เปิด 14 ข้อเยียวยาผู้บริโภค หาก ‘กสทช.’ ไฟเขียวดีลทรู-ดีแทค

เปิด 14 ข้อเยียวยาผู้บริโภค หาก ‘กสทช.’ ไฟเขียวดีลทรู-ดีแทค

ประเด็นหลักการพิจารณาการ ‘ควบรวมกิจการทรูและดีแทค’ อยู่ที่ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ กสทช. มีมากแค่ไหน ในการควบรวมกิจการของสองยักษ์ใหญ่นี้ ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ยืนยันมาโดยตลอดว่า ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 ข้อ 5 ระบุเพียงให้ผู้ได้รับใบอนุญาต ‘รายงาน’ ต่อ กสทช. อย่างน้อย 90 วันก่อนการดำเนินการ แต่ไม่มีอำนาจในปฏิเสธการควบรวม ทำได้เพียงกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นเท่านั้น

แต่ขณะที่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่ให้อำนาจ กสทช. ระบุว่า มาตรา 27 กำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลโทรคมนาคมไทยไว้ โดยกล่าวถึงอำนาจในกรณีที่อาจจะเกิดการผูกขาดหรือทำลายการแข่งขันทางการค้าเอาไว้

(11) กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

(13) คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการและคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

ADVERTISMENT

กฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับ กสทช. และมีการกล่าวถึงการผูกขาดเอาไว้คือ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 21 ให้อำนาจ กสทช. ในการกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันไม่ให้มีการผูกขาด หรือทำให้การแข่งขันน้อยลง หากมีการใช้อำนาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรม พฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม ยังระบุให้การประกอบกิจการโทรคมนาคม “อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า” ซึ่งเป็นสิ่งที่ กสทช. หรือผู้ต้องการควบรวมกิจการปฏิเสธที่จะไม่พูดถึงว่าการควบรวมครั้งนี้ต้องเอาพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 เข้าพิจารณาด้วย

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า หลังจาก สำนักงาน กสทช.ได้รับหนังสือตอบกลับจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการพิจารณาให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย เพื่อตีความอำนาจพิจารณาการรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ที่ประชุม กสทช. จะมีการประชุมวาระปกติ เพื่อตัดสินใจเรื่องการควบรวมกิจการในวันที่ 12 ตุลาคมนี้

ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. มีแนวโน้มเห็นด้วยกับการควบรวมกิจการ และได้เตรียมการเสนอ 14 มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้ กสทช. พิจารณา แต่เป็นที่ประจักษ์ว่ามาตรการเหล่านี้ ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และหากมีการควบรวมเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อผู้ให้บริการในธุรกิจนี้จะลดลงจาก 3 ราย เหลือเพียง 2 ราย ซึ่งอาจจะเป็นการผูกขาดทางการตลาดโทรคมนาคม และแน่นอนว่าราคาการให้บริการตลาดมือถือจะมีราคาสูงขึ้นอย่างมาก ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภค เตรียมฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ตามมาตรา 157 ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบ

สำหรับ 14 มาตรการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น หากอนุญาตให้ควบรวมกิจการ ประกอบด้วย

มาตรการ ข้อเสนอสำนักงาน กสทช. ความเห็นสำนักงาน กสทช. ภายหลังประมวลความเห็นที่ได้รับ
1.การถือครองคลื่นความถี่ เห็นควรกำหนดว่า ทรูและดีแทค ไม่สามารถใช้คลื่นความถี่ร่วมกันเพื่อให้บริการได้ และต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับใช้งานคลื่นความถี่ของ กสทช. อย่างเคร่งครัด สำนักงาน กสทช. เห็นควรให้เพียงมีการกำชับแก่ผู้ขอรวมธุรกิจให้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ซึ่งบังคับใช้อยู่แล้ว โดยไม่ให้มีการใช้คลื่นความถี่รวมกัน และไม่มีการเรียกคืนคลื่นแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี สำนักงาน กสทช. ก็อาจพิจารณาในอนาคตในเรื่องของการจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ผู้ให้บริการรายใหม่ผ่านการประมูลได้ผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น set-aside คลื่นความถี่ หรือการกำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่
2.การคงทางเลือกของผู้บริโภค การกำหนดให้ทรูและดีแทค ไม่มีการรวมธุรกิจกัน และยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกัน เป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น 3 ปี ไม่มีความเห็นที่ได้รับ
3.การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย การกำหนดให้ทรูและดีแทค ต้องจำหน่าย Capacity ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้กับ MVNO โดยอาจกำหนดเป็นร้อยละ 20 ของ Capacity ของโครงข่ายตนเอง (มากกว่าเงื่อนไขปกติที่กำหนดที่ร้อยละ 10) จากความเห็นหลากหลายที่ได้รับ นอกจากการส่งเสริม MVNO ให้เข้าสู่ตลาดโดยการกำหนดมาตรการให้จำหน่าย Capacity ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้กับ MVNO ตามที่เสนอแล้ว อาจพิจารณากำหนดมาตรการเพิ่มเติมได้แก่

(1) การเพิ่มจำนวนหรือคงจำนวน MVNO ในตลาด เช่น การกำหนดให้ก่อนรวมธุรกิจหรือหลังรวมธุรกิจต้องทำสัญญากับผู้ประกอบกิจการ MVNO ที่ไม่ได้อยู่ในเครือของผู้รวมธุรกิจจำนวนอย่างน้อย 1-2 ราย ซึ่งจะทำให้เกิด MVNO และทำให้เกิดผู้เล่นในตลาดมากขึ้นทันที อย่างไรก็ดี การกำหนดมาตรการดังกล่าวอาจทำให้เกิด MVNO ที่ไม่มีความพร้อมในการให้บริการแต่เข้าสู่ตลาดด้วยสภาพบังคับของมาตรการ ซึ่งท้ายสุดก็ไม่สามารถแข่งขันได้และต้องออกจากตลาดไปในที่สุด

(2) การกำหนดให้การขายส่งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่ผู้ประกอบกิจการ MVNO ต้องคิดค่าตอบแทนตามปริมาณที่ใช้จริง (Pay as you go) เพื่อลดภาระและความเสี่ยงในการให้บริการ ตามความเห็นคณะอนุกรรมการฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง ซึ่งหาก MVNO สามารถซื้อบริการในปริมาณที่สอดคล้องกับความสามารถในการให้บริการของตนเองแล้ว จะเป็นการลดต้นทุนและเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ MVNO สามารถแข่งขันและคงอยู่ในตลาดได้

4.การกำหนดอัตราค่าบริการ เห็นควรกำหนดว่า ทรูและดีแทค จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกกับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการของ กสทช. อย่างเคร่งครัด”ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. เห็นควรกำหนดมาตรการเกี่ยวข้องกับอัตราค่าบริการเพิ่มขึ้นจากที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้การกำกับดูแลมีความเหมาะสมกับโครงสร้างตลาดที่เปลี่ยนไปจากการรวมธุรกิจ และมีสภาพที่เหมาะและยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยควรมีลักษณะเดียวกับแนวทางที่ที่ปรึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสนอ เรื่อง การกำหนดราคาในรูปแบบ Price Cap ซึ่งมีการคำนึงสภาพตลาดในปัจจุบันและประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เป็นต้น สำนักงาน กสทช. ได้มีการทบทวนแล้ว เห็นว่าแนวทางที่เหมาะสมที่สุดคือการให้ทรูและ ดีแทคต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการของ กสทช. อย่างเคร่งครัด ซึ่งปัจจุบันการกำกับดูแลอัตราค่าบริการเป็นไปตามประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดและกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ และประกาศ กสทช. ว่าด้วยการกำหนดและกำกับดูแลอัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศในส่วนที่เกินกว่าสิทธิการใช้งานของรายการส่งเสริมการขายหลัก และมีการพิจารณาเพิ่มมาตรการเกี่ยวข้องกับอัตราค่าบริการเพิ่มขึ้นจากที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้การกำกับดูแลมีความเหมาะสมกับโครงสร้างตลาดที่เปลี่ยนไปจากการควบรวม
5.คุณภาพในการให้บริการ (QoS) (1) QoS ของสัญญาณ

(1.1) ทรูและดีแทคต้องไม่ลดคงจำนวน cell sites ของทั้งสองบริษัทลงจากเดิม เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานของบริการที่ให้ประชาชนได้รับให้ไม่ต่ำไปกว่าเดิม

(1.2) ทรูและดีแทคต้องรักษา QoS ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคม อย่างเคร่งครัด

(2) QoS ในการให้บริการลูกค้า

กำหนดให้บริษัททั้ง 2 มีความพร้อมเพื่อรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นจากการรวมธุรกิจเพื่อให้คุณภาพในการให้บริการต่อผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่าเดิม เช่น จำนวนเจ้าหน้าที่ที่เพียงพอเพื่อรองรับการให้บริการทั้งในส่วนของศูนย์บริการ และพนักงานรับสาย (Call center) รวมถึงขนาดพื้นที่ของศูนย์บริการลูกค้าที่สามารถรองรับการเข้ามาติดต่อของผู้ใช้บริการ

ข้อเสนอมาตรการของสำนักงาน กสทช. มีลักษณะที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมาตรการเฉพาะที่เสนอโดยหน่วยงานอื่นๆ แล้ว
6.สัญญาการให้บริการ เห็นควรกำหนดให้ทรูและดีแทค ต้องคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างบริษัทและผู้ใช้บริการรวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับตามที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์และได้รับการยินยอมจากผู้ใช้บริการ เห็นว่าสำนักงาน กสทช. ได้มีการกำหนดการรักษาสัญญาไว้เพื่อคุ้มครองเพื่อผู้บริโภคแล้ว แต่อาจมีการพิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องระยะเวลาที่เหมาะสมที่ผู้ขอรวมธุรกิจควรคงไว้ซึ่งสัญญา และวิธีการแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเมื่อมีการสิ้นสุดสัญญาและการเปลี่ยนแปลงสัญญา เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์สูงสุด โดยทั้ง บล. ฟินันซ่าฯ และคณะอนุกรรมการฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมืองได้เสนอระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน คือประมาณ 3 ปี จึงเป็นระยะเวลาที่อาจมีการพิจารณานำมาปรับใช้
7.ความครอบคลุมของโครงข่าย กำหนดมาตรการเพิ่มเติมข้อกำหนดความครอบคลุมของโครงข่ายโทรคมนาคมด้วยเทคโนโลยี 5G เช่น ให้มีความครอบคลุมโครงข่าย 5G มากกว่าร้อยละ 80 ของประชากรภายใน 5 ปี เห็นว่าควรกำหนดมาตรการในเรื่องข้อกำหนดในเรื่องการขยายความครอบคลุมของโครงข่ายโทรคมนาคมด้วยเทคโนโลยี 5G โดยไม่น้อยกว่าข้อเสนอของผู้แจ้งรวมธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของอนุกรรมการฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและที่ปรึกษาอิสระ (85% ภายใน 3 ปี)
8.การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Infrastructure Sharing) เห็นควรกำหนดว่า ทรูและดีแทคจะต้องเปิดให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นเช่าใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของตนเอง และจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้โครงข่ายโทรคมนาคม ของ กสทช. อย่างเคร่งครัด มาตรการที่สำนักงาน กสทช. เสนอ มีลักษณะที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับความเห็นที่ได้รับ
9.การประชาสัมพันธ์การให้บริการเพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ ภายหลังการรวมธุรกิจ การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ต่อสาธารณชนว่าจะคงไว้ซึ่งบริการที่มีคุณภาพ และราคาค่าบริการที่เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ ข้อเสนอมาตรการของสำนักงาน กสทช. มีความสอดคล้องกับความเห็นที่ได้รับ แต่ในรายละเอียดแล้วนั้น สำนักงาน กสทช. ยังมิได้มีการกำหนดรายละเอียดขั้นตอน กรอบระยะเวลา วิธีการประชาสัมพันธ์ไว้ ในขณะที่คณะอนุกรรมการฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมืองมีการกำหนดที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม จึงอาจมีการพิจารณาต่อไปในการนำมาปรับใช้ เพื่อให้การประชาสัมพันธ์ตามมาตรการของสำนักงาน กสทช. เป็นไปโดยชัดเจนมากขึ้น
10.การติดตามผลการดำเนินการและเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการรวมธุรกิจ การรายงานผลการประกอบธุรกิจ ภายใต้การดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่ได้รับจาก กสทช. เป็นรายไตรมาสหรือตามแต่ระยะเวลาที่ กสทช. กำหนด ตามแบบที่ กสทช. กำหนด ไว้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี ข้อเสนอมาตรการของสำนักงาน กสทช. ยังมิได้มีการกำหนดรายละเอียดว่าผู้ขอรวมธุรกิจจะต้องรายงานข้อมูลส่วนใดให้กับ กสทช. ทราบบ้าง ในขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการเสนอรายละเอียดสิ่งที่ควรรายงาน และยังเสนอให้มีมาตรการในการติดตามผลการดำเนินการโดยให้มีหน่วยงานอื่นเข้ามาร่วมตรวจสอบด้วย จึงอาจนำมาพิจารณานำมาปรับใช้ต่อไปร่วมกับการให้ผู้รับใบอนุญาตรายงานผลการดำเนินการที่มีอยู่เดิม
11.การส่งเสริมการแข่งขัน-เพิ่มผู้ให้บริการ MNO – กำหนดให้มีการรับคืนคลื่นความถี่จากผู้ประกอบกิจการรายเดิมที่ขอรวมธุรกิจ และจัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ประกอบกิจการ MNO รายใหม่เป็นการเฉพาะ

– กำหนดให้มีการกระจายการถือครองทรัพย์สิน เช่น คลื่นความถี่ เสาโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และควรกำหนดรายละเอียดการกระจายการถือครองทรัพย์สินให้แล้วเสร็จก่อนการรวมธุรกิจ เพื่อจัดทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับผู้ให้บริการรายใหม่ และดำเนินการจัดประมูลคลื่นความถี่อย่างช้าภายใน 6 เดือนหลังการรวมธุรกิจ

– กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการ MNO รายใหม่สามารถทำสัญญา Roaming กับผู้ขอรวมธุรกิจหรือผู้ให้บริการรายเดิมได้จนกว่าจะมีโครงสร้างพื้นฐานของตนเองเพียงพอ

ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะอนุ กรรมการฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง เสนอแนวทางที่จะทำให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่ที่มีการสร้างโครงข่ายในการให้บริการโดยใช้คลื่นความถี่ที่มีการคืนจากผู้แจ้งรวมธุรกิจ ตลอดจนการขายโครงข่ายบางส่วนให้กับผู้ให้บริการรายใหม่ และการเปิดให้เช้าใช้โครงข่าย เช่น ในลักษณะของ Roaming ซึ่งวิธีการเหล่านี้เน้นให้ผู้ประกอบ การรายใหม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการให้บริการ ทั้งการได้รับการจัดสรรทรัพยากรและการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นของผู้ประกอบการรายเดิมในตลาดไปจนกว่าจะสามารถให้บริการได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ดี โดยที่ทรัพยากรสำคัญในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้แก่ คลื่นความถี่ มาตรการในลักษณะนี้จึงอาจต้องพิจารณาประกอบกับมาตรการในเรื่องของการถือครองคลื่นความถี่และกำหนดให้สอดคล้องกันด้วย
12.การป้องกันการครอบงำกิจการ เพื่อลดโอกาสที่จะทำให้ TRUE Corp หรือ dtac ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถควบคุม NewCo ได้แต่เพียงฝ่ายเดียว (1) เงื่อนไขเกี่ยวกับคณะกรรมการ NewCo

อาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถือหุ้นของ TRUE Corp และ dtac ต่างฝ่ายไม่สามารถเสนอชื่อกรรมการได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของรายชื่อกรรมการใน NewCo ในระยะเวลา 3 ปีแรกภายหลังการรวมธุรกิจ

(2) เงื่อนไขเกี่ยวกับการแต่งตั้ง ผู้บริหารและ คณะกรรมการบริษัทย่อยของ NewCo

การแต่งตั้งผู้บริการและกรรมการบริษัทย่อยของ NewCo จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนของ NewCo โดยคณะกรรมการชุดย่อยของ NewCo จะต้องได้รับการแต่งตั้งที่สอดคล้องกับลักษณะการแต่งตั้งคณะกรรมการของ NewCo

บล. ฟินันซ่าฯ เสนอมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการครอบงำบริษัทที่เกิดขึ้นใหม่โดยบริษัทใดบริษัทหนึ่ง โดยเสนอมาตรการให้ กสทช. กำหนดการเข้าถือหุ้น และการแต่งตั้งผู้บริหารและคณะกรรมการย่อยของบริษัทใหม่ ในทางหนึ่งวิธีการดังกล่าวอาจเป็นการป้องกันการครอบงำบริษัทโดยบริษัทใดบริษัทหนึ่งได้ แต่ก็มีข้อกังวลว่าจะเป็นการเข้าไปแทรกแซงการบริหารกิจการของผู้แจ้งรวมธุรกิจหรือไม่ จึงควรต้องพิจารณาข้อเสนอมาตรการและวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้อย่างเหมาะสมต่อไป
13.การลงทุนเพื่อพัฒนาบริการใหม่ และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ (1) กสทช. ควรมีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนของผู้ประกอบการด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อรายได้

(2) กำหนดให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและระบบโครงสร้างพื้นฐาน เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค และเพิ่มแรงกดดันต่อผู้ประกอบการรายอื่นต้องพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยากขึ้น ต้องหาเทคโนโลยีที่ทัดเทียมเข้ามาด้วย

(3) กสทช. ควรมีบทบาทหลักกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลและกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีกลุ่มนี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีโทรคมนาคมเป็นส่วนใหญ่

(4) กสทช. ควรมีการกำหนดแผนการลงทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ กสทช. เอง โดยพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนและการใช้ทรัพยากรร่วมกันกับภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของภาครัฐ

มาตรการเหล่านี้นั้นควรเป็นมาตรการที่ส่งเสริมการเติบโตและการพัฒนาเทคโนโลยีในภาพรวมมากกว่าที่จะกำหนดเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งเท่านั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรมต่อไป
14.การรับเรื่องและกลไกการแก้ไขปัญหาแก่ผู้ใช้บริการ (1) กำหนดให้ผู้ขอรวมธุรกิจต้องกำหนดให้มีกลไกในการรับเรื่องและแก้ไขปัญหาแก่ผู้ใช้บริการหลังการรวมธุรกิจ

(2) กำหนดให้ผู้ให้บริการทุกรายต้องจัดให้มีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนและเผยแพร่สถิติและปัญหาการร้องเรียนตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด

ปัจจุบัน ได้มีประกาศ กสทช. เรื่อง กระบวนการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งกำหนดกระบวนการต่างๆ เช่น กระบวนการยื่นเรื่องร้องเรียน กระบวนการพิจารณาและตรวจสอบการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน และหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตในการบริหารจัดการเรื่องร้องเรียน รวมถึงการรับและแก้ไขข้อร้องเรียน โดยใช้บังคับกับผู้รับใบอนุญาตทุกราย จึงเห็นว่าหากมีการเพิ่มเติมรายละเอียดใดๆ ในข้อกำหนดในเรื่องดังกล่าวควรใช้บังคับในภาพรวมจะเหมาะสมกว่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image