การเมืองโลก 2021 : ความท้าทายของโลกปชต. และการช่วงชิงสถานภาพ ของชาติมหาอำนาจ

การเมืองโลก 2021

ขมวดปม ‘การเมืองโลก’ 2021 : ความท้าทายของโลกประชาธิปไตย และการช่วงชิงสถานภาพ ของมหาอำนาจ

2564 ปีที่การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนทั่วโลก เป็นที่มาให้คนทุกชาติ ต้องแสวงหาความร่วมมือ เพื่อจะหลุดพ้นจากสถานการณ์อันยากลำบาก แต่ภายใต้ความชะงักงันที่ถูกแช่แข็งบรรยากาศด้วยโรคร้าย การเมืองโลกยังได้เจอกับความท้าทายหลายอย่าง ทั้งการก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของ โจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ที่หมุนเข็มทิศภาพของนโยบายหลายๆอย่างใหม่อีกครั้ง หรือ การรัฐประหารในเมียนมา ที่สร้างผลกระทบต่อแวดวงการเมืองในภูมิภาคอยู่ไม่น้อย

เพื่อให้เข้าใจในประเด็นการเมืองโลก และคาดการณ์ถึงสถานการณ์ระหว่างประเทศต่อจากนี้ ดร.พีระ เจริญวัฒนนุกูล อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ขมวดปม กระแสโลกที่น่าสนใจไว้ ดังนี้

ชาติมหาอำนาจ กับการเมืองเรื่องวัคซีน

      ดร.พีระ เริ่มต้นกล่าวถึงประเด็น ที่เขาว่า ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือเรื่องของ “วัคซีน” ก่อนจะขยายความว่า ความจริงแล้วเราได้เห็นเทรนด์ตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่มีการแข่งขันของมหาอำนาจแต่ละชาติ ในการคิดค้นวัคซีนว่าชาติใดจะไปถึงก่อนกัน ทั้งจีน สหรัฐ รัสเซีย ซึ่งเมื่อดูตัวเลขแล้ว เราหนีไม่พ้นการพูดถึงการกระจายวัคซีน ที่เรียกว่า Vaccine diplomacy ที่ไม่ใช่เพียงเรื่องการขาย แต่ยังมีการบริจาคด้วย เราจะเห็นได้ว่า ชาติที่เริ่มบริจาคก่อน คือจีน เพราเขาคิดค้นวัคซีนเชื้อตายได้ก่อน ก็เริ่มบริจาค สหรัฐนั้นเข้ามาในเกมการกระจายวัคซีนทีหลังในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งสหรัฐเองมีปัญหาเรื่องการให้คนฉีดวัคซีนในประเทศ ซึ่งทำให้เขาล่าช้าในการดำเนินการทูตวัคซีน

Advertisement

ปัจจุบัน สถิติการบริจาควัคซีนของจีน ทั้งซิโนแวค ซิโนฟาร์ม มีทั้งหมดกว่า 130 ล้านโดส ขณะที่ไบเดน ซึ่งได้ประกาศจะบริจาควัคซีนเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้บริจาคไปแล้ว 317 ล้านโดสทั่วโลก ไทยได้รับ 2.5 ล้านโดส ซึ่งเห็นได้ว่าแม้จะเข้าทีหลัง แต่ก็กระจายได้เร็ว และมากกว่า ส่วนจีนนั้น โฟกัสไปที่บางชาติในละตินอเมริกา และเอเชียแปซิฟิกเท่านั้น

เกมที่เรียกว่า Vaccine diplomacy นี้ ยังไม่ได้จำกัดอยู่แค่ 2 มหาอำนาจ แต่ยังมีชาติอื่นๆ เช่น อินเดีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ซึ่งไทยเองก็ได้รับวัคซีนจาก 2 ชาติ ซึ่งเกมแบบนี้จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีช่องทางของ Covax ที่เข้ามาช่วยประเทศด้อยพัฒนาในการครอบครองวัคซีน ที่แม้อาจจะล่าช้า ด้วยแหล่งผลิตรายใหญ่เจอกับการระบาดอย่างหนัก

AP

“ประเด็นสำคัญคือ หากเราดูแผนที่ Global Vaccination เราจะเห็นว่า ทวีปที่ได้วัคซีนเข็มที่ 2 น้อยมาก คือแอฟริกา ซึ่งหากเราตามข่าวแล้ว โอมิครอน กลายพันธุ์ที่ทวีปนี้ นั่นก็เพราะมีการฉีดวัคซีนที่น้อยมาก เข้าถึงวัคซีนได้น้อย นอกจากจะมองในทางการแพทย์แล้ว คำถามในทางการเมืองที่สำคัญในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือทำอย่างไร ให้ทั่วโลกร่วมมือกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึง เพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ลดการกลายพันธุ์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งนี่ เป็นสิ่งที่ Covax รู้ และเข้ามาตอบโจทย์ เพื่อป้องกันการกักให้ประเทศตัวเองก่อน หรือรวยแล้วซื้อก่อน เพราะความจริง โลกจะปิดทุกประเทศไม่ได้ แต่เราต้องหาทางร่วมมีกันด้วย”

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน ที่ถูกตั้งคำถาม ซึ่ง ดร.พีระ มองว่า มหาอำนาจควรต้องมีฉันทามติร่วมกันว่า ไม่ว่าจะดีหรือไม่ก็ตาม แต่ทุกคนต้องได้รับวัคซีน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกลายพันธุ์อีก เหมือนอย่างเช่น ตอนที่เดลต้าระบาด เพราะคนอินเดียยังไม่ได้วัคซีน ปัญหาเช่นนี้จะเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ในอนาคต จึงต้องมีการถกเถียงอย่างจริงจัง ว่าจะช่วยประเทศที่ได้รับวัคซีนน้อยได้อย่างไร เพื่อให้มีความมั่นใจในการใช้ชีวิตต่อ

 

ช็อกโลก สหรัฐถอนกำลังจากอัฟกานิสถาน

อาจารย์พีระ กล่าวว่า ปีนี้ นับได้ว่าเป็นปีที่ช็อกประมาณหนึ่ง เมื่อสหรัฐ ถอนกำลังจากอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นดีลที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ความสำคัญคือ มันกระทบต่อภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐอเมริกา ภาพที่คนอัฟกานิสถานปีนขึ้นเครื่องบิน อพยพ คล้ายคลึงกับสมัยสงครามเวียดนาม ที่สหรัฐถอนกำลังออกจากไซง่อน เป็นภาพจำของคนไทยหลายคน ทั้งๆที่สหรัฐไม่เคยเป็นภัยคุกคามไทย หลายคนถามหาภาวะผู้นำของอเมริกา กระทั่ง โทนี แบลร์ อดีตนายกฯอังกฤษ ที่ร่วมบุกอัฟกานิสถาน ยังออกมากล่าวว่า โลกไม่มั่นใจแล้วว่าตะวันตกยืนตรงไหน ไม่มีเสถียรภาพ และกังวลว่า สหรัฐทิ้งพันธมิตรหรือไม่

ก่อนจะยกตัวเลขมาชี้ว่า หากดูจริงๆ นับแต่สหรัฐเข้าไปรบในอัฟกานิสถาน ใช้เงินไปแล้ว 2.3 ล้านล้านเหรียญ หรือวันละ 300 ล้านเหรียญ มีชาวอเมริกันตายมากกว่า 65,000 คน การตายของทหารสหรัฐ เป็นเรื่องใหญ่มาก ในสภาวะที่กำลังช่วงชิงการเป็นผู้นำ เป็นที่หนึ่งของโลก ภาพแบบนี้ไม่สวยงาม แม้ไบเดนจะบอกว่าเป็น Smooth Transition ก็ตาม แต่ภาพจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น การที่ตาลีบันกลับมานั้น มันกระทบกับคุณค่าเสรีบางอย่าง ทั้ง ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน คำถามคือ จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกไหม ก็ตอบไม่ได้ มีงานศึกษาของ Aaron Rapport เรื่อง Waging War, Planning Peace ที่ศึกษาว่าทำไมชาติมหาอำนาจที่เข้าไปในพื้นที่หนึ่งนานๆ ถึงไม่ประสบความสำเร็จ นั่นเพราะตอนบุกคิดแต่จะชนะสงครามอย่างไร แต่ไม่ได้คิดถึงการสร้างชาติหลังสงคราม

“เขาได้บอกว่า ในอนาคต ไม่ว่าสหรัฐจะรบกับชาติไหน ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดแบบนี้ขึ้นอีก เพราะเขาคิดแค่จะชนะสงคราม แต่การสถาปนาอะไรบางอย่างเป็นเรื่องหลัง เลยไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ สิ่งนี้เป็นปัญหาแน่นอนในอนาคต” ดร.พีระกล่าว

รัฐประหารเมียนมา และการถดถอยของประชาธิปไตยทั่วโลก

“ภายหลังจาก อองซาน ซูจี ชนะเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว มิน อ่องลาย ได้ลุกขึ้นมารัฐประหารเมื่อต้นปีที่ ประชาชนลุกออกมาชุมนุม ประท้วง ขณะที่เจ้าหน้าที่ของพม่า ใช้อำนาจทำร้ายประชาชน ทำให้โลกได้ออกมาตั้งคำถามว่า สหประชาชาติ จะต้องทำอะไรไหม ต้องเข้าแทรกแซงหรือเปล่า”

ดร.พีระ กล่าว ก่อนว่า คำถามที่ว่า เราจะสามารถส่งทหารเข้าแทรกแซงเพื่อยุติการฆ่ากันได้ไหมนั้น คำตอบในทางรัฐศาสตร์คือ ยากมาก ด้วยเหตุผลหลายประการ ในปัจจุบัน การจะส่งทหารเข้าไป มีเงื่อนไขว่าต้องเกิด อาชญากรรมสงคราม หรือ รัฐบาลฆ่าคนอย่างมีระบบ มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ถามว่า กรณีเมียนมา ตีความเช่นนั้นได้ไหม ก็ได้ เพราะมีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน แค่ออกมาประท้วงก็ถูกยิง แต่ที่แทรกแซงไม่ได้ เพราะกติกาในโลกปัจจุบัน ไม่เหมือนเดิม คือ นอกจากจะต้องฆ่าคนอย่างมีระบบแล้ว ยังมีเงื่อนไขที่ 2 คือ หลักการ Responsibility to Protect หรือ (R2P /RtoP)  ต้องได้รับการเห็นชอบจาก 5 ชาติ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC หากมีวีโต้เพียง 1 ชาติ ก็ไปต่อไม่ได้

เงื่อนไขต่อไป ที่ดร.พีระ ยกขึ้นมา ก็คือ เงื่อนไขเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเมื่อดูเงื่อนไขในการแทรกแซงมนุษยธรรมผ่านแผนที่แล้ว จะไม่ค่อยเห็นภาพการแทรกแซงในประเทศใกล้มหาอำนาจ ใกล้สุดคือ การทิ้งระเบิดในยูโกสลาเวีย ช่วงที่รัสเซียอ่อนแอ ไม่เหมือนทุกวันนี้ การแทรกแซงมันเกิดแค่ในประเทศแบบอัฟกานิสถานหรือแอฟริกา การจะแทรกแซงประเทศที่ใกล้มหาอำนาจอย่างจีน เช่นนี้ มองไม่เห็นทางเลย นี่คือหมุดหมายที่มองว่า การแทรกแซงมินอ่องลาย จะไม่เกิด

นอกจากนั้นแล้ว ท่าทีของอาเซียน ต่อเมียนมาก็เป็นสิ่งที่น่าจับตา นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมที่ผ่านมา อย่างอาเซียนซัมมิท เมียนมาไม่ได้รับเชิญ เพราะไม่ได้แก้ปัญหาที่ตกลงกับอาเซียนไว้ก่อนหน้า แต่เมื่อกัมพูชา ขึ้นเป็นประธานอาเซียน ก็มองว่าไม่ได้ อาเซียนต้อง 10 ประเทศ และแสดงเจตนาที่จะเดินทางไปพม่าในเดือนมกราคม ในแง่หนึ่งนี่แสดงให้เห็นว่า ภูมิภาคนี้ กำลัง endorse คุณค่าที่ ไม่เป็นประชาธิปไตยบางอย่าง

สอดคล้องกับเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก กับสภาวะ Democratic Recession หรือ การถดถอยของการสร้างประชาธิปไตย มีหลายเหตุการณ์ที่สร้างภาพลบต่อประชาธิปไตย ตั้งแต่ต้นปี หลังจากไบเดนชนะเลือกตั้ง ก็มีผู้สนับสนุนทรัมป์ บุกเข้ารัฐสภา ทำให้คนที่ไม่เชื่อในประชาธิปไตยแต่แรก ตั้งคำถาม หรือ อินเดีย ที่มีความพยายามจัดการกับผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ผ่านกฎหมายให้โซเชียลมีเดียจัดการกับคอมเมนต์บางอย่าง ทำให้ Freedom house ลดเกรดจากเสรี เป็นกึ่งๆเสรี ซึ่งเป็นภาพที่สำคัญเพราะอินเดียเป็นชาติที่เป็นประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก อาจเป็นเพราะโควิด เป็นสิ่งกดดันให้เกิดกระแสความไม่พอใจในรัฐบาล

หรืออย่างในรัสเซีย มีการขังคุกผู้เห็นต่าง อย่าง Alexi Navalny นักวิจารณ์ที่อยู่ตรงข้ากับรัฐบาล หรือซูดาน ที่รัฐบาลพลเรือนกับทหารเคยแบ่งอำนาจร่วมกัน ก็ถูกรัฐบาลทหารรัฐประหาร อาจเป็นความเชื่อมโยงกับกระแสอนุรักษนิยม ที่มาก่อนหน้านี้  ตั้งแต่ทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ที่หลายคนมองว่าประชาธิปไตยจะถดถอย ชาตินิยมจะมากขึ้น แต่สิ่งกระตุ้นที่เข้มข้นคือ โควิด ที่ทำให้คนรู้สึกว่า ต้องช่วยตัวเองก่อนจะให้ความสำคัญกับคนอื่น และทำให้รัฐบาลออกมาตรการต่างๆ ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อันสืบเนื่องมาจากความฉุกเฉิน

  “เทรนด์นี้หากมองแล้ว ไม่ดีต่อกระแสประชาธิปไตยโลกแน่นอน ซึ่งปีหน้า อาจจะต้องมีชาติเสรีที่เล่นบทนำ ในการชูคุณค่าประชาธิปไตย ในกรณีที่เรายังอยากได้โลกแบบนั้น”

แล้วไทย จะทำอย่างไร

ที่ผ่านมาในกรณีพม่า ไทย ถูกตั้งคำถามตลอด ซึ่งก็ได้เห็นว่า ไทยไม่ได้แสดงออกว่าจะไปทางไหน รัฐบาลอาจคิดว่าเป็นเรื่องของชาติอื่น แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เรามีทฤษฎีที่ว่า ยิ่งประเทศใกล้ๆเป็นประชาธิปไตย เรายิ่งปลอดภัย มั่นคงมากขึ้น ถ้าเราคิดแบบนี้ การเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าสำคัญมาก บางงานวิชาการเสนอด้วยซ้ำว่า ประเทศที่กลายเป็นเผด็จการและพยายามทำให้ตัวเองเป็นประชาธิปไตย จะยิ่งแข็งกร้าวกับเพื่อนบ้านกว่าเดิม เพราะต้องแสดงให้เห็นว่าเก่ง ในแง่ของเมียนมา นอกจากเรื่องความมั่นคงแล้ว แน่นอนมีเรื่องผู้อพยพ หากเขายิ่งสู้ ยิ่งมีผู้หนีภัยสงครามมากขึ้นเรื่องๆ คนไหลมาไม่เพียงแค่คนแต่คือโรค ที่พัวพันกันอยู่

“ประเด็นการสร้างประชาธิปไตยในพม่า จึงเกี่ยวข้องกับไทยแน่ๆ ซึ่งต้องทบทวนแล้วว่า นโยบายต่างประเทศของไทย จะ passive ต่อไปไม่ได้”

 

การผงาดของ คริปโตเคอรเรนซี ที่ท้าทายอำนาจรัฐ

การเกิดขึ้นของคริปโตเคอเรนซี ที่มีกระแสเติบโตพุ่งทะยานทำเงิน สูงสุดกว่า 68,000 เหรียญสหรัฐต่อหนึ่งบิทคอยน์ เป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับประเด็นคลาสสิกทางรัฐศาสตร์ ซึ่ง ดร.พีระ มองว่า เป็นสิ่งที่รัฐชาติสมัยใหม่ ต้องให้ความกังวล เทรนด์ Decentralized finance ไม่เพียงแค่คนที่ไปเก็งกำไร แต่คือการท้าทายอำนาจอธิปไตยของรัฐ ที่ต้องเผชิญทั้งทางกายภาพและภัยต่อการดำรงอยู่ของรัฐ

นั่นเพราะเขาสามารถทำธุรกรรมโดยไม่ผ่านตัวกลางทั้งรัฐและผู้ได้สิทธิจากรัฐ และยังเอาไว้หลบเลี่ยงการควบคุมของรัฐได้ ซึ่งรัฐ มีความจำเป็นที่ต้องผูกขาด ควบคุม แม้จะเป็นเสรีประชาธิปไตยขนาดไหนก็ตาม ก็ต้องมีบางส่วนที่ใช้กฎหมายควบคุมได้ คำถามคือ รัฐ คุม คริปโตเคอเรนซีได้มากแค่ไหน

ยกตัวอย่างปี 2020 รัฐบาลจีน ที่อยู่ด้วยการคุมค่าเงิน เพื่อให้ส่งออกได้เรื่อยๆ แต่มีการนำเงินกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐไปถูกแปลงเป็นคริปโต เงินจีนไหลออกจำนวนมาก ซึ่งหากเป็นรัฐ ที่มีความชอบธรรมที่ทำให้คนรวยได้ด้วยค่าเงิน การที่เศรษฐีมีเงินมากๆ ก็อาจบ่อนทำลายรัฐบาลจีนได้ แล้วรัฐจะคุมมันได้อย่างไร ธนบัตรที่เคยชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ถูกการใช้คริปโตเข้ามาแลกเปลี่ยนแทน แล้วความหมายของการดำรงอยู่ของรัฐคืออะไร จึงไม่แปลกที่จีน ออกมาแบนคริปโตเคอเรนซี ด้วยการแบนเหมือง หรือสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านสิ่งที่เรียกว่า Infrastructure Bills ที่มีเงื่อนไขสำคัญคือการเก็บภาษี คริปโตเคอเรนซี ที่ซื้อขายกันได้เกินจุดหนึ่ง แล้วมัน  Decentralized จริงหรือไม่

กลับไปสู่คำถามที่ว่า “กิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจ ดำรงอยู่ได้โดยปราศจากการควบคุมของรัฐหรือไม่” และเห็นแล้วว่า รัฐอาจจะยังหาทางคุมทั้งโลกไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐจะไม่เอาส่วนแบ่ง เพราะเศรษฐกิจเกี่ยวพันกับอำนาจรัฐเสมอ มันแยกกันไม่ขาด

คริปโต
REUTERS

พันธมิตรใหม่ 3 ชาติ AUKUS กับการสกัดกั้นอำนาจจีน

เมื่อ 15 กันยายน ที่ผ่านมา โจ ไบเดน , สก็อตต์ มอริสัน และ บอริส จอห์นสัน เปิดตัวพันธมิตรใหม่ที่เรียกว่า ออคัส (AUKUS) ซึ่งสหรัฐอเมริกา จะแบ่งปันข้อมูล เทคโนโลยี ช่วยออสเตรเลียสร้างเรือดำน้ำที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ ทำให้ออสเตรเลียจะเป็นชาติที่ 7 ที่มีเทคโนโลยีนี้

หลังประกาศตัว เกือบหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น ก็มีการประชุม QUAD ของ สหรัฐ อินเดีย ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ก่อนมีแถลงการณ์ โปรโมต free, open ,rules based order แน่นอนสหรัฐสนับสนุนเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้มาตลอด และการพูดเรื่องนี้ คือการบอกว่า การจะเปิดใช้ก็ต้องมีกติกาบางอย่าง ไม่ใช่จะมาใช้อำนาจ ข่มขู่คุกคาม ขยายอำนาจอย่างเดียว

มองอย่างไม่ใสซื่อนัก จะเห็นว่าระบบพันธมิตรนี้ ออกแบบมาเพื่อสกัดกั้นจีน ทำให้จีนออกมากล่าวทันทีว่า พันธมิตรนี้จะนำไปสู่อะไรหรือไม่ สิ่งนี้สำคัญในแง่การแสดงออกของสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาคนี้ แต่ปรากฏการณ์นี้ ไม่แปลกหากมองจากมุมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะเมื่อชาติมหาอำนาจใด มีอำนาจมากเกินไป และแสดงออกอย่างแข็งกร้าว สุดท้ายจะมีชาติที่รวมตัวกันถ่วงดุล ซึ่งเมื่อได้ก่อตั้งพันธมิตรดังกล่าวขึ้นมา ชาติเอเชียตะวันออกก็แฮปปี้ แปลว่าสหรัฐมาเน้นบทบาท ในอินโดแปซิฟิกมากขึ้น

การช่วงชิงแข่งขันของ 2 มหาอำนาจ จีน และสหรัฐ

ดร.พีระ ฉายภาพว่า จากเทรนด์ทั้งหมดที่ได้แสดงมานั้น มีตัวแสดงหลักที่หนีไม่พ้น อย่าง สหรัฐ และ จีน ซึ่งการช่วงชิงอำนาจของทั้ง 2 ชาติ จะเกิดขึ้นต่อไป แต่ในด้านใดไม่รู้ การจะเข้าใจการแข่งขันของชาติมหาอำนาจ เราอาจจะต้องอ้างหลักของ กับดักของทูซิดิดิส คืออาการที่ชาติเบอร์ 1 เผชิญหน้ากับชาติที่กำลังผงาดขึ้นมาท้าทายความเป็นที่ 1 เป็นอาการคลาสสิกของการเมืองโลก ในทางทฤษฎี เราจะเห็นอาการของคนจะเสียสถานภาพ และการต้องการสถานภาพของทั้งสองชาติ สิ่งที่น่ากลัวคือ อาการแบบนี้ อาจนำไปสู่สงครามได้

อาการแบบนี้ ดูได้อย่างไรนั้น ดร.พีระ กล่าวว่า ต้องดูเวลาที่ชาติเหล่านี้ พูดถึงสิทธิพึงมีของเขา ว่าสถานภาพเช่นนี้ ต้องได้รับสิทธิแบบนี้ จีนเอง ในวันครบรอบสถาปนา 100 ปีพรรคคอมมิวนิสต์ เราจะเห็นสปีชของสีจิ้นผิง ที่พูดว่า เมื่อก่อนจีนใหญ่มาก ก่อนถูกย่ำยีจากบางชาติ วันนี้เราได้โตขึ้นแล้ว จะกดขี่กันไม่ได้ มิเช่นนั้นจะเจอกับกำแพงเมืองจีนที่สร้างโดยคน 1400 ล้าน นี่คือสิทธิที่มากับสถานภาพของเขา ที่จะถูกละเมิดไม่ได้ สิ่งนั้นคือ ฮ่องกง ทะเลจีนใต้ ไต้หวัน และซินเจียง คือพื้นที่อิทธิพล นี่คือเหตุผลที่การแข่งขันของ 2 ชาติ เป็นเรื่องน่ากังวล

การแข่งขันของ 2 ชาติ ยังนำมาซึ่งประเด็นเรื่อง Tech-war ซึ่ง สหรัฐอเมริกา ออกกฎหมายที่ว่า บริษัทที่จะส่งออกเทคโนโลยีที่จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ต้องได้รับไลเซนซ์จากสหรัฐ ซึ่งบังเอิญว่า เป็นบริษัทในไต้หวันที่ชื่อ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company ที่ผลิตชิพที่เล็กและดีที่สุดในโลก ประกอบกับช่วงโควิด ที่ความต้องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และ การมาของ 5G ทำให้ชิพกลายเป็นสิ่งที่ขาดแคลนทั่วโลก รถยนต์ EV  ไม่มีชิพ กระทั่งฟอร์ด ออกมาบอกว่ายอดขายหายไป 1.1 ล้านคัน หรือ หัวเว่ย ที่บอกว่า รายได้หายไปปีละ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเรายังไม่รู้ว่า ความขาดแคลนนี้จะอยู่ไปนานเท่าใด เป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ยังต้องระวัง

ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือการดำเนินนโยบายทางการต่างประเทศของสถานทูตจีนในประเทศต่างๆ ที่ ดร.พีระ มองว่า การทูตแบบนักรบหมาป่า หรือ wolf warrior diplomacy นี้ เกิดขึ้นชัดเจนมากหลังโควิดแพร่ระบาด จากที่เคยดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบตั้งรับ ก็เริ่มแสดงออกเชิงรุกในโซเชียลมีเดีย

ทั้งการโต้ตอบในโซเชียลมีเดียของสถานทูตในแคนาดา ที่มองว่าทรูโด เดินตามหลังสหรัฐ ในถ้อยคำแรง หรือการตั้งคำถามว่า ตัวร้ายที่แท้จริงของโควิดคือใครของสถานทูตบางแห่ง แน่นอนสิ่งเหล่านี้กิดขึ้นบนอธิปไตยของชาติอื่น เพราะไม่สามารถเล่นเฟซบุ๊กได้ในจีน ซึ่งไม่แน่ใจว่านี่ผิดขนบทางการทูตหรือไม่ เพราะยังไม่เห็นชาติใดทำ ในการใช้ชาติอื่นเป็นสนามรบเช่นนี้

ไทย ควรอยู่ตรงไหนบนถนนแห่งการช่วงชิงอำนาจ

ดร.พีระ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดี นับแต่ปี 2018 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไทม์ ว่า จีน เป็นพาร์ตเนอร์นัมเบอร์ 1 ซึ่งทำให้เราพอจะเห็นทิศทางได้ดี

ก่อนจะอธิบายว่า การจะวิเคราะห์การเมืองโลก ต้องดูปัจจัยพื้นฐาน ทั้ง โครงสร้างอำนาจอธิปไตย ที่เปลี่ยนได้ยาก และปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ ซึ่ง Stephen Walt ได้บอกว่า ประเทศที่อาจเป็นภัยคุกคามค่อผู้อื่น ต้องมี 1.ทรัพยากรขนาดใหญ่ ซึ่งมีทั้งจีนและสหรัฐ 2. มีขีดความสามารถเชิงรุกทางทหารที่น่ากลัว  3.มีเจตนาที่แข็งกร้าว ซึ่งอาจจะมีทั้งคู่ และ  4.ภูมิศาสตร์ ที่ว่า ใครใกล้ใครไกลมากกว่า ที่หากดูกันจริงๆแล้ว ไม่แน่ใจว่าสหรัฐจะน่ากลัวขนาดนั้น เพราะเขาอยู่ไกลมาก มีมหาสมุทรคั่น แต่สำหรับจีนนั้น ไทยอาจจะต้องเดินด้วยความระวัง

“สมมติเราปรารถนาเห็นไทยเป็นประชาธิปไตย คำถามคือ เราควรต้องระวังจีนหรือไม่ หากคุณค่าในบางประเทศไม่เหมือนกัน ทุกชาติล้วนมีผลประโยชน์ทั้งนั้น แต่ผลประโยชน์ด้านใดต้องคุยกันต่อ หรือหากกล่าวถึงเรื่องวัคซีนในรัฐสภา ที่ถูกห้ามพูดถึง เพราะอาจ

กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งอาจไม่ถูกขัดขวางหากเป็นการวิจารณ์วัคซีนอเมริกา คำถามคือ หากอยากได้ประชาธิปไตยและความมั่นคง เราควรระวังชาติใดมากกว่ากันมากกว่ากัน”

“มองในมุมทฤษฎีการต่างประเทศ หากเราเป็นนักสัจนิยม เราต้องระวังอะไรที่ใกล้กว่าหรือไม่ และหากมองในเชิงเสรีนิยม เรายิ่งต้องกังวลการขยายของคุณค่าที่จีนแผ่นดินใหญ่ยึดถือเข้าไปใหญ่ นี่เป็นสิ่งที่เราต้องคิดหาคำตอบ”

“ในทางรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บอกว่า ถ้าคุณเชื่อใจใครไม่ได้ ก็ต้องพร้อมจะเปลี่ยนข้างได้ตลอดเวลา แปลว่ารัฐไม่ควรยึดติดกับการเป็นเพื่อนกับชาติใดชาติหนึ่งตลอด หรืออะไรเป็นภัย ก็ต้องพร้อมเปลี่ยนข้างได้” ดร.พีระ ทิ้งท้าย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image