อดีตอธิบดีกรมศิลป์ แนะไฮสปีดอยุธยา ‘ถ้าไม่มุดดิน ก็เลี้ยวขวา’ เสียเพิ่ม 8 พัน-หมื่นล้านก็ต้องจ่าย

อดีตอธิบดีกรมศิลป์ แนะไฮสปีดอยุธยา ‘ถ้าไม่มุดดิน ก็เลี้ยวขวา’ เสียเพิ่ม 8 พัน-หมื่นล้านก็ต้องจ่าย รับไม่ได้ ทำลายมรดกชาติ

เมื่อเร็วๆนี้ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสมาคมศิษย์เก่าคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดเสวนาหัวข้อ ‘อโยธยา : ความสำคัญและอนาคต’ (อ่าน อโยธยาถูกบังคับสูญหาย “ไฮสปีด เทรน” ผ่าสองซีกอโยธยา)

ในตอนหนึ่ง นายบวรเวท รุ่งรุจี อดีตอธิบดีกรมศิลปากร นายกสมาคมอิโคโมสไทย กล่าวในหัวข้อ ‘อนาคตของอโยธยา’ โดยระบุว่า พระนครศรีอยุธยาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในชื่อ Historic city of Ayutthaya  คือ ‘นครประวัติศาสตร์’ ตามเกณฑ์ของการมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเลิศ และมีพัฒนาการในศิลปะของชาติไทย จึงแสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่วัดใดวัดหนึ่ง เจดีย์ วิหาร แต่คือภาพรวมทั้งหมด นั่นคือสิ่งที่รวมกันเป็นนครประวัติศาสตร์อยุธยา สาเหตุที่ไม่ใช้คำว่า ‘เมือง’ เพราะ ‘นคร’ ให้ภาพที่กว้างใหญ่กว่า  โดยกรมศิลปากรสำรวจและทำแผนแม่บทในการวางแผนอนุรักษ์และพัฒนา ตั้งแต่ พ.ศ.2536

นายบวรเวทกล่าวว่า กรณีโครงการสร้างทางรถไฟที่ระบุว่า สร้างห่างจากมรดกโลกกว่า 1 กิโลเมตร ไม่ทำให้เกิดความเสียหายนั้น หากพิจารณาในภาพรวม จะเห็นว่าเสียหายแน่นอน เพราะอยุธยาครอบคลุมไม่เพียงพื้นที่มรดกโลก อยุธยา มีพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญ อาทิ พระราชวังจันทน์เกษม นอกจากนี้ ในฝั่งอโยธยา มีวัดมเหยงคณ์ วัดอโยธยา พื้นที่ฝั่งนอกเกาะเมืองทางทิศใต้ เป็นชุมชนชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นโปรตุเกส ฮอลันดา ญี่ปุ่น รวมถึงโบราณสถานที่ไกลออกไป อย่างปราสาทนครหลวง ซึ่งห่างจากตัวเมืองราว 20 กม.

Advertisement

“ความเป็นอยุธยา ไม่ใช่แค่พื้นที่มรดกโลกเท่านั้น แต่คือทั้งหมดที่หลอมรวมกัน ในฐานะที่เราเป็นคนไทย สิ่งที่ควรคำนึงคือการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของเราไว้” นายบวรเวทกล่าว

นายบวรเวทกล่าวว่า อยุธยามีทางรถไฟเดิมอยู่แล้ว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่เป็นรางบนดิน เวลาคนพูดว่า ญี่ปุ่นก็มีรถไฟความเร็วสูงที่สร้างผ่านตัวเมืองโบราณ ซึ่งเป็นความจริง แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ เป็นทางรถไฟบนดิน ไม่ได้ยกต่อม่อสูงขึ้นไปกว่า 20 เมตรอย่างในโครงการล่าสุด

ถ้าถอยหลังไปราว พ.ศ.2560 ญี่ปุ่นมาสำรวจเส้นทาง เพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่ ทำ EIA ซึ่งเป็นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆแล้ว กรรมการ EIA คือการรวมผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เข้ามาประชุมร่วมกันโดยมาตรฐานคือ 9 คน อาทิ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ เพื่อพิจารณาว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในการก่อสร้างจะมีผลกระทบกับอะไรบ้าง และจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร เช่น ต้องออกแบบอย่างไร เส้นทางต้องเป็นอย่างไร ในการประชุมครั้งนั้น เท่าที่ทราบมีการประชุม 6 ครั้ง ไม่มีใครพูดถึงผลกระทบด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี หรือมรดกโลกเลย ทุกคนพูดถึงแต่การระวังเรื่อง ‘ดินอ่อน’ ที่อ้างกันว่าผ่าน EIA แล้ว คือลักษณะเช่นนี้ ซึ่งในทางที่เกี่ยวข้องกับมรดกด้านวัฒนธรรม มันไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหา จึงมี HIA (Heritage Impact Assessment) เพิ่มรายละเอียดในการศึกษามากยิ่งขึ้น

Advertisement

“ต้องเข้าใจนิดหนึ่งว่า EIA คือการศึกษาของนักวิชาการ ไม่ได้หมายความว่าเขาอนุญาตให้สร้าง กรรมการ EIA ไม่ได้มีอำนาจอนุญาตให้สร้าง แต่ศึกษาว่าถ้ามีผลกระทบ 1 2 3  แนวทางการแก้ไขจะเป็นอย่างไร อำนาจในการอนุญาตอยู่ในมือของผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ อย่างกรณีนี้คือการรถไฟแห่งประเทศไทย” นายบวรเวทกล่าว

นายบวรเวทกล่าวว่า EIA ผ่านกระบวนการไปแล้ว จนกระทั่งเข้าที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกของไทย โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ตนก็เป็นกรรมการด้วย โดยมีการกล่าวในที่ประชุมว่าการก่อสร้าง กระเทือนต่อมรดกโลก คณะกรรมการมรดกโลกจึงมีมติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยไปศึกษาใหม่

“คณะกรรมการมรดกโลกประชุมกับการรถไฟแล้ว ผมก็เข้าประชุมด้วย บอกว่า มี 2 แนวทาง 1. ถ้าจะมาทางเดิม ก่อนถึงอยุธยาให้มุดลงใต้ดินไปเลย แล้วพอพ้นเกาะเมืองแล้วค่อยไปโผล่ เพราะตอนประชุม ผมถามเขาว่า ช่วงที่ผ่านลพบุรี ผ่านพระปรางค์สามยอด และศาลพระกาฬ ทางรถไฟเป็นอย่างไร เขาบอกว่า มุดดินตั้งแต่ป่าหวาย กระทั่งเลยพระปรางค์สามยอดแล้วถึงโผล่ขึ้นมา ผมถามว่า ทำไมตรงนั้นคุณมุดได้ แล้วอยุธยาไม่มุด ก็ไม่มีคำตอบ (หัวเราะ) นั่นคือทางเลือกที่หนึ่ง

ทางเลือกที่ 2 เลี้ยวขวาไปทางถนนสายเอเซีย พหลโยธิน กรมศิลปากร ยังย้ายศาลากลางจังหวัดซึ่งเคยอยู่กลางเมืองออกไปนอกเมือง ติดกับถนนสายเอเซียเมื่อราวพ.ศ.2538-2539 ซึ่งปัจจุบันมีห้างสรรพสินค้าเต็มไปหมด นั่นคือทิศทางที่เราพยายามจะบอกว่าความเจริญด้านเศรษฐกิจควรไปอยู่อีกที่หนึ่ง เพราะเมื่อเจริญแล้วต้องมีการก่อสร้างเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นควรย้ายพ้นออกจากเขตที่สงวนไว้

ผมบอกว่า เราชี้ทิศทางแล้วนะ ถัดจากศาลากลางอยุธยาหลังใหม่ไป คือสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จะได้ไปแมตช์กัน ถ้ารถไฟมาทางขวา เลาะไปตามถนนพหลโยธิน จะได้ให้บริการคนที่อยู่แถวนั้นได้” นายบวรเวทกล่าว

จากนั้น นายบวรเวท ฉายภาพสถานีรถไฟอยุธยาเก่าที่กรมศิลปากรกำลังจะประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และภาพจำลองสถานีรถไฟอยุธยาใหม่ตามโครงการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นเสาตอม่อยกสูง 21 เมตร รถไฟอยู่ชั้นบนสุด คือ ราว 19 เมตรเศษ

“เขาบอกว่าจะรักษาสถานีอยุธยาเดิมไว้ให้ภายใต้โครงสร้างของเขา ซึ่งไม่ใช่การอนุรักษ์ จะเรียกอะไรก็ไม่ทราบ เมื่อเป็นสถานีใหญ่ ก็ต้องมีฟังก์ชั่น ร้านขายของ ร้านอาหาร อะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด จึงต้องการพื้นที่เยอะ” นายบวรเวทกล่าว

ต่อมา นายบวรเวทแสดงภาพที่ทำขึ้นโดยนิสิตภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ศึกษาว่าหากมีการสร้างจริง สิ่งที่จะได้เห็นจากมุมมองระยะต่างๆ และจากแนวถนนสายต่างๆ ในอยุธยาจะเป็นอย่างไร

“มันสูงเกินไป จำได้ว่าเขามาคุยกับผมว่า รับความสูงได้แค่ไหน ผมบอกว่า ประเด็นคือ ไม่ควรสร้างแบบนี้ คุณไปสร้างบนผิวดินธรรมดาก็ดีอยู่แล้ว เขตมีอยู่แล้ว รางมีอยู่แล้ว ทั้งยังเป็นรางคู่อีกด้วย แต่เขายืนยันว่า เขตของการรถไฟคือ 40 เมตรจากกลางรางไปซ้าย-ขวา ซึ่งค่อนข้างกว้าง และมีแผนทำทางรางรถไฟเต็มหมดแล้วทั้ง 80 เมตร ไม่สามารถแล้ว ต้องโผล่ขึ้นมาบนฟ้าอย่างเดียว ผมบอกว่า ถ้าอย่างนั้นคงคุยกันยาก” นายบวรเวทกล่าว

ในช่วงท้าย นายบวรเวท กล่าวด้วยว่า ไม่ได้ปฏิเสธความเจริญ แต่รับไม่ได้หากความเจริญนั้นทำให้มรดกชาติเสียหาย

 “เราไม่ได้ปฏิเสธความเจริญที่จะเข้ามา แต่ที่เราปฏิเสธ เราปฏิเสธว่าถ้าคุณเข้ามา แล้วทำให้มรดกของชาติมันเสียหาย เรารู้สึกรับไม่ได้ในส่วนนี้ เพราะฉะนั้นคุณควรต้องคิด เสียเงินก็ต้องเสีย เขาบอกในการประชุมว่า ถ้ามุดใต้ดินต้องเพิ่มอีกประมาณ 8 พันล้าน ถ้าเลี้ยวขวา เพิ่มอีกหมื่นกว่าล้าน ต้องไปเวนคืน ซึ่งโดยส่วนตัวผมบอกว่าไม่เห็นเป็นไรเลย เสียก็เสียไปกับการที่เราจะอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติไว้” นายบวรเวท กล่าว

ทั้งนี้ รศ.ดร. รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ กล่าวเสริมว่า จะแปดพันหรือหมื่นล้านก็ไม่เห็นเป็นไร เรือดำน้ำยังซื้อได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image