เคทีซี คาดนโยบายแก้หนี้เรื้อรัง ธปท. ฉุดรายได้ดอกเบี้ยลด 18 ล้าน/เดือน

เคทีซี ขานรับนโยบาย ธปท.ปรับชำระขั้นต่ำ 8% พร้อมออกมาตรการอุ้มลูกหนี้ผ่อนไม่ไหว รับนโยบายแก้หนี้เรื้อรัง ธปท. กระทบรายได้ดอกเบี้ยลดลง 18 ล้านต่อเดือน

เมื่อวันที่ 21 มกราคม นางพิทยา วรปัญญาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี กล่าวว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกเกณฑ์เกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending: RL) เพื่อขานรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว เคทีซีมีมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ระยะยาว เช่น กรณีปรับเพิ่มอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิตจาก 5% เป็น 8% ซึ่งมีผลกับรอบบัญชีตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 – 31 ธันวาคม 2567 นั้น

นางพิทยา กล่าวว่า เคทีซีเชื่อว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่จะสามารถจ่ายชำระขั้นต่ำที่สูงขึ้นได้ แต่หากมีลูกหนี้บางส่วนที่ชำระไม่ได้ บริษัทมีแนวทางต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ จะเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่ยังไม่ด้อยคุณภาพ ซึ่งเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกันตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณว่าลูกหนี้กำลังจะประสบปัญหาในการชำระหนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ ไม่กลายเป็นหนี้ด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล)

และบริษัทจะเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้เอ็นพีแอล อย่างน้อย 1 ครั้ง โดยเฉพาะก่อนการดำเนินการตามกฎหมาย โอนขายหนี้ บอกเลิกสัญญาหรือยึดทรัพย์ ซึ่งการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ดังกล่าว บริษัทจะพิจารณาให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และไม่ทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากภาระหนี้เดิมเกินสมควร

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม การดำเนินความช่วยเหลือตามเกณฑ์ดังกล่าว ไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมการดำเนินงานของบริษัท นอกจากนี้ แนวทางความช่วยเหลือของ ธปท. ต่อลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (PD) ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไปนั้น จากการประเมินผลกระทบหากลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ทุกรายเข้าร่วมโครงการ จะมีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยลดลงประมาณ 18 ล้านบาทต่อเดือน”นางพิทยากล่าว

นางพิทยา กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าด้านแนวคิดให้ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยตามความเสี่ยง (RBP) ยังต้องรอเวลาให้เปิดเข้าร่วมทดสอบในกลางปี 2567 และกรณีการกำหนดสัดส่วนของภาระหนี้สินเทียบกับรายได้ (DSR) ยังไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเป็นการเฉพาะ ตามแผนเดิมของ ธปท. คาดจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2568 ทั้งนี้ ธปท. จะประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจอีกครั้ง

“ที่ผ่านมาเคทีซีได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามแนวทางของ ธปท. ในการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 เคทีซีได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในทุกสถานะเป็นจำนวน 1,833 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.7% ของพอร์ตลูกหนี้รวม”นางพิทยากล่าว

Advertisement

นางพิทยา กล่าวว่า เคทีซี รายงานงบการเงินรวมปี 2566 บริษัทมีกำไรสุทธิ 7,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเคทีซีมีฐานสมาชิกรวม 3,358,926 บัญชี เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวมหรือพอร์ตสินเชื่อรวมมีมูลค่าเท่ากับ 112,346 ล้านบาท เติบโต 7.8% อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มบริษัท อยู่ที่ 2.2%

“ปี 2566 ภาพรวมของอุตสาหกรรมสินเชื่อผู้บริโภคยังขยายตัว จากความต้องการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงอยู่ในระดับดี โดยเคทีซีมีสัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรมสำหรับ 11 เดือน ปี 2566 เท่ากับ 15.1% ส่วนแบ่งตลาดของปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทเท่ากับ 12.2% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 และมีสัดส่วนของลูกหนี้สินเชื่อบุคคล (ไม่รวมสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน) เทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 6.3%”นางพิทยา กล่าว

ข่าวอื่นที่น่าสนใจ
ดีเดย์ ม.ค.67 แบงก์ ปรับเกณฑ์ชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต 8% พร้อมเปิดทางเลือกแก้หนี้
ธปท.คลอด 3 มาตรการ แก้หนี้ครัวเรือน ลดความเดือดร้อนปชช. -คุมเข้มแบงก์โฆษณาก่อหนี้ พบฝ่าฝืนต้องโดนปรับ
ธปท.ออกเกณฑ์เข้มคุมปล่อยสินเชื่อ มุ่งเป้าแก้หนี้ยั่งยืน & ต้นแบบกรองลูกหนี้ดี
เปิดที่มากำไรกระฉูด 7 แบงค์ อวดกำไรปี 2566 แตะ 1.8 แสนล้านบาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image