เวิลด์ เมดิคอลฯ ยันเป็นตัวแทนออสท์แลนด์ฯ ทำสัญญาซื้อขายเอทีเคกับ อภ. ไม่ผิด กม.

เวิลด์ เมดิคอลฯ ยันเป็นตัวแทนออสท์แลนด์ฯ ทำสัญญาซื้อขายเอทีเคกับ อภ. ไม่ผิด กม.

เมื่อวันที่ 3 กันยายน บริษัท เวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ได้ออกเอกสารชี้แจงกรณีชมรมแพทย์ชนบท ตั้งข้อสังเกตการทำสัญญาซื้อขายชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท หรือ เอทีเค จำนวน 8.5 ล้านชุด ขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ส่อแววทุจริต ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวระบุว่า เนื่องด้วย บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ และ บริษัท ออสท์แลนด์ฯ ผู้ชนะการประมูลงานจาก อภ. และได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาไทย (อย.) ในการจัดหาและนำเข้าชุดผลิตภัณฑ์ทดสอบโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) ภายใต้ชื่อ “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test” ซึ่งผลิตโดย Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd. จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ดำเนินงานภายใต้โครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อแจกให้ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยตนเอง จำนวน 8.5 ล้านชุด ได้รับการกล่าวพาดพิงกรณีแพทย์ชนบททำหนังสือตั้งคำถามผ่านทางสื่อมวลชนว่า นี่คือร่องรอยการส่อทุจริตของ อภ. และระบุว่า บริษัทที่ยื่นประมูลและชนะการประมูลคือ บริษัท ออสท์แลนด์ฯ แต่วันลงนามในสัญญากลับลงนามโดย บริษัท เวิลด์เมดิคอลฯ ซึ่งผิดกฎหมาย และเอื้อเอกชนหรือไม่ รวมทั้งมีการแก้ไขเอกสารการประมูลเพื่อสร้างหลักฐานเท็จหรือไม่ และควรมีการอาญัติและเปิดเอกสารทั้งหมดเพื่อตรวจสอบอย่างเร่งด่วน

อีกทั้ง แพทย์ชนบทยังได้ระบุอีกว่า “อภ.พอรู้ตัวว่า “พลาดแล้ว” จึงเล่นบทที่ช่างกล้า แถลงว่า ชื่อผู้ยื่นซองประมูลไม่ใช่ บริษัท ออสท์แลนด์ฯ แต่เป็น บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ ในฐานะผู้แทนจำหน่าย ชัดเจนว่าที่ผ่านมา ชื่อออสท์แลนด์ฯ คือชื่อผู้ชนะการประมูล ไม่มีชื่อ เวิลด์ เมดิคอลฯ”

ทั้งนี้ สิ่งที่ชมรมแพทย์ชนบท ได้ตั้งข้อสงสัยไว้คือ

Advertisement

1.ชมรมแพทย์ชนบทได้ตั้งข้อสังเกตว่า อภ.ได้ทำหนังสือเชิญชวนบริษัท ออสท์แลนด์ฯให้มายื่นซอง ซึ่งระบุชัดว่า หากบริษัทนำเข้าไม่ใช่บริษัทเดียวกับผู้แทนจำหน่าย จะต้องมีเอกสารการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายด้วย ซึ่งหากมีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายมาก่อนแล้ว บริษัทเวิลด์ เมดิคอลฯ ก็ย่อมใช้ชื่อตนเองในการยื่น แต่ทำไมกลับไม่ได้ใช้ยื่น

กรณีนี้ขอชี้แจงว่า เมื่อบริษัท ออสท์แลนด์ฯ ได้ทราบระเบียบการยื่นประมูลจาก อภ. ที่ชี้แจงว่า หากกรณีบริษัทผู้นำเข้าไม่ใช่บริษัทเดียวกันกับบริษัทผู้แทนจำหน่าย จะต้องมีเอกสารการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายพร้อมลงนามผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท เพื่อเข้าร่วมการประมูลแทน ในการนี้ บริษัท ออสท์แลนด์ฯ จึงได้มอบอำนาจให้ บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นตัวแทนเข้ายื่นซองประมูล และบริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ ได้แต่งตั้ง นางศิริญา เทพเจริญ กรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นผู้ดำเนินการเข้าประมูลในนามตัวแทนบริษัทฯ จึงถือว่าการเข้าร่วมประมูลหาชุดตรวจเอทีเค ที่ อภ.จัดประมูลนี้ บริษัทเวิลด์ เมดิคอลฯ และ บริษัท ออสท์แลนด์ฯ มิได้ทำผิดกฎการประมูลดังข้อกล่าวหาของแพทย์ชนบทแต่อย่างใด ทั้งนี้ยังได้รับการยืนยันอีกว่า ผู้เข้าร่วมการประมูลครั้งนี้ มีอีกหลายบริษัท ที่ได้แต่งตั้งให้บริษัทอื่นเป็นตัวแทนให้เข้ามาดำเนินการประมูล เหมือนเช่นที่ ออสท์แลนด์ แต่งตั้งให้ เวิลด์ เมดิคอลฯ เป็นผู้ยื่นประมูลเช่นกัน

2.กรณีที่ชมรมแพทย์ชนบทได้ตั้งข้อสังเกตว่า รูปการเขียนผลการเปิดซองบนกระดาน และข่าวที่ออกมา มีชื่อ บริษัท ออสท์แลนด์ฯ หมายเลข 11 แต่ไม่มีชื่อ บริษัท เวิลด์ เมดิคอลฯ (มีเจ้าหน้าที่อภ.หลายคนร่วมในเหตุการณ์) ขอชี้แจงว่า ในกรณีนี้ ได้รับการชี้แจงจาก อภ.ว่า เมื่อ บริษัท เวิลด์ เมดิคอล ฯ จับมือกับ บริษัท ออสท์แลนด์ฯ ในการเข้าร่วมประมูล ถือว่าเป็นในนามบริษัทเดียวกัน การอ้างอิงชื่อ ออสท์แลนด์ฯ บนกระดานเพียงบริษัทเดียวไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด สาเหตุเพราะ ออสท์แลนด์ฯ เป็นผู้ยื่นขอ อย.และเป็นผู้ได้รับอนุญาตใบรับรองการประเมินเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ และหากลงลึกในรายละเอียด ทั้งสองบริษัทได้ทำเอกสารสัญญาระหว่างกันก่อนการยื่นประมูลอย่างถูกต้องทุกประการ การเขียนบนกระดานโดยนำเสนอให้ผู้ร่วมประมูลทราบราคาที่แต่ละบริษัทยื่นประมูลเท่านั้น ไม่ได้มีผลในด้านกฎหมายแต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ข่าวน่าสนใจอื่นๆ :

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image