ดุลยภาพดุลยพินิจ : พระพุทธเจ้าสอบอารมณ์

ดุลยภาพดุลยพินิจ : พระพุทธเจ้าสอบอารมณ์

ในสมัยโพธิกาลไม่แจ้งชัดนักว่า การสอนปฏิบัติธรรมมีการสอบทานกรรมฐานมากน้อยเพียงใด มักปรากฏเพียงการสนทนาและการถามถึงข้อติดขัดทางการปฏิบัติ เช่น การเกิดนิวรณ์ ความสงสัยและความเนิ่นช้าต่างๆ

ตัวอย่างเช่น พระพุทธองค์ทรงตรวจจิตพบว่า พระโมคคัลลานะปฏิบัติหนักจนมีอาการง่วง และทรงแนะวิธีแก้นิวรณ์ประเภทนี้ พระสารีบุตรพบพระราหุลภาวนานั่งนิ่งไม่ไหวติง จึงแนะถึงความสำคัญของอานาปานสติ พระสารีบุตรพบว่า พระอนุรุทธติดขัดกรรมฐานและได้ชี้ถึงปัญหามานะ-อุจธัจจะ-กุกกุจจะ

ภายหลังพุทธปรินิพพานการปฏิบัติต้องอาศัยการสืบทอดผ่านสำนักต่างๆ ของพุทธสาวก เช่น สำนักของพระมหากัสสปะ พระอานนท์ พระอนุรุทธ พระอุบาลี และพระมหากัจจายนะ เป็นต้น การสืบทอดมีการผ่านศิษย์รุ่นต่อรุ่นย่อมอ่อนจางไปตามกาลเวลา และตามอุปสรรคในการเผยแผ่ธรรมปฏิบัติ

Advertisement

สำหรับรุ่นหลังๆ ที่เวลาล่วงเลยมานับพันปี ความมั่นใจในการปฏิบัติในดินแดนหลักทั้งในสยาม มอญ และพม่า มักพึ่งพาคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นคู่มือกรรมฐาน แนวทางสมถะวิปัสสนา ซึ่งอาศัยสมาธิมากได้รับประโยชน์จากคัมภีร์นี้

การเจริญภาวนาที่ใช้สมาธิมากมักอาศัยการดูแลของอาจารย์กรรมฐาน การเริ่มต้นที่ฌานสมาธิอาจมีการตามดูจิตของศิษย์ แนวทางนี้ไม่สามารถตรวจสอบให้เป็นที่ประจักษ์ได้ว่า สภาวจิตของศิษย์เป็นไปตามที่กล่าวจริงหรือไม่และก็ไม่เหมาะที่จะตรวจทานกันบ่อยๆ นอกเหนือการชี้บอกเป็นครั้งคราวตามความจำเป็น

ในยุคสมัยหลังความสนใจในแนวทางวิปัสสนากรรมฐานทำให้การสอบอารมณ์เป็นที่นิยมกันมาก เมื่อมีการใช้มหาสติปัฏฐานสูตรเป็นแนวทางของวิปัสสนากรรมฐานการเจริญสติมักเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งทำให้การสอบอารมณ์ตามการยกระดับของสติสัมปชัญญะกระทำได้โดยที่ครูอาจารย์ไม่ต้องสำเร็จฌานมาก่อน

Advertisement

แนวทางวิปัสสนากรรมฐานในสมัยที่เริ่มนิยมมักอาศัยวิปัสสนาญาณ 9 เป็นเกณฑ์ในการตรวจสอบ ซึ่งสมัยนั้นเป็นสมัยที่พม่าเพิ่งเสียเอกราชให้อังกฤษ และพม่ามักนิยมอบรมฆราวาสเป็นหมู่คณะใหญ่ๆ มิได้เน้นการสอนเดี่ยวเหมือนในอดีตก่อนหน้านั้น

การสอบอารมณ์ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการอบรมปฏิบัติและสามารถกระตุ้นความสนใจได้อย่างมาก มีการปรับเปลี่ยนการใช้วิปัสสนาญาณ 9 ให้เน้นส่วนก่อนและหลังวิปัสสนาญาณด้วย ซึ่งเรียกว่า โสฬสญาณ หรือญาณ 16

สำนักของสยามปกติอาศัยแนวทางสมถะวิปัสสนาจึงมักอาศัยคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นหลัก ส่วนสายพระป่าแห่งวงศ์ธรรมยุติ หรือกัลยาณีวงศ์ของมอญ-ลังกาเก่าครูอาจารย์มักอบรมเป็นหมู่คณะในช่วงแรกจากนั้น จึงให้แยกออกไปปฏิบัติโดยลำพัง การสอบอารมณ์มีจำกัด

อย่างไรก็ตาม อาจารย์สำเนียง วงศ์สมบัติเคยระบุไว้นานมากแล้วว่าในช่วงต้นๆ ที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระสอนกรรมฐานก็มีการสอบอารมณ์และมีการให้อารมณ์ตามวิปัสสนาญาณด้วย

ในสมัยโพธิกาลการปฏิบัติในพระพุทธศาสนารุ่งเรืองมาก นักบวชสำนักอื่นที่เรียกว่า อัญญเดียรถีย์ปริพาชก ก็ให้ความสนใจด้วย นักบวชเหล่านี้ก็อยากได้บุญและอยากบรรลุโมกขธรรมทว่ายังติดอยู่กับลัทธิดั้งเดิมของตน บ้างสงสัยว่าพระภิกษุสาวกปฏิบัติแตกต่างออกไปอย่างไร บ้างเห็นว่าการปฏิบัติมีคำซ้ำกันก็ทึกทักว่าปฏิบัติแบบเดียวกัน

อัญญเดียรถีย์มักตั้งคำถามให้ได้ความรู้จากพระภิกษุสาวก พระพุทธองค์ทรงชี้แนะให้พระภิกษุสาวกตอบในแนวที่เหมาะสมชัดเจนแก่เหล่าอัญญเดียรถีย์ปริพาชก

อย่างไรก็ตาม มีเหตุการณ์ตัวอย่างครั้งหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอบอารมณ์ของผู้ปฏิบัติที่เคยเป็นปริพาชก ซึ่งทำให้ปริพาชกดังกล่าวรับรู้ปัญหาการปฏิบัติของตน

ครั้งนั้นมีสุสิมปริพาชก ซึ่งได้เข้าบวชในสำนักพระพุทธเจ้า แต่ไม่เข้าใจในเรื่องการปฏิบัติและญาณที่พระภิกษุสาวกกล่าวถึงกัน

สุสิมะเดิมเป็นปริพาชกในกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ พรรคพวกปริพาชกที่นั่นต้องการสร้างบุญด้วยการโปรดประชาชนที่เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นต้น แต่มิได้รับการเคารพและการถวายปัจจัยมากเท่าพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ซึ่งแม้แต่เทวดาก็สักการะ จึงอยากได้รับโอกาสแห่งบุญและการหนุนเสริมของเหล่าเทวดาบ้าง

พรรคพวกปริพาชกได้ขอให้สุสิมะบวชเพื่อเอาความรู้จากสำนักพระพุทธเจ้ามาสอนพวกตนโดยที่พวกปริพาชกเดียรถีย์ไม่ต้องประกาศตนเป็นอุบาสก หรือบรรพชาในพระพุทธศาสนา

สุสิมปริพาชกเข้าหาพระอานนท์และได้เข้าเฝ้าพระศาสดาที่พระเวฬุวันวิหาร เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้วได้ติดตามหาความรู้จากพระภิกษุสาวกแต่ก็ยังขาดความเข้าใจ

ในหมู่พระภิกษุสาวกมีการกล่าวอ้างในอรหัตตผลและความมีฤทธิ์ประเภทหูทิพย์ตาทิพย์ การเหาะเหินเดินทะลุดินรวมทั้งรู้ใจและกิเลสของผู้อื่นเป็นต้น พระสุสิมะสนใจในมรรคผลที่กล่าวอ้างถึงความมีฤทธิ์กัน จึงได้ไต่ถามพระภิกษุในสำนักแต่ก็ได้รับคำตอบว่ามิได้มีฤทธิ์ดังเช่นที่ว่ากันนั้น

พระสุสิมะยังถามว่า พระภิกษุสาวกมีภาวะหลุดพ้นจากความไม่มีรูปอันสงบหรือไม่ (อารูปวิโมกข์) สามารถก้าวล่วงจากภาวะหลุดพ้นจากรูปทั้งหลาย (รูปวิโมกข์) ด้วยกายหรือไม่

พระภิกษุสาวกก็ตอบว่ามิได้เป็นเช่นนั้นอีก

พระสุสิมะไม่อาจเข้าใจคำอธิบายเหล่านั้น และยังขอคำอธิบายที่ละเอียดยิ่งขึ้น

พระภิกษุดังกล่าวไม่อธิบายรายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม ย้ำโดยย่อเพียงว่าท่านนั้นหลุดพ้นด้วยปัญญา มิใช่ด้วยฤทธิ์

ความไม่เข้าใจในเรื่องการปฏิบัติและมรรคผลทำให้สุสิมะผู้อยากรู้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์และกราบทูลคำสนทนาทั้งหมดต่อพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ตรัสว่าธรรมฐิติญาณเกิดก่อน ส่วนญาณในพระนิพพานเกิดภายหลัง

พระสุสิมะก็ยังไม่เข้าใจญาณที่แตกต่างกันดังกล่าว และยังคงทูลขอความรู้ที่ละเอียดพิสดารยิ่งขึ้น

พระพุทธองค์จึงทรงสอบทานการปฏิบัติของพระสุสิมะ “ญาณ” เป็นปัญญาในจิต ดังนั้น การสอบญาณจึงเป็นการสอบอารมณ์ถึงสภาวะที่เป็นปัญญาในจิต

ในขณะที่ความรู้ที่สุสิมะอาศัยมิใช่ญาณ หากแต่เป็นความรู้ที่มาจากความเห็นซึ่งเรียกว่า “ทัสสนะ”

ต่อไปนี้เป็นบทที่พระพุทธองค์ทรงสอบการปฏิบัติวิปัสสนาของอดีตสุสิมปริพาชก

พระพุทธองค์ทรงเรียกวิปัสสนาญาณว่า พระสุสิมะเห็นรูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ไม่เที่ยงแล้วเป็นทุกข์หรือไม่ ควรเห็นเป็นของเรา เป็นเราและใช่ตัวตนหรือไม่ พระสุสิมะตอบได้ถูกต้องว่ารูปไม่เที่่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา

พระพุทธองค์ทรงไล่เรียงไปถึงเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ พระสุสิมะก็ตอบว่า เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณต่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา

พระพุทธองค์ทรงไล่เรียงไปถึงรูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณทั้งหลายที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ภายใน ภายนอก หยาบ ละเอียด ใกล้ ไกล ฯลฯ พระสุสิมะล้วนตอบถูกต้องว่าอาการต่างๆ ของขันธ์ 5 ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา

พระพุทธองค์ตรัสว่า อริยสาวกที่ได้สดับและเห็นอยู่อย่างนี้ย่อมเบื่อหน่ายคลายกำหนัดในรูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณเหล่านั้น เมื่อคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้นและบรรลุธรรม

พระพุทธองค์จึงทรงไล่เรียงถามสุสิมะถึงอาการตามปฏิจจสมุปบาทว่าเพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรามรณะ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงมีชาติ เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ จนถึงเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร ดังนี้หรือไม่ พระสุสิมะตอบว่าเห็นอย่างนั้น เมื่อทรงทวนถึงอาการดับแห่งปฏิจจสมุปบาทจากชรามรณะดับจนถึงอวิชชาดับ พระสุสิมะก็ตอบว่าเห็นอย่างนั้นอีก

เมื่อผ่านขั้นบรรลุธรรม ญาณในพระนิพพานย่อมเกิดขึ้น อิทธิวิธีต่างๆ ย่อมเห็น แต่สุสิมะตอบว่าไม่เป็นเช่นนั้น ภาวะที่หลุดพ้นจากความไม่มีรูปอันสงบ (อารูปวิโมกข์) และภาวะหลุดพ้นจากรูปทั้งหลายด้วยกาย (รูปวิโมกข์) ก็ไม่เห็น

พระพุทธองค์ทรงชี้ว่าคำตอบของพระสุสิมะบ่งบอกถึงความไม่เข้าถึงธรรม เมื่อเกิดธรรมฐิติญาณจนบรรลุธรรมตามปฏิจจสมุปบาทแล้วย่อมเกิดญาณในพระนิพพาน แต่พระสุสิมะกลับไม่เห็นและไม่เกิดญาณเหล่านั้น

พระสุสิมะสารภาพว่าตนโง่เขลาและหลงไป จึงได้บวชเพื่อขโมยธรรม ตนสมควรที่จะได้รับโทษทัณฑ์ พระพุทธองค์ทรงสอนว่าการขโมยธรรมร้ายแรงกว่าการขโมยวัตถุสิ่งของ ซึ่งสมัยนั้นต้องได้รับโทษอาญาแผ่นดินถึงประหารและการเสียบหัวประจาน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพระสุสิมะเห็นโทษแห่งการกระทำของตน พระพุทธองค์จึงทรงมีพระเมตตารับไว้ ทรงชี้ว่าการทำคืนตามธรรมและการถึงซึ่งความสำรวมต่อไปเป็นความเจริญประการหนึ่งในวินัยของพระอริยะ

ธรรมปฏิบัติต้องอาศัยวิธีภาวนาที่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธองค์แต่การหันเหออกจากเส้นทางเกิดขึ้นได้เสมอ การสอบอารมณ์ช่วยสอบทานความก้าวหน้าทางปัญญาของผู้ปฏิบัติแต่ก็อาจนำไปสู่ความอยากได้และความหลงในลำดับญาณที่ครูอาจารย์ตีความให้ว่าได้รับแล้ว

ญาณเป็นปัญญาในจิต มิใช่ความรู้ที่เป็น “ทัสสนะ” ตนจักรู้สภาวจิตของตนว่าเป็นไปตามธรรมหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image