พาณิชย์เผยส่งออก เม.ย.โต 6.8% ยันตั้งเป้าเดิมปี 67 โต 1-2%

พาณิชย์เผยส่งออก เม.ย.โต 6.8% ยันตั้งเป้าเดิมปี 67 โต 1-2%

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนเมษายน และ 4 เดือนแรกของปี 2567 ว่า การส่งออกของไทยในเดือนเมษายน 2567 มีมูลค่า 23,278.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 834,018 ล้านบาท ขยายตัว 6.8% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 11.4% โดยภาพรวมเดือนมกราคม-เมษายน 2567 การส่งออกมีมูลค่า 94,273.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3,338,028 ล้านบาท ขยายตัว 1.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการส่งออกเดือนเมษายน 2567 ขยายตัวที่ 6.8% เป็นไปตามทิศทางที่คาดการณ์ไว้

นายพูนพงษ์กล่าวว่า ขณะที่แนวโน้มเดือนพฤษภาคม 2567 คาดว่าตัวเลขจะเป็นบวกจากผลผลิตทางด้านผลไม้จะดีขึ้น อย่างไรก็ตามหากเทียบตัวเลขฐานเดือนพฤษภาคม 2566 ก็ไม่น้อยอยู่ที่ 24,340.9 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเดือนเมษายนนี้ สินค้าเกษตรยังขยายตัวได้ดีแต่ผลไม้ติดลบ ซึ่งที่ติดลบต้องย้อนไปดูในเดือนเมษายน 2566 ไทยส่งออกผลไม้ค่อนข้างเยอะ ขณะที่ปี 2567 ทั่วโลกมีปัญหาเรื่องสภาพอากาศรวมถึงไทย แต่ทยอยดีขึ้นคาดว่าผลผลิตจะออกมาได้ดี

Advertisement

“การส่งออกไทยพลิกกลับมาเป็นบวกสอดคล้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีจากอัตราเงินเฟ้อโลกชะลอลง ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับดีขึ้น ส่งผลดีต่อภาคการผลิตทั่วโลก โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นหลายรายการ ขณะที่ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง แต่อานิสงส์ด้านราคาตามความต้องการของตลาดโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรบางรายการยังขยายตัวต่อเนื่อง”นายพูนพงษ์กล่าว

Advertisement

ขณะที่การนำเข้า มูลค่า 24,920.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 903,194 ล้านบาท ขยายตัว 8.3% ดุลการค้าขาดดุล 1,641.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 69,176 ล้านบาท ภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-เมษายน) การนำเข้า มีมูลค่า 100,390.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3,595,217 ล้านบาท ขยายตัว 4.9% ดุลการค้าขาดดุล 6,116.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 257,190 ล้านบาท

“การขาดดุลที่เพิ่มมากขึ้นมีความน่ากังวลหรือไม่ หากพิจารณาตัวเลขปี 2566 เทียบกับปี 2567 ไทยขาดดุลน้อยลงกว่าปี 2565 จากที่เผชิญปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยปี 2565 ขาดดุลอยู่ 10 เดือน แต่ปี 2567 ขาดดุลอยู่ 7 เดือน ขณะที่ปี 2567 ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ต้องพิจารณาราคาพลังงานประมาณ 10% แต่สินค้าที่มีผลกับการส่งออกคือสินค้าทุนและสินค้าวัตถุดิบ รวมกันอยู่ที่ 66% ยังไม่กังวล เนื่องจากไทยนำเข้าสินค้าดังกล่าวค่อนข้างสูง จะช่วยการผลิตที่ใช้ในประเทศและการส่งออก”นายพูนพงษ์กล่าว

นายพูนพงษ์กล่าว กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการส่งออกปี 2567 อยู่ที่ 1-2% ขณะเดียวกัน ไตรมาส 1/2567 ตัวเลขส่งออกติดลบ 0.2% และประเมินไตรมาส 2/2567 ตัวเลขส่งออกจะเป็นบวกที่ 0.8-1% กรณีที่สถานการณ์ในอนาคตที่อยู่นอกเหนือจากที่คาดการณ์จะไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ทิศทางการส่งออกขยายตัวได้ดีจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมตามภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และปัญหาเงินเฟ้อบรรเทาลง ส่งผลดีต่อกำลังซื้อในหลายประเทศ

ขณะที่สภาพอากาศแปรปรวนสร้างแรงผลักดันต่อราคาสินค้าเกษตรและความต้องการนำเข้า เพื่อความมั่นคงทางอาหาร แต่กดดันปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดโลก นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มขยายวงกว้าง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และจะทำงานร่วมกับทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศเพื่อแสวงหาแนวทางสร้างโอกาสและลดอุปสรรคในการส่งออกต่อไป

นายพูนพงษ์กล่าวว่า ด้านการส่งเสริมการส่งออก อาทิ 1.การส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร การบรรลุข้อตกลงขายข้าวล็อตแรกรูปแบบรัฐต่อรัฐกับอินโดนีเซีย ปริมาณ 55,000 ตัน โดยเริ่มส่งมอบตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 นอกจากนี้ ผลักดันให้ผู้ส่งออกกล้วยหอมทอง จ.นครราชสีมา ใช้สิทธิ์ตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มีเป้าหมายส่งออกจำนวน 120 ตันต่อเดือน และในอนาคตมีแผนส่งออกให้ได้ถึง 8,000 ตันต่อปี

“2.การเจรจาความตกลงเพื่อเปิดตลาดสินค้าใหม่ ไทย-บังกลาเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ทั้งสองประเทศร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงเริ่มการเจรจาการค้าเสรี (FTA) เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุน และ 3.การอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคการส่งออกผลไม้ไปจีน การหารือกับผู้ว่าการมณฑลยูนนาน เพื่อขอให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่าน 3 เส้นทาง คือ ทางรถ ทางราง และทางเรือ ในช่วงฤดูการส่งออกผลไม้ของไทย” นายพูนพงษ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image