บสย.ขานรับ ‘แก้หนี้นอกระบบ’ ชง ครม.ขยายวงเงินค้ำ ‘3 พันล้าน’ ให้กลุ่มเปราะบาง-อาชีพอิสระ

บสย.รับนโยบาย ‘แก้หนี้นอกระบบ’ ชง ครม.ขยายวงเงินค้ำ ‘3 พันล้าน’ ให้กลุ่มเปราะบาง-อาชีพอิสระ

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาล หนี้นอกระบบ เป็นวาระแห่งชาติ นั้น บสย. อยู่ในระหว่างดำเนินการเสนอขอขยายวงเงินโครงการ PGS 10 อีก 3 พันล้านบาท จากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เตรียมพร้อมไว้ช่วยลูกหนี้เปราะบางและกลุ่มอาชีพอิสระ ที่เป็นลูกหนี้เอสเอ็มอีที่ใช้เงินทุนนอกระบบ

โดยใช้กลไกค้ำประกันสินเชื่อร่วมกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการของรัฐบาล อาทิ ธนาคารออมสิน มั่นใจช่วยลดความเหลือมล้ำ ช่วยบรรเทาลูกหนี้จากการเป็นหนี้นอกระบบไปพร้อมกัน เพื่อลดภาระลูกหนี้ในระบบและฐานลูกค้าของ บสย. ก็อยู่ระหว่างต่อมาตรการหรือต่อยอดมาตรการเดิม เน้นการลดภาระและเป็นหนี้ที่มีวินัย อาทิ ขยายมาตรการบสย. พร้อมช่วย ผ่อนน้อยดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่องอีก 1 ปี และจะต่อยอดการช่วยลูกหนี้อย่างยั่งยืนในมาตรการ 3 สีที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้สามารถปิดหนี้ได้เร็วขึ้น โดยหากต้องการปิดหนี้จะได้ส่วนลดหักมูลหนี้ให้ 15% เพื่อจูงใจการปิดหนี้ ซึ่งขณะนี้ บสย. อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอบอร์ด บสย. เพื่อพิจารณา และกำลังดำเนินการพิจารณาให้มาตรการอื่นๆ อีก เช่น พักหนี้ และเตรียมขอวงเงินค้ำประกันสำหรับปี 2567 อีก 1 แสนล้านบาท ซึ่งได้ยื่นไปที่กระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

นายสิทธิกรกล่าวว่า ภาพรวมผลดำเนินงาน บสย. 11 เดือนแรกปี 2566 ข้อมูล ณ 24 พฤศจิกายน 2566 นับว่าสำเร็จตามเป้า ทั้งด้านการค้ำประกันสินเชื่อ การแก้หนี้ ผ่าน บสย. พร้อมช่วย การให้คำปรึกษาทางการเงิน SMEs มีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยด้านการค้ำประกันสินเชื่อ อนุมัติแล้ววงเงิน 107,179 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้สินเชื่อ 96,461 ราย หรือสัดส่วน 80% ของจำนวนรายเอสเอ็มอี เป็นผู้ประกอบการกลุ่ม Micro สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 442,649 ล้านบาท สร้างสินเชื่อในระบบ 117,597 ล้านบาท รักษาการจ้างงาน 811,239 ตำแหน่ง

Advertisement

มีฐานลูกค้า SMEs สะสมรวมกว่า 815,312 ราย จำแนกสัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อรายภูมิภาค อันดับ 1 กรุงเทพฯและปริมณฑล 45% อันดับ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15% อันดับ 3 ภาคใต้ 13% อันดับ 4 ภาคเหนือ 11% อันดับ 5 ภาคตะวันออก 9% อันดับ 6 ภาคกลาง 4% และ อันดับ 7 ภาคตะวันตก 3%

ส่วน กลุ่มอุตสาหกรรมค้ำประกันสูงสุด ได้แก่ 1.ธุรกิจบริการ สัดส่วนการค้ำ 30% วงเงิน 32,113 ล้านบาท (รับเหมา ภัตตาคาร ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่งโรงแรมและหอพัก บริการท่องเที่ยว) อัตราการเติบโต 3% 2.การผลิตสินค้าและการค้าอื่น ธุรกิจการค้า สัดส่วนการค้ำ 11% วงเงิน 11,378 ล้านบาท (การค้าวัสดุ ก่อสร้าง การค้าปลีกและแผงลอยและตลาดสด การค้าอื่นๆ 19% การผลิตอื่นๆ 14% ค้าของเก่าและโทรศัพท์มือถือ) 3.เกษตรกรรม สัดส่วนการค้ำ 10% วงเงิน 10,652 ล้านบาท (ค้าส่งผักและผลไม้ การค้าชากาแฟ การค้าสินค้าเกษตรอื่นๆ ปศุสัตว์ การค้าส่งข้าว ) 4.กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม 5.กลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค ซึ่งเป็นภาคธุรกิจการบริโภคในประเทศ ในภาคท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ครองสัดส่วนการค้ำประกัน 68% เช่น ด้านการช่วยลูกหนี้ แก้หนี้ยั่งยืน บสย. พร้อมช่วย ผ่านมาตรการ 3 สี มีลูกหนี้ บสย. ได้รับการประนอมหนี้ 12,580 ราย วงเงินรวม 4,652 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการ SMEs ลงทะเบียนขอรับคำปรึกษาและร่วมอบรม ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs หรือ บสย. F.A.Center จำนวน 15,885 ราย คิดเป็นสัดส่วนความสำเร็จในการเข้าถึงสินเชื่อจากการให้คำปรึกษา 16%

Advertisement

สำหรับแผนงานปี 2567 บสย. พร้อมเดินหน้าตามกรอบแผนวิสาหกิจ ตามยุทธศาสตร์องค์กรและกลยุทธ์เชิงรุก TCG Fast First เดินหน้า เดินหน้าการขับเคลื่อนองค์กรด้วย Digital Technology ในเฟส 2 การพัฒนา Digital Guarantee Platform สู่ SMEs Gateway วางบทบาท กองหน้า กองกลาง และกองหลัง ขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน โดยกองหน้า มุ่งสู่การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs ครบวงจรผ่านศูนย์ที่ปรึกษา SMEs (บสย.F.A.Center) การยกระดับปรับโฉม สำนักงานเขตสู่โมเดลใหม่ เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับผู้ประกอบการ SMEs สอดรับยุทธศาสตร์ มุ่งสู่การเป็น Credit Mediator เพิ่มบทบาทการเป็นตัวกลางเชื่อมโยง SMEs ให้เข้าถึงแหล่งทุนและขยาบทบาทการค้ำประกันผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม นำร่องสาขาชลบุรี และอยุธยา พร้อมเปิดตัวภายในไตรมาสแรก ปี 2567

พร้อมกับ พัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ ตอบโจทย์การเข้าถึงสินเชื่อ เทรนด์ธุรกิจ กลุ่ม Start up และผู้ประกอบการ SMEs รายเซ็กเมนท์ อาทิ กลุ่มรายย่อย กลุ่มอาชีพอิสระ กลุ่มผู้ประกอบการนิติบุคคล ผู้ประกอบการที่ปรับกลยุทธ์สู่ธุรกิจยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม พัฒนา Digital Platform เดินหน้าเฟส 2 Digital Guarantee Platform เชื่อมโลกการเงิน เชื่อมโยงระบบการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. สู่ระบบนิเวศน์ทางการเงิน (Ecosystem) อาทิ การพัฒนาระบบร่วมกับโครงการ PromptBiz , TrustBiz Connext ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs รายย่อย ในการขอสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย และ สถาบันการเงิน ผ่านแพลตฟอร์ม Digital Lending การค้ำประกันสินเชื่อ พร้อมยกระดับบริการ LINE OA @tcgfirst ให้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มมาตรการความช่วยเหลือลูกหนี้ แก้หนี้อย่างยั่งยืนแบบใหม่ๆ เตรียมพร้อมขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน : TCG Sustainability BCG-ESG ภายใต้แกนหลักค้ำประกันสินเชื่อ ได้แก่

1.เพิ่มโอกาสและเติมเต็มศักยภาพทางการเงิน เข้าถึงแหล่งทุนเพิ่มมากขึ้น 2.เพิ่มความรู้ เติมความเข้าใจ ยกระดับการให้คำปรึกษาทางการเงินและธุรกิจ และการช่วยลูกหนี้ สร้างโอกาสทางธุรกิจ จากโครงการจับคู่ธุรกิจ เชื่อมโยงผู้ประกอบการในรูปแบบ Business Matching 3. เพิ่มบทบาทการช่วยลูกหนี้แก้หนี้ยั่งยืน ทั้งนี้ภายใต้ บทบาทด้านการค้ำประกันเอสเอ็มอี บสย. มีสัดส่วนค้ำประกันสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 6 ปี ตั้งแต่ปี 2562 คาดว่าในปี 2566 สัดส่วนการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน เพิ่มเป็น 28% ของยอดค้ำประกันสินเชื่อวงเงิน 1,486,812 ล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image