คนขับเรือ จอมพล ป. ลั่นอย่างกับนิยาย เล่าฉากฮา วินาทีลี้ภัย เรือเกือบล่ม

คนขับเรือ จอมพล ป. ลั่นอย่างกับนิยาย เล่าฉากฮา วินาทีลี้ภัย เรือเกือบล่ม

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่มิวเซียมสยาม สำนักพิมพ์มติชน ผนึกกำลังพันธมิตร จัดงานใหญ่ “Knowledge Book Fair 2024 เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม” ครั้งที่ 2 มหกรรมความรู้ระดับประเทศ ที่รวม 7 ความเต็มอิ่มที่สุด ครบทั้งความรู้และความสนุก

ภายในงานเต็มไปด้วยคาราวานหนังสือจากกว่า 16 สำนักพิมพ์ ฟังทอล์กความรู้จากกว่า 40 วิทยากรชั้นแนวหน้าของไทย วอล์กทัวร์กับผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ไปจนถึงเวิร์กช็อปฮาวทูสุดสร้างสรรค์ พบกับ Book Healing ครั้งแรกของการพูดคุยเพื่อฮีลใจ พลาดไม่ได้กับคอลเล็กชั่นสุดพิเศษช่วง พ.ศ.2475 เต็มอิ่มกับ 50 ร้านอร่อย พร้อมฟังดนตรีในสวนกันให้ใจฟู 16-18 ก.พ.นี้ เวลา 12.00-21.00 น. ที่มิวเซียมสยาม

เวลา 14.30 น. มีเวที BookLaunch: เปิดเรื่องลับเมื่อจอมพล ป. ลี้ภัย โดย นายประดาป พิบูลสงคราม ทายาทจอมพล ป., ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์, นายประเสริฐ ศิริ อดีตกำนันบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ผู้ขับเรือพาจอมพล ป. ไปส่งที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา หลังการรัฐประหาร 16 ก.ย. 2500, ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏสวนสุนันทา ดำเนินรายการโดย ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ อดีตคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้ร่วมรับฟังอย่างล้มหลาม ทั้งประชาชน ตลอดจนเยาวชน และนักวิชาการ อาทิ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายสมชาย แซ่จิว ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จีน

เมื่อถามว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ทำไม จอมพล ป.จึงต้องนั่งรถไป จ.ตราด จับพลัดจับผลูอย่างไร ถึงได้มาขับเรือให้ จอมพล ป.

นายประเสริฐ หรือ กำนันโจ๊ด เปิดเผยว่า วันที่ 16 กันยายน 2500 หลังได้ข่าวว่าจะมีการรัฐประหาร จอมพล ป. ขับรถออกจาก กทม. โดยมีการไล่คนลงจากรถไป 1 คน เหลือ 4 คน ระหว่างทางมีการขับไปเติมน้ำมัน กินเหล้า จนไปถึงตราด จากแหลมงอบ นั่งเรือมาแล้ว แต่เรือดันลำเล็ก ต้องไปหลบตามเกาะเพราะคลื่นลมแรง จนมาถึงเกาะไม้ซี้ใหญ่ ไปเจอเรือประสิทธิ์มงคล จึงเข้าเจรจาว่าขอเปลี่ยนเรือได้ไหมเพราะไปไม่ไหว เป็นเหมือนเรือประมงในปัจจุบัน พวงมาลัยอยู่ข้างบน ห้องเครื่องอยู่ข้างล่าง ต้องให้สัญญาณด้วยกระดิ่ง แต่เรือนี้ดันไม่มีกระดิ่ง จึงไปที่บ้าน และมองว่าคนที่น่าจะเหมาะสมที่สุดคือตน (กำนันโจ๊ด) เพราะขนของหนีภาษีเป็นประจำ

Advertisement

นายประเสริฐกล่าวว่า ขอให้นึกถึงเมื่อ 67 ปีที่แล้ว ตอนนั้นประเทศไทย คนที่ตนรู้จัก คนใหญ่คนโต มียศที่สุดที่รู้จักคือ ปลัดกิ่ง ตนเรียกจอมพล ป.ว่าลุง ไม่รู้ว่าเป็นใคร

“ตอนนั้นอยากรู้ พ่อผมเป็นผู้ใหญ่บ้านปี 2500 แต่ก่อนเป็น ต.หาดเล็ก ก่อนยกระดับเป็นอำเภอ คลองใหญ่ จ.ตราด ผมก็ถามพ่อ สมัยก่อนเดินทางด้วยเรืออย่างเดียว ห่างกัมพูชาแค่ 450 เมตร เพราะพ่อเป็นผู้ใหญ่บ้าน ก็สั่งผม วันนั้นมีคนมาเตรียมต้อนรับผู้หลักผู้ใหญ่ ต้องตัดผมไม่ให้ยาวถึงหู แต่งตัวเอาเสื้อใส่ในกางเกง ทำยังไงก็ได้ให้มีระเบียบ เวลาคุยกับผู้ใหญ่ ให้ก้มหัว ตอนนั้น เราก็คิดว่าพบผู้ใหญ่มันยากเหลือเกิน
พ่อสั่งไว้ว่า เป็นเด็กถ้าเขาไม่เรียกอย่าเสนอหน้า แต่เราอยากจะรู้ ก็เข้าไป”

“เป็นเด็กก็อยากจะรู้ว่าคนนั้นเป็นใคร ก็เลยวางแผน ไปตักน้ำบ้านกำนัน เขาเก็บน้ำฝนไว้ต้อนรับแขกคนสำคัญ ผมก็ใช้แผนนี้ แม่ไม่ได้สั่ง ผมเอาขันไปตักน้ำ” นายประเสริฐกล่าวและว่า หลังจากนั้น บิดาได้มอบหมายภารกิจให้เป็นผู้ขับเรือพา จอมพล ป. ลี้ภัย

นายประเสริฐกล่าวอีกว่า มารู้ทีหลังว่าลุงคนนั้นคือจอมพล ป. เพราะรับไม้ต่อไม่รู้ตัว และมาศึกษาทีหลังเพิ่มเติม ทำไมตนยอมเก็บเรื่องไว้จนถึงตอนนี้ อยากจะขอชี้แจงว่าเพราะตนนึกถึงสถาบันฯ เท่าชีวิต ตอนนั้นเคยสมัครเป็นลูกเสือชาวบ้าน

“ท่านขับรถเอง ผมเรียกลุงจนติดไปแล้ว ลุงแปลก ผมท่องมา ต้องเรียกจอมพล พอเจอหน้าจริงๆ ลืม (หัวเราะ) ผมก็นวดให้ท่าน ตี 5 ลุกขึ้นมาแปรงฟันในเรือ ท่านก็คอยแนะนำผม” นายประเสริฐกล่าว

“ท่านมาเปลี่ยนรถระหว่างทาง เพราะในรถมีปืน 3 กระบอก อันที่หนักใส่ไว้ท้ายรถ และมีพันเอก ชุมพล โลหะชาละ ที่มาออกข่าวว่าท่านจะยิงตัวตาย ไม่ใช่จมน้ำ แต่ผมมารู้ข่าวทีหลัง”

ตอนเดินทาง วิ่งจากหัวค่ำไปถึงตราดยันสว่าง และท่านเป็นคนขับเอง ไม่ให้ใครขับ ผมเลยเขียนไว้ในหนังสือ ว่าท่านมีการเปลี่ยนตำแหน่งข้างทางด้วย” นายประเสริฐกล่าว

นายประเสริฐกล่าวตอนหนึ่งถึงความยากลำบาก เมื่อจอมพล ป. ขับรถมาต่อเรือที่ จ.ตราด เพื่อไปยังเกาะกง ข้ามไปยังกัมพูชาว่า ต้องรอให้พายุสงบ จึงออกเรือได้ และต้องผลัดกันนั่ง หัวเรือ ท้ายเรือกันอยู่อย่างนี้ เพื่อให้เรือบาลานซ์

“ผมพายเรือไปรับตำรวจน้ำ คุยกันแล้วว่าคลื่นมันแรง ผมก็ไม่รู้หรอกว่าใครอยู่ในเรือ” นายประเสริฐกล่าว

เมื่อถามถึงความยากลำบากและความประทับใจในระหว่างอยู่บนเรือ ?

นายประเสริฐกล่าวว่า ตนขับเรือขึ้นไปถึง90 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ด้วยสมรรถภาพของเรือ เวลาจะติดไฟ ต้องใส่ก่อนแอลกอฮอล์ ให้ติดไฟ เปิดวาล์ว หมุน แล้วปิดวาล์ว

“พ่อเขาบอกว่าอีก 10 นาทีพายุจะมาถึง ถ้าถึงหัวเรือเมื่อไหร่พายุฝนจะถึงทันที ต้องออกทันที และต้องถอนสมอ เวลาใช้สมอตอนคลื่นลมแรง ลำยากมาก จนคุณลุงแปลก (จอมพล ป.) บอกว่า ไม่ต้องหาประกาศนียบัตรที่ไหน เดี๋ยวมอบให้ เพราะเห็นว่าผมขับเรือเก่ง”

ไปถึงเกาะยอ มีหินโสโครก ปลาตรงนั้นตายหมด ถ้าน้ำซัด เรือแตกกลางทะเลแน่ เรากลัวเพราะช่วยตัวเองไม่ได้ น้ำเล็ดลอดเขาเรือทีละนิด ห้องเครื่องเลยดับ ใจหายหมด ผมก็สั่งลงสมอ มันมีวิชา ‘เงี่ยนสมอ’ ช่วยกันดึงให้สายสมอตึงขึ้นมา ต้องสู้พลาง ถอยพลาง

เครื่องดับไปเเล้วทำยังไงถึงติด ผมบอกท่านไป เดี๋ยวก็ติด แต่เราหมดแรงไปแล้ว ไม้ขีดหัวก็เปื่อยหมดแล้ว เหลือไฟแช็ก เอามาเป่าและเหน็บจั๊กกะแร้เพื่อดูดความชื้น ทำทีเป็นเป่าคาถานิดหน่อยว่า เดี๋ยวติดไฟแน่ กว่าจะติดได้ก็เที่ยงคืนไปแล้ว” นายประเสริฐกล่าว

นายประเสริฐกล่าวต่อว่า ที่ร้ายกว่านี้ คือวันที่ 16 กันยายน ที่พาเรืออกไป จินตนาการว่าเรือลำแค่นี้ ขับออก คือความเป็นความตาย ทุกคนหมดอาลัยตายอยาก แต่สุดท้ายก็กู้สถานการณ์ตรงนี้ได้ จุดที่สำคัญคือวินาทีถอนสมอ และตัวที่ทำให้เครื่องยนต์หมุน แต่เครื่องดันดับ ต้องทำให้ร้อนตลอดเวลา สุดท้ายใช้ไฟแช็กจุดให้ติดขึ้นมาได้

นายประเสริฐกล่าวทิ้งท้ายว่า รายได้จากการจำหน่ายหนังสือ ‘ก้าวสุดท้ายจากแผ่นดินไทย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ฝากไว้ที่หาดเล็ก ตราด’ ตนจะมอบให้กับมูลนิธิจอมพล ป.ทุกบาท

“เรื่องนี้เหมือนนิยายเรื่องหนึ่ง ตลก ขบขัน ตื่นเต้น เมื่อผ่านวิกฤตไปแล้ว เขาให้ตังค์ มา 2,000 ไปซื้อของ ผมก็เอายางมัด กลัวหาย สิ่งที่สมับนั้นไม่มีคือกระดาษชำระ กัมพูชาใช้เปลือกมะพร้าวทำกระดาษชำระ จะมีโจรไปหาซื้อ ผมก็วางแผนไปซื้อ ไปเจอกระดาษสีแดงของจีน เขาสงสัยซื้อไปทำอะไร ผมบอกเอาไปไปให้นายเช็ดก้น เขาเลยโมโหไม่ขายให้” นายประเสริฐกล่าวถึงเรื่องขำขัน ส่งท้าย

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image