จาก ‘รุง’ สู่ ‘รัง’ สัมพันธ์ภาษาข้ามฝั่งทะเลสมุทร

ภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนแถบอินโดนีเซียเรียกสัตว์ปีกจำพวกนกรวมถึงไก่ในสามคำคือ “manuk อ่านว่า มา-นุ๊ก” “burung อ่านว่า บุ-รุง” และ “ayam อ่านว่า อา-ยัม” โดย “manuk” ใช้ได้ทั้งนกและไก่ “burung” ใช้กับนก และ “ayam”ใช้กับไก่

คำว่า “burung” ที่ทางทะเลใต้เขาแปลกันว่านก แต่ไม่ได้ถูกบรรจุเข้าไปเป็นคำมาตรฐานตามข้อวิเคราะห์ของนักภาษาศาสตร์ อาจเพราะคิดว่าไม่มีความสัมพันธ์โผล่ปรากฏทั้งบนเกาะไต้หวันและในพวกไท-กระได ซึ่งอาจจะจริงในกรณีของไต้หวันแต่ไม่ใช่ในกรณีของไท-กระได

เช่นกัน คำว่า “burung” มาจากคำสองคำคือ “bu” + “rung” คำว่า “bu” เป็นคำเดียวกับคำว่า “pu” แปลอย่างเดียวกันว่าการผุดโผล่ขึ้นของบางสิ่ง ในขณะที่คำว่า “rung” หรือในคำใกล้เคียงว่า “rang” นั้นเป็นต้นธารของคำที่อธิบายเรื่องที่อยู่อาศัยของสัตว์จำพวกนกและขยายมาถึงคนตั้งแต่ครั้งดั้งเดิมมากๆ

คำว่า “rung” หรือ “rang” สองคำนี้เป็นคำเดียวกับคำว่า “รัง” ในภาษาไทย หากภาษาทางทะเลใต้เขียนคำเต็มของรังว่า “sarang อ่านว่า ซา-รัง” ซึ่งมาจากคำสองคำเช่นกันคือ “sa” + “rang” คำว่า “sa” เป็นที่รับรู้กันว่าหมายถึงตัวตน หรือเป็นหนึ่งก็ได้ ใช้ประกอบคำอื่นๆอีกมากมาย เช่น “saya” “satu” “dusa” “nusa” “sakit” “bangsa” เป็นต้น จึงแปลรวมคำ “sarang” ว่าที่อยู่ของข้า บ้านของข้า รังของข้า นอกจากนั้นยังแปลความหมายว่าผ้าโสร่ง หรือ “sarung” (เป็นที่มาของคำไทยยืมในภายหลังมากแล้ว) หรือปลอกใส่มีดและ กริซก็ได้ และในคำใกล้เคียงว่า “garung อ่านว่า กา-รุง” แปลว่ากระสอบใส่ของ ลองสังเกตลักษณะพื้นฐานร่วมกันของคำเหล่านี้

Advertisement

ดังนั้นถ้าแปลความหมายของคำว่า “burung” ก็ได้ว่า สัตว์บางอย่างโผล่หัวออกมาจากรัง เป็นคำที่มีเหง้าเก่าแก่ บ่งชี้ถึงความเป็นมาสัมพันธ์กันอย่างดีระหว่างพี่น้องไท-กระไดและหมู่เกาะทะเลใต้ ที่ไม่ได้ร่วมในชั้นรากแก้วกับทางฟอร์โมซ่าในไต้หวันแต่อย่างใด

สุดท้ายสำคัญขาดไม่ได้เป็นความลึกซึ้งส่วนตัวถึงระดับแก่นแกน คำนี้ในภาษาทะเลใต้ยังใช้ในความหมายแบบที่คลอดตามกันออกมากับคำสแลงของไทย คือแปลว่า “อวัยวะเพศชาย” หรือ “นกเขา” หรือ “มีบางสิ่งผุดโผล่ห้อยออกมาจากรวงรังที่รกเรื้อน” ใช้ในกรณีที่นกเขาไม่ยอมขันเป็นส่วนมาก

 

Advertisement

สุพัฒน์

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช เกิดที่จันทบุรี เมื่อ พ.ศ 2512 จบการศึกษาจากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเดินทางไปสำรวจเหมืองถ่านหินในป่าฝนดิบชื้นแห่งหมู่เกาะทะเลใต้ ประเทศอินโดนีเซียเป็นเวลาหลายปี มีความสนใจพิเศษในด้านภาษาศาสตร์ จึงค้นคว้ารวบรวมข้อมูล พร้อมเสนอแนวคิดใหม่ผ่านบทความในชุด ‘สืบสานจากภาษา เชื่อมมหาสมุทร ขุดรากเหง้า คนไทยอยู่ที่นี่’ เผยแพร่ครั้งแรกใน ‘มติชนออนไลน์’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image