ดุลยภาพดุลยพินิจ : ประชานิยมการให้และการขอ

จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถเก่าวัดโบสถ์สามเสน ชูชกหลอกถามทางจากพรานเจตบุตร เพื่อการขอที่จะเบียดเบียนพระเวสสันดร

การปกครองต่างต้องการความยินดีของราษฎร ข้อจำกัดและวิธีคิดของผู้ปกครองต่างหากที่มักแตกต่างกัน ความรุ่งเรืองและความชำรุดของการปกครองในแต่ละขณะก็มีอิทธิพลสำคัญ

ราษฎรย่อมยินดีเมื่อได้รับการสงเคราะห์จากรัฐ ถ้าการสงเคราะห์มีไม่เพียงพอในยามที่สังคมประสบกับความขาดแคลนการปกครองก็จะประสบกับความไม่ราบรื่นและความรุนแรงต่างๆ

ในปัจจุบันผู้มีอำนาจทางการเมืองที่แสวงหาการยอมรับจากประชาชนและเรียนรู้ความสำคัญของฐานมวลชนจะทุ่มงบประมาณให้เป็นพิเศษเพื่อสร้างฐานมวลชนจำนวนมากให้แก่ตน

ในสังคมที่ถดถอยทางเศรษฐกิจแต่เข้มข้นทางการเมืองการแย่งชิงมวลชนจะยิ่งอาศัยมาตรการที่ทุ่มงบประมาณให้ฐานมวลชนให้มากยิ่งขึ้นไปอีก

Advertisement

การให้ทางเศรษฐกิจและการเงินของรัฐบาลเพื่อผลทางการเมืองอย่างมากนี้เรียกว่า “ประชานิยมสมัยใหม่” (Modern Populism)

ประชานิยมสมัยใหม่มีลักษณะพิเศษ 4 ประการ หนึ่ง มีเป้าหมายประชากรที่เป็นฐานเสียงใหญ่เช่นคนจนเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้ง สอง ใช้ทรัพยากรของผู้เสียภาษีอากร หรือของสังคม สาม มักเป็นนโยบายทั่วไป หรือโครงการขนาดใหญ่ที่ให้คะแนนนิยมทางการเมือง และสี่ มักเป็นการให้ที่ประชาชนมิได้จำเป็น หรือไม่รู้สึกว่าต้องร้องขอ แต่สามารถกระตุ้นความอยากเชิงการตลาดได้

ประชานิยมที่ใช้ลัทธิการเมืองและมาตรการเศรษฐกิจผนวกกันนี้เริ่มเจริญรุ่งเรืองในละตินอเมริกาและมีการใช้ในอีกหลายประเทศ ซึ่งมักเป็นประเทศที่กำลังประสบกับความเสื่อมทรุดทางเศรษฐกิจและมีการแย่งชิงอำนาจผ่านระบบการเลือกตั้ง

Advertisement

ความแพร่หลายของประชานิยมมาจากความไม่จำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบเศรษฐกิจของส่วนรวม การตอบสนองความต้องการของประชาชนที่มีสิทธิทางการเมืองและการให้ของรัฐบาลในช่วงที่จะต้องออกเสียงเลือกตั้งมีความสำคัญต่อผู้นำทางการเมืองมากกว่า

โครงการประชานิยมมักไม่ตระหนักถึงฐานะทางการคลังของรัฐและทรัพยากรของสังคมว่าจะเพียงพอและมีความคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการอื่นๆ เมื่อฐานะทางการคลังไม่เอื้ออำนวยก็อาศัยการก่อหนี้ที่เสี่ยงมากขึ้น

ประชานิยมอาจอยู่ในรูปของนโยบายที่แทรกแซงการทำงานของกลไกเศรษฐกิจให้ฐานเสียงได้รับประโยชน์เกินปกติมากๆ นโยบายที่อาจทำให้เป็นแบบประชานิยมได้จึงมีมากมาย อาทิ การกำหนดค่าจ้างของคนงานและแม่บ้าน การจัดตั้งมหาวิทยาลัยและกองทุนให้เขตเลือกตั้ง การให้บริการฟรีของภาครัฐ

วิสัยของบุคคลย่อมยินดีเมื่อได้รับทรัพย์และไม่ยินดีเมื่อขาดทรัพย์ เมื่อขาดทรัพย์แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์จะสอนให้หาทรัพย์จากอนาคตมาใช้ก่อนได้แต่จะต้องตระหนักถึงความคุ้มค่าว่าผลได้จะสูงกว่าต้นทุนเงินกู้และผลตอบแทนจากการใช้ทรัพย์ที่เก็บออมไว้

สำหรับการปกครองและการบริหารเศรษฐกิจของภาครัฐหลักการที่เหมาะสมจะเป็นเช่นเดียวกัน รัฐก่อหนี้เพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคม จากนั้นเมื่อภาครัฐมีรายได้กลับคืนมาอันเป็นผลจากโครงการจึงนำรายได้นั้นไปชำระหนี้ตามตารางเวลาที่ตกลงกันไว้

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐต้องใช้จ่ายในโครงการสังคมและการสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยให้มีงานทำและได้รับปัจจัยสี่ที่เพียงพอ มาตรการสงเคราะห์โดยรัฐจะเป็นกลไกที่ช่วยลดความไม่เป็นธรรมในทางเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ของผู้ที่มีมากสามารถไหลไปชดเชยความลำบากให้ผู้ขาดมากได้บ้าง

การให้โดยรัฐในประเทศทุนนิยมมักสร้างระบบสวัสดิการเพื่อลดภาระและการเอาเปรียบผู้ให้ขึ้นมา แบบหนึ่งเป็นการให้สวัสดิการแก่ประชาชนไปก่อนแล้วค่อยจัดเก็บรายได้จากอนาคตมาชดเชย อีกแบบหนึ่งเป็นกองทุนสวัสดิการสังคมที่ผู้ได้รับการสวัสดิการอาศัยเงินของตนเองที่ลงไว้ในกองทุนด้วย

มาตรการเหล่านี้แตกต่างจากประชานิยมสมัยใหม่ แม้จะอาศัยเหตุผลที่คล้ายคลึงกันในเชิงของการกระจายรายได้และการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย

วิชาเศรษฐศาสตร์ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการจัดสรรทรัพยากรอาจยอมรับการกระจายรายได้ผ่านกระบวนการของภาครัฐและการบริจาคของภาคเอกชน แต่ไม่สนับสนุนนโยบายประชานิยม ซึ่งหวังผลทางการเมืองและหันเหออกจากเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ

ความยินดีจะมีกับผู้ได้รับประโยชน์ในระยะต้น แต่จะสร้างภาระต่ออนุชนรุ่นหลัง ซึ่งจะต้องแบกรับภาระทางการเงินและความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจที่จะตามมาในอนาคต

ประสบการณ์ในหลายประเทศทั้งในละตินอเมริกา และประเทศไทยความรุนแรงทางการเมืองก็มักเป็นผลที่ตามมา เพราะพรรคการเมืองที่ขายโครงการประชานิยมจะได้รับชัยชนะทางการเมืองจากการใช้ทรัพยากรภาครัฐไปแย่งชิงเสียงประชาชนในขณะที่ฝ่ายที่ทำงาน ซึ่งสร้างรายได้ภาษีให้แก่รัฐและฝ่ายที่เสียเปรียบการเมืองย่อมต่อต้าน และเมื่อฝ่ายตนมีอำนาจขึ้นมาก็จะกระทำบ้าง

ถ้าในอนาคตประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน (และอยากทำงาน) เติบโตในอัตราที่ต่ำลงแนวโน้มเศรษฐกิจก็จะเลวร้ายยิ่งขึ้น ความแบ่งขั้วทางการเมืองในหมู่ประชาชนผู้อยากได้และไม่อยากเสียมักรุนแรงยิ่งขึ้น

ในทางทฤษฎีปรมาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์อย่าง เดวิด ริคาร์โด เคยให้หลักไว้ว่าการใช้จ่ายเกินตัวของรัฐมิได้เพิ่มรายได้จริง เพราะประชาชนทราบดีว่าในอนาคตรัฐจะต้องเพิ่มภาษี ดังนั้น ภาคเอกชนก็จะลดการใช้จ่ายลง เพื่อออมไว้เผื่ออนาคต ผลจึงเป็นเพียงการถ่ายเทผลประโยชน์จากผู้เสียภาษีรุ่นอนาคตมาให้คนที่ได้รับประโยชน์รุ่นปัจจุบัน

เดวิด ริคาร์โดไม่สนับสนุนนโยบายการคลังที่ใช้จ่ายเกินตัว แต่ในระยะสั้นนักเศรษฐศาสตร์มหภาคก็ยอมรับได้บ้าง ถ้าหากช่วยกระตุ้นภาวะการมีงานทำในช่วงที่วัฏจักรธุรกิจถดถอยชั่วระยะเวลาหนึ่ง แนวคิดหลังนี้มาจากจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ผู้เป็นบิดาของเศรษฐศาสตร์มหภาคนั่นเอง

เคนส์ยอมรับว่า การเมืองเป็นส่วนสำคัญของชีวิต และนโยบายเศรษฐกิจก็ต้องตอบสนองการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ ท่านเป็นนักเสรีนิยมรุ่นใหม่ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และมีบทบาทสูงในการสนับสนุนพรรคเสรีนิยม ซึ่งกำลังร่วงโรยให้ปรับตัวเท่าทันสถานการณ์ ท่านไม่สนับสนุนพรรคอนุรักษนิยมซึ่งออกไปทางขวายิ่งกว่า แต่ให้ความร่วมมือกับพรรคแรงงานซึ่งออกไปทางซ้าย

แนวทางของเคนส์ไม่สอดคล้องกับแนวทางประชานิยมสมัยใหม่เพราะการปรับบทบาทของรัฐควรเป็นไปตามภาวะขึ้นลงของวัฏจักรธุรกิจเท่านั้น

นักเศรษฐศาสตร์ไม่มีประเด็นว่านโยบายประชานิยมมีเหตุผลทางการเมืองหรือไม่ แต่เห็นว่าเป็นนโยบายที่ขาดเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ทั้งในระยะยาวตามหลักของริคาร์โดและระยะสั้นตามหลักของเคนส์

ในสังคมหนึ่งๆ การขาดแคลนปัจจัยสี่ในการครองชีพเป็นความอัตคัดและบั่นทอนศักยภาพในการพัฒนาของสังคมนั้น แต่ในทางเศรษฐศาสตร์โครงการประชานิยมที่อ้างอิงเหตุผลเกี่ยวกับความยากจนและการกระจายรายได้ไม่ถือว่าเป็นคำตอบที่ดีเพราะมีแนวทางอื่นที่ดีกว่า

ความนิยมทางการเมืองของประชานิยมเป็นการสะท้อนว่าสังคมนั้นๆ ต้องมีผู้ที่ขาดแคลนเป็นมวลชนจำนวนมากจึงสามารถสร้างให้เติบโตขึ้นมาเป็นพลังของพรรคการเมืองได้

คำถามคือ ในทางพระพุทธศาสนาประชานิยมที่มักสร้างความยินดีแก่มวลชนจะเป็นคำตอบที่ดีหรือไม่

พระพุทธศาสนาสนับสนุนการให้เพราะทานเป็นกุศลกรรม ทั้งนี้ โดยทาน ศีลและภาวนาเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้

ทานเป็นการพัฒนาบุคคลที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ที่ให้ทานและต่อความผาสุกของสังคมไปพร้อมกัน ในทางการปกครองทานจึงจัดเป็นหนึ่งในทศพิธราชธรรมของผู้ที่มีคุณสมบัติผู้นำ

ข้อสังเกตคือ การให้ที่ไม่มีการขอจะมีอานิสงส์หรือไม่ ในสีวิราชชาดกพระพุทธองค์ทรงเสวยพระชาติบำเพ็ญทานบารมีทั่วไปก่อนบำเพ็ญทานอุปบารมีในเวสสันดรชาดก ครั้งนั้น พระเจ้าสีวิราชทรงมีหลักที่จะไม่ให้ทานแก่ผู้ไม่ขอ ผู้ขอในสมัยนั้นอาจขาดแคลนจริง เพราะใช้คำว่า ยาจก และวณิพก หรืออาจเป็นธรรมเนียมที่ควรให้เมื่อมีการร้องขอก็ได้

ในทางเศรษฐศาสตร์การขอเป็นการแสดงความขาดแคลนให้เป็นที่ประจักษ์ จึงมีผลต่อการจัดสรรการให้ ในทางพุทธการขอเป็นพฤติกรรมของผู้ขอว่ามีเจตนาอย่างไร การขอเป็นไปเพราะเดือดร้อน หรือว่าเพื่อสนองความไม่รู้จักพอ

ชาวพุทธเห็นการเบียดเบียนเป็นทุกข์ หลักเศรษฐกิจเน้นที่ปัญญาความรู้และความรู้จักพอ มีความขยันหมั่นเพียรและมีการพึ่งตนเอง ส่วนการให้นั้นบุญขึ้นอยู่กับเจตนาโดยที่ความบริสุทธิ์ของสิ่งที่ให้ และระดับความบริสุทธิ์ของผู้ขอมีผลต่ออานิสงส์ของการให้ด้วย

ในสีวิราชชาดกพระเจ้าสีวิราชทรงบำเพ็ญทานมิใช่เพื่อทรัพย์ ยศ หรืออำนาจและมิใช่เพื่ออายุ วรรณะ สุข และพละ แต่เพื่อดำเนินรอยตามหนทางสู่ความเป็นสัพพัญญูในยุคนั้น

ในมหาเวสสันดรชาดกพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระโอรสของพระเจ้าสญชัยแห่งแคว้นสีพี พระองค์ทรงบำเพ็ญทานบารมีสู่ความเป็นสัพพัญญูเช่นเดียวกัน เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ก็ทรงธรรม และทำให้ราษฎรอยู่ในสังคมที่ดีและสงบสุข

ผู้ปกครองของชาวพุทธ จึงแตกต่างจากผู้นำทางการเมืองที่เป็นนักประชานิยม การให้มีเจตนาเพื่อให้ราษฎรมีความผาสุก อำมาตย์ก็ให้ คหบดีก็ให้ ผู้ที่ควรได้รับก็จักได้รับ ความปรารถนาดีทั้งหลาย จึงช่วยค้ำจุนโลก

ชาวพุทธสรรเสริญการให้เพราะเป็นบุญเสมอ ปัญญาทำให้การให้มีอานิสงส์และสมควร ผู้ปกครองควรส่งเสริมปัญญาความรู้ ความขยันขันแข็งและการพึ่งตนเองพร้อมกันไปด้วย

พระพุทธองค์ตรัสว่า “คนมีปัญญา มีวิจารณญาณ ย่อมตั้งตัวได้ด้วยทรัพย์อันเป็นต้นทุนแม้เพียงเล็กน้อย เหมือนคนเริ่มก่อไฟกองน้อยก่อน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image