดโอกาสโดยตรงให้ฝ่ายตะวันตกสามารถขยายอิทธิพลของตนเข้าประชิดแนวชายแดนของรัสเซียได้ในทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอิทธิพลเช่นนี้มีนัยถึง การขยายอิทธิพลของสหรัฐ สหภาพยุโรป (หรืออียู) และเนโต้ การกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้สถานะด้านความมั่นคงของรัสเซียมีความเปราะบางในตัวเองอย่างมาก อันมีนัยว่า รัสเซียจะไม่มีพื้นที่ “เขตรัฐกันชน” ระหว่างอิทธิพลของตะวันตกกับแนวชายแดนของรัสเซียเช่นในยุคสงครามเย็น จนอาจต้องยอมรับว่า สภาวะเช่นนี้คือ “ข้อกังวลใจ” ของผู้นำรัสเซียมาโดยตลอด และเงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์เช่นนี้บ่งชี้ให้เห็นถึงการจัด “ระเบียบใหม่ด้านความมั่นคงของยุโรปในยุคหลังสงครามเย็น” ซึ่งในระเบียบเช่นนี้ รัสเซียมีสถานะที่อ่อนแอ และพื้นที่ขนาดใหญ่ในการควบคุมเดิมจะแยกตัวออก

แต่ในอีกด้าน ก็อาจต้องยอมรับความเป็นจริงในทางภูมิรัฐศาสตร์ของยุคหลังสงครามเย็น ที่มีนัยถึงการแยกตัวออกของบรรดารัฐที่เคยอยู่ภายใต้การควบคุมของสหภาพโซเวียตแต่เดิม อันทำให้รัฐเหล่านี้มีสถานะเป็น “รัฐเอกราช” นับจากการสิ้นสุดของสงครามเย็นและการล่มสลายของระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ในปี 1991-92 อีกทั้ง สภาวะเช่นนี้สะท้อนถึงการลดลงของอิทธิพลรัสเซียในเวทีโลกในยุคหลังสงครามเย็นอีกด้วย และทั้งเป็นสัญญาณทางการเมืองว่า รัสเซียไม่ใช่ “รัฐมหาอำนาจใหญ่” ในแบบเดิมอีกต่อไป

ฉะนั้น การเปิด “สงครามยูเครน” จึงมีอาการของ “นัยทับซ้อน” ของปัญหาต่างๆ ที่ผู้นำรัสเซียเผชิญทั้งในทางจิตวิทยาและในทางการเมือง สงครามครั้งนี้ในด้านหนึ่งจึงเป็นความต้องการที่จะส่งสัญญาณให้เกิดการ “จัดระเบียบใหม่” และเป็นระเบียบที่จะต้องยอมรับถึงสถานะที่เข้มแข็งของรัสเซียดังเช่นในยุคสงครามเย็น อีกทั้ง ยังต้องยอมรับถึงการขยายอิทธิพลของรัสเซียเข้าไปควบคุมพื้นที่รัฐที่เคยแยกตัวออก และโลกตะวันตกต้องไม่ก้าวเข้ามาสู่พื้นที่ดังกล่าว

Advertisement

หากเปรียบเทียบในสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว รัสเซียอาจจะยอมรับในความเป็นรัฐเอกราชของยูเครน แต่ก็ต้องเป็นรัฐเอกราชในแบบเบลารุส ที่ดำรงความใกล้ชิดทางการเมืองกับรัสเซีย และไม่ตอบรับกับการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับฝ่ายตะวันตก ที่สำคัญอย่างมากคือ จะต้องไม่เข้าร่วมกับเนโต้ เบลารุสจึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีเช่นนี้ ซึ่งอาจจะแตกต่างจากไครเมียหรือพื้นที่ของดอนบาสที่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียโดยตรง หรืออาจกล่าวในทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียได้ว่า รัฐยูเครนจะมีสถานะอยู่ใน “เขตอิทธิพล” ของรัสเซีย และตะวันตกจะต้องไม่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทั้งในทางการเมืองและความมั่นคง

แน่นอนว่า ผู้นำรัฐบาลและประชาชนยูเครนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดเช่นนั้น ระยะเวลา 30 ปีของการเป็นรัฐเอกราช ไม่ได้ทำให้พวกเขาอยากพาประเทศของตัวเองกลับไปอยู่ภายใต้รัสเซียอีกครั้ง อีกทั้ง เป็น 30 ปี ที่พวกเขาตระหนักว่า เขาอยากสร้างยูเครนเป็น “รัฐประชาธิปไตย” และเชื่ออย่างมีนัยสำคัญว่า การเป็นรัฐเอกราชจะเป็นหนทางที่ยูเครนจะไม่ถูกทำให้เป็น “รัฐเผด็จการ” และการต่อสู้เพื่อขับไล่ผู้นำเผด็จการที่เป็นสาย “นิยมรัสเซีย” ในปี 2014 คือคำตอบในทางการเมือง

การต่อสู้เพื่อความเป็นรัฐเอกราชของชาวยูเครนในครั้งนี้มีราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก เพราะต้องแลกด้วยการต้องเผชิญกับภัยสงครามของรัฐมหาอำนาจใหญ่ และยิ่งเมื่อรัฐบาลรัสเซียออกสั่งให้กองกำลังอาวุธนิวเคลียร์ของตนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์สงครามแล้ว ดูเหมือนราคาของเอกราชครั้งนี้จะมีเดิมพันสูงยิ่ง

ขณะเดียวกันในการต่อสู้ครั้งนี้ เราได้เห็นถึงจิตใจของ “ผู้รักเอกราช” ของชาวยูเครนที่มีความเป็นเอกภาพและตัดสินใจสู้กับกองทัพรัสเซียอย่างกล้าหาญ จนสามารถต้านทานการรุกของกองทัพรัสเซียได้อย่างคาดไม่ถึง อันเสมือนกับกองทัพและประชาชนยูเครนสามารถ “ตรึง” แนวรบไว้ได้อีกด้วย

วันนี้ “หมีใหญ่” แห่งรัสเซียดูจะไม่สามารถตะปบเหยื่อ “ตัวน้อย” ที่ยูเครนได้ง่ายๆเสียแล้ว!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image