เงินบาท ‘อ่อนยวบ’ เปิด 33.52 บาท/ดอลลาร์ นักลงทุนคัมแบ๊ก ถือสินทรัพย์ปลอดภัย

แฟ้มภาพ

เงินบาท ‘อ่อนยวบ’ เปิด 33.52 บาท/ดอลลาร์ นักลงทุนคัมแบ๊ก ถือสินทรัพย์ปลอดภัย

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.52 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.65 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่าการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐและการย่อตัวลงมีส่วนทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย แต่จะเห็นได้ว่า การอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มชะลอลงบ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งมองว่ามาจากการที่ผู้เล่นในตลาดบางส่วน อาทิ ผู้ส่งออกได้ทยอยขายเงินเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะแรงขายบอนด์ก็เริ่มชะลอลง หลังจากที่ช่วงก่อนหน้า นักลงทุนต่างชาติได้ขายบอนด์ไทยสุทธิเฉลี่ยวันละไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท (ล่าสุดกลับมาเป็นฝั่งซื้อสุทธิราว 1.1 พันล้านบาท)

อย่างไรก็ดี หากยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระทบตลาดการเงิน ค่าเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวแคบในกรอบใหม่ โดยมีแนวต้านสำคัญในโซน 33.60-33.70 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในขณะที่แนวรับสำคัญอยู่ในช่วง 33.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเงินบาทมีโอกาสที่จะแกว่งตัวเหนือโซนแนวรับได้ต่อ เพราะผู้เล่นในตลาดเริ่มมีการปรับสถานะมาเป็นฝั่งที่มองว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อ หรือเปลี่ยนจากฝั่ง Short USDTHB มาเป็นฝั่ง Long USDTHB มากขึ้น

Advertisement

นายพูน กล่าวว่า ด้านตลาดค่าเงิน เงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่างออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง นอกจากนี้ เงินเหรียญสหรัฐยังคงได้แรงหนุนจากความต้องการถือในช่วงตลาดผันผวน ส่งผลให้ ล่าสุด ดัชนีเงินเหรียญสหรัฐ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 103.5 จุด

ที่น่าสนใจ คือ แม้ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงและบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐก็ปรับตัวลดลง แต่ทว่าราคาทองคำยังคงถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินเหรียญสหรัฐและแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ส่งผลให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,885 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์

“สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอาจไม่มีมากนัก ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก และ การว่างงานต่อเนื่อง เพื่อประเมินภาพรวมตลาดแรงงานสหรัฐ เพราะหากตลาดแรงงานสหรัฐ ยังคงแข็งแกร่งและตึงตัว ก็อาจทำให้ อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงได้ช้า กดดันให้เฟดจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องได้” นายพูน กล่าว

Advertisement

ข่าวน่าสนใจอื่น:

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image