ดุลยภาพดุลยพินิจ : พระพุทธเจ้าสอนฤๅษีดาบส

ดุลยภาพดุลยพินิจ : พระพุทธเจ้าสอนฤๅษีดาบส

ผู้แสวงหาพรหมจรรย์จักไม่หยุดอยู่แค่การเรียนรู้พระเวท การสละเพศฆราวาสออกสู่ป่าเป็นแนวทางหนึ่งที่พราหมณ์ปรารถนา แนวทางนั้นปกติอาศัยการปฏิบัติทางจิตเป็นสำคัญ

การเจริญฌานและการแสวงหาหนทางหลุดพ้นมีส่วนทำให้ในสมัยปฐมโพธิกาลมีฤๅษีดาบสที่บรรลุอรหัตตผลกันมาก สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปกติเสด็จโปรดผู้ปฏิบัติทางจิตเหล่านี้

ฤๅษีดาบสอาศัยกสิณบริกรรมเป็นแนวทางการเจริญฌานจนเข้าหาสัญญาในจิตได้ถึงอรูปฌานหรือสมาบัติ อสิตดาบสได้สมาบัติ 8 พระอาจารย์อาฬารดาบสกาลามโคตรได้สมาบัติ 7 และพระอาจารย์อุททกดาบสรามบุตรได้สมาบัติ 8

Advertisement

ในสมัยพุทธกาลพราหมณ์ที่สละเพศออกบวชเป็นฤๅษีถือว่าฌานให้อภิญญาญานและเป็นพรหมจรรย์ขั้นสูงสุด ถ้าตนได้ผลที่เป็นฌานสุขขั้นหนึ่งขั้นใดก็มักเชื่อว่าตนได้นิพพานแล้ว

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่าพรหมจรรย์ของฤๅษีดาบสมิใช่พรหมจรรย์ขั้นสูงสุด แนวทางของฌานนำไปสู่พรหมโลกและยังไม่ใช่พรหมจรรย์ขั้นสูงสุดที่เป็นไปเพื่อนิพพาน

แม้ฤๅษีดาบสต้องการหลุดพ้นจากทุกข์ก็ยังไม่เข้าใจทุกข์และไม่รู้ถึงวิธีการดับทุกข์ การเจริญกสิณฌานอาจทำให้จิตเกิดความสงบแช่มชื่น หรือโสมนัสเวทนา หรือแม้แต่ความสงบอย่างอุเบกขา ความสงบดังกล่าวไม่ยั่งยืน และเมื่อเสื่อมลงก็จะถูกแทนที่ด้วยความรู้สึกไม่สงบแบบของปุถุชน ดังนั้น ฤๅษีดาบสนอกพระพุทธศาสนาจึงไม่เคยเห็นสุขแห่งนิพพาน ทั้งไม่เคยได้รับและไม่เคยรู้จัก

Advertisement

พระพุทธองค์ทรงสอนฤๅษีดาบสให้บรรลุธรรมได้โดยรวดเร็วยิ่ง คณะแรกคือปัญจวัคคียดาบส ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนาดังปรากฏในธัมมจักกัปวัตนสูตรและต่อด้วยอนัตตลักขณสูตร ท่านอื่นๆ มีนาลกดาบส อัคคิทัตตดาบส คณะศิษย์ของพราหมณ์พาวรีและอามคันธดาบส เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นการสอนในช่วงปฐมโพธิกาล

ดาบสเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญในจิตตภาวนามาก่อน บ้างเจริญรูปฌาน บ้างเจริญอรูปฌาน ฤๅษีดาบสที่ได้รับคำสอนโดยตรงจากพระพุทธองค์สำเร็จอรูปฌาน 7 หรืออากิญจัญยายตนะเป็นอย่างสูง ซึ่งการเจริญรูปฌานถึงฌาน 4 และอรูปฌานถึงอรูปฌาน 7 นับว่าสูงอย่างมากแล้ว

คณะปัญจวัคคีย์เป็นอดีตพราหมณ์กรุงกบิลพัสดุ์ที่ออกบวชติดตามสมณะสิทธัตถะ และครั้งหนึ่งเคยผิดหวังที่พระบรมโพธิสัตว์ทรงเลิกทุกกรกิจ นับเป็นพระภิกษุคณะแรกที่พระพุทธองค์เสด็จโปรด เกิดการแสดงปฐมเทศนาในธัมมจักกปวัตนสูตร ซึ่งภายหลังจากที่พระโกญฑัญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะและพระอัสสชิต่างทยอยเกิดดวงตาเป็นธรรมเป็นลำดับใน 5 วันแรกแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรให้คณะภิกษุทั้งห้าบรรลุอรหัตตผล

ธัมมจักกัปวัตนสูตรและอนัตตลักขณสูตรจึงเป็นพระสูตรที่สำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา

ธัมมจักกัปวัตนสูตรแสดงการเคลื่อนไปของธรรมจักร หรือการทำงานของธรรมที่บดขยี้การทำงานของกิเลสเพื่อการสิ้นไปของทุกข์ ทุกข์มาจากการทำงานของกิเลส ซึ่งมีเหตุคือตัณหาซึ่งซ่อนอยู่ภายในจิตและมีตั้งแต่ประเภทที่หยาบจนถึงประเภทที่ละเอียดอันได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา

กามตัณหาเป็นความทะยานอยากในกามคุณอันเป็นศัตรูของพรหมจรรย์ ภวตัณหาเป็นความทะยานอยากในภพซึ่งนักบวชมักยึดติดในรูปภพและอรูปภพของฌาน วิภวตัณหาเป็นความทะยานอยากในวิภพซึ่งมักเกิดกับการปฏิบัติที่ต้องการความไม่มีภพ

พระสูตรนี้แสดงถึงอริยสัจ 4 อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค พระพุทธองค์ทรงสอนคณะพระปัญจวัคคีย์ให้กำหนดทุกข์ เห็นทุกขสมุทัยและเห็นทุกขนิโรธเป็นชั้นๆ ตั้งแต่หยาบจนละเอียดและจนรู้แจ้ง ทรงสอนอริยมรรคอันมีองค์แปดซึ่งเป็นวิธีการแห่งทางสายกลางที่ประกอบด้วยทั้งศีล สมาธิ และปัญญา

ก่อนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงอริยสัจ 4 ทรงเริ่มต้นด้วยการชี้ถึงหนทางผิดของการปฏิบัติแบบสุดโต่ง ทางหนึ่งคือกามสุขัลลิกานุโยค ซึ่งเห็นว่าการมุ่งเสพสุขเป็นการพ้นจากทุกข์ อีกทางหนึ่งคืออัตถกิลมถานุโยค ซึ่งเห็นว่าการเคร่งครัดต่อตนเองเป็นการพ้นจากทุกข์ อัตถกิลมถานุโยคมิได้หมายถึงเพียงการบีบคั้นทางร่างกายแบบอาชีวกและอเจลกเท่านั้น ทว่าหมายรวมถึงความสุดโต่งทางด้านจิตแบบของฤาษีและชฎิลด้วย

พระพุทธองค์ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรเพื่อให้อาสวกิเลสสิ้นไป ทรงแสดงถึงขันธ์ 5 ทั้งหลายว่ามีลักษณะที่เป็นอนัตตา ตั้งแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

จากนั้นทรงแสดงลักษณะของกายและจิตว่าขันธ์ทั้งห้าไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา

เช่น รูปอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งเป็นอดีต ปัจจุบันและอนาคต ทั้งหยาบและละเอียด ทั้งที่เป็นส่วนภายในและส่วนภายนอก ทั้งใกล้และไกล ล้วนไม่สามารถคงตัวอยู่ได้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป การดับไปเป็นการฝืนความต้องการของบุคคลจึงเป็นทุกข์ การไม่สามารถกำหนดรูปให้เป็นไปตามความต้องการได้แสดงถึงความที่รูปเหล่านั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเราและไม่ใช่ตัวตนของเรา ฯลฯ

เมื่อเบื่อหน่ายในขั้นธ์ทั้งห้าย่อมคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว

ภายหลังในช่วงต้นของปฐมโพธิกาลซึ่งบ้างก็ว่าเป็นช่วงเวลาจากนั้นเพียงไม่กี่วันมีรอยต่อของเหตุการณ์ว่านาลกดาบสได้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่อิสิปตนมฤคทายวัน ท่านเป็นหลานของอสิตดาบส ก่อนอสิตดาบสถึงกาละได้บอกนาลกะให้รอพระพุทธองค์ตรัสรู้ ดังนั้น เมื่อทราบข่าวจึงเข้าเฝ้าและขอบวชกับพระพุทธองค์

ในพระสูตรมีการกล่าวถึงความตั้งใจในการปฏิบัติอย่างมุนีในเหตุการณ์ครั้งนี้เพียงครั้งเดียว ท่านได้ขอพุทธานุญาตปฏิบัติแบบโมเนยยะอันเป็นปฏิปทาที่เคร่งครัดยิ่งกับอินทรีย์ของตนเอง

โมเนยยปฏิบัติมีความตึงมากแต่ในขณะนั้นพระนาลกเถระคงมีความตั้งใจในแนวทางนี้และมีอายุมากแล้ว ท่านไม่เสียดายสุขภาพและอายุของท่านหากทว่ามุ่งแน่วแน่สู่พระนิพพานในแนวทางที่ยากต่อการปฏิบัติ เรามักเห็นการปฏิบัติของชาวพุทธที่เน้นความเคร่งครัดทางอินทรีย์อยู่บ้างแต่เบาบางกว่ามาก

อัคคิทัตตดาบสเป็นฤๅษีพร้อมบริวาร 10,000 คน ในอดีตเป็นราชปุโรหิตของพระเจ้ามหาโกศล ในสมัยพระเจ้าปเสนทิโกศลท่านเห็นว่าความชราของตนเหมาะแก่การออกบวชมากกว่าการเป็นราชปุโรหิตจึงได้บวชเป็นฤๅษีดาบสโดยมีบริวารบวชตาม

ท่านเป็นมหาฤาษีผู้ยิ่งใหญ่และเป็นที่เคารพในหมู่ชาวโกศลไปจนถึงแคว้นอังคะ มคธและกุรุ ฤๅษีเหล่านี้ยึดเอาธรรมชาติอันได้แก่ ภูเขา ป่าไม้ อาราม ต้นไม้และรุกขเจดีย์เป็นสรณะแต่ต่อมาราวพุทธพรรษาที่ 3 ในคราวที่พระพุทธองค์ทรงประทับที่พระเชตวันวิหาร กรุงสาวัตถี ทรงให้พระโมคคัลลานะไปสอนดาบสเหล่านี้ เพราะทรงเห็นว่ามีอุปนิสัยที่จะบรรลุธรรมได้ จากนั้นพระพุทธองค์ได้เสด็จไปโปรด

พระพุทธองค์ทรงสอนให้ตามระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ และทรงสอนอริยสัจ 4 จนฤๅษีคณะนี้ทั้งหมดสามารถบรรลุอรหัตตผลแล้วบวชเป็นเอหิภิกขุ

ในพุทธพรรษาที่ 4 พราหมณ์พาวรีได้ส่งคณะศิษย์ 16 คนไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่แคว้นมคธเพื่อถามปัญหาการปฏิบัติธรรมให้ถึงความรู้แจ้ง พราหมณ์พาวรีเดิมเป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศลแล้วออกบวชเป็นดาบส คณะนี้เป็นฤๅษีและชฎิลที่สอนไตรเพทและการปฏิบัติทางจิตแถบแม่น้ำโคธาวารีทางตอนใต้ของมัธยมประเทศ

คำถามที่เป็นปัญหาของดาบสเหล่านี้มีความลึกซึ้งมากและครอบคลุมสำหรับทั้งผู้ที่ผ่านการปฏิบัติทางจิตจนสำเร็จรูปฌาน 4 และอรูปฌานขั้นอากิญจัญยายตนะหรือสมาบัติ 7 แล้ว เนื้อหาก็มีความครอบคลุมไปถึงเรื่องอวิชชา วิชชา สติ อุเบกขา และปัญญา

คำสอนของพระพุทธองค์ทำให้พราหมณ์มานพ 15 คนบรรลุอรหัตตผล อีกคนหนึ่งซึ่งเป็นหลานพราหมณ์พาวรีมีจิตที่ส่ายออกไปหาพราหมณ์พาวรีจึงบรรลุโสดาปัตติผล ต่อมาเมื่อฟังคำสอนจากพระพุทธองค์อีกจึงบรรลุอรหัตตผล

ส่วนพราหมณ์พาวรีซึ่งไม่ได้เข้าเฝ้าด้วยตนเองแต่มีคำถามฝากอชิตพราหมณ์ผู้เป็นหัวหน้าคณะก็สามารถปฏิบัติตนจนสำเร็จอนาคามิผล

ในราวพุทธพรรษาที่ 5 ครั้งนั้นพระพุทธองค์ประทับที่พระเชตวันมหาวิหาร ทรงโปรดอามคันธดาบสพร้อมดาบสที่ออกบวชตามอีก 500 คน

ดาบสเหล่านี้สร้างอาศรมอยู่ในหุบเขาและบริโภคแต่พืชผลไม้ที่ไม่มีรสเค็มหรือเปรี้ยว ไม่บริโภคเนื้อสัตว์และปลา กล่าวคือถือศีลพรตไปทางอาหารเจ ต่อมาร่างกายขาดสารอาหารจึงต้องลงจากหุบเขามาที่หมู่บ้าน ซึ่งชาวชนบทก็มีความเลื่อมใสและได้ถวายอาหารรสเค็มและเปรี้ยวแก่ดาบส ตั้งแต่นั้นเหล่าดาบสก็ลงมาที่หมู่บ้านเป็นประจำทุกปี
พระพุทธองค์ทรงเสด็จไปแสดงธรรมโปรดชาวบ้านที่หมู่บ้านนั้น ชาวบ้านบางส่วนสำเร็จโสดาปัตติผล สกทาคามิผลและอนาคามิผล บางส่วนออกบรรพชาและสำเร็จอรหัตตผล ส่วนฤๅษีดาบสเมื่อทราบจากชาวบ้านว่ามีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งแต่ยังติดในประเด็นที่พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์

ครั้งที่ทรงแสดงธรรมที่หมู่บ้านอามคันธดาบสตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการเสวยเนื้อสัตว์ ซึ่งดาบสเหล่านี้เรียกว่า “กลิ่นดิบ” เพราะเห็นว่าการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นการเบียดเบียน พระพุทธองค์ทรงชี้ว่า “กลิ่นดิบ” ที่อามคันธดาบสเชื่อนั้นเคยมีคำอธิบายที่ถูกต้องมาก่อนแล้วในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

กลิ่นดิบไม่ใช่เนื้อสัตว์ หากเป็นกิเลสที่เป็นบาปและเป็นอกุศล

การไม่กินปลาและเนื้อ การประพฤติเปลือย ความเป็นคนโล้น การเกล้าชฎา การอยู่กับฝุ่น การห่มหนังเสือและประดับเล็บเสือ การบูชาไฟ การทำกายให้เศร้าหมอง การอาศัยมนต์ การเซ่นสรวงและการเข้าถึงยัญอันเข้มขลังล้วนไม่ใช่ทางสู่ความรู้แจ้ง

พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุแก่อามคันธดาบสและคณะ ภายในไม่กี่วันทั้งหมดก็สามารถบรรลุอรหัตตผล

ฤๅษีดาบสเป็นผู้แสวงหาอมตธรรม แก่กล้าในฌานและพึ่งธรรมชาติอันวิเวก ท่านเหล่านี้ยอมรับพระเวทแต่เมื่อได้รับคำสอนจากพระพุทธเจ้าก็สามารถบรรลุมรรคผลอย่างรวดเร็ว

และด้วยจิตที่ละเอียดอย่างยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image