เปิดแนวทางแก้หนี้แบงก์ชาติ คาด ‘ดอกลด ‘แต่ ‘จ่ายค่างวดเพิ่ม’

เปิดแนวทางแก้หนี้แบงก์ชาติ คาด ‘ดอกลด ‘แต่ ‘จ่ายค่างวดเพิ่ม’

ปัญหา หนี้ครัวเรือน ยังเป็นเรื่องหนักอกหนักใจของใครหลายคน และเป็นปัญหาฝังรากลึกของสังคมไทยมายาวนาน เพราะ “หนี้” ไม่ใช่เรื่องที่จะจำกัดออกจากสาระบบภาระของครัวเรือนได้ง่ายๆ

ซึ่งความหนักหนาสาหัสหนี้ไทย สะท้อนข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับปรุงสถิติหนี้ครัวเรือนให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยความครอบคลุมที่เพิ่มขึ้นมาจากผู้ให้กู้ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย หนี้เพื่อการศึกษา (กยศ.) กลุ่มสหกรณ์อื่นๆ (ที่ไม่ใช่สหกรณ์ออมทรัพ์ย) การเคหะแห่งชาติ และพิโกไฟแนนซ์ ส่งผลให้ไตรมาส 1/2566 หนี้ครัวเรือนยืนระดับสูงถึง 90.6% หรือยอดคงค้าง 15.96 ล้านล้านบาท

ซึ่งจากตัวเลขคงอยู่ระดับสูง (มาก) และมีทีท่าจะลดลงยาก (สุดๆ) ธปท.จึงเตรียมผุดแนวทางการแก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืน โดยเฉพาะมาตรการการแก้หนี้เรื้อรัง (Persistent Debts) ในกลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหา เนื่องจาก ธปท.ต้องการดูแลลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้องรังให้สามารถปิดจบหนี้ได้

Advertisement

เช่น อยากเห็นหนี้ที่เป็นการชำระเป็นงวด (Installment loan) ที่รู้ว่าชำระหนี้หมดภายในเมื่อไร มากกว่าการสินเชื่อหมุนเวียน (Revolving Loan) ซึ่งเป็นวงเงินที่เปิดไว้ และเป็นการกู้หนี้ใหม่มาจ่ายหนี้เก่า หากลูกหนี้มีพฤติกรรมเช่นนี้ “การแก้หนี้จะไม่จบสิ้น”

-แนวแก้หนี้ดอกลดแต่จ่ายงวดเพิ่ม

แต่เรื่องการปิดจบของลูกหนี้ ด้วยการ ‘ลดดอก’ อาจทำให้ต้อง ‘ผ่อนค่างวด’ เพิ่มขึ้น!

Advertisement

โดย “ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากแนวทางการแก้หนี้ครัวเรือนยั่งยืน โดยเฉพาะมาตรการการแก้หนี้เรื้อรัง (Persistent Debts) ซึ่งคาดว่าเงื่อนไขของ ธปท. โดยคาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 12% จากปัจจุบันอยู่ที่ 25% เพื่อให้ลูกหนี้ผ่อนให้จบภายในเวลาราว 4 ปีนั้น

ประเด็นสำคัญสำหรับลูกหนี้ที่ต้องการเข้ามาตรการแก้หนี้ครัวเรือน ซึ่ง ธปท.มีแนวทางทางที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยจาก 25% มาที่ 12% นั้น ผู้กู้จะต้องมีภาระการผ่อนชำระค่างวดเพิ่มขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง 10% เพียงแต่ลูกหนี้อาจต้องเตรียมตัวผ่อนชำระต่อเดือนในจำนวนที่สูงขึ้นกว่า 24.6%

เช่น หากเป็นหนี้เฉลี่ย 69,000 บาท ค่างวดเดิมอยู่ที่ 1,438 บาท ทุกๆ 10% ของดอกเบี้ยที่ลดลงตามสัญญาใหม่อาจจะทำให้ยอดผ่อนเพิ่ม 24.6% ของยอดผ่อนเดิมหรือเพิ่มอีก 351 บาทต่องวด ทำให้งวดนั้นต้องชำระเงินที่ 1,789 บาท ดังนั้น ผู้ที่จะเข้าโครงการนี้จึงต้องตระหนักถึงภาระรายเดือนที่เพิ่มขึ้นด้วย

-ชี้ ‘แบงก์พาณิชย์’ กระทบน้อย

ผู้บริหารศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังระบุว่า เบื้องต้นประเมินผลกระทบต่อธนาคารพาณิชย์ในวงจำกัดจะไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิระบบธนาคารพาณิชย์ไทย หรือกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยประมาณ 4,300-4,700 ล้านบาท และกระทบอัตราส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ราว 0.02-0.03% ภายใต้คาดการณ์หนี้กลุ่มเรื้อรังรุนแรง (Severe Persistent Debt) หรือ Severe PD เป็นกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีปัญหาผ่อนค่างวด แต่ไม่เกิน 3 เดือน และมีหนี้หลายก้อน ทำให้มีโอกาสผ่อนเฉพาะดอกเบี้ย คาดว่าจะมีสัดส่วน 0.19 – 0.23 % ของสินเชื่อรวม

-ฝากโจทย์ถึง “รัฐบาลใหม่”

ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยฯ ให้ความเป็นห่วงคือการเป็นหนี้ก้อนใหญ่ และเป็นหนี้แก้ยาก เช่น หนี้ครู และข้าราชการ มีสัดส่วนถึง 10.5% ของหนี้ครัวเรือน และคิดเป็น 9.5% ของจีดีพี โดยหนี้ครูมีประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท และหนี้ข้าราชการตำรวจราว 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องแก้ไขแบบบูรณาการจากทุกหน่วยงาน เพราะต้องร่วมมือกันในการแก้ไขเป็นระบบ เช่น กรมตำรวจ สหกรณ์ กรมศึกษาธิการ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีหนี้ของบริษัท บริหารสินทรัพย์ (AMC) และหลุดการดูแลของสถาบันการเงิน ซึ่งคาดว่าปีนี้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของระบบธนาคารพาณิชย์จะอยู่ที่ 3% เนื่องจากมีการบิหารจัดการหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ และตัดขายหนี้ให้ AMC ซึ่งมีทั้งหนี้รายย่อยและหนี้ธุรกิจรายย่อย ดังนั้น ทำให้หนี้ยังอยู่ แต่ไปอยู่กับ AMC โดยตัวเลขมูลหนี้คงค้างปัจจุบันเพิ่มขึ้นราว 1.3 แสนล้านบาท จากช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 3 แสนล้านบาท และปัจจุบันมาอยู่ที่ราว 4 แสนล้านบาท

“เศรษฐกิจในภาพที่ไม่นอนขึ้นเรื่อย ๆ การจัดการยังเป็นแบบเดิม มาตรการช่วยเหลือจำกัด คนกลุ่มนี้ก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เขายังอยู่กับระบบเศรษฐกิจ คนกลุ่มนี้ค่อนข้างจะลืมตาอ้าปากยากในระยะถัดไป อยากจะฝากโจทย์ไว้ให้รัฐบาลใหม่ ช่วยก้าวออกมาดูแลส่วนนี้เพิ่มเติมด้วย”นางสาวธัญญลักษณ์กล่าว

-คาดหนี้ครัวเรือนกดไม่ลงกรอบ 80%

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ ประเมินว่าสัดส่วนหนี้จะอยู่ในกรอบประมาณ 88.5-91.0% ในช่วงปลายปีนี้ จากระดับ 90.6% ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ดังกล่าวคงจะยังไม่ลดลงแตะ 80% อันเป็นระดับที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) มองว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่อได้โดยไม่สะดุดภายในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ เนื่องจากอัตราการเติบโตของหนี้ครัวเรือนจะต้องไม่เกินระดับ 3% ต่อปี แต่ที่ผ่านมาอัตราการเติบโตของหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 4-5% และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ Nominal Rate จะต้องอยู่ที่ 5.5%

“ซึ่งการที่จะทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือน ลดระดับต่ำกว่า 80% ได้นั้น จะต้องควบคุมหนี้ครัวเรือนไม่ให้เติบโตเกิน 3% ต่อปี และต้องให้จีดีพีไทย เติบโตสูงกว่า 5.5% ซึ่งช่วงก่อนเกิดโควิด-19 จีดีพี เติบโตอยู่ที่ 5% จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายของรัฐบาลใหม่” ธัญญลักษณ์ทิ้งท้าย

เพราะทุกปัญหามีทางเข้าง่าย แต่มีทางออกยากหน่อย ก็ขอให้ผู้เป็น ‘หนี้’ หลุดพ้นทุกราย และพร้อมเตรียมใจรับมาตรการใหม่กันถ้วนหน้า!

 

อ่านข่าวน่าสนใจ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image