‘น้ำ’ ศัพท์พื้นฐานในอุษาคเนย์ เชื่อมฟากทะเลด้วยรากแห่งภาษา

ในปัจจุบันนักวิชาการผู้ศึกษาด้านประวัติและภาษาศาสตร์กระแสหลักมีแนวคิดเรื่องต้นกำเนิดของพวก “ออสโตรนีเซียน” อยู่สองแนวทางหลัก
แนวทางหนึ่งคิดว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนเหนือของแผ่นดินจีนในลุ่มแม่น้ำฮวงโห เกี่ยวพันกับการปลูกข้าวและข้าวฟ่าง เรียกว่าพวก “ซิโน ทิเบตัน ออสโตรนีเซียน” โดยพวกพูดภาษา “ไท-กะได” ถูกจัดให้เป็นหมวดหนึ่งของ “ออสโตรนีเซียน” นักวิชาการคนสำคัญที่สนับสนุนแนวคิดนี้คือ Laurent Sagart

ในขณะที่อีกแนวทางคิดว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ถัดลงมาในแถบลุ่มแม่น้ำแยงซี เกี่ยวพันกับการปลูกข้าวโดยเฉพาะ เรียกว่าพวก “ออสโตร-ไต” ซึ่งยกกลุ่มผู้พูดภาษาไท-กะได ขึ้นมาเทียบเท่ากลุ่มออสโตรนีเซียน โดยมีนักวิชาการหลายคนสนับสนุนแนวคิดนี้ เช่น Robert Blust และ วีระ โอสถาภิรัตน์ เป็นต้น

ในคำดั้งเดิมของพวกที่พูดภาษาไท-กะไดและพวกที่พูดภาษาออสโตรนีเซียน มีกลุ่มคำอยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งมีความใกล้ชิดผูกพันกับ “น้ำ” เป็นกลุ่มคำพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตถึงระดับแก่นแกน

คำว่า “น้ำ” ปรากฏอยู่ในศัพท์พื้นฐานของภาษาออสโตรนีเซียน ดังนี้

Advertisement

พวกกลุ่มชนพื้นเมืองของไต้หวัน เช่น กลุ่มบุนุน เรียก “ดนุม”, กลุ่มอามิส เรียก “นนุม”, กลุ่มกาวาลัน เรียก “ซานุม”, กลุ่มสิริยา เรียก “ดลุม”, กลุ่มปาเซ เรียก “ดลุม”, กลุ่มไปวัน เรียก “ซลุม” และ พวกปุยุมา เรียก “ซนุม”

พวกหมู่เกาะ เช่น คำสืบสร้างโปรโต มลาโย โพลีนีเซียน เรียก “ดนุม”, ฟิลิปปินส์บางพวก ก็เรียก “ดนุม”, อินโดนีเซียในปัจจุบันใช้คำภาษาบาลีเรียกชื่อ “น้ำ” ว่า “air อ่านว่า แอรึ” ซึ่งมาจากคำว่า “ira” แต่ก็ยังมีคำเรียกใกล้เคียงว่า “มินุม” แปลว่าดื่มน้ำ, ชนเผ่าดยัค บางพวกเรียก “อนุม” หรือ “ดนุม”

ส่วนพวกไท-กะได ก็ออกเสียงใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็น ไท-ไต เหนือ-กลาง-ตะวันตกเฉียงใต้ เรียกเหมือนกันว่า “น้ำ” เกือบทั้งนั้น และไทยสยาม เรียก “น้ำ” เช่นกัน

Advertisement

นักวิชาการหลายท่านได้พยายามสืบสร้างคำของ “โปรโตออสโตรนีเซียน” ออกมาว่า “ดนุม” และสืบสร้างคำของ “โปรโต-ไต” ออกมา ได้เสียงใกล้เคียงกับคำว่า “น้ำ”

ดังนั้น จึงไม่มีข้อสงสัยใด ๆ ว่าของเหลวที่ใช้อาศัยดื่มกินนี้ถูกเรียกด้วยคำเดียวกันอย่างกว้างขวางโดยคนทั้งสองกลุ่ม กระจายตัวตั้งแต่ไต้หวัน จีนตอนใต้ ลาว รัฐฉาน ลงมาลุ่มเจ้าพระยา จนถึงบรรดาหมู่เกาะทะเลใต้ พวกหนึ่งเรียกด้วยคำยาวและอีกพวกเรียกด้วยคำสั้น เป็นคำพื้นฐานระดับฝังรากลึกที่คนพูดทั้งสองกลุ่มภาษายังใช้ร่วมกันมาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง
แม้ในปัจจุบันจะอยู่กันคนละฟากฝั่งทะเล

 

สุพัฒน์

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช เกิดที่จันทบุรี เมื่อ พ.ศ 2512 จบการศึกษาจากภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเดินทางไปสำรวจเหมืองถ่านหินในป่าฝนดิบชื้นแห่งหมู่เกาะทะเลใต้ ประเทศอินโดนีเซียเป็นเวลาหลายปี มีความสนใจพิเศษในด้านภาษาศาสตร์ จึงค้นคว้ารวบรวมข้อมูล พร้อมเสนอแนวคิดใหม่ผ่านบทความในชุด ‘สืบสานจากภาษา เชื่อมมหาสมุทร ขุดรากเหง้า คนไทยอยู่ที่นี่’ เผยแพร่ครั้งแรกใน ‘มติชนออนไลน์’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image