ปรากฏการณ์ #แบนลูกหนัง สิทธิชอบธรรมหรือบูลลี่?

สกู๊ปหน้า 1 : ปรากฏการณ์ #แบนลูกหนัง สิทธิชอบธรรมหรือบูลลี่?

ยังร้อนแรงต่อเนื่อง สำหรับกระแส #แบนลูกหนัง แฮชแท็กฮิตติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยที่ทะยานสู่อันดับ 1 ถึง 2 วันซ้อน หลัง GLG (Grandline Group) ค่ายเพลงเกาหลีใต้เตรียมเดบิวต์สมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ป H1-KEY อย่างเป็นทางการในวันที่ 5 มกราคม 2022

โดยมี ศีตลา วงษ์กระจ่าง หรือลูกหนัง บุตรสาวของอดีตดาราดังผู้ล่วงลับ ตั้ว ศรัณยู วงษ์กระจ่าง และ เปิ้ล หัทยา เป็นหนึ่งในนั้น

เมื่อชื่อพร้อมภาพ #SITALA ที่ใช้ในการโปรโมตถูกเผยแพร่ มหกรรมขุดภาพถ่ายในอดีตก็เกิดขึ้นคู่ขนาน ทั้งเมื่อครั้งผู้เป็นบิดาข้องเกี่ยวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุ่น 2 ในช่วงชุมนุมปี 2551 โดยเฉพาะการบุกยึดทำเนียบรัฐบาลและยึดสนามบินสุวรรณภูมิ จนถึงเวที กปปส. อันนำมาซึ่งการรัฐประหารในปี 2557

ครอบครัวของเธอสนับสนุนเผด็จการ คือ คอมเมนต์ ที่ผู้คนจำนวนมากใช้เป็นเหตุผลในการพร้อมใจแบนว่าที่ศิลปินไทยรายนี้ ผู้ใช้ทวิตเตอร์บางรายที่ถูกรีทวีตและแชร์อย่างมหาศาลระบุว่า ครอบครัวของตนได้รับผลกระทบอย่างหนัก เป็นหนี้เป็นสินนับล้านจากการปิดสนามบิน บ้างก็ว่าญาติพี่น้องของตัวเองต้องเสียโอกาสในการเดินทางไปทำงานต่างแดน เพราะเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ ยังยกฉากชีวิตของเยาวชนไทยที่ออกมาต่อสู้ทางการเมืองเพื่อเรียกร้องชีวิตที่ดีกว่า ทว่ากลับถูกจองจำในคุกขึ้นมาเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็น รุ้ง ปนัสยา, เบนจา อะปัญ, เพนกวิน พริษฐ์ และอีกมากมาย ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งที่มักบอกว่าประเทศไทยดี แต่กลับส่งลูกไปเรียนต่อต่างประเทศ ได้ทำความฝันของตัวเอง

Advertisement

ประเด็นเหล่านี้สื่อเกาหลีก็พากันนำเสนอเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น instiz, topstarnews หรือสื่อบันเทิงชื่อดังอย่าง Dispatch กระทั่งสื่อใหญ่อย่าง KBS ที่นำกระแสในโซเชียลไทยไปรายงาน โดยระบุว่า คนไทยกำลังเดือด หลังจากลูกสาวของชายผู้สนับสนุนเผด็จการได้เดบิวต์เป็นไอดอลเกาหลี และเจ้าตัวก็เคยบอกว่าเธอมีพ่อเป็นไอดอล ไล่เรียงไทม์ไลน์สถานการณ์การเมืองในประเทศไทยแบบเห็นภาพ

กระทั่งโกอินเตอร์ไปถึงหู NME นิตยสารดนตรีในเครือสหราชอาณาจักร

ด้านชาวเน็ตเกาหลีวิพากษ์อย่างหนักหน่วง ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใด เมื่อมองประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัยของเกาหลีใต้ที่วันนี้ได้ชื่อว่ามีระบอบการเมืองการปกครองมีเสถียรภาพมากที่สุดชาติหนึ่งในเอเชีย โดยกว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ต้องฝ่าฟันมาอย่างยากลำบากหลังอยู่ภายใต้เผด็จการยาวนานของ นายพล ปาร์ก จุงฮี นำมาซึ่งเหตุการณ์ที่เรียกว่า การลุกฮือของประชาชนกวางจู ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2523 ซึ่งมีผู้สูญเสียเลือดเนื้อเกือบ 200 ราย

ประเด็นนี้นำมาซึ่งความเห็นที่แตกต่างหลากหลายในสังคมไทย แม้กระทั่งในฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย ที่บ้างก็มองว่าควรมีการแยกแยะระหว่างพ่อกับลูกซึ่งไม่ใช่คนเดียวกัน ในขณะที่อีกฝ่ายเทไปในทำนองเดียวกันว่านี่คือการ บูลลี่ ก่อนถูกยกเหตุการณ์เป่านกหวีดใส่ น้องไปป์ บุตรชายอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาย้อนความจำ

หนึ่งในฝ่ายต้านเผด็จการที่ออกมายืนยันว่าจะปกป้องหลักการไม่โอนถ่ายความเกลียดชังที่เรามีต่อพ่อไปสู่ลูก คือ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ซึ่งยืนยันว่า นี่ไม่ใช่มรดก ถ้าใครจะโดนตำหนิต้องเป็นการกระทำของคนคนนั้นในระดับเดียวที่เขาเป็นผู้กระทำ และรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง พร้อมเล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งลูกสาวของตนถูกไล่ล่า

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้เดิมทีกระแส #แบนลูกหนัง ถูกขีดเส้นใต้ด้วยประเด็นการเป็นลูกของผู้สนับสนุนเผด็จการ ทว่าข้อเท็จจริงคือ ลูกหนังเองก็แสดงจุดยืนร่วมกับครอบครัวตลอดมา แม้ภาพการเข้าร่วมชุมนุมจะถูกลบทิ้งในภายหลัง

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยแพร่ข้อเขียนผ่านเพจ ศูนย์วิจัยฯมหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง ว่ามีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่สนับสนุน หรือเรียกร้องให้ต้นสังกัดยกเลิกการสนับสนุนบุคคลเหล่านี้ แต่ไม่ใช่เพราะเป็นลูกหลาน เพราะการเกิดเป็นลูกใครเป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้ ทว่าเพราะการมีส่วนร่วมโดยตรง หรือมีบทบาทเกี่ยวข้องอย่างสำคัญ เช่น เคยไปร่วมกับการเป่านกหวีด ร่วมล้มการเลือกตั้งอย่างหน้าชื่นตาบาน หรือการยกย่องเชิดชูผู้เป็นบุพการีในทุกสิ่งทุกอย่าง อันรวมถึงการสนับสนุนระบอบอำนาจนิยม

“เพราะการกระทำเหล่านี้มาจากการคิด การตัดสินใจของแต่ละคน ดังนั้น เมื่อเขาหรือเธอได้กระทำในสิ่งที่ส่งผลร้ายต่อคนอื่นและสังคมไทยโดยรวม แล้วทำไมผมจึงจะด่าคนเหล่านี้ไม่ได้ แน่นอนว่าหากบุคคลเหล่านี้เกิดสภาวะตาสว่าง และได้แสดงความรับผิดชอบให้ประจักษ์ต่อสาธารณะก็เป็นเรื่องที่แตกต่างออกไป อาจจำเป็นต้องพิจารณาว่าการแสดงถึงการกลับใจนั้นเพียงพอต่อสิ่งที่ได้กระทำไปหรือไม่” รศ.สมชายระบุ

ด้าน เอิ๊ก-พรหมพร ยูวะเวส พิธีกรชื่อดังเผยมุมมองที่แตกต่างผ่านรายการ เรื่องร้อนรายวัน ทางช่อง JKN ว่าลูกหนังเสียงดีมาก การที่มาอยู่ถึงจุดนี้ได้ไม่ใช่ฟลุค ไม่ได้แปลว่าหยิบใครมาก็ได้ แต่ต้องผ่านการออดิชั่น คัดเลือก ดูมาแล้ว

“กว่าจะมาอยู่จุดนี้ได้ คือยาก ใครๆ ก็อยากไป พอวันนี้ถ้าน้องมีโอกาสต้องสนับสนุนนะ สงสารน้อง ลองคิดว่าถ้าเป็นลูกหลานเรา แล้วเจอแบบนี้คุณจะรู้สึกอย่างไร” เอิ๊กฝากไว้ให้คิด
ตัดภาพไปที่ต้นสังกัด ณ แดนกิมจิ ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ

ในขณะที่มีผู้คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มความเป็นไปได้ที่การเดบิวต์จะถูกเบรก ไม่เพียงเกาหลีแคร์เสียงโซเชียล มาก หากแต่ยังเป็นประเด็นอ่อนไหวในสังคมเกาหลีด้วยเช่นกัน

ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หรือ การ์ตูน อดีตโฆษกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งพำนักอยู่ในเกาหลีใต้ในสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง ตั้งแต่ปลายปี 2561 ออกมายืนยันว่า การแบนลูกหนังไม่ใช่การบูลลี่ และไม่ได้เกี่ยวว่าเป็นลูกใคร แต่เพราะลูกหนังก็สนับสนุนเผด็จการ ไม่งั้นคงได้เห็นการแก้ข่าว หรือขอโทษ แล้วย้ายมาฝั่งประชาธิปไตย

“การแบนศิลปินและบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วง เป็นแคมเปญรณรงค์ที่โคตรจะสันติในวงการบันเทิงเกาหลี คนที่เป็นศิลปิน ดารา นักร้อง นักแสดง หรือไอดอลต่างๆ ถือว่าเป็นอาชีพที่หากินกับเงินของคนที่สนับสนุน (แฟนคลับ) เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า ถ้าศิลปินมีข่าวเสียๆ หายๆ หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็จะถูกพักงาน หรือถูกถอดทันที คนเกาหลีถือว่าเป็นเรื่องซีเรียส ใครจะยอมจ่ายเงินซื้อผลงานของคนที่สนับสนุนเผด็จการ เผด็จการที่คนเกาหลีต่อสู้มายาวนาน แลกด้วยเลือดเนื้อของคนในชาติ กว่าจะได้ประชาธิปไตยและเอาเผด็จการมาลงโทษได้ กว่าจะชำระประวัติศาสตร์ได้ ใช้เวลาหลายปี สูญเสียไปหลายชีวิต ไม่มีทางที่คนเกาหลีจะยอมปล่อยปละละเลยอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่เสี่ยงที่จะทำให้เกาหลีกลับไปอยู่ในจุดนั้นอีก” อดีตโฆษกประชาธิปไตยใหม่ส่งเสียงมาจากเกาหลีใต้

กระแส #แบนลูกหนัง จึงไม่ใช่แค่ข่าวบันเทิง หากแต่สะท้อนปรากฏการณ์น่าสนใจที่ชวนติดตามอย่างยิ่ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image