อาจารย์มศว ตื้นตันใจได้เห็น ’โกลเด้นบอย‘ ยกเป็น ‘ความภาคภูมิของภูมิภาค’

อาจารย์มศว ตื้นตันใจได้เห็น ’โกลเด้นบอย‘ ยกเป็น ‘ความภาคภูมิของภูมิภาค’

สืบเนื่องรัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) รับมอบมอบโบราณวัตถุ จำนวน 2 รายการ ได้แก่ 1.ประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The Standing Shiva) หรือ Golden Boy และ 2.ประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling Female) จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน หรือ เดอะ เมท (The Metropolitan Museum of Art หรือ The MET) นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา กลับคืนสู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยกรมศิลปากร ได้เชิญชวนประชาชน ร่วมชมความงามของ ‘โกลเด้นบอย’ และประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ ได้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม เป็นต้นไปนั้น

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 23 พฤษภาคม ที่ชั้น 2 ห้องศิลปะลพบุรี อาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการเข้าชมงานวันที่ 2 หลังมีการเคลื่อนย้ายประติมากรรมทั้ง 2 รายการ จากพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย มาจัดแสดงที่ห้องศิลปะลพบุรี มีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางมารับชมตลอดทั้งวัน

Advertisement

โดยประติมากรรมสำริดรูปพระศิวะ (The Standing Shiva) หรือ Golden Boy จัดแสดงอยู่บริเวณกลางห้อง และประติมากรรมรูปสตรีพนมมือ (The Kneeling Female) จัดแสดงอยู่บริเวณขวามือของห้อง ซึ่งทั้ง 2 ประติมากรรมยังคงได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังพิพิธภัณฑ์ ซึ่งสามารถถ่ายภาพนิ่งของประติมากรรมทั้ง 2 แต่ขอความร่วมมือจากผู้เข้าชมงดถ่ายภาพเคลื่อนไหว หรือถ่ายคลิปวิดีโอของประติมากรรมทั้ง 2

ดร.อัครินทร์ ลีราเชนทร์ อาจารย์พิเศษ วิชาการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม วิทยาลัยนานาชาติด้านการศึกษาเพื่อความยั่งยืน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หนึ่งในผู้เข้าชม ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ว่า ติดตามข่าวของประติมากรรมโกลเด้นบอยมานาน จาก ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการด้านโบราณคดี

โดยเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมซึ่งมีการจัดแสดงวันแรก ตนมีกิจธุระทำให้ไม่สามารถเดินทางมารับชมตั้งแต่วันแรก จึงเดินทางมารับชมในวันนี้แทน และหลังจากได้เห็นประติมากรรมของจริง ก็รู้สึกตื้นตันใจที่มรดกทางวัฒนธรรมของเราได้กลับสู่มาตุภูมิ

Advertisement

ดร.อัครินทร์เผยด้วยว่า ตนเป็นอาจารย์ที่สอนเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่แล้ว ดังนั้น นอกจากการมารับชม ยังสามารถนำความรู้ไปประกอบการเรียนการสอนได้อีกด้วย

“จริงๆ แล้วการที่ได้รับมรดกชิ้นนี้คืน มันไม่ได้เป็นแค่ความน่ายินดีของคนไทย เพราะว่าประติมากรรมนี้เป็นศิลปะเขมร ซึ่งอาณาจักรเขมรมีความกว้างใหญ่และกินพื้นที่ของประเทศในปัจจุบัน อย่าง ประเทศไทย ลาว เวียดนาม

ฉะนั้นการได้สิ่งนี้คืน ควรจะเป็นเรื่องน่ายินดีของคนในภูมิภาคนี้ทั้งหมด ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกัน และหากได้ชิ้นอื่นๆที่ยังมีการติดตามอยู่ ผมมองว่าจะทำให้เกิดการปลุกจิตสำนึก ให้เกิดความรักและความภาคภูมิใจทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเยาวชนรุ่นต่อไป ที่จะได้รู้ว่าประเทศของพวกเขามีวัฒนธรรมที่เก่าแก่ น่าเก็บรักษาเอาไว้ และน่าภาคภูมิใจ” ดร.อัครินทร์กล่าว

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถมารับชมประติมากรรมได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. โดยมีค่าเข้าชมดังนี้

คนไทย 30 บาท, ชาวต่างประเทศ 200 บาท

ยกเว้นค่าเข้าชม : เด็ก / นักเรียน / นักศึกษา / ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป / พระสงฆ์ / สมาชิก ICOM ICOMOS (แสดงบัตร)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image