สภาฯผู้บริโภค ล่ารายชื่อค้านควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ ชงกสทช. ผวา ลูกค้าจ่ายแพงขึ้น 120%

สภาฯผู้บริโภค ล่ารายชื่อชง ‘กสทช.’ ค้านควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ วงเสวนานักวิชาการ-เศรษฐศาสตร์ ไม่เห็นด้วย-ขัดกม.4 ฉบับ-ลูกค้าเสี่ยงจ่ายค่าบริการแพงขึ้น 120% เฉียด 20,800 ลบ. ใครรับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดให้ประชาชนเข้าร่วมลงชื่อคัดค้านการควบรวมกิจการธุรกิจโทรคมนาคม ระหว่างบริษัท บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เนื่องจากมีอำนาจในการอนุญาตการควบรวมกิจการดังกล่าว ผ่านเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊กของสภาองค์กรของผู้บริโภค

โดย ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ ให้เหตุผลถึงการค้านการควบรวมกิจการ ประกอบด้วย 1.การควบรวมกิจการจะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง จากตลาดโทรคมนาคมปัจจุบันที่มีผู้ประกอบการ 3 รายใหญ่ ครองส่วนแบ่งตลาด 97% แข่งขันกัน 2.ทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาด โดยบริษัทใหม่หลังควบรวมกิจการจะมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 52% และ 3.การมีอำนาจเหนือตลาด นำไปสู่การผูกขาดโครงสร้างและระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เกิดการผูกขาดบริการ หรือผูกขาดโครงสร้างพื้นฐานอินเตอร์เน็ต ผู้บริโภคเข้าถึงได้ยากขึ้น อินเทอร์เน็ตจะช้าลง และการผูกขาดจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า การดำเนินการคัดค้านการควบรวมกิจการนี้ มาจาก 3 เหตุผล ประกอบด้วย 1.การควบรวมกิจการนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง เพราะต้องจ่ายค่าบริการที่แพงขึ้น จากค่าเฉลี่ยค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายในปัจจุบันอยู่ที่ 220 บาท/เลขหมาย/เดือน แบ่งเป็น 3 กรณี คือ 1.รายใหญ่แข่งขันรุนแรง ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 7-10% หรือ 235-242 บาท 2.รายใหญ่แข่งขันกันตามปกติ ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 13-23% หรือ 249-270 บาท และ 3.รายใหญ่ฮั้วกัน ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 365-480 บาท หรือ 66-120%

“หากคำนวณจากจำนวนผู้ใช้บริการ 80 ล้านเลขหมาย พบว่า หลังควบรวมกิจการผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการต่อเดือน อยู่ที่ 1,760 ถึง 20,800 ล้านบาท ถือเป็นความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคทุกคน แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบแทนผู้บริโภค เพราะต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้นแบบไม่มีเหตุผล ดังนั้น ผู้บริโภคจึงไม่ควรสนับสนุบให้เกิดการควบรวมกิจการ” น.ส.สารี กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ ยังพบว่าการควบรวมกิจการอาจขัดต่อกฎหมายอย่างน้อย 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ที่กำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกหาสินค้าและบริการ เพราะการควบรวมกิจการเป็นการลดสิทธิของผู้บริโภค 2.ขัดต่อ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 เนื่องจากเข้าข่ายงบประมาณเกิน 1,000 ล้านบาท และมีอำนาจเหนือตลาดเกิน 50% 3.ขัดต่อ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และ 4.ขัดต่อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ที่รัฐควรมีหน้าที่สนับสนุนให้เกิดการแข่งขัน

“ที่ผ่านมา ทั้งผู้ขอควบรวมและผู้คัดค้านมีการรวบรวมข้อมูลอย่างครบถ้วน ฉะนั้น กสทช. จะต้องพิจารณาเรื่องนี้ภายใต้ข้อมูลเช่นกัน ซึ่งจนถึงขณะนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคยังไม่เห็นถึงเหตุผลสำคัญของการควบรวมกิจการ เบื้องต้นทราบจากข่าวเพียงว่า จะทำให้ผู้ควบรวมมีขนาดธุรกิจใหญ่ขึ้น และสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการอีกรายได้มากขึ้น แต่ไม่มีหลักประกันว่า หากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่แล้วจะเกิดการแข่งขันจริงหรือไม่ หรือจะแบ่งกันเอาเปรียบผู้บริโภค เหมือนในอดีตที่มี 2 หน่วยงานภายใต้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ส่วนที่อ้างว่าเพื่อเป็นการลดต้นทุนนั้น มองว่าไม่ควบรวมกิจการก็สามารถลดต้นทุนได้ โดยการใช้โครงสร้างพื้นฐาน อาทิ เสาสัญญาณร่วมกัน ซึ่งกติกาของ กสทช. เอื้อให้ทำได้อยู่แล้ว” น.ส.สารี กล่าว

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องดีที่ กสทช. มีการจัดตั้งอนุกรรมการฯ 4 คณะ ซึ่งมีคณะอนุกรรมการฯด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมืองเป็นหนึ่งในนั้น นำมาสู่การเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะถึงการควบรวมกิจการดังกล่าว อีกทั้ง ที่ผ่านมาสภาองค์กรของผู้บริโภค มีการจัดเสวนาหลายกลุ่ม มีผู้เข้าร่วม อาทิ นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย ซึ่งพบว่า ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมครั้งนี้ ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงทำหน้าที่รวบรวมรายชื่อเพื่อคัดค้าน ด้วยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้บริโภคในอนาคต ซึ่งคาดว่า จะได้จำนวนรายชื่อมากพอ เพื่อเสนอต่อ กสทช. ให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้บริโภคต่อไป

ขณะเดียวกัน สภาองค์กรของผู้บริโภค มีข้อเสนอไปยัง กสทช. 3 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้ กสทช. ชุดใหม่ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ดำเนินการเปิดเวทีรับฟังข้อเสนอจากองค์กรผู้บริโภค ภาควิชาการ และผู้บริโภค เพื่อหาแนวทางในการกำกับดูแลกรณีดังกล่าว ไม่ให้เกิดอำนาจเหนือตลาดและการผูกขาดทางการค้า ซึ่งส่งผลกระทบและนำไปสู่การเอาเปรียบผู้บริโภค

2.ขอให้ กสทช. มีมาตรการส่งเสริมและแทรกแซง ให้มีผู้ประกอบการโทรคมนาคมเพิ่มขึ้น ทั้งประเภทที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง และประเภทที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง (MVNO) เพื่อป้องกันอำนาจเหนือตลาด และเพิ่มสภาพการแข่งขัน ทั้งนี้ ต้องทำให้มั่นใจได้ว่า เงื่อนไขที่เจ้าของโครงข่ายเป็นผู้กำหนดให้กับผู้เช่าที่เป็นผู้ให้บริการ MVNO นั้นเป็นเงื่อนไขที่เป็นธรรม และเป็นเงื่อนไขที่ผู้เช่าโครงข่ายสามารถประกอบธุรกิจแข่งขันกับผู้ให้เช่าได้จริง

รวมทั้ง 3.ขอให้ กสทช. ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น เพื่อพิจารณาผลกระทบในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับแต่ละผู้กำกับกิจการ และพิจารณาผลกระทบในส่วนที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้กำกับกิจการมากกว่าหนึ่งราย เพื่อให้การพิจารณาผลกระทบโดยภาพรวม เป็นไปอย่างรอบด้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image